ไม่แปลกใจเลยกับเมื่อทราบข่าวว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยที่เป็นองค์กรทำงานด้านสุขภาพและสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศ ยื่นหนังสือแถลงการณ์ต่อประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (บ้านนี้เมืองนี้ยังมีกระทรวงนี้อยู่นะเออ) เพื่อขอให้สนับสนุน ‘ยกร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต’ สำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายเพศ ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์
เพราะเพศสภาพเพศวิถีอื่นที่ไม่ใช่ชายหญิงรักต่างเพศถูกกฎหมายกีดกันไม่ให้จดทะเบียนสมรสและมีสิทธิที่พึงได้อันเนื่องมาจากการสมรส เช่น สิทธิในการตัดสินใจรักษาพยาบาลคู่สมรสให้ทันท่วงที เพราะแพทย์กำหนดให้ญาติหรือคู่สมรสเท่านั้นลงนามยินยอมในการรักษา ต่อให้คู่รักเพศเดียวกันรักและใช้ชีวิตร่วมกันยาวนานแค่ไหนก็ไม่มีสิทธิยินยอมให้แพทย์รักษาพยาบาล, สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน, สิทธิในการใช้ชื่อสกุลร่วมกัน, สิทธิในการจัดการสินสมรสร่วมกัน, สิทธิในการทํานิติกรรมหรือกู้ธนาคารร่วมกัน เพราะถ้าไม่ได้เป็นคู่สมรสหรือพี่น้องแท้ๆ ก็กู้ร่วมกันไม่ได้, สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน, รับมรดกที่ร่วมสร้างกันมาในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลงโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมให้แก่กัน, สิทธิในการลดหย่อนภาษีจากการเป็นคู่สมรสกัน, สิทธิได้รับการยอมรับและมีศักดิ์ศรีในฐานะคู่สมรสตามกฎหมาย พวกเขาและเธอใช้ชีวิตร่วมกับคนรักเพศเดียวกันหลายปี เป็นครึ่งหนึ่งของชีวิตซึ่งกันและกัน แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิเหล่านั้นเพราะไม่สามารถจดทะเบียนสมรสเหมือนคู่รักต่างเพศชายหญิง[1]
มีคู่รักเพศเดียวกันหลายคู่ที่อีกฝ่ายเสียชีวิตลง เพราะไม่สามารถลงนามยินยอมในการรักษาฉุกเฉินให้ได้ ต้องรอญาติพ่อแม่พี่น้องมาลงชื่อ แม้ว่าทั้งคู่อยู่กินด้วยกันหลายสิบปี และพ่อแม่พี่น้องก็อยู่ต่างจังหวัด กว่าจะถ่อมาถึงโรงบาลก็สายไปเสียแล้ว และบางคู่รักฝ่ายที่ยังอยู่ไม่ได้ทรัพย์สินใดๆที่ร่วมหามา เพราะไม่มีนิติกรรมอะไรมารองรับ กลายเป็นมรดกให้กับครอบครัวผู้ตาย ครั้นซื้อกรมธรรม์ก็ใส่ชื่อคนรักไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นญาติพี่น้องอีก เลยจำใจใส่ชื่อน้องซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์อะไรกันแล้ว และบางคู่เมื่อกู้ร่วมซื้อบ้านไม่ได้ จึงไม่สามารถหาซื้อบ้านดีๆ ได้ คุณภาพชีวิตทั้งคู่น่าจะดีกว่านี้หากจดทะเบียนสมรสกันได้เหมือนชายหญิงรักต่างเพศซึ่งจะได้รับสิทธิกู้ธนาคารร่วมกัน
คู่รัก LGBTIQ หลายคนแสวงหาช่องทางอื่นในการเข้าถึงโอกาสนั้น เช่นไปตั้งนามสกุลใหม่ที่อำเภอแล้วใช้ร่วมกัน รับบุตรบุญธรรมเพียงคนเดียวไม่ใช่เป็นคู่ เขียนพินัยกรรมให้แก่กัน เปิดบัญชีร่วมกัน จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สิน แต่นั่นก็เป็นเพียงทางออกอย่างจำกัดจำเขี่ยเท่าที่จะสามารถทำได้ และก็ไม่ใช่การได้รับความยอมรับและศักดิ์ศรีในฐานะคู่สมรส[2]
