สมัยผมเป็นเด็กผมชอบเรื่องสยองขวัญมากไม่รู้ทำไมเหมือนกันทั้งๆ ที่ก็กลัว ช่วงกลางคืนวันหยุด กลุ่มเด็กๆ ในบ้านก็จะมารวมตัวกัน เอาผ้าห่มมาคลุมโปงเหลือแต่ใบหน้าที่คอยจับจ้องไปยังผู้เล่า ซึ่งปกติมักจะเป็นพี่สาวคนโตที่คอยสรรหาเรื่องชวนขนลุกเหล่านี้มาเล่าด้วยน้ำเสียงเย็นยะเยือก ไปจนกระทั่งจุดไคลแม็กซ์แล้วก็ยื่นมือมา “แฮร่!” อย่างรวดเร็วและวงก็แตกกระเจิง
ช่วงเวลาแห่งปีอย่างวันฮาโลวีนที่เพิ่งผ่านพ้นไปทำให้คิดถึงเวลาเหล่านั้น รูปแบบของสิ่งลี้ลับ ภูติ ผี วิญญาณ นั้นอาจจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละวัฒนธรรมและความเชื่อ แต่ไม่ว่าที่ไหนก็ดูเหมือนจะมีสิ่งเหล่านี้แฝงอยู่เสมอ เห็นได้ตั้งแต่เรื่องเล่าสืบต่อกันมา หนังสือที่วางขายตามร้าน ไปจนกระทั่งภาพยนต์หรือซีรีส์เกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ และที่ผ่านมาเรื่องเหล่านี้ (ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน) ล้วนแล้วแต่ถูกถ่ายทอดจากมนุษย์สู่มนุษย์ มนุษย์เป็นคนเล่าต่อๆ กันมา และมนุษย์ก็เป็นคนฟัง
แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เมื่อ artificial intelligence นั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้วโดยที่เราแทบไม่รู้ตัว (ทั้งในสมาร์ตโฟน, คอมพิวเตอร์, สปีกเกอร์, หลอดไฟ หรือแม้แต่กุญแจบ้าน) ก็อาจจะไม่แปลกใจเมื่อได้ยินข่าวเกี่ยวกับ Shelley ที่เป็น deep-learning artificial intelligence สมองกลที่ถูกสร้างขึ้นโดย MIT Media Lab ที่สามารถเขียนเรื่องราวสยองขวัญด้วยตัวเอง
ใช่แล้วครับ Shelley เป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่เขียนเรื่องผีๆ ให้เหล่าผู้ชอบอ่านเรื่องราวเสียวสันหลัง
สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าแค่ความบันเทิงที่ Shelley สามารถมอบให้ผู้อ่านได้เป็นอย่างดีก็คือต่อจากนี้เราน่าจะเริ่มเห็น ‘AI’ ที่สามารถ ‘เขียน’ และ ‘สร้าง’ คอนเทนต์ที่ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเราอาจจะแยกไม่ออกเลยว่าคุณกำลังอ่านงานที่เขียนด้วยมนุษย์หรือหุ่นยนต์
ในปี ค.ศ. 2017 จากรายงาน ‘When Will AI Exceed Human Performance?‘ ของ Oxford University Future of Humanity Institute ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Yale University ได้ทำการสอบถามผู้เชี่ยวชาญทางด้่าน AI กว่า 352 คนว่าเป็นไปได้ไหมที่ AI จะสามารถทดแทนมนุษย์ในกิจกรรมต่างๆ ความคิดเห็นส่วนใหญ่ก็บ่งบอกไปในทิศทางเดียวกันว่าภายใน 10 ปี AI บอทจะสามารถเขียนรายงานแบบเดียวกับที่เด็กมัธยมปลายเขียนได้ และภายใน 25 ปีอาจจะเขียนงานที่สามารถติดชาร์ตของ New York Times Bestseller ได้เลยทีเดียว
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะบอกว่า“เออ..กูยอม” ท้อใจวางปากกาหยุดเขียน ไม่ต้องฝันจะเป็นนักเขียนอีกแล้วเพราะถึงยังไงสุดท้ายก็สู้ AI ไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็คงน่าเสียดาย เพราะที่จริงแล้วมันอาจจะก็ไม่ได้โหดร้ายถึงขนาดนั้น ถึงแม้ว่าภายในไม่กี่ปีเราน่าจะเห็น AI ที่สามารถเขียนบล็อก สร้างเรื่องราวสนุกๆ และดึงดูดความสนใจของคนหลายล้านคนได้ไม่ยาก และ AI ที่สร้างคอนเทนต์น่าจะเป็นเรื่องธรรมดามากยิ่งขึ้น
