1.
วันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกาเกิดข่าวใหญ่ขึ้น เมื่อรูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก (Ruth Bader Ginsburg) ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของอเมริกา เสียชีวิตลงด้วยวัย 87 ปีจากโรคมะเร็งตับอ่อน นับเป็นการสูญเสียผู้พิพากษาหัวเสรีนิยมที่อุทิศชีวิตเพื่อความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยเฉพาะผู้หญิงมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ดีความตายของเธอ นำไปสู่การชิงไหวชิงพริบทางการเมืองระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครตในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดเข้าไปแทน การขับเคี่ยวครั้งนี้เริ่มขึ้นทันทีที่ลมหายใจของเธอหยุดลง กลบกระแสการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งเหลืออีกเพียงเดือนกว่าๆ ลงได้อย่างราบคาบ
สำหรับศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกานั้น ก่อตั้งขึ้นตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มีอายุ 200 กว่าปีมาแล้ว เป็นคณะทำงานมีหน้าที่วินิจฉัยคดีสำคัญหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวโยงในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายและสนธิสัญญาต่างๆ ที่ทำขึ้น ซึ่งคำตัดสินของศาลสูงสุดนั้น ทุกฝ่ายจะต้องนำไปปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดด้วย
สำหรับคดีที่เขาเอามาพิจารณากัน ก็จะเป็นคดีสำคัญ เช่น ให้รัฐบาลส่วนกลางมีอำนาจในการตั้งธนาคารกลาง หรือแบงค์ชาติได้ กำหนดว่ารัฐต้องจัดหาทนายความให้กับผู้ต้องหาในคดีอาญาเสมอ หรือตัดสินอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าถึงการทำแท้งได้ ซึ่งรัฐจะจำกัดสิทธินี้ไม่ได้ ยกเว้นว่าการทำแท้งจะเป็นอันตรายต่อตัวแม่เด็กหรือทารกในครรภ์เท่านั้น หรือที่ดังหน่อยก็คือคำพิพากษาว่าการแบ่งแยกโรงเรียน มหาวิทยาลัยระหว่างคนขาวกับคนดำนั้น ผิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำไปสู่การทำลายโครงสร้างการเหยียดผิวในอเมริกาที่กดขี่คนดำมาแสนนาน
โดยวาระการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดนี้ เขาจะดำรงตำแหน่งกันจนตาย หรือไม่ก็ขอเกษียณตัวเอง โดยประธานาธิบดีเป็นคนเสนอชื่อ แล้วทางวุฒิสมาชิกจะเรียกมาไต่ถามแทบทุกเรื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าเราได้มนุษย์ที่มีความเชื่อมั่นในกฎหมายและรัฐธรรมนูญอเมริกาอย่างแท้จริง แล้วจึงทำการโหวตแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ได้ ปัจจุบันคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดจะมีด้วยกัน 9 คน โดยหนึ่งคนจะเป็นประธานศาลสูงสุด โดยความเห็นทางกฎหมายใดๆ ของคณะนี้จะกำหนดทิศทางการบังคับใช้กฎหมายในอเมริกาอย่างมีนัยสำคัญขึ้นมาทันที
ดังนั้นผู้พิพากษาในตำแหน่งนี้จึงมีชีวิตที่อุทิศตัวเองเพื่อกฎหมายและเคารพรัฐธรรมนูญอเมริกาอย่างสุดจิตสุดใจ ซึ่งรูธ เบเดอร์ กินสเบิร์กเป็นหนึ่งในนั้น
2.
