ตัวหนังสือจะมีพลังได้มากขนาดไหน?
ในปัจจุบันข่าวสารและข้อมูลไหลผ่านเราทุกวินาที เราตั้งคำถามกับมันบ่อยขึ้น เช่น เรื่องนี้ต้องรู้ไหม? เรื่องนี้เป็นข่าวได้ด้วยเหรอ? หรือนี่มันคลิกเบต (Clickbait) ชัดๆ แม้แต่ในหนังเองหลายๆ ครั้งนักข่าวถูกวางภาพเป็นตัวละครที่ยุ่งไม่เข้าเรื่อง สร้างปัญหา หรือไม่ได้ช่วยคลี่คลายอะไรเลย ทว่าในโลกความเป็นจริง งานข่าวนั้นสามารถเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างอยู่บ่อยครั้ง เพราะหน้าที่ที่แท้จริงของพวกเขาคือการรับใช้มวลชนในฐานะกระบอกเสียงและผู้ตรวจตรา
หนังบางเรื่องสามารถสะท้อนหน้าที่สำคัญเหล่านั้น ผ่านการเล่าเบื้องหลังเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ที่นักข่าวเชิงสืบสวนมีส่วนในการตั้งคำถามและคลี่ปัญหาในระดับต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงประกายไฟเล็กๆ หรือเป็นแรงผลักดันขนาดใหญ่ที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมและระบบที่พวกเขาก้าวขาลงไปสืบเสาะหาความจริง
All the President’s Men (1976) – Alan J. Pakula
เรื่องราวของบ๊อบ วู้ดเวิร์ด (Bob Woodward) และคาร์ล เบิร์นสไตน์ (Carl Bernstein) นักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ ผู้ทำข่าวสืบสวนคดีวอเตอร์เกต การสืบสวนที่เริ่มขึ้นเมื่อวู้ดเวิร์ดได้รับข่าวจากแหล่งข่าวลึกลับนามแฝง ‘ดีปโธรต’ ว่าการจารกรรมสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครตที่อาคารวอเตอร์เกตคอมเพล็กซ์นั้น เชื่อมโยงกับประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) คดีดังกล่าวขยายความสำคัญจากเพียงหนึ่งเหตุการณ์เล็ก ไปสู่การเปิดโปงข้อมูลลับของรัฐบาล การปกปิดหลักฐาน การกดดันจากสังคม และจุดจบของนิกสันในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาหลังจากได้รับเลือกในวาระที่ 2
She Said (2022) – Maria Schrader
หนึ่งในหน้าที่สำคัญที่สุดของสื่อคือ การส่งเสียงแทนผู้ที่ไม่อาจมีได้ และนั่นคือสิ่งที่เหยื่อจากการล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมากรู้สึก โดยเฉพาะเหยื่อของฮาร์วี ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) โปรดิวเซอร์ฮอลลีวูดผู้มีอิทธิพลกว้างขวาง แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเหยื่อพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาให้ใครสักคนรู้?
She Said หนังชีวประวัติของเมแกน ทูเฮย์ (Megan Twohey) และโจดี แคนเตอร์ (Jodi Kantor) 2 นักข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์ ผู้เป็นหนึ่งในประกายไฟของการเคลื่อนไหว #MeToo ผ่านการให้เสียงแก่เหยื่อของไวน์สตีน ตลอดทางแม้จะพบกับอุปสรรคทั้งจากการขัดขวางของระบบที่ป้องกันไวน์สตีน ไปจนถึงแผลใจของผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเขาแล้ว แต่ผลกระทบของการรายงานข่าวดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นให้คนทั่วโลกที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศจากผู้มีอิทธิพลกว่าตัวเอง กล้าเดินออกมาเพื่อพูดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
Zodiac (2007) – David Fincher
รหัสลับ ชื่อเรียกเฉพาะตัว การฆ่าที่มีรูปแบบวิธีการ และคดีที่ไม่อาจไขได้ นั่นคือสิ่งที่เรามักนึกถึงเมื่อพูดถึงสิ่งที่เราจินตนาการเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่อง จินตนาการเหล่านั้นมักมาจากหนังซึ่งมักได้แรงบันดาลใจมาจากฆาตกรโซดิแอก ฆาตกรผู้มีเหยื่อเพียง 5 คน แต่อิทธิพลของเขากลับสร้างฆาตกรต่อเนื่องนับไม่ถ้วน
หนังดัดแปลงมาจากหนังสือโดยนักเขียนการ์ตูนโรเบิร์ต เกรย์สมิธ (Robert Greysmith) เล่าเกี่ยวกับการสืบสวนคดีดังกล่าว และนักข่าวสืบสวนพอล เอเวอรี่ (Paul Avery) ทั้งคู่มาจากหนังสือพิมพ์ซานฟรานซิสโกครอนิเคิลส์ ซึ่งแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องราว ความสัมพันธ์ และผลพวงของคดีในเรื่องอยู่หลากหลายจุด แต่เรื่องเล่าที่ยังจริงอยู่เสมอคือ ผลของการรายงานข่าวรูปแบบนี้ดึงทุกคนที่ยุ่งเกี่ยวให้หมกมุ่นกับมันมากขึ้น และความดึงดูดนั้นยังส่งต่อออกไปในมุมกว้าง สู่ทศวรรษที่เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของฆาตกรต่อเนื่อง
The Post (2017) – Steven Spielberg
ไม่ใช่แค่การสืบสวนเท่านั้นที่สำคัญ เพราะสิ่งที่งานข่าวไม่อาจขาดได้คือการจัดการ หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของเคย์ เกรแฮม (Kay Graham) ผู้จัดพิมพ์เดอะวอร์ชิงตันโพสต์ และเบน แบรดลี (Ben Bradlee) บรรณาธิการสำนักพิมพ์เดียวกัน เส้นทางการต่อสู้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในสิทธิ์ที่จะตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับเอกสารเพนตากอนเปเปอร์ เอกสารที่บอกเล่าคำโกหกของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาต่อเหตุและผลของสงครามเวียดนาม
Spotlight (2015) – Tom McCarthy
ตัวหนังสือจะมีพลังได้มากขนาดไหน หากใช้มันอย่างถูกทาง? แม้แต่สำนักข่าวขนาดไม่ใหญ่มากอย่างเดอะบอสตันโกลบก็ยังสามารถเขย่าไปถึงสวรรค์ได้ หนังนี้เรื่องเล่าเกี่ยวกับ “สปอตไลต์” ทีมข่าวเชิงสืบสวนของสำนักข่าวที่ติดตามประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในโบสถ์คาทอลิกท้องถิ่น ซึ่งการสืบสวนดังกล่าวสร้างแรงสะเทือนออกไปยังระบบคริสตจักรที่ใหญ่กว่านั้น เพราะถือว่าอาจมีส่วนร่วมในการปกป้องผู้กระทำผิด