ภาพโปรโมทเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยดังแห่งหนึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ค่อยจะเหมาะสมเท่าไหร่ บางเสียงถึงขั้นบ่งนัยว่า เป็นภาพที่มีความโป๊เปลือย เหมาะกับการเป็นโฆษณาของสถานบันเทิงในบางย่านอโคจรมากกว่า บางข่าวก็พาดหัวว่า นักศึกษาของมหาวิทยาลัยดังเหล่านั้นถ่ายภาพอวด ‘เนินอก’ เรียกได้ว่าเป็นพาดหัวที่เร้าอารมณ์ความรู้สึกในแง่ไม่ค่อยจะดีเป็นอย่างยิ่ง
เห็นคำวิจารณ์เหล่านั้น ผมเลยคลิกเข้าไปดูภาพเชียร์ลีดเดอร์เหล่านั้น
มันเป็นภาพของเชียร์ลีดเดอร์ทั้งชายและหญิงที่อยู่ในแสงเงาสวยงาม โดยแต่ละภาพเป็นภาพแนวพอร์เทรตที่ค่อนข้างโคลสอัพ คือเป็นภาพที่เห็นใบหน้า ศีรษะ และหัวไหล่ ไม่ได้ไล่เลยลงมาถึง ‘เนินอก’ ใดๆ ถ้าจะมีอยู่บ้าง ก็เป็นรูปเชียร์ลีดเดอร์ชายคนหนึ่งที่ภาพไล่ลงมาต่ำกว่าคนอื่นนิดหน่อย แต่ก็ไม่ถึงราวนม และจะเรียกหน้าอกที่เห็นว่า ‘เนินอก’ ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ภาพเหล่านี้เห็นได้ชัดว่า ‘จงใจ’ จะให้เกิดความรู้สึก sensual บางอย่างขึ้นมา เพราะนำสิ่งที่ปกติไม่ค่อยเห็นเนื่องจากถูกปกปิดอยู่ใต้ร่มผ้า แต่เปิดเปลือยมาให้เห็นชัดแจ้ง
สิ่งนั้นคือหัวไหล่,
แต่กระนั้น หัวไหล่ก็ไม่ใช่เนินอก
คำถามก็คือ – มนุษย์เราเปลือยหัวไหล่ได้ไหม?
ถ้าเข้าไปดูคอมเมนต์ของหลายคน ก็จะเห็นได้ว่ามีเสียงไม่เห็นด้วยต่อภาพเหล่านั้นอยู่ไม่น้อย บางเสียงบอกว่านี่เป็นภาพที่ไม่เหมาะต่อสถานะของการเป็น ‘นักศึกษา’ ไม่เหมาะต่อการเป็นภาพตัวแทนของสถาบันการศึกษา คนที่อยู่ในสถานะ ‘ปัญญาชน’ (หรืออย่างน้อยก็ ‘ว่าที่ปัญญาชน’) ของประเทศ ไม่ควรจะถ่ายภาพอะไรแบบนี้ออกมา เพราะมันเป็นภาพที่สื่อไปในนัยเรื่องเพศ เป็นการพยายามแสดงความ ‘เซ็กซี่’ ออกมา โดยไม่เหมาะสม
เห็นคอมเมนต์เหล่านั้น ผมยิ่งเกิดคำถามตามมาใหญ่, ว่า – ทำไมเราถึงเปลือยหัวไหล่ไม่ได้ และทำไมหัวไหล่ถึงกลายเป็นอวัยวะที่ ‘เซ็กซี่’ ไปได้
เหตุการณ์หัวไหล่เชียร์ลีดเดอร์ (ไม่ใช่เนินอกนะครับ – เพราะไม่มีปรากฏให้เห็น) ในไทย ทำให้ผมนึกถึงหลายเหตุการณ์ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการถกเถียงในหมู่ชาวเคร่งศาสนาอย่างมอร์มอนในเมืองซอลต์เลคซิตี้ ว่าผู้หญิงควรสามารถ ‘เปลือยไหล่’ ได้ไหม (ที่เคยเห็นผ่านตาเมื่อหลายปีก่อน) จนต้องไปเสิร์ชดูข่าว แล้วก็พบว่าไม่ได้มีอยู่ข่าวเดียว แต่การถกเถียงเรื่องน้ีเกิดขึ้นยาวนาน และน่าจะยังเกิดขึ้นอยู่จนทุกวันนี้
การถกเถียงที่ว่าก็คือ ‘หัวไหล่’ คือสิ่งที่ถูก Sexualized (หรือถูกทำให้เป็น ‘วัตถุทางเพศ’) หรือเปล่า?
บทความนี้ เล่าถึงเด็กสาวชาวยูทาห์คนหนึ่งที่ไปงานเต้นรำของโรงเรียน เธอใส่ชุดไม่ได้โป๊เลยนะครับ เป็นชุดเปิดไหล่ แต่ไม่ใช่สายเดี่ยว ดูแล้วออกจะเรียบร้อยด้วยซ้ำไป เพราะคอเสื้อปิดเขึ้นไปสูงลิบ สิ่งที่เผยออกมามีแต่ไหล่และต้นแขนของเธอเท่านั้น แต่กระนั้น เมื่อไปถึงงานเลี้ยงเต้นรำของโรงเรียน เธอก็ถูกเตือนจากตัวแทนของโรงเรียนในทันทีว่าให้หาอะไรมาคลุมไหล่เสียหน่อย
เด็กสาวบอกว่าเธออับอายมาก แต่ก็ไม่อยากให้เป็นเรื่องราวใหญ่โต เธอเลยกลับเข้าไปที่รถ แล้วหยิบเสื้อโค้ตฤดูหนาวมาใส่เข้างาน แต่เธอบอกว่า
“Somehow my shoulders are sexualized – like it’s my responsibility to make sure the boys’ thoughts are not unclean.”
คำโต้แย้งของเธอเห็นได้ชัดเลยว่า เธอรู้ว่าเจตนาของการเตือนให้เธอสวมเสื้อคลุมนั้นเป็นเจตนาดี เพราะไม่อยากให้เธอต้องเกิดอันตรายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศที่อาจเกิดขึ้นเพราะเด็กหนุ่มๆ เห็นหัวไหล่ของเธอ แต่กระนั้นเธอก็รู้สึกว่า นี่คือการ ‘ผลักภาระ’ มาให้เธอ เพราะคล้ายต้องเป็นความรับผิดชอบของเธอ ในอันที่จะปกปิดหัวไหล่ของเธอเอง ไม่ให้มันถูก Sexualized ไม่ให้คนอื่นต้องเกิดอารมณ์ทางเพศ ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นข้อโต้แย้งที่เริ่มจะพบเห็นได้จนหลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในยุคสมัยนี้
อย่างไรก็ตาม ในอีกบทความหนึ่งของเว็บ religionnews.com มีการไปวิเคราะห์นิตยสารด้านศาสนาของศาสนาคริสต์นิกายที่เรียกว่า LDS หรือ The Church of Jesus Christ of Latter-Day Saints สามฉบับ ซึ่งเป็นนิตยสารอย่างเป็นทางการ โดยนิตยสารทั้งสามฉบับคือ Ensign, New Era และ The Friend จะมีบทความแนะนำการแต่งตัวให้กับทั้งผู้หญิงผู้ชาย เขาก็เลยไปวิเคราะห์บทความพวกนั้น
บทความที่แนะนำการแต่งตัวนี้ ไม่ใช่บทความแฟชั่นนะครับ แต่เป็นการแนะนำแกมสั่งสอนว่า คนเราควรจะแต่งตัวแบบ ‘ถ่อมตัว’ (Modesty) คือไม่โอ้อวดเนื้อหนังมังสาอย่างไรบ้าง (โดยเฉพาะการไม่เปิดเปลือยไหล่) เขาพบว่า ในนิตยสารทั้งสามเล่มนี้ นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีบทความที่สอนสั่งให้ผู้หญิงแต่งตัวแบบปกปิดมิดชิดไม่โอ้อวดเนื้อหนังเพิ่มขึ้นมากๆ จนเรียกได้ว่าพุ่งกระฉูด (หรือเป็น Spike) กันเลยทีเดียว
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ แม้บทความพวกนี้จะบอกว่า เป็นการสอนทั้งผู้ชายผู้หญิง (โดยเฉพาะเด็กๆ วัยรุ่น) แต่เอาเข้าจริงเมื่อวิเคราะห์ลงไปในตัวบท พบว่านิตยสารทั้งสามเล่มพุ่งเป้าไปที่การสอนผู้หญิงว่าอย่าแต่งตัวโป๊มากว่าการแต่งตัวให้ผู้ชายมากถึง 6 เท่า
หลายคนอาจคิดว่า นี่คือความเคร่งศาสนาของชาวมอร์มอน จึงต้องมีการบ่มเพาะกันมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ก็มีเสียงโต้แย้งว่า ผู้หญิงมอร์มอนสมัยก่อน เช่นในยุคหกศูนย์ ก็เคยมีภาพของผู้หญิงมอร์มอน (ที่เป็น ‘ผู้หญิงดีๆ’) ใส่ชุดแบบเปิดหัวไหล่อยู่เหมือนกัน เช่นภาพในปี 1964
คำถามก็คือ ทำไมถึงเกิดความเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ขึ้นมาได้ ทำไมแม้กระทั่ง ‘หัวไหล่’ ก็ยังถูกมองว่าเป็นอวัยวะที่อาจกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ และดังนั้นจึงเป็นเรื่อง ‘อันตราย’ ต่อตัวผู้หญิงเอง ดังนั้น ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ก็ไม่ควรจะแต่งตัวเปิดหัวไหล่
คำอธิบายมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน แต่อย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากเป็นคำอธิบายในเชิงศาสนาเอง โดยในบทความเดียวกันนี้นี่แหละครับ อธิบายว่าโลกทุกวันนี้มีการเปิดเผยหัวไหล่เพื่อการ ‘ยั่วยุทางเพศ’ มากขึ้น โดยเฉพาะแฟชั่นเปิดเปลือยหัวไหล่เพื่อสร้างความเซ็กซี่โดยจงใจ เราจะเห็นภาพประเภทที่ผู้หญิงรั้งสายคล้องลงมาที่ต้นแขน แล้วก่อให้เกิดความรู้สึกทางเพศขึ้น เพราะมันคล้ายกับผู้หญิงเหล่านั้นกำลังจะ ‘ถอด’ เสื้อผ้าออกมา และการที่สายคล้องไม่อยู่บนบ่า แต่ลงมาอยู่ท่ีต้นแขน ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกคล้ายว่าเสื้อผ้านั้นพร้อมจะ ‘หลุด’ ออกมาได้ทุกเมื่อ หัวไหล่จึงเริ่มมีนัยในเรื่องเพศแฝงเร้นเข้าไปมากขึ้น
แต่ถ้ามองในทางศาสนาแล้ว หัวไหล่ไม่ใช่อวัยวะที่เอาไว้ยั่วยุทางเพศ เพราะมันมีนัยหลายอย่างทางศาสนาซ่อนอยู่
ถ้าคุณเคยได้ยินเพลง You Raised Me Up ซึ่งเป็นเพลงที่มีนัยทางศาสนา คุณจะรู้เลยว่า การ ‘ยก’ ใครสักคนหนึ่งขึ้นสู่ที่สูง (เช่นพ่อแม่ยกลูกขึ้น) ต้องใช้หัวไหล่ที่แข็งแกร่ง บทความนี้ก็อธิบายคล้ายๆ กัน โดยบอกว่าหัวไหล่ของมนุษย์คือสัญลักษณ์ของพลังงานและความแข็งแรง เราต้องใช้หัวไหล่ในการดันล้อเกวียนเพื่อเดินทาง เวลาจะสร้างชุมชน ก็ต้องใช้หัวไหล่เพื่อแบกรับภาระของเพื่อนบ้าน เวลาเพื่อนบ้านของเราเจ็บปวด เราก็มอบหัวไหล่ให้พวกเขาได้ซบหน้าร้องไห้ ฯลฯ ซึ่งก็สอดคล้องกับบทความนี้ ที่วิเคราะห์หัวไหล่ (แต่เป็นของผู้ชาย) ว่ามนุษย์เราหมกมุ่นกับรูปร่างของผู้ชายที่เป็นรูปตัว V (คือไหล่กว้าง เอวคอด) ว่าเป็นรูปร่างที่แข็งแรงและพึงปรารถนา
เมื่อเป็นอย่างนี้ หัวไหล่จึงไม่ควรถูกนำมาเกี่ยวข้องกับนัยเรื่องเพศ เพราะมันคือการนำอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับมิติที่แทบจะศักดิ์สิทธิ์สูงส่งในสังคม มาทาบเทียบกับมิติที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องหยาบช้ายั่วยุ ดังนั้น เพื่อต่อกรกับกระแสแฟชั่นที่มีนัยทางเพศของโลกยุคใหม่ นิตยสารของชาวมอร์มอนจึงต้องสร้างวาทกรรมเรื่องการแต่งตัวแบบ Modest หรือไม่โอ้อวดเนื้อหนังมังสา (โดยเฉพาะในผู้หญิง) ให้มากขึ้นเรื่อยๆ
ที่สำคัญ ในระยะหลังๆ พบว่าบทความทำนองนี้ พุ่งเป้าไปที่เด็กอายุต่ำกว่า 11 ขวบมากขึ้นด้วย เพราะนิตยสารเหล่านี้เห็นว่าเด็กๆ ก็เริ่มตกเป็นเหยื่อของแฟชั่นที่มีนัยทางเพศด้วยเหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องทำงานด้านนี้ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
ที่จริงทุกวันนี้ ข้อถกเถียงเรื่องการทำให้ใครหรืออะไรเป็นวัตถุทางเพศ (Objectification) ไปไกลกว่าการถกเถียงเรื่องเชียร์ลีดเดอร์หรือการถกเถียงของชาวมอร์มอนมากแล้ว เช่นพูดเรื่อง Dress Code เป็นการกดขี่ทางเพศหรือไม่ หรือลงลึกไปถึงสภาวะทางจิตกับธรรมชาติของการถูกทำให้กลายเป็นวัตถุ หรือกระทั่งการทำตัวเองให้เป็นวัตถุทางเพศ แล้วไปเกี่ยวข้องกับการกินและความสามารถในการคำนวณเลขอย่างไร แต่กระนั้นก็เปล่าประโยชน์ที่จะพูดถึงเรื่องทำนองนี้
เพราะหากเรายังเห็นหัวไหล่เป็นเนินอก การถกเถียงเรื่องอื่นที่เลยพ้นไปจากนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก