ผมเคยเขียนบอกเล่าเรื่องราวของคนขับแท็กซี่และกรณีผู้หญิงอยากขับแท็กซี่ไว้แล้วเมื่อสองสัปดาห์ก่อน หากคราวนี้ ใคร่จะชวนคุณผู้อ่านไปพบกับกลุ่มคนซึ่งเป็นสาเหตุให้บรรดาโชเฟอร์ช่วงต้นทศวรรษ 2470 ต้องปวดเศียรเวียนเกล้าจนน่าสงสาร นั่นคือ พวกชอบก่อกวนที่รวมตัวกันในนาม ‘สมาคมเจาะยางรถยนตร์’
จะไม่ให้แวดวงคนขับรถแท็กซี่วุ่นวายได้อย่างไรล่ะ? ก็สมาคมอุตริดังกล่าวลอบทำลายล้อรถยนต์จนต้องเสียเงินจ่ายค่าปะยาง เปลี่ยนล้อใหม่เป็นว่าเล่น ทั้งยังเสียเวลา เสียรายได้ เสียผู้โดยสาร และเสียอารมณ์สุดๆ ครับ สถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 2472
อย่างเช่นกรณีหนึ่ง ตรงกับวันศุกร์ที่ 19 เมษายน พุทธศักราช 2472 เวลา 16 นาฬิกาเศษ นายเซ็ม คนขับรถแท็กซี่นำรถไปจอดคอยรับผู้โดยสารอยู่บริเวณท่าพระ ครั้นมีผู้โดยสารขึ้นนั่งรถเล้ว นายเซ็มกำลังจัดแจงจะขับรถไปส่ง พอสตาร์ทรถออกเคลื่อนที่ ยางล้อด้านหลังข้างหนึ่งพลันแตกระเบิด นายเซ็มลงไปตรวจดูจึงรู้ว่าถูกคนเอาตะปูขนาดใหญ่ตอกติดกับเศษไม้แผ่นเล็กๆ 2 ตัววางขวางล้อยางไว้ เขาเลยรีบไปแจ้งความต่อตำรวจที่โรงพักชนะสงคราม ร้อยตำรวจตรีสว่างและนายสิบตำรวจอีก 2-3 คนเร่งออกสืบสวน เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ความว่าผู้ลอบเจาะยางล้อรถชื่อนายบุญเหลือ เป็นคนแจวเรือจ้างตรงท่าพระนั่นแหละ เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมนายบุญเหลือในวันเสาร์ที่ 20 เมษายน แล้วควบคุมตัวมาสอบสวนเค้นปากคำ ผู้ก่อเหตุให้การว่ามีคนใช้มาอีกทอดหนึ่งให้เขาลงมือกระทำ
ห้วงเวลาเดียวกัน หนังสือพิมพ์หลายฉบับเผยแพร่ข่าวคราวรถแท็กซี่ถูกลอบเจาะยางล้อซ้ำบ่อย โชเฟอร์ทั้งหลายคุ้นเคยกับการต้องปะยางและเปลี่ยนยางล้อรถใหม่อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะแถวถนนเยาวราช เคยมีรถแท็กซี่ถูกเจาะยางจำนวน 10 กว่าคันในเวลาไม่กี่นาที
หาใช่เพียงแค่รถแท็กซี่เท่านั้นหรอกที่ตกเป็นเหยื่อของพวกมือรังควาน รถยนต์คันอื่นๆ ที่แล่นสัญจรหรือหยุดจอดตามถนนสายต่างๆ ในพระนครมีหรือจะรอดพ้น มิเว้นกระทั่งรถยนต์ของคณะหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ที่เคยถูกลอบเจาะยางถึงสามหน กล่าวคือ
หนแรก เหตุเกิดที่ท่าปากคลองตลาด รถยนต์ของคณะ ศรีกรุง หยุดจอดประมาณครึ่งชั่วโมง จวบคนขับรถมาถอยหลังออก ระหว่างนั้น ยินเสียงยางล้อด้านหลังข้างขวาซึ่งเป็นยางใหม่เอี่ยมแตกระเบิด พอลงไปสำรวจ จึงเห็นยางล้อถูกทิ่มทะลุถึงยางในด้วยไม้ไผ่อย่างเเข็ง ขนาดเท่าดินสอดำตราพระจันทร์ เหลาปลายเสียแหลมเปี๊ยบ แน่ล่ะ ไม่หลงเหลือลมในยางล้อ และมิพักสงสัยว่าจะต้องเปลี่ยนยางใหม่
