นี่อาจจะเป็นคุณูปการหนึ่งของ digital age ที่ democratize วัฒนธรรม เกลี่ยความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างเมืองใหญ่กับท้องถิ่น ปลุกให้คนตัวเล็กตัวน้อยหันมาแบ่งปันวัฒนธรรมรสนิยมร่วมกัน นำไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมย่อยระหว่างเพศสภาพ วัฒนธรรมของLGBTQ ถูกผสมไปกับวัฒนธรรมของคนรักต่างเพศ ชายหญิงรักต่างเพศต่างก็รับและใช้วัฒนธรรม LGBTQ มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากขึ้น จนเป็นที่สังเกตและพอสมมติฐานได้ว่า วัฒนธรรมมวลชนส่วนหนึ่งถูกสร้างและหมุนไปด้วยวัฒนธรรมของ LGBTQ โดยเฉพาะกะเทย ไม่ว่าจะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น วลี “ส้มหยุด หยุดโดยไม่มีอะไรกั้น” โดยแม่สิตางค์ และการกลายเป็นเพลงดังของ ‘Super วาเลนไทน์’ ที่ยูทูบเบอร์ HAISEOUL ก็เป็นอีกหนึ่งที่ออกมา cover จนทำให้โลกรู้จักเจน-นุ่น-โบว์ ทั้งๆ ที่พวกเธอแนะนำตัวเองไปแล้วตั้งแต่ 10 ปีก่อนหน้านั้น แต่ไม่มีใครรู้จัก มากไปกว่านั้นกะเทยก็ได้เปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริโภค เช่นกะเทยกินยำ หรืออยากกินยำอร่อยต้องไปกินยำกะเทย
แม้มันยังคงอยู่ในกรอบความตลกโปกฮา เหมือนมายาคติเดิมๆ ว่ากะเทยเป็นเพศที่มีอารมณ์ขันสร้างสรรค์ หรือบทตลกต้องให้กะเทยเล่น แต่มันก็เป็นความตลกที่ต่างไปจากสถานะกะเทยแต่ก่อนหน้าที่พื้นที่สาธารณะและสื่อในโครงสร้างแบบรักต่างเพศนิยม เจียดพื้นที่ให้กะเทยก็เฉพาะบทตัวตลกสร้างสีสันฉูดฉาดเท่านั้น ขณะที่ตอนนี้ LGBTQ สามารถสร้างพื้นที่และตัวตนได้ด้วยตนเอง และพวกเธอก็เลือกที่สร้างความบันเทิงความสนุกสนาน เพราะอารมณ์ขันและความตลกไม่ใช่คุณสมบัติเพศใดเพศหนึ่ง
เช่นเดียวกับแฟรนไชส์ ‘หอแต๋วแตก’ ที่เป็นหนังผีตลกตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ไม่ว่านักวิจารณ์ คอหนังและ LGBT จะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเกย์กะเทยและเป็นหนังที่ทั้งผู้ชายผู้หญิงก็บริโภค มากไปกว่านั้นหนังกะเทยตลกหลายภาคนี้ยังถูกนำมาเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองโดยกะเทย ที่การต่อบทภาพยนตร์ต่อปากต่อคำของแพนเค้กกับเจ๊แต๋ว เป็นกิจกรรมไฮไลต์ระหว่างผู้ร่วมชุมนุมและผู้ปราศรัยบนเวทีไฮด์ปาร์ค ของ ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งจัดโดยคณะเสรีเทยพลัส
อีตู่ อีตอแหล!!!
ฮ๊ะ! มึงด่านายกหรอ
เปล่า หนูด่าตุ๊กตา
อ่อแล้วปายยย….
และ “เจ๊คะ… ที่เจ๊ด่าหนู ตบหน้าหนู หนูไม่ว่าอะไร แต่ที่เจ๊มาไล่หนูออกจากบ้าน… นี่บ้านมึงเหรอ !”
คือปังมาก 10 10 10 ไม่หัก ใน ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ นั้น พวกเธอไม่เพียงยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เหมือนกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่เพิ่มเติมคือเรียกร้องประเด็น สมรสเท่าเทียม แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 เพื่อให้บุคคลทุกเพศสามารถสมรสกันได้และได้รับการรับรองทางกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาประมวลแพ่งฯ ระบุเพียงชายกับหญิงเท่านั้นที่สมรสกันได้
อันที่จริงนี่ไม่ใช่การเรียกร้องอะไรหรอก แต่เป็นการทวงคืนสิทธิต่างหาก เพราะการสมรสที่รัฐกำหนดแต่แรกนั้นเลือกปฏิบัติ รับรองทางกฎหมายเฉพาะคู่สมรสชายหญิงรักต่างเพศเท่านั้น ทั้งๆ ที่ประชากรของประเทศเต็มไปด้วยรสนิยมและความรักที่หลากหลาย
ม็อบไม่มุ้งมิ้งฯ ที่ประท้วงเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมนั้นมีธีมหลักคือ
พูดเรื่องของจะเทย เสียงของจะเทย จริตจะเทย
เป็นกะเทยประท้วงจริงๆ (ไม่ใช่ ‘กะเทยประท้วง’ ของปอยฝ้าย มาลัยพร)
ที่เรียกร้องความเท่าเทียมไปพร้อมกับประชาธิปไตย
ด้วยความตระหนักรู้ว่า “ความเท่าเทียมไม่งอกเงยจากเผด็จการ” เหมือนกับที่ทุกคนรู้ว่าช้างจะไม่งอกจากปากหมาเช่นกัน ไม่เฉพาะการเมืองภาครัฐในสภา พวกเธอยังพูดถึงการเมืองเชิงอัตลักษณ์ แบ่งปันบอกเล่าประสบการณ์การถูกกดทับกดขี่ผ่านสถาบันครอบครัว การศึกษา ในสังคมปิตาธิปไตยรักต่างเพศนิยม มีผู้คนมาร่วมไฮด์ปาร์คแน่นฟุตปาธ ท่ามกลางการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ในบริบทนั้นจึงเป็นบริบทพิเศษมากๆ ที่ กะเทยและ “จริตจะเทย” เป็นศูนย์กลางและมีความสำคัญมากที่สุด จากที่เคยเป็นเพียงชายขอบหรือเป็นอื่นในสังคม ถูกรังเกียจหรือมองไม่เห็น ขณะที่ตำรวจเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นอาชีพที่ยึดโยงกับ ‘ความเป็นชาย’ แบบอำนาจนำ (hegemonic masculinity) ที่ถือว่าเป็นสถานะ ‘ความเป็นชายสูงสุด’ กลับตกเป็นเพียงชายขอบของพื้นที่ ยืนดูตาปริบๆ อยู่รอบนอก
ไม่เพียงแต่พูดเรื่องปัญหา LGBT ในรัฐไทย ม็อบไม่มุ้งมิ้งฯ ยังเป็นปากเป็นเสียงเรียกร้องสิทธิของ sex worker ซึ่งเป็นอาชีพหนึ่งที่เปราะบางต่อการถูกกดขี่ เลือกปฏิบัติ มองไม่เห็นความสำคัญและถูกดูแคลน พูดถึงปัญหาทรัพยากร สาธารณูปโภค ปัญหาทางเท้าไร้คุณภาพ ขนส่งมวลชน คุกที่มีไว้ขังคนจนเท่านั้น คนรวยชนแล้วหนีพ้นผิด ความหละหลวมเลือกปฏิบัติของรัฐต่อการป้องกัน COVID-19 การอุ้มหาย ไปจนถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ชายที่ถูกริดรอนเพราะระบบเกณฑ์ทหารที่มาจากพื้นฐานความคิดชายเป็นใหญ่และการบีบบังคับแทนความสมัครใจ
เท่ากับว่า ชุมนุมที่เอาจริตกะเทยและประเด็นความหลากหลายทางเพศนำ ได้โอบอุ้มประเด็นต่างๆ ที่นอกเหนือ LGBT เหมือนกับที่ผู้ที่มาชุมนุมก็ไม่ได้มีแต่ LGBT กลุ่มเดียว แต่ยังมีชายหญิงรักต่างเพศมาร่วมด้วย
ม็อบตุ้งติ้งฯ นี้ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการชุมนุมประท้วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลที่แยกไม่ออกจากการละเมิดสิทธิความหลากหลายทางเพศ เป็นการประท้วงทางการเมืองที่พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นหลักและแยกไม่ออกจากการประท้วงรัฐบาลทรราชย์ และยังไม่เคยมีชุมนุมทางการเมืองที่มีลักษณะนี้มาก่อน จนเมื่อเริ่มแรกประชาสัมพันธ์ม็อบ หลายคนยังคิดว่าจ้อจี้อยู่เลย ซึ่งต่างจากนักเคลื่อนไหวนักกิจกรรม LGBT ในไทยบางกลุ่มที่อิงแอบกับระบบเผด็จการและแยกตัวเองออกจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย ใช้ช่องทางรัฐบาลเผด็จการไร้ซึ่งผู้แทนราษฎรขอให้สนับสนุน “ยกร่าง พรบ.จดทะเบียนคู่ชีวิต” แทนที่จะแก้ที่มาตรา 1448 เพราะเห็นว่าทำแบบนี้แล้วน่าจะมีโอกาสมากกว่า ง่ายและเร็วกว่าผ่านสภาผู้แทนราษฎรและระบอบประชาธิปไตย
เช่นเดียวกับที่หลังรัฐประหาร พ.ศ.2557 มีการกำลังยกร่างร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คณะกรรมาธิการยกร่างได้เสนอให้เติมคำว่า ‘เพศสภาพ’ ลงไปในมาตรา 34 ก็ทำให้คณะทำงานการสนับสนุน ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศ ดีอกดีใจว่า รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเห็นคุณค่าความสำคัญของความหลากหลายทางเพศ แห่กันไปมอบกระเช้าดอกไม้ พร้อมทั้งเสนอตัวเป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูล และขอให้แถมคำว่า ‘เพศวิถี’ เพิ่มอีกคำลงในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างนั้นก็ตุ้บ จะเทยดีใจเก้อเลยจ้าาาา
กลับมาที่กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBT กับประชาธิปไตยใน “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล” สัญลักษณ์หนึ่งที่ประเด็นการเมืองแยกไม่ออกไปจากเรื่องเพศก็คือ “เพลงแจว” ในม็อบ ที่สามารถนำวัฒนธรรมและสิทธิกะเทยกับการเมืองภาครัฐมาสัมผัสคล้องจอง
“แจวเรือจะไปซื้อยำ แจวเรือจะไปซื้อยำ ไหนว่าประเทศเราควรแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ให้ลุกขึ้นมาแจว”
“แจวเรือจะไปหาอาจารย์สมเจียม แจวเรือจะไปหาอาจารย์สมเจียม ไหนใครสนับสนุนสมรสเท่าเทียม ให้ลุกขึ้นมาแจว”
ทั้งเพลงแจว กิจกรรมไฮไลต์ บรรยากาศและจริตจะเทย ก็ได้ทำให้ชุมนุมที่ต้องการต่อสู้กับเผด็จการมีอรรถรสเหมือนมหรสพบันเทิง กิจกรรมรับน้องรับเพื่อนใหม่ มีกองสันทนาการ จนดูราวกับว่านี่คือการปลดปล่อยความอัดอั้น โกรธเคือง และเจ็บปวดกับอำนาจนิยมทั้งในโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมและการเมือง มีลักษณะทีเล่นทีจริง ขณะเดียวกันชุมนุมก็ได้ไปสร้างความเป็นมิตรอ่อนน้อมกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาควบคุมกำกับ กดดัน ถ่ายรูปเก็บข้อมูล อำนวยความสะดวกและก็พร้อมปราบปรามผู้ชุมนุมในเวลาเดียวกัน จนดูเหมือนกับว่าความต้องการสูงสุดของชุมนุมในครั้งนี้เป็นแค่ปลดปล่อยความอัดอั้นมากกว่าปลดแอกจากโครงสร้างที่บีบบังคับอยู่ คล้ายกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ผ่านมาที่เค้าแซะกันว่า ‘สู้ไปกราบไป’ จนทำให้ฝั่งเสรีประชาธิปไตยสู้ไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ การปลดปล่อยปลดแอกก็ไม่มีความจำเป็นต้อง
เกรี้ยวกราดกระฟัดกระเฟียด แยกออกจากความบันเทิงความสนุกสนาน
และม็อบไม่มุ้งมิ้ง ฯ นี้ก็เป็นเพิ่งเป็นการเริ่มต้นของคณะเสรีเทยพลัส ซึ่งม็อบครั้งแรกนี้ก็ถือว่าปังมากแล้ว 10 10 10 ไม่หัก และให้ความสำคัญกับ LGBT ชุมนุมอื่น ๆ ที่ผ่านมาที่มี LGBT เป็นแกนนำหรือบุคคลสำคัญ
ม็อบ กปปส. (ตัวย่อจากชื่ออันยาวเหยียดฟุ่มเฟือยว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”) ที่คลาคล่ำไปด้วย LGBT เป็นเวทีปลดปล่อยกะเทยในพื้นที่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่พวกเธอก็เป็นไปเพื่อสร้างสีสัน ตลกหน้าม่านสลับฉาก ไม่ได้ยกระดับคุณค่าเพศสภาพเพศวิถีแต่อย่างใด เพราะ กปปส. ด้วยตัวของมันเองไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อประชาธิปไตยอยู่แล้ว ทว่าเพื่อปูทางให้ระบอบเผด็จการที่นำไปสู่รัฐประหาร พ.ศ. 2557 จนเราต้องมีประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี
ด้วยสำนึกเกลียดกลัวประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพและเสมอภาคด้วยตัวของมันเอง บนเวทีกปปส. ต่อให้มีดารากปปส. กะเทยมากหน้าหลายตาแค่ไหน ปราศรัยหรือเล่นตลกตัวบนเวที หรือมีรันเวย์ให้เดินประชันความงามสร้างความบันเทิง ก็ไม่ได้หมายความว่าชุมนุมจะให้ความสำคัญกับเกย์กะเทยมากไปกว่าตัวประกอบ เป็นตัวตลกสร้างเสียงหัวเราะแทรกเสียงนกหวีดเท่านั้น ซ้ำร้ายยังเอากะเทยมาเล่นตลกด้วยมุกเหยียดและ misogyny มากกว่าจะให้ความสำคัญว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ในมุกตลกของพวกเธอจึงเป็นการด่าเพศหญิง และเอา sex worker มาเป็นตัวเปรียบถึงหญิงเลว เช่นละครบทบาทสมมติรับส่งกันระหว่างครูลิลลี่ กับ ดร.เสรี (เวทีแยกปทุมวัน,16 มกราคม 2557) และ มุก “ปี-แสบ-หู” ของครูลิลลี่ (เวทีห้าแยกลาดพร้าว, 15 มกราคม 2557) หรือบางคืนของเวทีชุมนุมก็เอากะเทยมหา’ลัยมาพูดว่าขนาดตนเองเป็นตุ๊ดยังออกมาประท้วง ใครที่ไม่ออกมาประท้วง อายตุ๊ดมั๊ยที่เท่ากับว่า ตุ๊ดถูกจัดวางให้อยู่ในสถานะตัวอุปมามาตรฐานขั้นต่ำ ที่ไม่ควรทำตัวให้ต่ำกว่าตุ๊ด เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ต่างอะไรกับประโยคประเภท “ขนาดหมาขี้เรื้อนยังไม่ฆ่าตัวตายเลย แล้วทำไมเป็นมนุษย์มีมือมีตีนจะฆ่าตัวตายทำไม”
ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล เองจึงก้าวหน้าไปไกลหลายขุมจากม็อบประชาธิปไตยก่อนหน้านั้น ที่เชิดชูประชาธิปไตยแต่ก็ไม่ให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ LGBT ใช้ประเด็นกะเทยและรักเพศเดียวกันเป็นเครื่องมือในการโจมตี อย่างม็อบนปก. (“แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น นปช. หรือ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” เมื่อรัฐบาลสุรยุทธ์สิ้นสุดลง) ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549 และอำมาตย์ที่บ่อนเซาะทำลายประชาธิปไตย โดยเฉพาะเปรม ติณสูลานนท์ อภิสิทธิ์ชนที่พยายามแทรกแซงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และมีอิทธิพลเจ้ากี้เจ้าการในรัฐประหาร พ.ศ.2549 เขาโดนม็อบด่าว่าเป็น “กะเทยเฒ่า” “ขันทีเฒ่า” “อีแอบหัวขาว” อย่างหนักหน่วง