สัปดาห์ที่ผ่านมาในญี่ปุ่น มีข่าวข่าวหนึ่ง ที่เริ่มจากทวีตบ่นเรื่องการระบบการจ้างงานของบริษัทของภรรยาพนักงานรายหนึ่ง แต่มันค่อยๆ กลายเป็นไวรัล และสุดท้ายก็กลายเป็นประเด็นปัญหาที่ถกกันในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมญี่ปุ่นได้ไม่แพ้กรณี #KuToo เมื่อสัปดาห์ก่อนเลย
เรื่องเกิดขึ้นเมื่อ พนักงานชายบริษัทแห่งหนึ่ง ลาพักงานไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูกที่เพิ่งคลอดได้เกือบเดือน ตามสมัยนิยมที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้สามีสามารถลางานเพื่อไปช่วยดูแลลูกที่เพิ่งคลอดได้ด้วย แต่เมื่อกลับมาทำงานในวันที่ 22 เมษายน พอวันที่ 23 เขาก็ถูกนายเรียกไปรับทราบว่า เขาจะถูกโยกย้ายไปสำนักงานคันไซตั้งแต่วันที่ 16 เดือนหน้า กลายเป็นฟ้าผ่ากลางครอบครัวของเขา เพราะลูกก็เพิ่งคลอด แถมกว่าจะหาสถานรับเลี้ยงเด็กเพื่อช่วยดูลูกได้ (ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์ เพราะในโตเกียวนี่สถานรับเลี้ยงเด็กน้อยมากจนบางเขตต้องเข้าคิวรอกันเป็นปีตั้งแต่ยังท้องอยู่เลย) เพราะภรรยาของเขาก็จะกลับไปทำงานบริษัทเหมือนกัน แถมยังเพิ่งย้ายเข้าบ้านที่เพิ่งสร้าง และถึงจะไม่มีเรื่องลูกที่เพิ่งคลอด การให้เวลาเพียงแค่นั้นในการเตรียมการย้ายที่ทำงาน ซึ่งต้องคิดหลายต่อหลายเรื่อง ทั้งที่อยู่อาศัย การขนของ แถมยังเรื่องที่ทำงานของภรรยา ก็จัดว่าโหดแล้ว นี่เพิ่งมีลูกหมาดๆ ยิ่งหนักเข้าไปอีกหลายเท่า จนทำเอาครอบครัวนี้ได้แต่กุมหัวกัน
พนักงานก็ได้คุยกับทางหัวหน้างานว่าอยากจะขอเวลาเพื่อจัดการอะไรต่างๆ ให้เรียบร้อย แต่บริษัทก็ไม่อนุมัติ สุดท้ายหลัง Golden Week ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เขาก็เลยตัดสินใจยื่นหนังสือลาออก แต่ขอลางาน 2 สัปดาห์เพื่อจัดการเคลียร์อะไรต่อมิอะไรให้เรียบร้อยอีก แต่บริษัทก็ไม่อนุมัติอีก โดยบอกให้เขาจัดการเคลียร์โต๊ะทำงานให้เรียบร้อยก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคม กลายเป็นที่มาของทวีตบ่นของฝ่ายภรรยา ซึ่งก็เลี่ยงพูดถึงชื่อบริษัทสามีตรงๆ แต่ก็ใส่สโลแกนของบริษัทไว้ ทำให้คนก็รู้กันว่าเป็นบริษัทอะไร และไปๆ มาๆ จากแค่ทวีตบ่นว่า ต่อไปตัวเธอเองก็ต้องกลายเป็นเสาหลักของครอบครัวแทนสามีทั้งๆ ที่เพิ่งคลอดลูก กลายมาเป็นไวรัลที่ชาวญี่ปุ่นพูดถึงประเด็นนี้ และครอบครัวนี้ก็ถูกสื่อไปสัมภาษณ์โดยไม่ระบุชื่อ ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงการโยกย้ายพนักงานว่าเหมาะสมแค่ไหน และกรณีนี้เป็นการกลั่นแกล้งพนักงานที่มีครอบครัวหรือมีบุตรหรือไม่
ระบบการโยกย้ายพนักงานของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า 人事異動 (Jinji Idou) คือระบบที่พบได้เป็นอย่างมากในบริษัทญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีพนักงานและสาขาจำนวนมาก รวมไปถึงในระบบราชการของญี่ปุ่นอีกด้วย คนไทยเราเองก็คงจะคุ้นกันบ้าง เพราะบ้านเราเองก็มีระบบแบบนี้กับราชการหรือรัฐวิสาหกิจ แต่กับงานบริษัทอาจจะไม่มีเยอะเท่า เพราะบ้านเราไม่ได้มีบริษัทที่มีสาขาทั่วประเทศมากเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ซึ่งมีบริษัทใหญ่และกระจายสาขาไปทั่วประเทศมากมาย และเมื่อเทียบกับของไทยที่การย้ายมักจะเป็นเพื่อการไปรับตำแหน่งที่สูงกว่าที่ว่างในสาขาอื่น
แต่ของญี่ปุ่นในหลายกรณีกลับเป็นการย้ายตำแหน่งในระนาบเดียวกัน
ไม่ได้มีการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่มีการย้ายเพื่อสลับไปอยู่ทีมอื่น
แผนกอื่น หรือบางครั้งก็สายงานอื่นเลย
ฟังดูก็อาจจะชวนงงหน่อยว่า จู่ๆ จะให้ไปทำงานสายอื่นเลยเหรอ บางคนอาจจะเริ่มงานจากการเป็นเจ้าหน้าที่สายคอมพิวเตอร์ แต่วันดีคืนดี อาจจะต้องไปทำงานด้านธุรการแทน ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรกับการทำงานในบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งมีระบบการจ้างงานเฉพาะแบบญี่ปุ่น
ผมเคยพูดไปหลายทีว่า ระบบของญี่ปุ่นคือ นักศึกษาจะเข้าฟังสัมมนาสมัครงานตามบริษัทต่างๆ ตั้งแต่ยังเรียนปี 3 แล้วก็มักจะได้งานก่อนเรียนจบ ซึ่งพอจบมหาวิทยาลัย ก็จะเริ่มงานวันที่ 1 เมษายนพร้อมๆ กัน บริษัทใหญ่ๆ ก็จะมีคนเข้าบริษัทพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมหาศาล และส่วนใหญ่ไม่ได้รับแบบระบุตำแหน่งงาน แต่เป็นการรับเข้าเป็นพนักงานเหมือนเป็นสมาชิกสมาคมอะไรซักอย่าง เข้าไปแล้วก็ค่อยรับการอบรบรวมกันก่อนที่จะค่อยแบ่งว่าใครจะไปอยู่แผนกไหน
จะว่าไปก็คล้ายๆ กับการหว่านแหใหญ่ๆ มาก่อนแล้วค่อยมาเลือกปลาทีหลัง ซึ่งญี่ปุ่นนิยมใช้ระบบนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง บริษัทใหญ่ๆ ก็รับคนมาเยอะๆ คนเก่งก็ได้ไปสายที่โตไว คนที่ผลงานไม่เด่น ก็อยู่ทำงานไปเรื่อยๆ และด้วยระบบจ้างงานตลอดชีวิตในอดีต ทำให้พนักงานเหมือนติดหนี้บุญคุณบริษัท บริษัทสั่งให้ทำอะไรก็ทำ แลกกับการได้รับประกันว่ามีงานมีรายรับตลอดชีวิต แม้ตำแหน่งงานของตัวเองจะไม่ได้เป็นที่จำเป็นอีกต่อไป อย่างน้อยก็ยังมีงานธุรการรองรับและได้เกษียณอายุพร้อมบำนาญ
ซึ่งระบบแบบนี้ล่ะครับ ที่ทำให้การย้ายพนักงานไปอยู่ที่สาขาอื่นๆ รวมไปถึงแผนกอื่นๆ เกิดขึ้นได้ เพราะพนักงานรู้สึกว่าเป็นสมาชิกของบริษัท ถูกสั่งอะไรก็ทำ ฝากชีวิตไว้กับบริษัทแล้ว และในมุมมองของบริษัท การย้ายพนักงานไปสาขาหรือตำแหน่งต่างๆ ก็เพื่อที่จะแก้ปัญหาความเบื่อหน่าย ทำงานที่เดิมเรื่อยๆ ก็ชินจนเป็นรูทีน ต้องย้ายทีมเพื่อกระตุ้นบ้าง หรือย้ายไปสายงานใหม่เพื่อที่จะได้เรียนรู้งานใหม่ๆ อยู่เสมอ รวมถึงการย้ายพนักงานไปประจำที่ต่างประเทศ เพื่อให้สาขาที่ต่างประเทศถูกกระตุ้นว่ามีพนักงานถูกส่งมาจากสำนักงานใหญ่ จะทำงานเล่นๆ ไม่ได้ มีคนคอยจับตาอยู่ (เป็นที่มาของชาวญี่ปุ่นเต็มคอนโดแถวสุขุมวิทนั่นล่ะครับ อีกอย่าง บางทีก็เพื่อลดโอกาสคอรัปชั่น เพราะถ้าอยู่แต่กับทีมเดิมๆ ลูกค้าเดิมๆ ก็มีโอกาสสนิทกันจนช่วยกันฮั้วได้)
ฟังดูก็เหมือนเป็นเรื่องดี เพียงแต่ว่า โลกมันไม่ได้เหมือนเดิมแล้วสิครับ ถ้าในช่วงเศรษฐกิจญี่ปุ่นดีๆ โครงสร้างครอบครัวคือ สามีทำงาน ภรรยาเป็นแม่บ้านเลี้ยงดูลูกเต็มที่ ซึ่งโครงสร้างแบบนี้มันเป็นไปได้เพราะระบบการจ้างงานที่จ่ายเงินเดือนของฝ่ายสามีคนเดียวแล้วพอจะเลี้ยงครอบครัวได้ทั้งหมด และในยุคนั้นครอบครัวส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนมาเป็นครอบครัวขนาดเล็ก มีแค่พ่อแม่ลูกเท่านี้น เวลาย้ายงาน ย้ายตำแหน่งไปเมืองอื่น เลยยังไม่ลำบากมากนัก หรือบางคนอาจจะเลือก 単身赴任 (Tanshin Funin) หรือการที่ตัวสามีไปอยู่ต่างจังหวัดคนเดียว ให้ครอบครัวอยู่ที่บ้านของตัวเองไป และแวะเวียนมาหาบ้างตามสะดวก
แต่หลังจากฟองสบู่แตก พนักงานกินเงินเดือนก็พบกับสภาวะที่ไม่เคยพบมาก่อน ทั้งการโดนเลย์ออฟ สวัสดิการที่ลดลง การจ้างงานตลอดชีพที่เคยเป็นสิ่งที่แน่นอนก็สั่นคลอนขึ้นมา ยังไม่นับว่าด้วยสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้รายรับไม่พอรายจ่าย เงินเดือนพ่อบ้านคนเดียวไม่อาจจะเลี้ยงครอบครัวทั่วไปได้อีกแล้ว ทำให้ฝ่ายภรรยาต้องออกมาหางานทำเสริมด้วยความจำเป็น (ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ทำก็เพื่อหารายรับเสริม) สภาวะเช่นนี้ ทำให้พนักงานบริษัทเริ่มมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการถูกโยกย้ายงาน แต่ในทางกลับกัน แทนที่บริษัทจะเลือกพนักงานหนุ่มสาวที่ยังโสด ส่งไปประจำที่ต่างๆ เพื่อประสบการณ์ และสะดวกกว่าเพราะยังอยู่ตัวคนเดียว
แต่มีรายงานว่าบริษัทมักจะเลือกพนักงานที่ แต่งงานมีครอบครัว
หรือเพิ่งตัดสินใจกู้เงินสร้างบ้าน เพราะมั่นใจได้ว่าพนักงานเหล่านี้
แม้จะโดนโยกย้ายไปไหน ก็จะไม่ลาออกง่ายๆ
เพราะมีภาระคอยค้ำคออยู่นั่นเอง
จากผลการสำรวจในปีค.ศ. 2017 พบว่า เกือบ 2 ใน 3 ของบริษัทญี่ปุ่นมีการโยกย้ายพนักงาน โดยมีแค่ 19.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สอบถามความเห็นของพนักงานเวลาโยกย้าย และบริษัท 47.7 เปอร์เซ็นต์รายงานว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานของบริษัทเลือกที่จะย้ายไปคนเดียวไม่พาครอบครัวไปด้วย ยิ่งถ้าเป็นการย้ายงานไปต่างประเทศ ตัวเลขจะยิ่งสูงยิ่งขึ้น
จริงๆ ผมเคยพูดถึงเรื่องพนักงานชาวญี่ปุ่นที่ถูกส่งตัวมาอยู่ในไทยว่ามาพร้อมสวัสดิการดีๆ มีคอนโดหรู คนขับรถประจำตำแหน่ง ชนิดที่พอย้ายกลับแล้วก็ทนนั่งรถไฟแบบเดิมไม่ไหว แต่จริงๆ แล้ว นื่คือการย้ายมาอยู่ประเทศที่มีทัศนคติดีต่อคนญี่ปุ่น และมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง ครอบครัวย้ายตามมาก็ไม่ลำบากมาก ขนาดมีโรงเรียนให้เด็กญี่ปุ่นในไทยเลย แต่อย่าลืมว่า ปีนี้อยู่ไทย แต่ปีหน้า อาจจะต้องย้ายไปอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูง อันตราย สภาพแวดล้อมไม่ดี เพื่อนชาวญี่ปุ่นเคยเล่าให้ฟังว่าเพื่อนร่วมงานถูกส่งไปอยู่แอฟริกา ต้องเจอชีวิตที่ลำบากและห่วงความปลอดภัยมาก ในขณะเดียวกัน บางคนก็ถูกย้ายไปพื้นที่ที่มีความเสี่ย งเช่น ปากีสถานในช่วงที่ฮึ่มๆ รบกับชาติอื่นอยู่ ไม่ใช่ว่าจะเจอชายหาดและแสงแดดเสมอล่ะครับ
พอสภาพสังคมเปลี่ยน การย้ายงานก็ทำให้เป็นปัญหาระดับครอบครัวมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งบริษัทมีแนวทางการเลือกคนแบบนั้น บางคนสร้างบ้านเสร็จ กว่าจะได้กลับมาอยู่เองก็ผ่านไป 10 ปี บางคนก็ไม่มีโอกาสได้ใช้เวลากับลูก จนลูกเข้ามัธยมค่อยได้กลับบ้าน กลายเป็นความห่างเหินในครอบครัว คนที่เลือกพาครอบครัวตามไป ก็มีปัญหาลูกต้องย้ายโรงเรียนบ่อยๆ ไม่มีเพื่อนที่อยู่ด้วยกันได้นานๆ คนที่ไปแต่ตัวเอง ก็มีปัญหาเรื่องรายจ่ายที่ต้องจ่ายทั้งส่วนของบ้านตัวเองให้ครอบครัวอยู่ และที่พักของตัวเอง กลายเป็นภาระมากเกินไป
นอกจากนี้แล้ว ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และคุณภาพการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น ทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้นมาอีกคือ ไม่ใช่แค่ลูกและเมียแล้ว แต่พนักงานหลายคนต้องคอยดูแลพ่อแม่ที่แก่ชราและไม่สามารถช่วยตนเองได้ ทำให้การย้ายงานเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสสำหรับพวกเขา และหลายคนเลือกตัดสินใจ ‘ลาออก’ แทนที่จะยอมถูกย้ายไปทำงานแล้วดูแลพ่อแม่ไม่ได้
ตัวอย่างของกรณีนี้ ทำให้เห็นด้านที่เป็นปัญหาของระบบการจ้างงานและทัศนคติในการทำงานของญี่ปุ่น ที่แม้โลกจะเปลี่ยนไปแล้วแต่ยังปฏิบัติต่อพนักงานเหมือนกับเบี้ยที่อยากจะย้ายไปที่ไหนก็ได้ แถมการย้ายพนักงานหลังจากที่เพิ่งมีลูกทันทีก็ดูจะเป็นการกลั่นแกล้งกันอย่างจงใจด้วยซ้ำ แม้รัฐบาลจะพยายามจูงใจให้พนักงานบริษัทฝ่ายชายลางานเพื่อไปช่วยดูแลลูก แต่ในทางปฏิบัติเมื่อกลับมาทำงานกลับเจอแบบนี้ (บางคนก็โดนตัดออกจากไลน์ที่จะเลื่อนตำแหน่งเพราะถูกมองว่าไม่ได้ทุ่มให้บริษัท)
คำถามคือ เมื่อโลกเปลี่ยนไปแล้ว และบริษัทก็ยังไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตพนักงานได้เหมือนแต่ก่อน แต่ยังปฏิบัติกับพนักงานราวกับว่าเป็นเจ้าชีวิตเช่นนี้ แม้รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นหรือผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน แต่พอวัฒนธรรมองค์กรเป็นแบบนี้ สุดท้ายก็เหมือนการไล่ตีตัวตุ่น ไม่แปลกอะไรที่อัตราการเกิดของญี่ปุ่นจะลดลงเรื่อยๆ เพราะถ้าเจอแบบนี้แล้ว เป็นใครก็คงจะคิดหนักเวลาจะแต่งงานหรือมีลูกนั่นล่ะครับ โลกเปลี่ยนไป ระบบสังคมก็เปลี่ยนไป แต่วัฒนธรรมองค์กรกลับยังต้องการคนทำงานให้แบบถวายหัวให้เจ้าชีวิต ทั้งๆ ที่ตัวองค์กรเองก็ไม่มีศักยภาพเหมือนเก่า ยังไม่นับว่าการจับคนย้ายไปตรงนั้นตรงนี้ ทำให้เสียโอกาสพัฒนาทักษะเฉพาะทาง ซึ่งมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นในโลกทุกวันนี้
กรณีของจากทวีตของภรรยาของพนักงานกลายเป็นเหมือนรอยปริรอยแรกของเขื่อน ที่พอเกิดขึ้นแล้ว หลายคนก็ต่างระบายความอัดอั้นตันใจ กลายเป็นประเด็นในสังคม ซึ่งคงต้องมาดูกันว่า เคสเล็กๆ เคสนี้ เคสเดียว อาจจะส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องการจ้างงานของญี่ปุ่นได้หรือไม่
อ้างอิงข้อมูลจาก