ลาออกดีไหมนะ? ซองเอกสารก็วางอยู่ตรงหน้าแล้ว
ชีวิตทำงานในแต่ละวัน ไม่เพียงแค่ต้องฟาดฟันกับหน้าที่การงานอันแสนหนักหนา หากยังรวมไปถึงการจัดระเบียบความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน รุ่นพี่ รุ่นน้อง เจ้านาย ฝ่ายบริหาร หรือกระทั่งพี่แม่บ้าน คุณน้าฝ่ายไอที พี่ยามผู้คอยดูแลความปลอดภัยในบริษัท
ยิ่งคิดก็ยิ่งปวดหัวเนอะ ปัญหามากันทีละอย่างก็ยังพอไหว แต่หลายครั้งมากันแบบพายุ ถาโถมจนชีวิตเราอยากพิมพ์ลงในสเตตัสเฟซบุ๊กว่า “ไม่ไหวแล้วโว้ยยยยยยยย” (แต่สุดท้ายก็ได้แต่บ่นในใจเงียบๆ คนเดียว)
เราเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยเจอความรู้สึกสับสนทำนองนี้ อยากปรึกษาใครสักคนแต่มองไปทางไหนก็ไม่เห็นคนที่เราสบายใจที่จะพูดคุยด้วย
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ บี—อภิชาติ ขันธวิธิ Managing Director แห่งบริษัท Qgen consultant ตัดสินใจทำเพจ HR – The Next Gen ขึ้นมา โดยอยากให้ความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่สะสมมาหลายปี มาใช้เป็นคำปรึกษาและไขปัญหาคาใจต่างๆ ให้กับบรรดาคนทำงาน
“ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ตั้งแต่ระหว่างหัวหน้าลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้วยซ้ำ จะมีคนส่งข้อความเข้ามาถามเรื่อยๆ เพราะเขาอยากจะเอาชีวิตรอดในออฟฟิศให้ได้”
ด้วยปัญหาคาใจมากมายที่เราอยากได้คำตอบ เราหยิบความสงสัยเหล่านั้นมาคุยกับเขา เผื่อว่าจะได้เข้าใจสถานการณ์ดราม่าในที่ทำงานกันได้มากขึ้น
drama 1 : เด็กยุคนี้ไม่สู้งานจริงไหม
“เจน Y ยุคต้นๆ อาจไม่ได้เปลี่ยนงานถี่เท่ากับเจน Y หรือเจน Z ในยุคปัจจุบัน สำหรับพี่คิดว่ามันเป็นเรื่อปกติ เพราะยุคนี้เป็นยุคที่โอกาสมันเกิดขึ้นในทุกอณูของชีวิต แล้วเด็กรุ่นนี้เป็นเด็กที่เข้าถึงโอกาสมากกว่ายุคก่อนๆ มันจึงเป็นเรื่องง่ายที่เห็นโอกาสอยู่ตรงหน้า ถ้าเป็นเรา เราจะไม่ไปหรอ เมื่อมีโอกาสที่ดีกว่า เราก็อยากเดินไปในที่ที่ดีกว่า
“สมัยก่อนเราเห็นข่าวรับสมัครงานผ่านแค่หนังสือพิมพ์ หรือบางทีเข้าไปดูตามป้ายประกาศต่างๆ หน้าโรงงาน กว่าที่เราจะรู้ข่าวสารเหล่านั้น บริษัทก็คงได้ตำแหน่งงานตามที่ประกาศไปเรียบร้อยแล้ว แต่ปัจจุบัน เด็กสมัยนี้เขาเข้าถึงข่าวสารได้ง่ายกว่าเดิมมาก ถ้าเขาคิดว่ามันเป็นงานที่ได้รับผลตอบแทนทั้งที่ดีทั้งเป็นตัวเงิน และไม่เป็นตัวเงิน เขาก็คิดว่าน่าจะไปทำอย่างอื่นที่มันดีกว่า มันเลยทำให้เกิดการเปลี่ยนงานค่อนข้างบ่อย
“คนที่เปลี่ยนงานได้จริงก็ส่วนหนึ่ง ขณะที่คนที่ยังไม่ได้เปลี่ยนงานเขาก็ได้รู้ว่ามันมีโอกาสอยู่รอบตัวไปหมด มันก็เลยเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่ ผู้บริหาร ฝ่าย HR จะมองว่าเด็กรุ่นนี้ไม่มีความอดทน หยิบโหย่ง เปลี่ยนงานกันบ่อย แต่สุดท้ายเราก็ต้องอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ
“สิ่งที่บริษัทจะต้องคิดใหม่ก็คือแล้วจะทำยังไงให้เด็กเหล่านี้อยู่กับเราได้นานๆ จะไปโทษเด็กอย่างเดียวไม่ได้แล้ว โทษไปก็เท่านั้น บ่นไปก็เท่านั้น บริษัทมีอะไรที่ดึงดูดให้คนมาทำงานด้วยได้ หรือทำให้คนทำงานอยู่กับเราไปนานๆ เลิกโทษเด็กได้แล้ว”
drama 2 : ทำไมเด็กสมัยไม่มีรอยัลตี้ต่อบริษัท
“ทุกบริษัทอยากได้ความรอยัลตี้แหละ เพราะเขาจะได้ไม่ต้องเสียต้นทุนในการหาคนใหม่ ไม่ต้องเสียต้นทุนในการพัฒนาคน ไม่ต้องเสียต้นทุนในการรักษาคนไว้ในระยะยาวๆ แต่บริษัทเองก็ต้องทำให้พนักงานรู้สึกว่า ทำไมเขาต้องรอยัลตี้กับบริษัท
“คำถามคือบริษัททำอะไรให้เด็กรอยัลตี้แล้วรึยัง ถ้าบริษัทยังใช้วิธีเดิมๆ เหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คำถามคือมันเป็นวิธีที่เด็กอยากได้รึเปล่า สิ่งที่บริษัทต้องกลับมาคิดคือ คุณมีสิ่งที่เด็กต้องการรึเปล่า คุณอยากได้รอยัลตี้จากตัวเด็ก แล้วคุณรู้รึเปล่าว่าเด็กอยากได้อะไรที่จะทำให้เขารอยัลตี้
พี่ยังมั่นใจว่ามีคนจำนวนนึงจะรอยัลตี้กับบางอย่าง ในอดีตผู้ใหญ่จะรอยัลตี้กับตัวบริษัท ผ่านมายุคนึง รอยัลตี้เกิดกับตัวผู้บริหารว่าเราอยากทำงานกับคนนี้ แต่เด็กยุคนี้รอยัลตี้ที่ตัวงาน คืองานมันน่าสนุกไหม มีความท้าทายและตอบโจทย์แพชชั่นได้รึเปล่า ถ้าไม่มีตัวงานในลักษณะแบบนี้ ทำให้ตายเขาก็ไม่รอยัลตี้กับเรา”
drama 3 : เจนเก่า เจนใหม่ อยู่ด้วยกันไม่รอด
“สมัยนึงพี่ก็ไม่ค่อยเคารพคนที่อายุ แต่เราเคารพเขาที่ความน่าเชื่อถือ วิธีคิด หรือประสบการณ์บางอย่างของเขา เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเป็นไปได้สำหรับการทำงานให้ได้ดีคือต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน หมายถึง ผู้ใหญ่เองก็ต้องให้เกียรติเด็กด้วย ผู้ใหญ่ต้องรู้ว่ามันมีอะไรบางอย่างที่เราไม่ได้ ต้องไม่อยู่กับความสำเร็จเดิมๆ แล้วไม่ให้โอกาสเด็กได้ทำอีกแบบนึงแล้วมันอาจจะสำเร็จได้ดีกว่า
“เด็กเองก็ต้องหักห้ามใจตัวเอง ต้องให้เกียรติผู้ใหญ่ด้วยเหมือนกัน เขาทำงานก่อนซึ่งอาจจะไม่รู้เรื่องเทคโนโลยี แต่เขาอาจจะรู้เรื่องที่เราไม่รู้เหมือนกัน เด็กต้องควบคุมตัวเอง อย่าเพิ่งคิดว่าเขาไม่รู้เรื่อง อย่าลืมว่ากว่าที่เขาจะมาถึงจุดนี้ได้ ด้วยเงื่อนไข ณ เวลานั้น นี่อาจจะเป็น the best ที่เขาทำได้แล้ว
“ไม่ว่าเรื่องงาน หรืออะไรก็ตาม มันจะไม่เกิดปัญหาเลยถ้าเราเปิดใจแล้วยอมรับซึ่งกันและกันให้ได้ มันจะหาเรื่องเพื่อโต้เถียงหรือข่มกันไปตลอดมันไม่มีทางที่จะมีความสุขได้ เพราะสุดท้าย เราไม่สามารถทำให้อีกฝ่ายหายไปจากบริษัทได้แน่ๆ”
drama 4 : ตัดเรื่องส่วนตัวออกจากที่ทำงานไม่ได้
“ตัดเรื่องส่วนตัวไม่ได้หรอก ถ้าตัดได้ขนาดนั้นก็บวชได้เลย พี่มั่นใจว่ายังไงก็ต้องมีเคสทำนองว่า เราไม่ชอบหน้าคนนี้ ไม่ว่าเขาพูดดีแค่ไหน เราก็จะไม่โอเค สิ่งที่ทำได้คือไม่ต้องถึงกับต้องตัดความเป็นส่วนตัวออกไป แต่ให้คำนึงถึงเป้าหมาย เช่น ทำงานให้เสร็จ ทำงานให้ดี ยึดความเป็นมืออาชีพให้มีอยู่ สิ่งสำคัญคืออย่าให้ใครมาบอกเราว่าเราไม่เป็นมืออาชีพ
“กลับมามองที่เป้าหมายและคิดว่าถ้าจะไปถึงเป้าหมายด้วยความเป็นมืออาชีพนั้น เราต้องทำมันแบบไหน การเป็นมืออาชีพและมีเป้าหมายการทำงานให้ชัดเจนคือพอแล้ว มันอึดอัดแน่นอนแหละ สมมติว่าถูกอาจารย์จับคู่กับคนที่เราไม่ชอบ แต่ถ้าเรามีเป้าหมายว่า ถ้าทำไม่เสร็จก็สอบตกเลยนะ
“สำหรับพี่แล้ว ถ้าเราต้องทำงานกับคนที่ไม่ชอบ ก็ควรแบ่งบทบาทการทำงานให้ชัดเจนว่าใครทำอะไร ใครรับผิดชอบอะไร แล้วต้องประกอบร่างงานมาเป็นยังไง แล้วสุดท้ายให้ตัวงานเป็นตัวตัดสิน ในระหว่างทางมันมีความขัดแย้งและความหงุดหงิดอยู่แล้ว ให้กำลังใจกับตัวเองโดยการเอาเป้าหมายมาเป็นตัวตั้ง แล้วที่เหลือช่างมัน
“ถ้าไม่ตั้งเป้าหรือไม่เห็นเป้าหมายเลย เราก็คงจะรู้สึกแต่ว่าทำไมเราต้องอยู่กับคนที่ไม่ชอบ มันก็จะบั่นทอนตัวเราเองไปเรื่อยๆ”
drama 5 : อยู่รอดได้ไหมถ้าไม่สร้างคอนเนกชั่น
“คอนเนกชั่นเป็นส่วนหนึ่งของการทำมาร์เก็ตติ้งตัวเอง พี่เชื่อว่า ในวันนี้เราทำงานแบบปิดทองหลังพระอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ใครที่เก่ง ใครที่ทำงานดี แต่นั่งอยู่กับที่เฉยๆ แล้วคิดว่าเดี๋ยวจะมีคนมารับรู้ พี่ว่าอาจจะมันช้าเกินไป เราต้องหาวิธีในการทำให้คนอื่นรู้ด้วยว่า ตัวเราเก่งในเรื่องอะไร
“ถ้าตัวเราเองอยู่ในที่ที่เขาใช้จุดแข็งของเราจริงๆ เราแทบไม่ต้องใช้คอนเนกชั่นอะไรเลย แต่ถ้าวันนี้เรายังไม่ได้ถึงตรงนั้น เราอาจจะต้องหาวิธีพีอาร์ตัวเองออกมาด้วย
“แต่ถ้าไปเลียหัวหน้าแบบที่ไม่มีเนื้องาน ไม่มีคอนเทนต์อะไรเลย แบบนี้อยู่ได้ไม่นาน ไม่รอด แต่ถ้าเราเอาคอนเทนต์ไปนำเสนอให้ถูกคน มันก็จะทำให้เราเติบโตได้เร็วกว่าเดิม คอนเนกชั่นคือหนึ่งในสิ่งที่เราควรจะมี แต่จะควรมีมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ต้องไปดูว่าถ้ามีแล้วมันจะไม่ทำให้เราเดือดร้อนในอนาคต ไม่ใช่ว่ามีคอนเนกชั่นแต่คนด้านบน แต่คนในระดับอื่นไม่โอเคด้วย
“ถ้าเราอยากสร้างคอนเนกชั่นในระดับบน เราต้องทำให้คนข้างล่างยอมรับเราให้ได้ด้วย มันถึงจะราบรื่น ถ้าเกิดเราเอางานขึ้นไปเสนอข้างบน โดยคนข้างล่างไม่มีใครสนับสนุนเราแม้แต่คนเดียว ไม่มีคนที่คอยบอกว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้อง มันก็คงไม่โอเค
“เคยมีคนบอกพี่ว่า เวลาที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารหรือหัวหน้า ให้กลับมาคิดว่าเราต้องกตัญญูกับใครบ้าง เพราะเราจะมาถึงตรงนี้ไม่ได้ถ้าเกิดไม่มีการสนับสนุนที่ดีจากลูกน้องเราด้วย
“คนที่สร้างแต่คอนเนกชั่นแค่คนระดับบนๆ อย่างเดียว โดยที่ไม่สนใจคนข้างล่างเลย อย่างนี้ไม่มีทางอยู่รอด เพราะคุณจะสร้างศัตรูเอาไว้เต็มไปหมด ในชีวิตคนทำงานเราเห็นอยู่แล้วแหละ ว่าคนนี้มีหน้าที่เข้าหาเจ้านายอย่างเดียว แต่เวลาที่ต้องทำงานจริงๆ เราไม่เห็นเขาช่วยเหลือใครเลย”
“ถ้าคุณมั่นใจจริงๆ ว่าจะไปรอดด้วยการเติบโตแบบนี้ ขึ้นไปข้างบนได้โดยที่ฐานข้างล่างพร้อมที่จะคอยทิ่มแทงคุณตลอดเวลา หรือเดินเข้ามาสั่งงานแล้วทุกคนส่ายหน้าหนีหมด คนที่ทำงานด้วยเขาก็จะทำแค่ตามมาตรฐานที่เขาอยากได้ ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเราเป็นสายโคตรเลียเลย แต่พอเราได้รับงานมา เรามายื่นให้กับเพื่อนหรือลูกน้อง ทุกคนจะทำตามแค่มาตรฐานที่เราอยากได้ นั่นคือสิ่งดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำให้เราแล้ว เขาจะไม่ทำมากกว่า
“เพราะฉะนั้น เขาเองก็จะเหนื่อยเองเพราะไม่มีคนคอยช่วยเหลือ แต่ถ้าเราได้ใจจากเพื่อนร่วมงานจริงๆ ทุกคนเขาก็จะทำให้เราได้เพิ่มเติมกว่าที่เราต้องการอีก
“คุณไม่ได้อยู่คนเดียวจริงๆ ในองค์กรหรอก คุณต้องมีคนข้างๆ และคนด้านล่างที่คอยสนับสนุนด้วย ถึงอย่างนี้จะอยู่ได้กันแบบยั่งยืน”
drama 6 : ทำไงดีชอบเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมงาน
“พี่ใช้ความอิจฉาเพื่อพัฒนาตัวเอง มองว่าเขามีอะไรที่เราไม่มี แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง ถ้าเราอยากทำแบบที่เขาทำได้ ทำไมเราไม่ทำสักที แต่ถ้าเราเห็นแล้วว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ใช่ทางของเรา ก็ควรหยุดเอาตัวเองไปเปรียบเทียบเขา เพราะเราไม่ทำเอง
“ถ้าจะเปรียบเทียบการทำงานกับคนอื่น เราต้องคิดแบบไม่เข้าข้างตัวเอง เช่นอย่าคิดว่าเราทำไปแล้ว แต่ทำไมคนอื่นไม่มาเห็น คือมันเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะตัดสินคนอื่นในมุมแบบนั้น ต้องกลับมาถามว่าแล้วเราทำอะไรให้คนอื่นเขาเห็นหรือยัง หรือเราเอาแต่ใจตัวเอง คิดว่าตัวเองนั่งในออฟฟิศเฉยๆ แล้วคนอื่นจะมาเห็นแวว โดยไม่สื่อสารอะไรให้คนอื่นรับรู้ได้เลย
“การเปรียบเทียบตัวเราเองกับเพื่อนร่วมงานเกิดขึ้นได้ แต่ต้องเปรียบเทียบให้โดยที่ยังมองในแง่บวกอยู่ ถ้าเปรียบเทียบแล้วมองแต่ในแง่ลบ เราก็จะไม่ทำอะไรเลย หยุดนิ่งอยู่ที่เดิม แล้วเราก็จะมองคนอื่นที่เติบโตไปได้เรื่อยๆ อย่ามัวแต่โทษสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว บางครั้งการโทษตัวเองก็ช่วยให้เราเติบโตไปข้างหน้าได้”
