ยากปฏิเสธ ว่าความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพราะความ ‘เกลียด’ และ ‘กลัว’ คนอย่าง ทักษิณ ชินวัตร
กับเรื่องความกลัวนี้ – อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยตั้งคำถามเอาไว้ในหนังสือ การเมืองเรื่องผีทักษิณ เมื่อหกเจ็ดปีก่อนว่า
กลัวอะไรกันนักหนา ขนาดทักษิณเป็นๆ สังคมไทยยังเกือบจะคุมได้อยู่แล้ว สำมะหาอะไรกับผีที่ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพเช่นนี้ ความกลัวมักทำให้เรายินยอมสละสิ่งที่มีคุณค่าต่างๆ อย่างมืดบอด ผีทักษิณจึงเป็นแต่การข่มขู่ให้กลัวอย่างไร้เหตุผลเท่านั้น…สิ่งที่น่าประหลาดอยู่ที่ว่า คนที่กลัวผีที่สุดคือคนที่หลอกผีคนอื่นเขา
อ. นิธิวิเคราะห์ว่า ปลายสมัยทักษิณนั้น อำนาจของทักษิณลดลงมาก แต่การรัฐประหารส์ (เติม s) และการวาดภาพให้ทักษิณกลายเป็น ‘ผีทักษิณ’ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารนั้น ทำให้ ‘ผีทักษิณ’ กลายเป็นสิ่งที่น่ากลัวเสียยิ่งกว่าตัวตนจริงของทักษิณ ชินวัตร เสียอีก และความกลัวกับความเกลียด ก็เผื่อแผ่ไปยังคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย โดยเฉพาะยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ที่จริงแล้ว การจะ ‘เอา’ หรือ ‘ไม่เอา’ ทักษิณ ควรเป็นเรื่องที่คนในสังคมไทยถกเถียงกันได้อย่างอารยะ แต่ความ ‘กลัว’ ทำให้สุดท้ายเราก็ยอมจำนน (และ/หรือ ถึงขั้นสนับสนุน) ให้กับวิธีที่ไม่ถูกต้องอย่างการรัฐประหารและการสถาปนาอำนาจขึ้นมาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของกลุ่มทหารซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็น ‘คนดี’
แต่ปัญหาก็คือ รัฐประหารและการปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้สังคมไทยไม่ได้ลุกขึ้นมาถกเถียงกันด้วยเหตุและผลมากพอ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการทำให้อีกฝ่ายหนึ่งมีลักษณะที่เป็น ‘ผี’
และสิ่งที่เกิดตามมาเมื่อเจอผี – ก็คือความกลัว ซึ่งโดยมากเป็นความกลัวที่วางอยู่บนความไร้เหตุผลด้วย
เรามักเห็นว่าคนที่มีความกลัวเดียวกับเราคือพวกของเรา แล้วกลุ่มคนกลัวผีตัวเดียวกันก็ปลุกเร้ากันเอง สร้างความฮึกเหิมให้กับกลุ่มตัวเอง แต่ไม่มีใครออกไป ‘คุยกับผี’ เพื่อให้รู้ว่าผีหน้าตาเป็นอย่างไร คิดอย่างไร จะทำอะไร และจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง
ที่สำคัญ เมื่อกลัวผี เราก็ต้องสร้าง ‘พระ’ เอาไว้กันผี โดยมาก ‘พระ’ ของเราไม่ใช่อื่นไกล แต่มักจะเป็น ‘ผี’ ของคนอื่นนั่นแหละครับ เมื่อฝ่ายตรงข้ามทำเช่นเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือการต่อสู้อันดุเดือด ถึงขั้นสาดทั้ง hate speech และแม้แต่กระสุนจริงเข้าใส่กัน เราจึงต้องผ่านความรุนแรงที่น่าเศร้าหลายต่อหลายครั้ง
ความกลัวผีและปกป้องพระของเรานั้น มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เราปิดตัวเองจากโอกาสในการ ‘วิพากษ์พระ’ ของเรานะครับ ทั้งที่พระที่เราปกป้องนั้น ต้องการการตรวจสอบอย่างแข็งแรงตลอดเวลา ไม่ใช่เพื่อทำลาย แต่เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับการดำรงอยู่ เพราะถ้าเราคิดว่าพระของเราเป็นสิ่งล้ำค่าจริงๆ เราก็ควรปกป้องพระของเราด้วยวิธีที่ปราศจากความ ‘กลัวผี’ มาเป็นแรงขับเคลื่อน เพราะถ้าเราตั้งต้นที่ความ ‘กลัวผี’ ในที่สุดความกลัว ความสิ้นหวัง ความน่าเวทนาของเราก็จะปรากฏออกมาให้เห็นในกระบวนการปกป้องนั้น แต่หากเรารู้จักปกป้องด้วยความ ‘ไม่กลัว’ ด้วยความกล้าหาญ ด้วยความถูกต้อง ด้วยการ “Do the right thing” การปกป้องของเราก็จะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องไปหยามหมิ่นใครให้ต้องกลายเป็นผี แล้วไปสร้าง ‘อำนาจ’ ให้กับผีตนนั้นโดยที่เราไม่รู้ตัว
โปรดอย่าลืมเป็นอันขาด – ว่าความกลัวผี, คือเชื้อเพลิงสร้างอำนาจให้ผีที่ดีที่สุด เพราะความกลัวเดียวกันนั้น มักทำให้วิจารณญาณของเราผิดเพี้ยนและบกพร่อง กระทั่งหลายคนถึงขั้นออกอาการ ‘ไม่อยากเลือกตั้ง’ ด้วยซ้ำ เนื่องจากเห็นว่าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘นักการเมือง’ รังแต่จะสร้างความวุ่นวายให้กับสังคมไทย
หลายคนคิดว่านักการเมืองคือปมปัญหาของทุกเรื่อง ดังนั้นเวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาก็โบ้ยบุ้ยไปที่นักการเมืองเสียสิ้นเรื่อง แน่นอน หลายเรื่องมีต้นตอมาจากนักการเมืองจริงๆ แม้ไม่มีใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐาน แต่หลายคนก็รู้ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศนี้อยู่จริง
อย่างไรก็ตาม กว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา หลายคนคงได้รับบทเรียน (ที่ก็ควรจะได้รับมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง – หากได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยมาบ้าง) ว่าไม่มีใครหรอกครับที่จะ ‘ใจซื่อมือสะอาด’ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะทุกคนก็เป็นมนุษย์ที่ถูกยั่วเย้าด้วยกิเลสแห่งอำนาจได้ทั้งนั้น ดังนั้น สิ่งเดียวที่จะเป็นกลไกให้เกิดความ ‘สะอาด’ ที่ว่าขึ้นมาได้ – ก็คือการตรวจสอบ
ในเวลาเดียวกับที่นักการเมืองมีอุปลักษณ์เท่ากับความเลวไปแล้ว ก็เกิดการยกย่องคนบางกลุ่มให้กลายเป็น ‘คนดี’ จนกระทั่งเกิด ‘ระบอบคนดี’ ขึ้นมาเพื่อพยายามคัดคานกับ ‘ระบอบคนชั่ว’ แต่ปัญหาของทศวรรษที่ผ่านมาก็คือ ‘ระบอบคนดี’ นั้น สัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ ‘อำนาจ’ ในกองทัพ ซึ่งมีลักษณะสำคัญแบบสั่งการจากบนลงล่างโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบย้อนขึ้นไป ทั้งยังมีกฎหมายพิเศษเข้ามาช่วยอีกต่างหาก ‘ระบอบคนดี’ ที่ว่าจึงเต็มไปด้วยช่องโหว่ และทำให้หลายคนข้องใจกับหลายกรณีที่ผ่านมา
ที่จริงแล้ว ไม่มีระบอบประชาธิปไตยไหนเลอเลิศสมบูรณ์ และไม่มีระบบศีลธรรมไหนเลอเลิศสมบูรณ์ด้วย แต่พอเรามองสิ่งที่เราบูชาว่าเป็นพระผ้าขาว ส่วนอีกฝ่ายเป็นผีผ้าดำ เราก็จะเลิก ‘ตรวจสอบ’ ทั้งพระผ้าขาวและผีผ้าดำ เอาแต่ ‘บูชา’ ฝ่ายหนึ่ง และ ‘จับผิด’ อีกฝ่ายโดยโดยไม่ลืมหูลืมตา
ทั้งหมดนี้คือผลพวงของการข้ามไม่พ้นการมองโลกแบบขาวดำ และ ‘ข้ามนักการเมือง’ ไปไม่พ้นนั่นเอง
สังคมที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายแบบนี้ ถามว่ายังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเป็นกลาง’ อยู่อีกไหม
ปัญหาของความเป็นกลางที่เคยเป็นมาตลอดในสังคมไทยก็คือ เรามักจะคิดว่าการ ‘เป็นกลาง’ คือการดึงตัวเองออกมาจากข้อขัดแย้ง ลอยตัวเหนือปัญหา ทำตัวเป็นคนดีอยู่ในที่สูง ไม่ลงมาเกลือกกลั้วกับความขัดแย้ง ความเป็นกลางแบบนี้จึงคือความเป็นกลางแบบ indifference หรือเพิกเฉยต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งที่หลายเรื่องเห็นความผิดถูกชั่วดีชัดเจน
ความเป็นกลางแบบนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดประวัติศาสตร์ของจริยธรรมสื่อ ว่าในขณะที่ต้องรักษาความเป็นกลางนั้น ถ้าหากมีประเด็นที่ถูกผิดเห็นชัดเจนตามอุดมการณ์และความเชื่อของสื่อ สื่อสามารถ ‘เลือกข้าง’ ได้ไหม
นสากลโลก – คำตอบก็คือได้ แต่ ‘ได้’ ในที่นี้ดูเหมือนจะมีปัญหาบางอย่าง นั่นคือเราดันไปยึดมั่นว่า ‘หลัก’ หรือ ‘ฝักฝ่าย’ ที่เราเกาะอยู่นั้น คือความดีงามร้อยเปอร์เซ็นต์ตามโมเดลผีพระที่ครอบงำสังคมไทยมาตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาจนมันกลายกลืน internalize เข้าไปในตัว กระทั่งเกิดตรรกะบิดเบี้ยวในระดับการรับรู้ (หรือ cognitive dissonance) ขึ้นเพื่อ ‘ผลักไส’ คนที่แค่ ‘เห็นต่าง’ ให้ออกไปเป็นคนที่ ‘เห็นตรงข้าม’
เราไม่เหลือความสามารถจะ ‘เลือก’ เห็นด้วยกับ ‘ประเด็น’ หนึ่งของฝ่ายหนึ่ง และเห็นด้วยกับ ‘อีกประเด็น’ ของอีกฝ่ายหนึ่งได้ แต่ต้อง ‘เลือกข้าง’ และเป็น ‘แนวร่วม’ กับข้างนั้นๆ อย่างสัมบูรณ์เท่านั้น จึงจะมีความชอบธรรมพอที่จะอ้าปากวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามได้
สังคมที่สมาทานความเป็นกลางสุดลิ่มทิ่มประตูนั้นอันตรายมาก แต่สังคมที่ละทิ้งความเป็นกลางถึงขั้นบีบให้คนต้องเลือกข้างเสมอก็อันตรายมากเช่นเดียวกัน เพราะจะทำให้ขาดการตรวจสอบทั้งจากฝั่งตรงข้าม และกระทั่งการตรวจสอบฝั่งของตัวเอง
รัฐบาลที่ไม่ต้องการการตรวจสอบไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย เพราะถ้าปราศจากการตรวจสอบเสียแล้ว ถ้าไม่เป็นเพราะมีสำนึกอัตตาธิปไตย ก็มักเป็นคณาธิปไตย หรือที่ร้ายกาจที่สุด แนบเนียนที่สุด ก็คืออภิชนาธิปไตย
อัตตาธิปไตยคือการปกครองโดยตัวกูและของกูแต่เพียงผู้เดียว ขณะที่คณาธิปไตยคือการปกครองโดยคณะบุคคลซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย โดยมาก คนกลุ่มน้อยที่ว่านี้อาจเป็นคนที่รวย มีอำนาจ หรือมีชื่อเสียงกว่าคนอื่นๆ แต่อภิชนาธิปไตยก้าวไกลไปกว่านั้นอีกขั้น เพราะคือการปกครองของกลุ่มคนที่เห็นว่าตัวเองดีเลิศกว่าคนอื่นๆ หรือเห็นว่าตนเป็นคนเหนือคน – ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมากๆ
ที่จริงแล้ว อภิชนาธิปไตยคือคณาธิปไตยแบบหนึ่ง คือปกครองโดยคนจำนวนน้อยเหมือนกัน แต่คนจำนวนน้อยที่ว่านี้ไม่ได้เป็นคนที่เหนือกว่าคนอื่นเพราะความร่ำรวยเพียงอย่างเดียว ชาวกรีกถือว่า การปกครองแบบนี้คือการปกครองโดย ‘คนที่ดีที่สุด’ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเอา ‘คุณธรรม’ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ ’ศีลธรรม’ เท่านั้น แต่รวมไปถึงชาติกำเนิด ฐานะ และอื่นๆ เข้ามาพัวพันกับการปกครองด้วย ซึ่งในยุคกรีกโบราณที่ไม่ซับซ้อน อภิชนาธิปไตยอาจได้ผล แต่ในยุคที่อะไรๆ ซับซ้อนไปหมดอย่างนี้ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าใครเป็น ‘คนดี’ จริงๆ ใครเป็นเพียงคนดีลวงโลก และ ‘ชุดศีลธรรม’ ที่เอามาตัดสินว่าใครเป็นคนดีนั้น ใครเป็นผู้มีอำนาจชี้นิ้วตัดสิน