ทั้งนี้รูธเองเป็นผู้หญิงคนที่ 2 ซึ่งก้าวสู่การเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดในสหรัฐอเมริกา เธอเกิดที่เมืองนิวยอร์ก ในปี ค.ศ.1933 ครอบครัวทำธุรกิจร้านขายปลีกเล็กๆ แม่ของเธอเป็นผู้หญิงที่เรียนเก่ง จบม.ปลายตั้งแต่อายุ 15 ปี แต่ไม่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ เพราะสมัยนั้นเขาไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเรียน จึงต้องไปทำงานเฝ้ามองน้องชายเข้าเรียนมหาวิทยาลัยคอร์เนลแทน
นั่นทำให้เธอตั้งใจอย่างมากว่าลูกสาวจะต้องไม่เผชิญชะตากรรมแบบตัวเอง จึงสนับสนุนการศึกษาลูกอย่างเต็มที่ น่าเสียดายที่แม่ของรูธเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 1 วันก่อนหน้าพิธีจบการศึกษาม.ปลายของลูกตัวเอง ทำให้รูธต้องไปงานศพแม่ และไม่ได้เข้าพิธีจบการศึกษา ทางครูได้นำเหรียญ ประกาศนียบัตรเรียนจบและรางวัลเรียนดีมามอบให้ที่บ้านแทน
ในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.1993 เมื่ออดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) แถลงข่าวเสนอชื่อรูธเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดนั้น เธอได้พูดถึงแม่ว่า “ฉันอ้อนวอนและอยากให้แม่มีอายุยืนยาวพอจะได้เห็นว่าผู้หญิงนั้นก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจและลูกสาวก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกับลูกชาย”
แม้แม่จะเข้าเรียนคอร์เนลไม่ได้ แต่ลูกสาวคนนี้สามารถเข้าเรียนได้ในฐานะนักเรียนทุน ขณะเรียนอยู่ปี 2 รูธได้พบกับสามีในอนาคต โดยรูธบอกว่าชายคนนี้รักเธอเพราะมองเห็นความฉลาดในตัวเธอ ซึ่งแตกต่างจากผู้ชายคนอื่นๆ ทั้งสองหมั้นกันตอนรูธเรียนปี 3 และแต่งงานกันทันทีที่เรียนจบมหาวิทยาลัย กลายเป็นคู่รักที่สนับสนุนกันและกันเคียงข้างกันอยู่ไม่ห่างกายครองรักยาวนานถึง 56 ปี จนปี ค.ศ.2010 สามีของรูธก็เสียชีวิตลง ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 2 คน
ตลอดชีวิตของเธอ ต้องเผชิญกับการกีดกันในโลกแห่งกฎหมาย ทนายความ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้ชาย ตอนที่เธอท้องลูกสาวคนแรก รูธถูกเสนอชื่อเป็นผู้ตรวจการภายในของรัฐ แต่พอคนรู้ว่าเธอท้อง การเสนอชื่อก็ยกเลิก พร้อมเหตุผลว่าการที่ผู้หญิงท้องนั้น จะทำให้เดินทางไปทำหน้าที่ระหว่างรัฐลำบาก
ในช่วงที่ต้องเลี้ยงลูกคนแรก รูธได้เข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งตอนนั้นไม่มีผู้หญิงไปเรียนมาก และเมื่อสามีได้งานในนิวยอร์ก เธอได้สอบถามมหาวิทยาลัยว่า ถ้าโอนย้ายหน่วยกิตไปเรียนที่ม.โคลัมเบียปีสุดท้าย จะได้รับปริญญาจากฮาร์วาร์ดหรือไม่ ซึ่งฮาร์วาร์ดบอกว่าไม่ได้ นั่นทำให้รูธโอนหน่วยกิตย้ายไปเรียนกฎหมายปีสุดท้ายโคลัมเบียและจบการศึกษาได้ปริญญาจากที่นี่แทน ด้วยคะแนนเป็นอันดับ 1 ของรุ่น กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่จบกฎหมายจากม.โคลัมเบีย
ต่อมาฮาร์วาร์ดได้เปลี่ยนกฎเกณฑ์นี้ และได้มอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้กับรูธในเวลาต่อมา
3.
