‘สองคอน’ ที่เป็นชื่อ ‘ภาพยนตร์’ มีที่มาจากชื่อ ‘หมู่บ้าน’ แห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร แถมเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องที่ว่า ก็นำเอาเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นจริงในอดีตของหมู่บ้านแห่งนี้ มาสร้างเป็นภาพยนตร์นี่แหละ
ตัดภาพย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ว่ากันว่าสองคอนแห่งนี้ ยังเป็นเพียงพื้นที่รกร้างที่ถูกถากถาง และบุกเบิก โดยข้าราชการยศไม่ใหญ่โตนัก พร้อมกับไพร่ทาสบริวารอีกหลายสิบชีวิต พื้นที่รกร้างดังกล่าวจึงค่อยกลายมาเป็นชุมชนขนาดย่อม พอกินพออยู่กันแบบสโลว์ไลฟ์ เวรี่เศรษฐกิจพอเพียง จนกระทั่งวันหนึ่งโรคห่า (โรคห่า ในความหมายดั้งเดิมหมายถึง โรคระบาด จะเป็นโรคอะไรก็ได้ เพราะ ‘ห่า’ แปลว่า มากๆ ในที่นี้คือ มีคนตายมาก ไม่ใช่หมายถึงอหิวาตกโรคเป็นการเฉพาะ อย่างที่เข้าใจผิดกันในชั้นหลัง) ก็ได้มาเยือนหมู่บ้านสโลว์ไลฟ์แห่งนี้
และก็ด้วยความเป็นหมู่บ้านที่ไกล๊ไกลปืนเที่ยงขนาดนั้น ซ้ำยังเป็นช่วงเวลาที่ผู้คน (แม้กระทั่งไพร่ฟ้าหน้าใสๆ ที่ไม่ใช่ชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ เองก็ตาม) ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีใหม่จากโลกตะวันตก ซึ่งก็รวมถึง หยูกยา และความรู้ทางการแพทย์ต่างๆ ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรทำนองนี้ขึ้น จึงยกให้เป็นเรื่องความ ‘เฮี้ยน’ ของเจ้าที่เจ้าทาง หรือผีสางนางไม้ โดยไม่ต้องไปสอบถาม คุณริว จิตสัมผัส หรือคุณเจน ญาณทิพย์ ให้เสียเวลา
ผีทำแน่ๆ ครับ ไม่อย่างนั้นอยู่ๆ ในชุมชนที่ปิดซะขนาดนี้โรคมันจะระบาดมาจากไหนได้? ว่าแล้วก็ต้องไปเชิญอะไรที่ปราบผีมาให้ได้ ไม่อย่างนั้นชาวบ้าน ชาวช่อง ของบ้านสองคอน ก็คงจะอยู่กันอย่างเป็นสุขไม่ได้แน่
เคราะห์ดีที่สิ่งมีชีวิตที่มาปราบผีมีชื่อว่า คุณพ่อซาเวียร์ เกโก ซึ่งก็คือบาทหลวงสัญชาติฝรั่งเศส ที่ถูกส่งตัวมาเผยแพร่คริสต์ศาสนาตามหัวเมืองภาคอีสาน แต่คุณพ่อท่านไม่ได้ปราบผีด้วยวิธีการแบบในภาพยนตร์ประเภทเอ็กโซซิสม์ ที่เราเห็นกันอยู่เนืองๆ หรอกนะครับ อะไรที่ท่านนำมาน่าจะเป็น ยารักษาโรค และความรู้ทางการแพทย์แผนตะวันตกสมัยใหม่มากกว่า
ในยุคอาณานิคมบาทหลวงผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ มักจะเข้ามาพร้อมกับความรู้ทางการแพทย์นะครับ เรียกได้ว่า เผยแพร่ศาสนาไป รักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยไป เป็นการซื้อใจผู้คนให้หันมาเข้ารีตเป็นศาสนิกชนในพระเยซูเจ้า เราจึงมีคำเรียกบาทหลวงเหล่านี้ว่า ‘หมอสอนศาสนา’ นั่นเอง
ดังนั้น ผีร้ายที่หอบเอา ‘โรคห่า’ มาเพ่นพ่านในบ้านสองคอนนี้ จึงพ่ายแพ้ให้กับความรู้ทางการแพทย์นำสมัยเมื่อครั้งกระโน้นนะครับ ไม่ใช่ไม้กางเขน น้ำมนต์ บทสวด หรือพระคัมภีร์ (Bible แปลตรงตัวว่า พระคัมภีร์) ที่ไหน
เมื่อปราบผีห่าลงได้แล้ว ผู้คนในบ้านสองคอนจำนวนหนึ่งจึงพากันศรัทธาต่อพระเจ้า ศาสนาคริสต์ และแน่นอนว่าย่อศรัทธาต่อบาทหลวงเกโกด้วย คุณพ่อท่านนี้จึงสามารถปลูกวัดในคริสต์ศาสนา นิกายโรมันแคธอลิค ลงที่บ้านสองคอนได้อย่างมั่นคง เมื่อเรือน พ.ศ. 2430 (ข้อมูลบางแห่งอ้างว่า พ.ศ. 2428) เช่นเดียวกับที่ท่านเคยสร้างวัดคริสต์ขึ้นในเมืองอุบลราชธานีมาก่อนแล้วเมื่อ พ.ศ. 2424 และนับจากนั้นเป็นต้นมา ศาสนาคริสต์ก็หยั่งรากฝังลึกลงในบ้านสองคอน ดินแดนที่ผีห่าเคยออกอาละวาดมาโดยตลอด
พลเมืองที่บ้านสองคอนค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นมาจากการที่ประชากรบางส่วนมาจากบรรดาทาส ที่คุณพ่อเกโกไถ่ตัวมา จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2450 ที่บ้านสองคอนก็มีคริสต์ศาสนิกชนอยู่มากถึง 188 คน และคุณพ่อท่านก็ได้ตั้งชื่อวัดที่บ้านสองคอนนี้ว่า ‘วัดพระแม่ไถ่ทาส’
แต่ที่บ้านสองคอนก็ยังมีประชากรบางส่วนย้ายมาจากที่อื่น ซึ่งจะเรียกว่าย้ายก็คงไม่ถูกนัก เพราะส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้ไม่เป็นที่ต้อนรับในชุมชนดั้งเดิมของตนเอง ด้วยข้อหาอุจฉกรรจ์เพราะถูกใส่ความว่าเป็น ‘ปอบ’
ใช่ครับใช่ ‘ผีปอบ’ เดียวกันกับที่มักจะถูกพรรณนาว่าร้ายว่า มีบุคลิกหลุกหลิกๆ ไม่สบตา หรือสุงสิงกับใคร ชอบหลบไปอยู่โดดเดี่ยว ปลูกเรือนซะห่างไกลผู้คนในชุมชน แต่รู้หมดว่าบ้านไหนมีตัวอะไรให้ควักตับไตไส้พุงมาพอประทังให้อิ่มท้องของปอบได้บ้าง? ยิ่งใครท้องใครอะไรรู้หมดครับ เพราะลูกน้อยในท้องของแม่นั่นแหละ ที่ยิ่งเป็นอาหารระดับเปิบพิสดาร พ่วงด้วยเชลล์ชวนชิม แถมการันตีด้วยหมึกแดง และอาจารย์ยิ่งศักดิ์ของพี่ปอบเขาเลย
บนพื้นฐานของความเป็นโลกสมัยใหม่ ปอบที่ไหนคงจะไม่ถูกนับเป็นสิ่งมีชีวิตอีกสปีชีส์หนึ่ง ที่ดำรงอยู่รอบกายมนุษย์อย่างเราๆ หรอกนะครับ ถ้าไม่บังเอิญว่า บ้านสองคอนในยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สมัยใหม่ของสยามนั้น ถือเป็นชายขอบของชายขอบ ชาวคริสต์ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้จึงมีทั้งปอบ และพวกคนที่เคยเป็นทาส ซึ่งเป็นคนนอกในสายตาคนพุทธชาวอีสาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายตาจากชาวพุทธส่วนกลาง ในนามแห่งอำนาจรัฐสยามอันศักดิ์สิทธิ์แน่
ปลายปี พ.ศ. 2483 เมื่อกรณี ‘กรณีพิพาทอินโดจีน’ ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปะทุขึ้นมา ชุมชนของ ‘คนนอก’ อย่างบ้านสองคอนก็จึงต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ ที่ดูจะร้ายแรงยิ่งกว่าพวก ‘ผีห่า’ ที่เคยนำโรคระบาดมาให้ชุมชนแห่งนี้เสียอีก
กรณีพิพาทอินโดจีนที่ว่าก็คือ เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในสมรภูมิสงครามมหาเอเชียบูรพา อันเป็นสมรภูมิอีกแห่งหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีคู่กรณีเป็น ประเทศไทยและฝรั่งเศส
ผลจากการเชื้อชวนให้คลั่งชาติของลัทธิเผด็จการท่านผู้นำ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในระยะนั้น ทำให้เกิดกระแสการทวงคืนดินแดนที่ถูกทำให้เชื่อว่า สยามเสียให้กับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ว่าจะเป็น ประเทศลาว หรือเขมรส่วนใน 4 จังหวัดคือ เสียมเรียบ พระตระบอง โพธิสัตว์ และศรีโสภณ ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว ดินแดนต่างๆ เหล่านี้ไม่เคยเป็นของสยามในทางนิตินัย อย่างรัฐชาติสมัยใหม่ (ซึ่งหมายถึงการมีดินแดน และขอบเขตบนแผนที่ซึ่งได้รับการรับรองจากนานาชาติ) เลย
กระแสคลั่งชาติบานปลายไปจนถึงขั้นที่ว่า นิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง ณ ขณะจิตนั้น ลุกออกมาเดินขบวนประท้วงกันเพื่อเรียกร้องเอาดินแดนที่เสียไปจากกรณี ร.ศ. 112 คืนจากฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 และนำไปสู่สมรภูมิย่อยๆ อย่าง สมรภูมิบ้านพร้าว หรือยุทธนาวีที่เกาะช้าง เป็นต้น
และด้วยสถานการณ์อย่างที่ว่า ชาวคริสต์จากบ้านสองคอน ในฐานะที่เป็นคนนอกก็นับว่า ‘อยู่ยาก’ แล้ว แต่การที่คริสต์จักรโรมันคาธอลิคของประเทศไทยในยุคนั้น อยู่ภายใต้การดูแลของคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ก็ยิ่งเพิ่มดีกรีความอยู่ยากของชาวบ้านสองคอนให้ไต่ระดับไปจนถึงเลเวลแม็กซ์
บาทหลวงเปาโล ฟีเกต์ ซึ่งประจำอยู่ที่วัดพระแม่ไถ่ทาสในขณะนั้น ถูกบังคับให้เดินทางออกจากประเทศไทย ส่วนพระศาสนจักรคาธอลิคในไทยก็ถูกกระแสโจมตี และเบียดเบียนอย่างรุนแรง ไม่ต่างไปจากวัดพระธรรมกาย ณ ขณะจิตนี้ โดยเฉพาะที่บ้านสองคอนนี่แหละครับ
นายสีฟอง อ่อนพิทักษ์ ครูประจำวัดในขณะนั้น ได้เขียนจดหมายไปร้องเรียนนายอำเภอมุกดาหาร (ขณะนั้นยังไม่เป็นจังหวัด) ว่าชุมชนและหลักความเชื่อของพวกเขากำลังถูกทั้งเหยียดหยาม ทั้งเบียดเบียน และนั่นก็เป็นเหตุให้ครูสีฟองถูกนายตำรวจสองนายอุ้มไปสังหาร
แต่ที่สิ่งชั่วร้ายยิ่งกว่าก็คือ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกประชุมชาวบ้านสองคอนแล้ว ‘สั่ง’ ให้เปลี่ยนศาสนา ปรากฏว่ามีคริสต์ชนจำนวน 8 คนที่ไม่ยอมรับในอำนาจเถื่อนดังกล่าว หนึ่งในจำนวนนั้นโชคดีที่พ่อของเธอมาตามตัวกลับบ้านได้ทัน ในขณะที่อีก 7 คนที่เหลือไม่ได้โชคดีอย่างนั้น
ลูกกระสุนหลุดออกจากรังเพลิง พร้อมกลิ่นโชยเหม็นไหม้ แต่ก็ไม่เหม็นเท่ากับความตาย ทีละนัดๆ พร้อมกลับชีวิตที่ปลิดปลิวของเธอผู้กล้าหาญทีละคนๆ พวกเธอทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้หญิง มีทั้งคนที่เป็นซิสเตอร์ (นางชี) และลูกบ้านสองคอน เคราะห์ยังดีที่มีคนหนึ่งหนีรอดจากความตายมาได้ ยอดจำนวนผู้เสียชีวิตที่คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นของความคลั่งชาติจึงมีทั้งสิ้น 6 คน ไม่ใช่ 7 อย่างที่เกือบจะเป็น
แต่ก็นั่นแหละครับ ในชุมชนเล็กๆ ที่รอดพ้นจากโรคระบาด ด้วยฤทธิ์ของผีห่ามาได้รอบหนึ่ง กลับถูกความคลั่งราวกับติดโรคระบาดจากผีห่าอีกตน แต่คราวนี้เป็นโรคห่าทางใจ ที่ดูจะร้ายแรงยิ่งกว่ามาระรานจนพวกเธอต้องเสียชีวิตลง เราก็คงได้แต่หวังใจว่าพวกเธอจะได้ไปสู่สุขคติในดินแดนแห่งพระเจ้าของพวกเธอ และไม่ต้องมาทนทรมานในดินแดนที่ชวนอนิจจังนี้อีก
Illustration by Namsai Supavong
ป.ล. วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2532 พระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศสดุดีวีรกรรมให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทั้ง 7 คน เป็น ‘บุญราศีมรณสักขี’ โดย ‘บุญราศี’ (The Blessed) คือคำนำหน้าชื่อยกย่องคริสต์ชนที่เสียชีวิตไปแล้ว และภายหลังปรากฏว่ามีกิตติศัพท์และคุณงามความดี มีผู้เคารพนับถือมากมาย จนสัตบุรุษและคณะสงฆ์ส่งเรื่องไปที่สันตะสำนัก เพื่อขอให้สอบสวนพิจารณาว่าคนเหล่านี้เป็นคนดีจริง จึงได้ประกาศเป็น บุญราศี หรือนักบุญ (Saint) นั่นเอง