อันที่จริง คู่รักไม่ว่าเพศวิถีเพศสภาพไหนจะจดทะเบียนแต่งงานหรือไม่จดก็ได้ ไม่จำเป็นที่ทุกคู่จะต้องแต่งงาน และไม่ได้หมายความว่าทุกคู่รักอยากจดทะเบียนสมรส มันเป็นสิทธิเสรีภาพที่เค้าจะเลือก หากแต่กฎหมายจำเป็นต้องมีวิวัฒนาการและครอบคลุมทั่วถึงประชาชนทุกคน ตามทฤษฎีกฎหมายเควียร์ (Queer Legal Theory) ที่เป็นพัฒนาการการวิเคราะห์วิพากษ์กฎหมายให้เกิดการยอมรับทางกฎหมายกับความหลากหลายทางเพศ ยุติการเลือกปฏิบัติ ทำผลักให้บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นบุคคลชายขอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสิทธิในการสมรสและสร้างครอบครัวก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีรากฐานจากหลักสิทธิมนุษยชน การกีดกันไม่ให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรส ขณะที่คู่รักต่างเพศสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ก็เป็นอีกการเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่งและการทำให้เพศวิถีที่ไม่ใช่รักต่างเพศเป็นอื่นและไร้ศักดิ์ศรี[3]
กรมคุ้มครองสิทธิ (บ้านนี้เมืองนี้มีกรมแบบนี้อีกด้วยนะเออ) กระทรวงยุติธรรม จึงได้ร่างพรบ.รับรองคู่ชีวิตออกมาตามการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQ เพื่อได้ได้สิทธิ์เสมอภาคกับกลุ่มชายหญิง ทว่าร่างนี้ก็ไม่ครอบคลุมกับความหลากหลายทางเพศและขาดความเข้าใจ เป็นการรับรองในฐานะ ‘คู่ชีวิต’ แต่ไม่ใช่ ‘คู่สมรส’ ซ้ำยังมีอคติว่าพ่อแม่ที่เป็น LGBTQ จะไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ แม้ว่าจะมีการร่างพรบ. ฉบับประชาชนโดยภาคประชาสังคม เพราะความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีส่วนได้ส่วนเสียจากกฎหมายนี้ย่อมจำเป็นและสำคัญกว่าปล่อยให้ใครก็ไม่รู้อิโหน่อิเหน่มาพูดแทนคิดแทน แต่พอกรมคุ้มครองสิทธินำร่างพรบ.ฉบับประชาชนไปปรับใช้ตามกลับไม่ได้เกิดผลดีอะไรขึ้นเลย ซ้ำยิ่งปรับก็ยิ่งจำกัดสิทธิมากขึ้นเรื่อยๆ ‘คู่ชีวิต’ ของคนรักเพศเดียวกันสำหรับกรมคุ้มครองสิทธิมีเพียงเรื่องการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต และเรื่องมรดกเท่านั้น และไม่ให้สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วม การมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยี การเปลี่ยนคำนำหน้านาม หรือการเปลี่ยนนามสกุล[4]
มันจึงเป็นการเลือกปฏิบัติทางกฏหมายซ้อนการเลือกปฏิบัติผ่านกฎหมายอีกที
และหากพรบ.นี้ประกาศใช้จริง คู่ชีวิต LGBTQ ก็ยังไม่ถูกนับรวมว่าเป็นคู่สมรส เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสมรสแบบชายหญิงรักต่างเพศ เพราะหัวใจหลักของการเลือกปฏิบัติทางกฎหมายอยู่ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 และ 1458 ว่าด้วยสถาบันครอบครัวที่ระบุเพศกำเนิดไว้ชัดเจนว่าจะสมรสกันได้ก็ต่อเป็นชายและหญิงเท่านั้น ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนและเป็นตัวปัญหาสำคัญ เพราะกฎหมายนี้ก่อตั้งขึ้นบนสำนึกคิดของสถาบันครอบครัวแบบเก่าคือเป็นเรื่องของการสืบพันธุ์ ดำรงเผ่าพันธุ์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงบัญญัติเหตุแห่งการหย่าไปเลยว่า หากผู้หญิงมีปัญหาที่ไม่สามารถนอนกับผู้ชายได้ ผู้ชายสามารถขอหย่าได้[5]
แต่ก็ไม่แปลกใจในความขมีขมันขยันขันแข็งของนักเคลื่อนไหวสิทธิความหลากหลายทางเพศสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารคลอดพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตโดยเร็ว ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติบนความเลือกปฏิบัติอีกที เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน และดันไปเรียกร้องสิทธิกับรัฐบาลรัฐบาลเผด็จการที่ปล้นสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งนี่ไม่ใช่ความเด๋อไม่รู้กาลเทศะของนักกิจกรรม หากแต่เป็นความไร้ซึ่งความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและจงใจ
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาลหรือเรียกร้องสิทธิพลเมือง ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดตามท้องถนนจนถูกหมายจับ แม้แต่ผู้เข้ามารับฟังไฮด์ปาร์คก็ถูกหางเลขไปด้วย ทว่านักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศบางกลุ่มกลับโนสนโนแคร์ ไม่ได้อยู่ในความสนสี่สนแปดของตน ทั้งๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เพราะกระเหี้ยนกระหือรือกับสิทธิความหลากหลายทางเพศอย่างเดียว พยายามเข้าไปสนับสนุนการทำงานของรัฐที่ไม่ใช่ตัวแทนประชาชนและไร้ซึ่งความชอบธรรมใดๆ ซ้ำยังบ่อนเซาะคุณค่ากระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน ความเคารพในความเป็นมนุษย์ของประชาชนไม่เหลือหลอ
หลายคนที่ออกมาเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศในช่วงเวลาที่ไร้ประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพนี้ เชื่อว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศสามารถทำได้หลายช่องทาง จุดมุ่งหมายปลางทางเหมือนกันคือได้รับการยอมรับและความเสมอภาพ แต่ยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวสามารถแตกต่างกันได้ และภายใต้อำนาจคสช.นี้ก็สามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วกว่า ง่ายกว่า เพราะภายใต้อุ้งรองเท้าคอมแบท อะไรๆ ก็อนุมัติได้ง่ายดาย เหมือนซื้อเรือดำน้ำ รถเกราะล้อยางที่รัฐบาลซื้อมาจากจีน กฎหมายอะไรก็ผ่านได้สะดวกโยธินสามารถอาศัยมาตรา 44 ออกคำสั่งทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยากมากมาย เหมือนการออกพระราชกำหนดที่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี หรือพระราชบัญญัติที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ตั้งแต่จัดระเบียบแผงลอย คุมร้านแต่งรถร้านเหล้าใกล้สถานศึกษา ต่ออายุประธาน ป.ป.ช. สังพักโยกย้ายข้าราชการ คุมราคาลอตเตอรี่ แต่งตั้งผู้ว่า กทม. คนใหม่ ควบคุมพื้นที่ธรรมกาย
นักกิจกรรม LGBTQ ไทยบางนางเชื่อว่าถ้าไม่ให้ยื่นกับรัฐบาลชุดนี้ แล้วจะให้ทำไง จะให้นอนรอไปก่อนจนกว่าจะมีประชาธิปไตย รอเลือกตั้งก่อนที่ก็ผลัดวันประกันพรุ่งแล้วค่อยยื่นรึไงยะ …ก็ถ้าคิดเช่นนั้น พระราชบัญญัติคู่ชีวิตของ คสช. ก็จะมีคุณค่าไม่ต่างจากเหมือนพระราชบัญญัติกำลังพลสำรอง พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
หรือให้เห็นภาพหน่อย ก็เหมือนเรือดำน้ำที่เพิ่งซื้อมาจากจีนน่ะแหละ
เอาเข้าจริง ประเด็นมันก็ไม่ใช่อยู่ที่เลือกตั้งก่อนเพศเดียวกันค่อยแต่งงานกันได้ หากแต่ประเด็นสำคัญก็คือสิทธิความหลากหลายทางเพศมันไม่สามารถถูกจับแยกออกกับสิทธิเสรีภาพตามประชาธิปไตย
เหมือนกับที่ขบวนการเคลื่อนไหวกลุ่มนี้อ้างว่าเป็นการเรียกร้องสิทธิของ LGBTQ ที่ขาดหายไปให้ได้มา ด้วยการไม่ไปแขวนหรือฝากเอาไว้กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมิติอื่น ซึ่งก็ยิ่งสะท้อนเป็นการบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาพแต่ศรัทธาและไว้เนื้อเชื่อใจระบอบเผด็จการมากกว่าเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ที่เป็นผลผลิตของสำนึกในสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาพ
ความตั้งใจไม่เข้าใจสิทธิและหลักการของประชาธิปไตย แต่อยากได้สิทธิบางประการที่มาจากความเมตตาแบบระบบอุปถัมภ์จากคณะรับประหาร จึงเป็นการได้สิทธิมาจากการละเมิดสิทธิผู้อื่นรวมไปถึงสิทธิของตนเอง ไม่ต่างไปจากความต้องการมีอภิสิทธิ์ หรือเป็นพวกฉวยโอกาส ด้วยเหตุผลนี้การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBTIQ จึงมักถูกมองว่าต้องการสิทธิพิเศษหรือความเห็นอกเห็นใจสงสาร แต่ไม่ใช่การเรียกร้องให้ได้รับมาซึ่งสิทธิอันเสมอภาคในฐานะเพศสภาพเพศวิถีนึงในสังคม ที่ยังไม่ได้รับความเท่าเทียม
และก็เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยเป็นสำนึกคิดที่ราวกับว่าอยู่ในยุคสังคมบุพกาลก่อนสมัยใหม่ หรือในนิทานที่เล่าถึงสังคมที่ยังมีระบบไพร่ทาส มีไพร่ฟ้าหน้าปกเดินสั่นกระดิ่งตีระฆังตีกลองกลางเมืองร้องทุกข์กับผู้ปกครอง ยอมโดนโบยตีหลายสิบทีเป็นฤชาค่าแลกเปลี่ยนเพื่อพิสูจน์ว่าน่าจะเดือดร้อนจริงๆ และป้องกันมิให้ถวายฎีกาพร่ำเพรื่อรบกวนท่านเจ้าผู้ปกครอง
ด้วยสำนึกเช่นนี้ การกุลีกุจอเสนอให้รัฐบาลทหารออกกฏหมายรับรองการจะทะเบียนคู่ชีวิตระหว่างเพศเดียวกันได้จึงไม่ใช่การท้าทายอำนาจเผด็จการ โยนหินถามทางว่าจะมีสำนึกเปิดรับความหลากหลายความเท่าเทียมทางเพศรึไม่ หากแต่เป็นการคลานเข่าถวายฎีกาอย่างเชื่องๆ และสยบยอม ไม่ได้เคลื่อนไหวในฐานะตัวเองเป็นพลเมืองแต่เป็นคนชายขอบ (เหมือนพวกทีเชื่อว่าตนเกิดมาเป็น LGBTIQ เพราะเป็นเวรเป็นกรรมแต่ชาติปางก่อน ชาตินี้จึงเกิดมาเป็นเช่นนี้ชดใช้บาปกรรมไป วอนขอความเห็นใจสงสารจากทุกท่านแทนการเคารพในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน) ฉะนั้นหากข้อเสนอถูกปฏิเสธหน้าแตกกลับมา ก็ไม่เสียอกเสียใจเพราะด้วยสำนึกระบบอุปถัมภ์ ถือสะว่าผลบุญยังมาไม่ถึง ท่านยังไม่โปรดเรา ทำได้แค่นี้ก็ถือว่าเป็นก้าวใหญ่แล้ว
เหมือนกับตอนปี 2558 ที่กำลังยกร่างร่างรัฐธรรมนูญใหม่หลังรัฐประหาร คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอให้เติมคำว่า ‘เพศสภาพ’ ลงไปในมาตรา 34 ของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ทำให้ “คณะทำงานการสนับสนุน ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศ” ดีใจจนเนื้อเต้นแห่กันไปมอบกระเช้าดอกไม้กล่าวขอบคุณชื่นชมให้กำลังใจประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภา ในวันที่ 19 มกราคม 2558 ด้วยความเชื่อปนไร้เดียงสาว่า การเติมคำลงไปจะนำไปสู่รับรองสิทธิและความเป็นธรรมกับความหลากหลายทางเพศ จะทำให้ LGBTQ ได้สิทธิเสมอภาคกับผู้ชายผู้หญิง พร้อมทั้งเสนอตัวเป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ ขอให้แถมคำว่า ‘เพศวิถี’ เพิ่มอีกคำลงในร่างรัฐธรรมนูญ
ทว่าก็ต้องเก้อหงายเงิบ เพราะร่างฯ นั้นก็ไม่ผ่าน หนำซ้ำรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้จริงๆ ก็ไม่ได้เพิ่มคำใดลงไป ยังยึดตามเดิมว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” รวมไปถึงตัดสิทธิในการสมรสของคนรักเพศเดียวกันออกตามมติของคณะรัฐมนตรีเพราะมีความกังวลใจว่าด้วยเหตุผลที่ว่ายังไม่พร้อมด้วยเงื่อนไขสังคมวัฒนธรรมไทย
มันจึงเป็นความไม่เข็ดไม่หลาบจำของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบไทยๆ ที่ชอบใช้ยุทธศาสตร์เข้าหาผู้นำอำนาจตามระบบอุปถัมภ์ ซึ่งก็ไม่ประสบผลสำเร็จอะไรเพราะผิดตั้งแต่เริ่ม แล้วก็มาถอดบทเรียนกันปลอมๆ ปลอบใจกันเอง ว่าได้แค่นี้ก็ดีแล้ว
และถ้าหากพรบ.รับรองคู่ชีวิตฉบับรัฐบาลเผด็จออกได้จริง ไม่ต้องถึงขั้นคู่สมรส ก็ถือว่าใต้เท้าเมตตาข้าน้อยใหญ่หลวงนักแล้ว
…ซึ่งพอทราบแล้ว ก็ไม่แปลกใจอีกนั่นแหละ แต่กังวลใจ เพราะมันคือหายนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ชวนิโรจน์ ธีรพชัรพร. สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต วิชาเอกกฎหมายมหาชน สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2559.
[2] เรื่องเดียวกัน.
[3] อ่านเพิ่มเติม Francisco Valdes. Afterword & Prologue: Queer Legal Theory. California Law Review. Vol. 83:1 (January 1995), pp. 344-377.
[5] ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร และภาณุมาศ ขัดเงางาม. สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย. วารสารสมาคมนักวิจัย ปีที่ 22 : 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2560), น.92-104.