แม้จะเป็นอันดับ 1 ของรุ่น แต่ไม่มีใครจ้างรูธเข้าทำงานในบริษัทกฎหมาย ที่มีแต่ผู้ชายซึ่งมองว่าผู้หญิงไม่เหมาะจะเป็นทนายความ เธอจึงต้องไปทำหน้าที่เสมียนในสำนักงานผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางแทน ในช่วงนั้นรูธได้กลับไปทำโครงการศึกษาเรื่องพลเมืองในสวีเดน ทำให้ต้องไปเรียนภาษาสวีเดนเพื่อไปประเทศแห่งนี้ ตอนนั้นขบวนการสิทธิสตรีกำลังเฟืองฟูในสวีเดนมากจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเธอในเวลาต่อมา เพราะที่สวีเดนนั้น ผู้หญิงสามารถทำงานเคียงข้างผู้ชายเป็นปกติ
เธอได้อ่านนิตยสารฉบับหนึ่งที่พูดว่า
“ทั้งหญิงและชาย ล้วนมีหน้าที่หลักการเดียว
นั่นก็คือหลักการแห่งประชาชน”
มันตราตรึงแน่นเป็นหมุดอุดมการณ์ในชีวิตเธอเสมอมา
อย่างไรก็ดีพอรูธกลับมาอเมริกา เธอก็ยังหางานทำไม่ได้อยู่ดี จนต้องไปสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยเล็กๆ แทน ซึ่งรูธเป็นอาจารย์หญิง 2 คนในภาควิชากฎหมาย และตอนนั้นอเมริกามีอาจารย์หญิงสอนกฎหมายแค่เพียง 24 คนเท่านั้นเอง
ในช่วงนี้นอกจากเธอจะคลอดลูกชายคนที่ 2 แล้ว รูธยังเข้าไปดูแลอาสาทำงานในคดีที่ผู้หญิงถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม เช่นครูหญิงถูกให้ออกเพียงเพราะว่าท้องเป็นต้น นั่นทำให้เธอได้ไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ทำงานในโครงการเกี่ยวกับสิทธิสตรีและเขียนหนังสือในเรื่องนี้หลายเล่ม ก่อนจะเข้าไปช่วยอาสาทำงานในคดีที่ขึ้นศาลสูงสุดในเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงหลายครั้ง
จนในที่สุดประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ก็เห็นถึงความสามารถเธอ ตั้งให้เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในวอชิงตัน ดีซี ในปี ค.ศ.1980 เรียกได้ว่าเธอใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะได้ทำหน้าที่ทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์แบบ และก็ทำหน้าที่นี้เป็นเวลา 13 ปี จนในที่สุดก็ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด โดยใช้เวลาพิจารณาเกือบ 2 เดือนในการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการวุฒิสมาชิก ในที่สุดรูธ เบดอร์ กินสเบิร์กก็ได้เข้าไปทำหน้าที่ตัดสินคดีสำคัญๆ ระดับชาติเสียที
4.
สำหรับผลงานการตัดสินของรูธในฐานะผู้พิพากษาศาลสูงสุดนั้นมีหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินว่าการที่สถาบันทหารเวอร์จิเนีย ห้ามผู้หญิงเข้าเรียนนั้นผิดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หรือการพลิกคำพิพากษาของมลรัฐที่กำหนดว่าการแต่งงานต้องเป็นแบบชายหญิงเท่านั้น ศาลสูงสุดนำโดยรูธได้ตัดสินว่าการห้ามแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันนั้นขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นั่นก็ทำให้การแต่งงานเพศเดียวกันเป็นไปได้ในอเมริกาทันที หรือการสั่งห้ามเนรเทศคนที่อพยพจากต่างแดนมาอเมริกาแล้วไปก่อคดีอาญา เพราะมันขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลงานเหล่านี้รูธมีส่วนเขียนความเห็นเสียงข้างมากของศาลต่อกรณีเหล่านี้
อย่างไรก็ดีไม่ใช่ทุกคดีที่รูธจะเป็นฝ่ายชนะ หลายคดีเธอก็เป็นเสียงส่วนน้อยของคณะ เช่นกรณีศาลสูงสุดพลิกคำตัดสินของรัฐฟลอริด้าเรื่องนับคะแนนใหม่ ทำให้จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช (George W. Bush) คว้าคะแนนผู้แทนของรัฐนี้ จนสามารถก้าวไปเป็นประธานาธิบดีได้ อันนี้รูธเป็นเสียงส่วนน้อยที่พ่ายแพ้ หรือกรณีที่หญิงสาวฟ้องว่าบริษัทให้ค่าชดเชยเธอน้อยกว่าผู้ชาย ด้วยเทคนิคทางกฎหมายของบริษัทและผู้พิพากษาจำนวนมากที่เป็นผู้ชาย ทำให้รูธแพ้ในเรื่องนี้เพราะคำตัดสินศาลสูงสุดเห็นว่ากรณีนี้ไม่ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ
ความเด่นชัดในผลงานของเธอ คือ เรื่องการสนับสนุนความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเป็นสายเสรีนิยม นั่นทำให้ ผู้หญิงหลายคนถือว่าเธอเป็นต้นแบบ มีคนสักรูปเธอ แต่งเพลงสดุดี และหลายคนก็เป็นห่วงในช่วงท้ายๆ ของชีวิต 27 ปีในเส้นทางผู้พิพากษาศาลสูงสุด เพราะช่วงก่อนเสียชีวิตรูธเองก็มีปัญหาป่วยมากมายตามประสาคนแก่
โดยทุกคนหวังว่าอย่างน้อยเธอจะมีอายุยืนยาวผ่านการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ไปก่อน
แต่แล้วโชคชะตาก็ไม่เป็นใจ
5.
พลันที่รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์กเสียชีวิต ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ก็ออกมาประกาศทันทีว่าในวันศุกร์ที่ 25 ไม่ก็วันเสาร์ที่ 26 กันยายนนี้เขาจะเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ ซึ่งจะเป็นผู้หญิง สาเหตุที่เลือกวันศุกร์ไม่ก็วันเสาร์ นั่นก็เพราะทรัมป์รอให้พิธีงานศพของเธอจัดเสร็จเสียก่อน จึงจะเริ่มกระบวนการสรรหาผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่
สาเหตุที่ต้องรีบขนาดนั้น เพราะทรัมป์นั้นได้แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดไปแล้ว 2 คน เป็นพวกอนุรักษนิยม สมัยรูธยังมีชีวิตอยู่คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุด 9 คน จะมี 5 คนที่เป็นอนุรักษนิยม และอีก 4 คนที่เป็นเสรีนิยม พอรูธเสียชีวิต สายเสรีนิยมจึงเหลือแค่ 3 คน
ถ้าสามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลอนุรักษนิยมได้อีกคน เสียงของศาลจะเป็นอนุรักษนิยม 6 คน เสรีนิยม 3 คน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ คำตัดสินของศาลก็จะถูกใจพรรครีพับลิกันมากยิ่งขึ้น เพราะในอดีตมันมีหลายครั้งที่ศาลสูงสุดตัดสินลบล้างคำตัดสินเดิมของตัวเอง เช่น การตีความว่าการแบ่งแยกกันเรียนระหว่างคนขาวกับคนดำนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ก็ถือเป็นการพิพากษากลับคำตัดสินของศาลสูงสุดในอดีตเป็นต้น
ตอนนี้มีความพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้ได้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเกิดขึ้นในอีก 39 วัน ท่ามกลางการงัดกันระหว่างรีพับลิกันกับเดโมแครต หากทำสำเร็จ ผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่นี้จะเป็นคนที่ได้รับการแต่งตั้งไวสุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว ซึ่งมีโอกาสสูงมาก เพราะวุฒิสมาชิกตอนนี้พรรครีพับลิกันครองสภาอยู่
อย่างไรก็ดีสื่อมวลชนอเมริกาชี้ว่า เอาเข้าจริงศาลสูงสุดนั้นถูกครอบงำโดยผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมมา 51 ปีแล้ว แต่ทุกครั้งที่ไปตัดสินคดีสำคัญนั้น ผู้พิพากษาอนุรักษนิยมหลายคนกลับกลายเป็นพวกสายกลาง ตัดสินตามตัวบทกฎหมาย ดังนั้นที่ไปคิดกันว่าศาลสั่งได้ มันก็ไม่แน่เสมอไป เพราะประวัติศาสตร์ของศาลสูงสุดนั้นมากด้วยเกียรติภูมิ
ใครที่ได้ทำหน้าที่นี้ จะต้องเป็นผู้เคารพในรัฐธรรมนูญ
และเชื่อมั่นศรัทธาระบบนิติรัฐอย่างจริงจัง
หาได้เอาใจผู้มีอำนาจแห่งยุคสมัยไม่
การจากไปของรูธ เบเดอร์ กินสเบิร์กนั้นได้สร้างความเศร้าโศกให้กับคนจำนวนมาก เพราะเธอได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติกับตำแหน่งนี้บนหลักการความรับผิดชอบต่อประเทศชาติอย่างน่ายกย่องนั่นเอง
สรุป
ชีวิตของรูธนั้นทุ่มเทต่อสู้กับการถูกเลือกปฏิบัติทางเพศ เมื่อได้มาทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ก้าวเข้าสู่อำนาจตุลาการ รูธก็ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างยิ่งใหญ่ เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนจำนวนมาก