ผมเป็นหนึ่งคนที่กลับไปชมความตื่นตาตื่นใจใน Spider-Man: Across the Spider-Verse บนจอยักษ์หลังจากไม่ได้เข้าโรงภาพยนต์มาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 อนิเมชั่นเรื่องนี้เป็นภาคต่อของSpider-Man: Into the Spider-Verse ที่ตามติดชีวิตสไปเดอร์แมนผิวดำ ไมลส์ โมราเลส (Miles Morales) พร้อมกับขบวนผองเพื่อนสไปเดอร์แมนหลากหลายรูปแบบทะลุมิติมาพิชิตเหล่าร้าย
แต่เชื่อไหมครับว่าพื้นที่สุดสร้างสรรค์อย่าง Spiderverse เกิดขึ้นได้เพราะข้อจำกัดเรื่องลิขสิทธิ์
หากใครสังเกตดีๆ จะพบว่าภาพยนตร์ที่สไปเดอร์แมนโลดแล่นเป็นตัวหลักจะแปลกแปร่งจากเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ค่ายมาร์เวลคนอื่นอย่างไอรอนแมน แบล็กแพนเธอร์ กัปตันอเมริกา หรือธอร์ เพราะผู้ถือลิขสิทธิ์การผลิตภาพยนตร์จากตัวละครสไปเดอร์แมนนั้นคือค่ายยักษ์ใหญ่อย่างโซนี่พิคเจอร์ส ส่วนลิขสิทธิ์ของเหล่าฮีโร่ตัวอื่นๆ อยู่ในมือของค่ายมาร์เวล
เรื่องนี้เป็นหนามยอกอกของมาร์เวลมาเนิ่นนาน และยังไม่มีหนทางแก้ไขในระยะยาวเพราะสัญญาขายลิขสิทธิ์สไปเดอร์แมนให้กับโซนีนั้นไม่มีกำหนดระยะเวลา!
บทความนี้ผมจะชวนผู้อ่านย้อนเวลาไปรู้จักมหากาพย์ลิขสิทธิ์สไปเดอร์แมน ตั้งแต่ความสำเร็จถล่มทลายในยุคแรก ความอิหยังวะของสไปเดอร์แมนในยุคที่สอง ความปรองดองของสองค่ายในยุคที่สาม และการถือกำเนิดของ Spiderverse
ความสำเร็จถล่มทลายของสไปเดอร์แมนยุคแรก
ค่ายมาร์เวลเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะผู้ตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่หรือคอมิกส์ แต่บริษัทเผชิญกับขาลงรุนแรงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1980–1990 แม้จะพยายามแตกไลน์ไปขายผลิตภัณฑ์ของเล่น แต่ฐานะทางการเงินของบริษัทก็ไม่ดีขึ้นจนถึงขั้นยื่นขอล้มละลายโดยสมัครใจในปี 1996
อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถพลิกฟื้นตัวมาได้ด้วยความช่วยเหลือของเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ที่มีอยู่ในคลัง ผ่านทางธุรกิจใหม่ที่คือการขายลิขสิทธิ์ซุปเปอร์ฮีโร่ให้กับค่ายภาพยนตร์ เรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จพอสมควรคือเบลด ซุปเปอร์ฮีโร่นักล่าแวมไพร์ที่โด่งดังอยู่พอประมาณในหมู่นักอ่านคอมิกส์ หลังจากนั้น มาร์เวลก็ขายลิขสิทธิ์ซุปเปอร์ฮีโร่เรือธงอย่างเอ็กซ์-เมนกับแฟนแทสติกโฟร์ให้กับค่ายฟ็อกซ์ ส่วนลิขสิทธิ์ฮีโร่ในดวงใจนักอ่านคอมิกส์อย่างสไปเดอร์แมนก็ตกอยู่ในมือของโซนี่เมื่อปี 1999
นับเป็นโชคดีของมาร์เวลที่ลิขสิทธิ์ฮีโร่ยอดนิยมในปัจจุบันอย่างไอรอนแมน แบล็กแพนเธอร์ กัปตันอเมริกา หรือธอร์ กลับขายไม่ออก เพราะต้องยอมรับว่าฮีโร่เหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่โด่งดังสักเท่าไหร่ในหมู่นักอ่านแฟนมาร์เวล
หลังจากโซนี่ได้ลิขสิทธิ์สไปเดอร์แมนไปอยู่ในมือก็เริ่มคัดตัวแสดงทันที ในช่วงเวลานั้นแวดวงฮอลลีวู้ดมีความเชื่อว่าภาพยนตร์จะทำรายได้ถล่มทลายก็ต่อเมื่อเลือกใช้นักแสดงแม่เหล็ก หลายคนจึงเก็งว่าโซนี่น่าจะเลือกดาวเด่นอย่างลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ (Leonardo DiCaprio) มาแสดงเป็นสไปเดอร์แมน แต่บริษัทกลับหักปากกาเซียนเพราะเลือกโทบีย์ แมไกวร์ (Tobey Maguire) ซึ่งขณะนั้นไม่ได้โด่งดังสักเท่าไหร่มารับบทสไปเดอร์แมนคนแรก
ถึงแม้จะเลือกวิธีนอกขนบ กระแสตอบรับภาพยนตร์ Spider-Man (2002) กลับดีเกินคาด ภาพยนตร์ดังกล่าวใช้ทุนสร้างสูงถึง 139 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับสามารถกวาดรายได้ไปถึง 825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จุดนี้เองที่ค่ายมาร์เวลเริ่มมองเห็นว่าสูตรสำเร็จของภาพยนตร์ฮีโร่อาจไม่ต้องอาศัยดาราดัง แต่สาเหตุที่ทุกคนตบเท้าไปดูสไปเดอร์แมนก็เพราะแรงดึงดูดของซุปเปอร์ฮีโร่ในชุดแมงมุม
ความสำเร็จของภาคแรกทำให้โซนีปล่อย Spider-Man 2 (2004) และ Spider-Man 3 (2007) ที่ประสบความสำเร็จพอสมควร ทุกครั้งที่ภาพยนตร์เรื่องใหม่ออกฉาย มาร์เวลจะได้เงินก้อนค่าลิขสิทธิ์ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐบวกกับยอดขายตั๋ว 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรายได้จากการขายของเล่นลิขสิทธิ์จะแบ่งกันคนละครึ่งระหว่างค่ายมาร์เวลและโซนี่
ส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์นับว่าน้อยนิดหากมองว่าองค์ประกอบที่ทำให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มาจากตัวซุปเปอร์ฮีโร่ นี่คือสาเหตุที่ในปี 2005 มาร์เวลเข้าขอสินเชื่อก้อนใหญ่จากธนาคารเมอร์ริลลินช์เพื่อริเริ่มมาร์เวลสตูดิโอที่จะแปลงลิขสิทธิ์ซุปเปอร์ฮีโร่ในมือให้เป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ซึ่งทุกคนต่างตั้งตารอคอย
ความอิหยังวะของสไปเดอร์แมนยุคสอง
ค่ายมาร์เวลสร้างชื่อด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก Iron Man (2008) ก่อนจะทยอยฉายภาพยนตร์ที่แปลงจากเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ที่ความนิยมอยู่ในระดับ ‘งั้นๆ’ ให้เป็นซุปเปอร์สตาร์ที่เอ่ยชื่อแล้วทุกคนรู้จัก ไม่ว่าจะเป็น The Incredible Hulk (2008) Iron Man 2 (2010) Thor (2011) Captain America: The First Avenger (2011) รวมถึงการข้ามจักรวาลมาพบกันของเหล่าฮีโร่ในภาพยนตร์ชุด The Avengers (2012)
ขณะที่เหล่าฮีโร่ในมือมาร์เวลเปล่งประกายเจิดจรัส ค่ายโซนี่ก็เปิดตัว The Amazing Spider-Man(2012) นำแสดงโดยสไปเดอร์แมนยุคสอง แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ (Andrew Garfield) แต่เนื้อเรื่องเกือบครึ่งซ้ำซ้อนกับ Spider-Man ยุคแรกแบบถอดด้าม ผู้ชมจึงต้องติดตามชีวิตเด็กเนิร์ดนามปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ที่ถูกแมงมุมอาบรังสีกัด ฝ่าฟันชีวิตช่วงเปลี่ยนผ่าน และฉากการเสียชีวิตของลุงเบนอีกครั้ง สร้างความ ‘อิหยังวะ’ ให้กับเหล่าแฟนคลับสไปเดอร์แมนจนเกิดเป็นคำถามร้อนแรงในโลกอินเทอร์เน็ตว่า ‘โซนี่สร้างสไปเดอร์แมนภาคนี้ออกมาทำไม?’
คำตอบของคำถามนั้นอยู่ในสัญญาลิขสิทธิ์ระหว่างโซนี่กับมาร์เวล
สัญญาดังกล่าวระบุว่าโซนี่จะต้องเริ่มถ่ายทำสไปเดอร์แมนภาคใหม่ภายใน 3 ปี 9 เดือนและฉายภาพยนตร์นั้นภายใน 5 ปี 9 เดือนภายหลังจากปล่อยภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า นี่คือสาเหตุที่โซนี่ต้องจำใจภาพยนตร์สไปเดอร์แมนทุกๆ 5 ปี 9 เดือนแม้รู้อยู่แก่ใจว่าเนื้อเรื่องเหมือนเดิมเป๊ะก็ตาม ไม่เช่นนั้นลิขสิทธิ์ทรงค่าในมือก็จะหลุดลอยคืนกลับไปยังค่ายมาร์เวลนั่นเอง หากโซนี่ทำตามสัญญานี้ได้ ลิขสิทธิ์สไปเดอร์แมนก็จะอยู่ในมือโซนี่ตลอดกาลนาน
ปัญหานี้กลายเป็นหนามยอกอกค่ายมาร์เวล เพราะนอกจากซุปเปอร์ฮีโร่เรือธงจะถูกนำไปแขวนให้แฟนคลับด่าระงมแล้ว ในภาพยนตร์อย่าง The Avengers (2012) ที่เหล่าฮีโร่รวมพลังรับมือภัยรุกรานกลางนิวยอร์กซิตี้ ฐานบัญชีการหลักของสไปเดอร์แมน ไอ้แมงมุมก็ไม่อาจยื่นมือเข้ามาช่วยได้เพราะติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์นั่นเอง
ถึงอย่างนั้น ค่ายโซนี่ก็ยังอุตส่าห์เข็น The Amazing Spider-Man 2 (2014) ออกมาและโดนวิจารณ์อย่างยับเยินจนต้องพับแผนทำภาคต่อลงไปอย่างไม่มีกำหนด ปิดม่านสไปเดอร์แมนยุคแอนดรูว์ การ์ฟิลด์ พร้อมก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ที่สองค่ายนั่งจับเข่าคุยกันเพื่อกำหนดอนาคตของ ‘สไปเดอร์แมน’ ลูกรัก
ความปรองดองระหว่างสองค่ายในสไปเดอร์แมนยุคสาม
หากใครนึกภาพไม่ออกว่าบทสนทนาระหว่างค่ายมาร์เวลและโซนี่นั้นเป็นอย่างไร ให้นึกภาพพ่อแม่ที่ตัดสินใจแยกกันอยู่มายาวนานนับทศวรรษ แต่วันนี้หันกลับมาคุยกันเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์จากลูกที่ทำเงินได้มหาศาล แน่นอนครับว่าบทสนทนาย่อมไม่ราบรื่น และบางครั้งอาจถึงขั้นทะเลาะวิวาท
อ่านเผินๆ อาจดูเหมือนพูดเปรียบเปรยให้เว่อร์วัง แต่ทั้งสองฝ่ายทะเลาะกันจริงจัง ในวันที่หัวเรือใหญ่ของทั้งสองค่าย เอมี ปาสคาล (Amy Pascal) และเควิน ไฟจ์ (Kevin Feige) นัดคุยกันระหว่างมื้อกลางวัน เที่ยงนั้นเอมีในฐานะเจ้าบ้านสั่งแซนด์วิชมาเตรียมไว้รับแขก แต่หลังจากสิ้นสุดบทสนทนาแซนด์วิชก็กลายเป็นอาวุธที่เอมีปาใส่เควินเพราะคำพูดไม่เข้าหูที่เควินตำหนิว่าโซนี่ยังดูแลสไปเดอร์แมนได้ไม่ดีพอ
แม้ความพยายามหลายครั้งจะจบลงไม่สวยนัก แต่แรงกดดันจากเหล่าแฟนสไปเดอร์แมนก็ทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมลดราวาศอกแล้วพบกันคนละครึ่งทาง เปิดฉากสู่สไปเดอร์แมนยุคสามที่นำไปแสดงโดยทอม ฮอลแลนด์ (Tom Holland) ภาพยนตร์ชุดใหม่นี้ลงทุนโดยค่ายโซนี แต่สร้างสรรค์ กำกับและถ่ายทำโดยค่ายมาร์เวล โดยสัญญาการแบ่งปันผลประโยชน์ยังคงไว้เช่นเดิม แต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือรายได้ลิขสิทธิ์ของเล่นทั้งหมดจะเข้ากระเป๋ามาร์เวล และสไปเดอร์แมนจะสามารถปรากฏตัวในจักรวาลมาร์เวลได้อีกครั้ง ดังฉากเปิดตัวที่ทำให้แฟนๆ ใจเต้นใน Captain America: Civil War (2016)
