ใครๆ ก็รู้ว่าพี่น้องตระกูล Wright เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องบิน หรืออย่างน้อยพวกเขา ‘มักจะ’ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องบินที่ช่วยให้เราเดินทางอย่างสะดวกสบายแบบที่คนสมัยก่อนไม่เคยคาดคิด พวกเขาสร้างเครื่องบินที่มีน้ำหนักมากกว่าอากาศ ควบคุมโดยมนุษย์ และนำมันขึ้นบินได้สำเร็จในวันที่ 17 ธันวาคม 1903 ท่ามกลางเสียงปรามาสว่าเป็นไปไม่ได้
เวลาที่บอกว่าพี่น้องตระกูล Wright บินได้สำเร็จ เราเห็นภาพแบบไหน
เราคงนึกภาพมวลชนข้างล่างนับพันนับหมื่นอึ้ง หวาดหวั่น หรือตื่นเต้นยินดีไปกับความสำเร็จ เมื่อพี่น้องตระกูล Wright ก้าวลงมาจากเครื่องบิน มวลชนคงต้อนรับพวกเขาด้วยเสียงปรบมือกึกก้องและโห่ร้องยินดี ในวันต่อๆ มา หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องลงข่าวของพวกเขา อาจเป็นข่าวหน้าหนึ่ง พาดหัวว่า ‘HUMAN CAN FLY’ พวกเขาคงได้รับการเฉลิมฉลองในฐานะบิดาแห่งการบิน ชื่อเสียง เงินทอง ต้องประดังประเดมาหาพวกเขา
แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ The New York Times ในวันต่อมา ไม่มีชื่อของพี่น้องตระกูล Wright สองวันต่อมาก็ไร้วี่แวว กระทั่งสามวันต่อมาที่พี่น้องตระกูล Wright บินได้สำเร็จเป็นครั้งที่สี่ (ซึ่งสำเร็จในที่นี้คือบินได้เกือบหนึ่งนาทีเท่านั้น) ก็ยังไม่มีสื่อไหนพูดถึง
มีคนไปค้นมาว่า The New York Times พูดถึงพี่น้องตระกูล Wright ครั้งแรกเมื่อปี 1906 หรือ 3 ปีหลังจากพวกเขาบินได้สำเร็จ ในรายงานฉบับเดียวกัน (When You Change the World and No One Notices: เมื่อคุณเปลี่ยนแปลงโลกแล้วไม่มีใครรู้) ก็ยังพูดถึงเทคโนโลยี (ที่เราคิดว่า) สมัยใหม่มากๆ อย่างการพิมพ์สามมิติ ซึ่งจริงๆ แล้วสื่อพูดถึงมาตั้งแต่ปี 1989 แต่แทบไม่มีใครสนใจ
ทุกวันนี้เมื่อผมติดตามข่าวสารต่างๆ ในเว็บไซต์ต่างประเทศ เพียงสองหรือสามชั่วโมง ผมก็จะเห็นข่าวนั้นถูกแปลมาอยู่บนเว็บไซต์ไทยเสร็จสรรพ (และถ้าโชคดีก็ให้เครดิตเว็บไซต์ต่างประเทศด้วย) ถ้าพี่น้องตระกูล Wright บินสำเร็จในวันนี้คงได้ออกข่าวทุกช่องพร้อมกันจนมนุษย์ครึ่งโลกรับรู้ไปด้วย
สมัยก่อนการเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสารมีแรงเสียดทานมาก กว่าข่าวหนึ่งจะเผยแพร่ไปได้ ต้องอาศัยการบอกเล่าปากต่อปาก หรือหากจะพึ่งพาหนังสือพิมพ์ก็ต้องอาศัยการคัดกรองของบรรณาธิการและนักข่าว ในภาวะแบบนั้น ผู้ผลิตข่าวทั้งหลายคือผู้กุมอำนาจทั้งหมดว่าอะไรเป็น ‘ความจริง’ และอะไรเป็น ‘ความไม่จริง’ พวกเขาจึงสามารถชี้นำให้สังคมเดินไปทางใดทางหนึ่งตามต้องการ
ในขณะที่ปัจจุบันหน้าที่รักษาประตูของบรรณาธิการและนักข่าวลดน้อยลง ผู้คนสามารถเป็นต้นตอข่าวและเป็นสื่อด้วยตนเองมากขึ้น (และเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพกว่าในเชิงความเร็ว แต่อาจด้อยกว่าในเชิงความถูกต้อง) จึงไม่แปลกที่ไม่นานมานี้ หลายสำนักข่าวและบริษัทสื่อในไทยต้องปลดพนักงานออกล็อตใหญ่เพื่อลดขนาดตนเอง เพราะพวกเขารู้แล้วว่าทางที่จะไปต่อได้ไม่ใช่การทำตัวเป็นสถาบันเท่านั้น แต่ต้องเป็นสถาบันที่มีขนาดเล็กพอจะเคลื่อนตัวไปข้างหน้าด้วยความแคล่วคล่องว่องไว พร้อมทั้งรักษามาตรฐานความถูกต้องไว้ด้วย
แม้จะเป็นการปรับตัวที่ยากพอๆ (หรือยากกว่า) การบินของพี่น้องตระกูล Wright
แต่ยังดีที่ถ้าทำสำเร็จ—ใครๆ ก็น่าจะรู้
จากคอลัมน์ lab โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
giraffe magazine 48 – hero issue