หนที่สอง รถยนต์ของคณะ ศรีกรุง จอดหน้าโรงพิมพ์ตนเอง ซึ่งโดยธรรมดาย่อมปรากฏผู้คนขวักไขว่อยู่บริเวณนั้นจำนวนมาก ทั้งคนมาหยุดยืนหยุดนั่ง คนเดินเข้า-ออกสำนักงาน พร้อมแขกยามคอยเฝ้าประจํา แต่พวกคนมือบอนก็แอบมาใช้เหล็กแหลมมาแทงยางล้อรถยนต์ข้างหนึ่ง ทะลุถึงยางในจนแฟบ และต้องเปลี่ยนล้อยางใหม่
หนที่สาม รถยนต์ของคณะ ศรีกรุง ผ่านไปทางถนนพระรามหก รถแล่นไปเหยียบเข้ากับเหล็กเเหลมลักษณะคล้ายตะปูซึ่งปักติดไว้กับไม้วางดักไว้กลางถนน สักครู่ใหญ่ๆ ยางก็แบนจนต้องเปลี่ยนล้อยางใหม่อีก
ความที่รถยนต์โดนเจาะยางหลายหนทำให้ทางคณะบรรณาธิการ ศรีกรุง เอาจริงเอาจังในการติดตามแกะรอยพวกก่อกวนกลุ่มนี้มานำเสนอข่าวผ่านหน้าหนังสือพิมพ์สม่ำเสมอ เช่นบทความ ‘การเจาะยางรถยนตร์กำลังเปนวิทยาชั้นสูง’ ในฉบับวันอังคารที่ 23 เมษายน พุทธศักราช 2472 ที่วิเคราะห์ลักษณะ เหตุผล และกลวิธีการเจาะยาง รวมถึงพวกสัปดนที่ตั้งตนเป็นพวกลอบทำลายล้อรถยนต์ ดังถ้อยความเปิดเรื่องว่า
“ใครๆ คงจําได้ว่าเรื่องสมาคมเจาะ ยางรถยนตร์นี้ เราได้เริ่มคุ้ยเขี่ยขึ้นก่อน เจ้าพนักงานฝ่ายตำรวจและฝ่ายสมุหพระนครบาลก็คงจำได้ดี เพราะเคยนึกว่าข่าวของเรากระทําให้พวกท่านเจ้าพนักงานที่ออกสืบจับ เกิดความอ่อนเพลียมาแล้ว โดยจับมือถือแขนเจ้าพวกเล่นทุจจริตอย่างสัปดนเหล่านั้นหาได้ไม่ แต่จะถึงกับค้อนข่าวของเราหรือไม่ เราทราบไม่ถึง แต่กระนั้นเราก็ไม่เคยย่นย่อต่อความจริงเลย เรายังเคยติดตามข่าวเอามานำลงเนื่องๆ จนถึง กับมีเจ้าพนักงานตํารวจเคย ไปสืบเบาะแสจากเรา และเราก็เคยชี้แจงเพื่อสาธารณประโยชน์ ให้ทราบ เท่าที่เราจะพึงกระทําได้ แต่ด้วยเหตุที่การเจาะยางเปนวิธีจับยากอย่างแสนเข็ญ ซึ่งถ้าจะเปรียบก็เท่ากับการมองหาเข็มเล่มที่ต้องการอันหมกอยู่ ในกองเข็มอย่างเดียวกัน…”
ในบทความชิ้นนี้ ตั้งข้อสันนิษฐานอีกว่า บางที มูลเหตุที่รถยนต์ของคณะ ศรีกรุง ถูกลอบเจาะยางสามหนนั้น อาจเพราะทางหนังสือพิมพ์เคยนำเสนอข่าวที่รถแท็กซี่ถูกเจาะยางหลายกรณีแบบกัดไม่ปล่อย ‘สมาคมเจาะยางรถยนตร์’ จึงแกล้งส่งคนมาแอบเจาะยางรถยนต์ของ ศรีกรุง มิหนำซ้ำ ผู้เขียนบทความยังสะท้อนมุมมองว่าพวกเจาะยางล้อรถน่าจะมีเหตุจูงใจประการใดบ้าง อันได้แก่
๑ พวกแท็กซี่ประสงค์จะตัดอาชีพและตัดกำลังกันเอง
๒ พวกขับรถยนตร์ที่ไม่มีงานทำต้องการจะแกล้งคนขับรถยนตร์ให้ต้องออกจากงานที่ทำอยู่ แล้ว เขาจะได้เข้าแทน
๓ ทำเพราะความโกรธแค้นกันเปนส่วนตัว
๔ ทําเพื่อให้คนขับรถยนตร์เข้าสมาคม จะได้ส่งส่วยให้เรื่อยไป เปนการเรี่ยไรบังคับ ซึ่งเปนลัทธิของนักเลงโตแผ่อํานาจ อย่างนักเลงโตคุมโรงหนังโรงลิเกกระนั้น
๕ ทำเพราะรำคาญเสียงรถยนตร์จนทนไม่ไหว
๖ ทำเพื่อเล่นสนุกอย่างเดียวกับเอาหินวางรางรถราง เปนต้น
๗ บางคนคิดว่าเกิดแต่พวกหาปะโยชน์ในทางค้ายางปะยางบางแห่ง หรือพวกค้ารถยนตร์บางบริษัท ฯลฯ
อย่างไรก็ดี แม้พวกสมาชิก ‘สมาคมเจาะยางรถยนตร์’ จะวางแผนมาก่อนว่ารถยนต์คันไหนคือเป้าหมาย แต่บ่อยครั้งก็ผิดแผน เหล็กแหลมที่วางดักไว้ดันไปถูกคันอื่นเข้า มิเว้น “รถของคนชั้นสูงก็เคย ถูกมาแล้ว…”
ด้านกลวิธีการเจาะยางรถยนต์ ซึ่งคณะ ศรีกรุง มองว่า “…กําลังจะเปนวิทยาชั้นสูงของพวกทุจจริต” สามารถจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบดังนี้
กลวิธีที่ 1 วางไม้เสี้ยมหรือเหล็กแหลมยันยางรถ โดยผู้วางจะต้องรู้จักวิธีวางไม่ให้เสียเวลาเปล่า นั่นคือจะต้องรู้ว่ารถยนต์คันเป้าหมาย เวลาจะออกรถต้องถอยหลังหรือเดินหน้า ขึ้นอยู่กับสถานที่บริเวณหยุดจอด และสถานที่นั้นจำเป็นต้องใช้ชนิดเครื่องเจาะอย่างแท่งดินสอ หรือใช้อย่างงอ หรืออย่างตีนกา หรือ อย่างไม้ขอเป็นรูปสองง่าม ฯลฯ วิธีแบบนี้อาศัยผู้วางที่ช่ำชอง มักใช้เด็กหรือผู้หญิง และใช้เท้าในการวาง เพื่อมิให้ผู้ใดสงสัย
กลวิธีที่ 2 ถือเหล็กแหลมไปเจาะด้วยกําลังมือเลย มักใช้เหล็กตะไบเพราะมีความแข็ง ถ้าต้องการเจาะยางรถคันไหนก็พยายามเข้าไปใกล้ๆ เวลาจอด หรือทำเป็นเข้ามาขายของ เข้ามาซักถามต่างๆ นานา สบโอกาสก็แทงยางรถเอาดื้อๆ พยายามไม่ให้รถโยกหรือกระเทือน ยิ่งถ้าคนขับไม่ได้อยู่ที่รถยิ่งเจาะยางได้สบายๆ
กลวิธีที่ 3 วางเหล็กแหลมปักไม้ไว้ตามถนน ถือเป็นวิธีง่ายๆ แต่มักจะไม่ประสบความสำเร็จตามประสงค์ รถยนต์เป้าหมายอาจขับเลี่ยงไปให้พ้นกับดัก วิธีการนี้จะมีคนแอบดูเสมอ บางทีก็เป็นเด็ก พอเห็นรถยนต์คันใดถูกเหล็กแหลมเจาะยางเข้า ก็ปลดปล่อยความร่าเริงออกมาทันที
ล่วงผ่านราวสองสัปดาห์ภายหลังบทความ ‘การเจาะยางรถยนตร์กำลังเปนวิทยาชั้นสูง’ แพร่ออกไป คนขับแท็กซี่รายหนึ่งเขียนจดหมายส่งมายังหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง เพื่อแจ้งเบาะแสว่าพวกลอบเจาะยางล้อรถอาจมีส่วนพัวพันกับช่างรับจ้างปะยาง ซึ่งทางกองบรรณาธิการนำลงตีพิมพ์ในฉบับวันพุธที่ 8 พฤษภาคม พุทธศักราช 2472 ดังผมคัดเนื้อความมาปรนเปรอสายตาคุณผู้อ่านต่อไปนี้
“คำนับท่านบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ศรีกรุง
ข้าพเจ้าได้อ่านการลอบเจาะยางรถยนตร์ โดยมีความมุ่งหมายและวิธีต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุงฉะบับวันที่ ๒๓ เดือนก่อน เพราะว่าเปนเรื่องที่น่าเอาใจใส่และน่าสืบสวนเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอยู่บ้าง
ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าการลอบเจาะยางรถจะตั้งเปนสมาคมหรือไม่ แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าได้ยินมานานแล้ว บางทีจะเข้าเรื่องรวมอยู่ในการค้นคว้าของท่านได้ คือมีคำเล่าว่าผู้ร้ายลอบเจาะยางกับช่างผู้รับจ้างปะยางมีประโยชน์ในกันและกัน ผู้เจาะยางจะต้องบอกเครื่องหมายแห่งเครื่องมือที่เจาะหรือรอยเจาะที่ยางเปนรูปอะไรตามเครื่องมือนั้น และเมื่อมียางแตกมาจ้างปะในร้านเปนรอยในลักษณะเดียวกันกับเครื่องหมายที่รู้กันแล้ว ผู้เปนเจ้าของเครื่องหมายก็มารับส่วนแบ่งค่าจ้างปะยางนั้นได้ตามสัญญา ตั้ง ๕๐ เปอร์เซ็นต์
ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมาเท่านี้ ผู้เล่ายืนยันว่าเปนความจริง เห็นว่าเปนเรื่องแยบคายจึงแจ้งให้ท่านทราบ
โดยความนับถือ
โชเฟ่อร์
กรุงเทพฯ วันที่ ๑ พ.ศ. ๗๒
บ.ศ.ก. อันเป็นคำย่อจาก บรรณาธิการศรีกรุง ได้เสนอความเห็นตอนท้ายอีกว่า “โชเฟ่อร์คนนี้คงเคยเปนคนที่น่าสงสารมาแล้ว คือต้องเสียค่าปะยางด้วยมือทุจจริต จึงอุสส่าห์สืบความมาเข้าเรื่อง เราจึงนำลงไว้เปนความรู้”
การก่อกวนของกระบวนการเจาะยางรถยนต์ยังคงดำเนินอยู่หลายเดือน
นอกเหนือจาก ศรีกรุง แล้ว หนังสือพิมพ์อีกฉบับที่พยายามตามสืบเรื่องของพวกนักเจาะยางล้อรถ เห็นจะมิพ้น ไทยหนุ่ม โดยฉบับประจำวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พุทธศักราช 2472 ได้พาดหัวข่าวกรอบหนึ่งว่า ‘๓ คนสมคบกันแทงล้อรถยนต์ ตำรวจจับได้…ถูกฟ้องแล้ว’ และเปิดเผยเนื้อหาว่า
“พนักงานกองคดีตำรวจฯ ประจำศาลโปริสภาที่ ๑ ได้ยื่นฟ้องนายสมบุญ, นายประสิทธิ์ ฉ่ำบุญ, และนายเจริญ, รวม ๓ คน เมื่อวันที่ ๘ เดือนนี้ ในเรื่องต้องหาว่าจำเลยสมคบกันใช้เหล็กแหลมมีคมแทงล้อยางรถยนตร์ (ล้อหลัง) ของนายจ้อย ซึ่งจอดอยู่ที่ตำบลตรอกโฮเตลโอเรียนเตล ตำบลบางรัก ครั้นแล้วถูกตำรวจเจ้าน่าที่จับตัวได้ เหตุเกิดเมื่อเวลากลางคืนในวันที่ ๗ เดือนนี้ ตามมูลคดีซึ่งเจ้าน่าที่ตำรวจบางรักได้ไต่สวนมีมูลพอแล้ว”
ชั่วเวลาหนึ่งเดือน หนังสือพิมพ์ ไทยหนุ่ม เกาะติดขบวนการเจาะยางรถยนต์อย่างไม่ลดละ ในที่สุดก็ค้นพบข้อมูลของ ‘สมาคมเจาะยางรถยนตร์’ อย่างหมดเปลือก แล้วนำลงตีพิมพ์เป็นกรอบข่าวที่พาดหัวว่า ‘สมาคมเจาะยาง มีเหรียญเครื่องหมายรูปมีดไขว้’ ในฉบับประจำวันเสาร์ที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2472 ให้รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับสมาคมสัปดน
“พวกลอบเจาะยางและลักเครื่องรถยนตร์นั้น ได้ตั้งกันขึ้นเปนสมาคมนาม ว่า “ฮก ลัก” หรือ “ฮอง เฮง” สมาคมนี้มีเหรียญเงินรูป ๔ เหลี่ยมเปนเครื่องหมาย เหรียญนั้นมีอักษร “ฮ” อยู่เบื้องบน ข้างๆ มีมีดไขว้สลักโปร่ง ผู้ร่วมสมาคมต้องเสียเงินชั้นแรก ๑ บาท ต่อ ไปต้องเสียวันละ ๑๐ สตางค์ ผู้ที่ได้เสียเงินบำรุงแล้ว มีสิทธิ์ที่จะจอดรถในถนนเยาวราชตอนหน้าห้างฮองเฮงได้ ถ้าผู้ไม่ร่วม สมาคมนำรถไปจอดในระหว่างนั้น จะถูกเจาะยางหรือลักเครื่องประกอบ
ครั้นวันที่ ๖ เดือนนี้เวลาราว ๒ น. นายร้อยตํารวจโทขุนแผ้วพาลชน พร้อมด้วยนายสิบพลดำรวจกองพิเศษหลายนายได้พากันไปตรวจในถนนเยาวราชตอนหน้าห้างฮองเฮง ได้เห็นนายชุ่ม นายสว่าง นายช่วย ห้อยเหรียญดังกล่าวมาแล้ว จึงจับตัวคนทั้งสามนำไปกักขังไว้ แลได้จัดการไต่สวนที่กองพิเศษในเวลา ๑๓ น.เศษ
เจ้าน่าที่จะได้จัดการต่อไป”
ถัดต่อมาในวันอังคารที่ 10 กันยายน หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ได้รายงานข่าวว่า “นายแปะหัวหน้าสมาคมลับได้ถูกจับแล้วที่ตำบลบางรักษ์เมื่อวันเสาร์ที่ ๗ เดือนนี้” จับหัวหน้าใหญ่ได้ ลูกน้องและสมาชิกรายอื่นๆ ก็ทยอยถูกจับ ‘สมาคมเจาะยางรถยนตร์’ ที่เคยสร้างวิกฤตแก่รถแท็กซี่จนเกรียวกราวก็ค่อยๆ สลายตัวเงียบหายไปภายในไม่เกินปีพุทธศักราช 2472 นั้นเอง ส่วนจะมีการตั้งสมาคมอื่นๆ ในแนวเดียวกันอีกรึเปล่า ณ บัดนี้ ผมยังตามสืบค้นไม่พบ
หากจะมีคำถามว่า ‘สมาคมเจาะยางรถยนตร์’ มีความสลักสำคัญอะไรกัน? ที่ทำให้ผมต้องมาเขียนบอกเล่ายืดยาวหลายบรรทัด เพราะดูเผินๆ ก็แค่เรื่องราวของพวกกลุ่มคนอุตริมือบอน ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ กระจ้อยร่อยในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย ควรที่จะไปสนอกสนใจเรื่องใหญ่ๆ โตๆ อันส่งผลกระทบต่อสังคมน่าจะดีกว่า
ครับ แต่สำหรับผม จะเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ หรือเรื่องของคนกลุ่มใหญ่ๆ เพียงพวกเขาได้กระทำอะไรบางอย่างในสังคมแล้ว จุดเล็กๆ นั้นก็ย่อมนำมาอธิบายประวัติศาสตร์สังคมได้อย่างกว้างขวางแน่ๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- หจช. ร.7 ม.26.5/ 191 สมาคมเจาะยางรถ (23 เม.ย.- 10 ก.ย. 2472)
- “การเจาะยางรถยนตร์กำลังเปนวิทยาชั้นสูง.” ศรีกรุง (วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2472)
- “จดหมาย การเจาะยางเพื่อรับส่วนแบ่งค่าปะยาง.” ศรีกรุง (วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2472)
- “สมาคมเจาะยางมีเหรียญเครื่องหมายรูปมีดไขว้.” ไทยหนุ่ม (วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2472)
- “ หัวหน้าสมาคมเจาะยางรถยนตร์ติดข่ายกฎหมาย.” พิมพ์ไทย (วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2472)
- “๓ คนสมคบกันแทงล้อรถยนตร์ ตำรวจจับได้…ถูกฟ้องแล้ว.” ไทยหนุ่ม (วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2472)