แต่มนุษย์ก็ยังจะเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างผลงานเขียนต่างๆ ที่มนุษย์จะอ่านในอนาคตที่จะมาถึงอยู่ดี
‘auto-generated content’ หรือคอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วย AI นั้นคืองานเขียนที่สร้างด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่จนต้องตกใจอะไร ที่ผ่านมาเราได้เห็นโปรแกรมอย่าง ‘article spinners’ ที่เอาบทความมารีไรท์ (rewrite) หรือเขียนใหม่ แต่งานออกมาก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่ แต่ถ้าจะเทียบกันระหว่างคอนเทนท์ที่สร้างโดย AI ตอนนี้กับเครื่องมืออย่าง article spinners ที่เก่าแก่นั้นย่อมมีข้อแตกต่างกันอยู่แล้ว เพราะ AI ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นก้าวหน้าไปไกลมาก
ยกตัวอย่างในปี ค.ศ. 2016 ที่ประเทศญี่ปุ่น มีงานเขียนที่ AI สร้างขึ้นมาผ่านเข้ารอบการคัดเลือก Hoshi Shinichi Literary Award เข้าไปด้วย ซึ่งงานนี้เปิดรับผลงานที่ไม่ได้มาจากมนุษย์ในปีก่อนๆ ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ว่านี่เป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการได้รับงานจาก AI 11 ชิ้น จาก 1,450 งานที่ส่งเข้ามา ซึ่งมีทั้งงานที่เขียนโดย AI ล้วนๆ หรือ AI เข้ามาช่วยบางส่วนด้วย ช่วงโอลิมปิกปี ค.ศ. 2016 เอง สำนักข่าว Washington Post ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Heliograph เพื่อรวบรวมรายงานที่ไม่ซับซ้อนอย่างเช่น จำนวนผู้ได้เหรียญรางวัล โดยโปรแกรมที่เขียนคอนเทนต์ทั้งสองชิ้นนี้ต่างใช้อัลกอริทึมที่ถูกเซ็ตขึ้นมาตามกฎที่พวกเขาต้องการ และช่วงที่ผ่านมาสำนักข่าวหลายๆ แห่งก็มีการพัฒนาเหล่า AI ของตัวเองมาโดยตลอด
กลับมามองที่ Shelley (ตั้งชื่อตามนักเขียนชื่อดังอย่าง มารี เชลลี (Mary Shelley) เจ้าของผลงาน Frankenstein) ที่เขียนประโยคเปิดเด็ดๆอย่าง
“ฉันได้ยินเสียงใครสักคนหนึ่งกำลังเข้ามาในห้องของฉัน ฉันมองไม่เห็นอะไรเลย ได้ยินแต่เสียงสิ่งของหนักๆ บางอย่างที่ถูกลากบนพื้น ในอีกมุมหนึ่งของห้องที่ตรงกันข้ามกับที่ฉันอยู่ ฉันเห็นเงาของผู้ชายคนหนึ่ง เสียงเหมือนเขากำลังร้องไห้สะอึกสะอื้น”
ในการฝึก Shelley ให้สามารถทำแบบนี้ได้ นักวิจัยต้องป้อนเรื่องสยองขวัญที่มาจากนักเขียนมือสมัครเล่นที่โพสต์บน r/nosleep หลังจากนั้นพวกเขาก็ให้ Shelley ลองเขียนประโยคเปิดสยองขวัญบน Twitter ทุกชั่วโมงในช่วงฮาโลวีนปี ค.ศ. 2017 (แต่ตอนนี้ไม่ได้เขียนแล้วนะครับ) ผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มสามารถสานต่อประโยคเหล่านั้นแล้วเล่าเรื่องในรูปแบบของตัวเองต่อไปด้วย
เป็นการทำงานร่วมกันครั้งแรกของมนุษย์และ AI เพื่อสร้างเรื่องสยองขวัญ
ถึงแม้ว่า Shelley จะทำงานได้ดีแต่บางครั้งมันก็พิมพ์บางอย่างที่หลุดโลกไปเลยก็มีอย่างเช่น
“หมอต่างๆ บอกว่าเขากำลังเดินทางไปยังโรงพยาบาลอื่นมาได้สักพักหนึ่งแล้วหลังจากที่หมอเรียกเขาว่าพยาบาล” หรือ “เขาต้องกดความรู้สึกตัวเองจากความเจ็บปวดและความจริงอย่างหนึ่งที่เขาพยายามจะเจ็บตัวเป็นเวลาหนึ่งเดือน”
ประโยคเหล่านี้ในมุมมองของนักอ่านมันดูสับสนและแปลกเกินไป แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็ “สร้างเรื่องที่พิลึกและน่าสนใจบางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเภทงานสยองขวัญ” Pinar Yanardag นักวิจัยปริญญาเอกคนหนึ่งที่ MIT Mesia Lab กล่าวถึงเรื่องนี้ โดย Shelley เป็นโปรเจกต์ที่สองที่ทางทีมของพวกเขาสร้างขึ้นมา ซึ่งปีก่อนหน้านั้นก็มีการฝึก AI ให้สร้างภาพน่ากลัวๆ ชื่อว่า Nightmare Machine
ในตอนนี้ Shelley ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับ สตีเฟน คิง (Stephen King) ได้ ถึงแม้ Shelley ว่าจะสามารถสร้างประโยคที่ซับซ้อนแต่บางครั้งมันก็จับใจความอะไรไม่ได้เลย แต่คำถามที่สำคัญก็คือ “วันหนึ่ง AI จะสามารถพัฒนาไปถึงขั้นที่นักเขียนจะตกงานหมดเลยไหม?” จากความสามารถของ AI ที่เป็นอยู่ตอนนี้อนาคตนั้นอาจจะยังไม่มาถึงในวันนี้หรือพรุ่งนี้ เพราะคอนเทนต์ที่ถูกเขียนขึ้นมานั้นยังต้องการมนุษย์เพื่อเป็นคอยตรวจสอบและนำทางต่อ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้และน่าจะเห็นกันเยอะขึ้นก็คือการทำงานร่วมกันของ AI และมนุษย์ อย่างที่เราเห็นแล้วว่า AI นั้นพัฒนามาได้ไกลมากจากเมื่อหลายปีก่อน การเขียนรายงานสั้นๆ อย่างผลการแข่งขันฟุตบอลหรือรายงานผลประกอบการของบริษัทที่เป็นตัวเลขต่างๆ งานเหล่านี้อีกหน่อยบอทน่าจะทำได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
แต่สำหรับคอนเทนต์ออนไลน์ตอนนี้เราคงต้องขอบคุณ google ที่ช่วยทำให้ระบบค้นหานั้นดีมากขึ้น และคอนเทนต์ที่มีความครีเอทีฟ มีอารมณ์ขัน มีอารมณ์ร่วม ก็มักจะขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ เวลามีใครค้นหาข้อมูล จึงเป็นเรื่องยากที่ AI จะทำเรื่องเหล่านั้นได้ สุดท้ายก็จะกลายเป็นสองช่องทางของงานเขียนที่แบ่งแยกชัดเจนเหมือนกับเรื่องอื่นๆ ของ AI ที่ทำงานอะไรซ้ำๆ ที่มนุษย์ไม่อยากทำ ส่วนมนุษย์ก็ไปทำงานในส่วนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เขียนงานที่มีคุณภาพออกมา
ในทางทฤษฎีแล้วอาจเป็นผลดีต่อสื่อต่างๆ ด้วย เพราะงานที่น่าเบื่อก็ยกให้ AI ไปและใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในอนาคตอาชีพนักเขียนจะยังไม่หาย จะเป็นส่วนสำคัญมากด้วยซ้ำเพราะต้องคอยสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพอยู่เสมอ ก็เหมือน Shelley ที่ทำได้แค่เปิดเรื่องมาแล้วให้จินตนาการของมนุษย์นักเขียนคนอื่นๆ สานต่อความสยองขวัญ อย่างที่ Yanardag ให้สัมภาษณ์กับ Co.Design ว่า
“เราหวังว่า Shelley จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนเขียนเรื่องราวที่แปลกที่สุดและน่ากลัวที่สุดด้วยกัน”
อ้างอิงข้อมูลจาก
Meet Shelley, the AI who writes horror stories, and her creators
Will robots (AI) end up taking over the job of writers?
AI Shelley Pens Truly Creepy Horror Stories—And You Can Help
Meet Shelley She s an AI robot who creates bone chilling, horror stories
Experts Predict When Artificial Intelligence Will Exceed Human Performance