เพราะฉะนั้น เรื่องสำคัญที่สุดในการปกครองที่จะเป็น ‘ประชาธิปไตย’ นอกจากจะคือการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ตัวคนตามที่เสียงส่วนใหญ่ต้องการแล้ว หลังเลือกตั้ง – ไม่ว่าจะได้ใครมาเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาว เลอเลิศหรือย่ำแย่ขนาดไหน, ก็ต้องพบกับ ‘การตรวจสอบ’
ผู้นำที่มีสถานะ ‘ตรวจสอบไม่ได้’ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม – ล้วนแต่ไม่ใช่ผู้นำที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยไทยคือประชาธิปไตยแบบตัวแทน เป็นการปกครองโดยประชาชนมอบอำนาจของตัวเองให้กับ ‘ตัวแทน’ เข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ เรามักเข้าใจผิดคิดว่าเลือกคนไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ที่จริงโดยหลักการแล้ว ประชาชนเลือกตัวแทนเข้าไปนั่งอยู่ในสภาฯ แล้วให้ตัวแทนในสภาฯ คัดเลือกและทำหน้าที่ ‘ตรวจสอบ’ ฝ่ายบริหารอีกชั้นหนึ่ง
ถ้าพูดเป็นภาษาธุรกิจ คนในสภาฯ คือผู้ทำหน้าที่เป็น ‘บอร์ดนโยบาย’ ขณะที่คนในรัฐบาลทำหน้าที่เป็น ‘บอร์ดบริหาร’ เพราะฉะนั้น ประชาชนจึงไม่ได้เลือกบอร์ดบริหารโดยตรง บอร์ดนโยบายเป็นคนเลือกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ต้องบอกว่า ‘พิเศษ’ เข้าไปอีกขั้น เพราะ ‘บอร์ดนโยบาย’ นั้น มีการเลือกเข้าไปแล้วชั้นหนึ่ง (คือวุฒิสมาชิก) เหลือให้ประชาชนเลือกแค่ส่วนเดียวเท่านั้น
ในทางปรัชญาการเมืองแล้ว เรื่องนี้เรื่องสำคัญมาก เพราะนี่คือ ‘เจตนา’ ที่ชัดเจน ว่าอยากให้ทั้งบอร์ดนโยบายและบอร์ดบริหารตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียว ซึ่งในที่สุดจะไม่ก่อให้เกิดระบบ ‘คาน’ อำนาจขึ้นตามเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตยแบบสากล และจะเป็นเรื่องเสียดเย้ย irony มาก หากอำนาจตกไปอยู่ในมือของฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มที่สร้างระบบสังคมการเมืองแบบนี้ขึ้นมา และเป็นกลุ่มคนที่ (ก็) ไม่สามารถ ‘ถูกตรวจสอบ’ ได้ด้วยเช่นกัน
ความเกลียดชังที่ฝังอยู่ในตัวเองไม่ใช่เรื่องที่มองเห็นได้ง่าย ความเกลียดในตัวเราทำให้บางครั้งเราคิดไปเองว่าคนอื่นก็เกลียดเราด้วย ความเกลียดทำให้กลัว และความกลัวทำให้เราละเลยการวิพากษ์ตัวเอง เนื่องจากการวิพากษ์ตัวเองจะทำให้เราเห็นข้อผิดพลาดของเรา แต่เรา ‘ทน’ เห็นมันไม่ได้ เนื่องจากมันจะไปทำลาย ‘กำแพง’ ที่เราอุตส่าห์สร้างขึ้นเพื่อแบ่งข้างลง
ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับตัวเราคนเดียวก็อาจไม่กระไรนัก
แต่ถ้ามันเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอำนาจ และพยายามสร้าง ‘ระบบ’ ขึ้นมาจากฐานความกลัวที่ว่าเล่า – จะเกิดอะไรขึ้น
เมื่อมองย้อนกลับไปในกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เราแทบไม่เห็นแก่นแกนอะไรเลยในสังคมไทย นอกจากความกลัวผี และการพยายามสถาปนาอำนาจที่ไร้การตรวจสอบขึ้นมาคัดง้างผี
ซึ่งก็เป็นไปได้ – ที่ในที่สุด, ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหน เราก็อาจกำลังจะได้ลิ้มรสสภาวะไร้การตรวจสอบอย่างสัมบูรณ์นั้น…แบบเต็มๆ หน้าของเรา
Illustration by Kodchakorn Thammachart