ภาคแรกของสไปเดอร์แมนยุคสามใช้ชื่อว่า Spider-Man: Homecoming (2017) ราวกับเป็นการประกาศชัยชนะของค่ายมาร์เวลว่าในที่สุดสไปเดอร์แมนก็ได้กลับบ้านแล้วจ้ะ พร้อมกวาดรายได้เข้ากระเป๋า 334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ราวกับปลุกกระแสสไปเดอร์แมนฟีเวอร์ให้กลับมาโด่งดังอีกครั้งใกล้เคียงกับสไปเดอร์แมนยุคแรก
ภาพต่อ Spider-Man: Far From Home (2019) ก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เพราะปาฏิหาริย์ที่สองค่ายสามารถจับมือกันได้อย่างแม่นมั่นจะสิ้นสุดลงหลังฉายภาพยนตร์เรื่องSpider-Man: No Way Home (2021) ที่ถล่มบ็อกซ์ออฟฟิศและขึ้นแท่นหนังสไปเดอร์แมนยอดนิยมตลอดกาลโดยสร้างรายได้สูงถึง 804 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับสื่อเป็นนัยยะว่าสไปเดอร์แมนคง ‘หมดทางกลับบ้าน’ อย่างค่ายมาร์เวล เพราะสัญญาลิขสิทธิ์ที่ไม่มีวันหมดอายุนั่นเอง
กำเนิด Spiderverse
เมื่องานสร้างสรรค์ถูกผลักให้เป็นภาระของค่ายมาร์เวล โซนีก็ดูเหมือนจะมีเวลาทบทวนกลยุทธ์การสร้างภาพยนตร์จากลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในมือ จากที่เคยโดนเสียงก่นด่าระงมหลัง ‘ฉายซ้ำ’ ชีวิตปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ในสไปเดอร์แมนยุคสอง โซนี่จึงหันไปชูตัวร้ายให้กลายเป็นตัวเอกอย่าง Venom (2018) และ Venom: Let There Be Carnage (2021) ซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร
อย่างไรก็ตาม การสร้างจักรวาลที่เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่มาปะทะสังสรรค์ของค่ายมาร์เวลก็ทำให้โซนี่อิจฉาตาร้อนมาโดยตลอด สาเหตุที่ทั่วโลกรับรู้เรื่องนี้เพราะข้อมูลสำคัญและอีเมลในบริษัทของโซนี่ถูกแฮ็กโดยมือดีแล้วเอาไปเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต
หากเปิดพอร์ตฟอร์ลิโอของโซนี่ ซุปเปอร์ฮีโรที่บริษัทถือลิขสิทธิ์นอกจากสไปเดอร์แมนแล้วก็คือเม็นอินแบล็ก องค์กรชุดดำนักล่าเอเลียน และโกสท์บัสเตอร์ ขบวนการปราบผี แค่คิดว่าจะสร้าง ‘จักรวาล’ ที่ซุปเปอร์ฮีโรเหล่านี้มารวมตัวกันก็เห็นเค้าลางของหายนะ
หนึ่งในอีเมล์ของ เอมี ปาสคาล ที่ถูกแฮ็กระบุว่า ลิขสิทธิ์ในมือเรามีแต่สไปเดอร์แมน แฟนสาว เหล่าญาติๆ และสารพัดตัวร้ายในเรื่อง แล้วเราจะสร้างจักรวาลจากของพวกนี้ได้ยังไงกัน?
ใครจะไปคิดว่าอีเมลนั้นจะเป็นเชื้อไฟของความสร้างสรรค์ภายใต้ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์ หลังจากที่ค่ายมาร์เวลนำพาแนวคิด ‘มัลติเวิร์ส’ มาอยู่ในภาพยนตร์กระแสหลัก โซนี่ก็ประยุกต์แนวคิดดังกล่าวมาใช้กับสารพัด ‘สไปเดอร์แมน’ ที่มีอยู่ในมือ เพราะสัญญาระหว่างสองค่ายครอบคลุมสไปเดอร์แมนทุกเส้นเรื่องนอกเหนือจากตัวเอกยอดนิยมอย่างปีเตอร์ปาร์กเกอร์
นี่แหละครับคือที่มาของภาพยนตร์อนิเมชั่นยำใหญ่ใน Spiderverse ที่รวมเอาเหล่าญาติสนิทมิตรสหายและสารพัดสไปเดอร์แมนจากหลากหลายมิติมาผสมรวมกัน โดยมีตัวหลักคือไมลส์ โมราเลส สไปเดอร์แมนผิวดำที่ความนิยมต่ำเตี้ยเรี่ยดินในคอมิกส์ เพราะนอกจากจะถูกเขียนให้เก่งกว่าปีเตอร์ ปาร์กเกอร์อย่างออกหน้าออกตาแล้ว ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ปีเตอร์ในจักรวาลนั้นต้องตายอีกด้วย
ถึงแม้ Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) จะไม่ได้สร้างรายได้ถล่มทลาย แต่ก็นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสไปเดอร์แมนที่ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม คว้ารางวัลมากมายจากหลายเวทีทั้งลูกโลกทองคำ ออสการ์ และแบฟตาในฐานะภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยม ปูทางให้ Spider-Man: Across the Spider-Verse (2023) ประสบความสำเร็จในแง่รายได้โดยทำรายได้มากกว่าภาคแรกภายในระยะเวลาเพียง 12 วัน และมีความเป็นไปได้ว่าจะกำชัยเหนือหนังฟอร์มใหญ่ของค่ายมาร์เวลปีนี้อย่าง Ant-Man and the Wasp: Quantumania (2023) และ Guardians of the Galaxy Vol. 3 (2023)
นับเป็นเรื่องดีที่ค่ายโซนี่เริ่มจับทางถูกว่าจะใช้ลิขสิทธิ์สไปเดอร์แมนในมืออย่างไรให้ถูกใจผู้ชม แต่ลึกๆ เราก็ยังมีความหวังว่าทั้งสองค่ายจะกลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้งและส่งแฟรนไชส์สไปเดอร์แมนให้เปล่งประกายยิ่งกว่าเดิม
อ้างอิงจาก
Sony and Marvel and the Amazing Spider-Man Films Rights Saga
Unpacking Spider-Man’s Complicated History With Disney and Sony