drama 7 : หัวหน้าที่ถูกต้อง vs หัวหน้าที่ถูกใจ
“หัวหน้าที่ใจดี ใครๆ ก็ชอบ คำว่าใจดีคือไม่ทำให้เรารู้สึกแย่เลยในทุกงาน แต่บางเรื่องถ้าเราใจดีเกินไป มันอาจไม่ได้งานที่ไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควรจะเป็นกลับมา เช่น ไม่ดุลูกน้องเลยเวลาที่ลูกน้องทำงานผิด อันนี้โอเค แต่ถ้าไม่ดุเพราะว่ากลัวน้องจะไม่รัก อันนี้ผิด เพราะคุณไม่ได้ทำหน้าที่ของการเป็นหัวหน้า
“คนบางคนอาจจะต้องดุ เพื่อให้เขารู้ตัว แต่ลูกน้องบางคนอาจจะใช้วิธีเลียบๆ เคียงๆ เพราะฉะนั้น หัวหน้าที่ดีคือต้องรู้ว่าลูกน้องเป็นคนยังไง ต้องใช้วิธีที่ใจดีเข้าสู้หรือต้องใช้วิธีอื่นๆ แทนไปเลย”
drama 8 : ฉันเจ็บปวดเพราะเป็นคนใจดี
“พี่รู้จักคนแบบนี้เยอะเลย ทุกคนมาขอความช่วยเหลือเต็มไปหมด แล้วเขาก็รับปากไว้หมด คือเราอาจจะทำได้ในระดับนึง แต่เราก็ต้องรู้จักปฏิเสธให้เป็นด้วยเหมือนกัน เพราะเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอกับคนที่พร้อมเอาเปรียบเราเสมอ ต้องคิดว่าถ้าเราช่วยไปแล้ว แต่เราหลงทางจากเป้าหมายของตัวเราไปรึเปล่า
“เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเริ่มที่จะปฏิเสธที่จะช่วยเหลือ เขาจะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีไปเลยในทันที จากเดิมที่เป็นคนดีมาตลอดเลย
“อันนี้ให้คิดไว้เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญมากๆ คือการช่วยเหลืองานคนอื่นบ่อยๆ จนเกินตัว สักพักมันจะกลายเป็นงานเพิ่มและภาระใหม่ของเราไปโดยปริยาย แม้ว่าเราจะไม่ได้ถนัดที่จะทำเลยก็ตาม แล้วเราก็พูดไม่ออกที่จะโยนงานคืนกลับไปหาคนอื่น แล้วสุดท้ายงานที่เราควรจะทำสำเร็จ เพราะเราเอาเวลาไปทำงานที่ไม่ใช่ของเรา”
drama 9 : บ่นว่าอยากลาออก แต่ก็ยังไม่ได้ไปไหน
“เรื่องลาออกมันมีเงื่อนไขหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง การลาออกครั้งนึงมันมีผลกระทบ การบ่นว่าลาออกในแต่ละครั้ง มันอาจเป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบบางอย่างจากสิ่งที่เราได้เจอมา บางครั้ง HR จะไม่ค่อยทำอะไรเพราะรู้ว่าคนนี้พูดบ่อยอยู่แล้ว
“คือบ่นได้ แต่ต้องหาที่บ่นให้ถูก การบ่นบ่อยๆ มันก็ยิ่งทำให้สภาพจิตใจของเราไม่ดี ตัวเราเองจะจมอยู่กับปัญหาตรงนั้น คนอื่นก็อาจจะมองเราไม่ดี
“แต่คนที่ไม่ลาออกส่วนหนึ่งคือเขามองว่า ถ้ามีโอกาสมาเมื่อไหร่ เขาก็จะไปทันที เขารู้ว่าคนที่บ่นไปเรื่อยๆ มันไม่ได้ช่วยอะไร บางครั้งมันอาจจะเป็นการปิดโอกาสของตัวเองด้วย สมมติว่าเสียงของการลาออกของเรามันได้ยินไปถึงหัวหน้า หรือผู้บริหาร ถ้าวันนึงเขาอยากโปรโมตเราขึ้นมา เขาก็อาจจะไม่ให้โอกาสเลยนะ เพราะไม่รู้ว่าคนนั้นกำลังลาออกจริงรึเปล่า หรือบริษัทควรจะให้โอกาสคนที่ยังไม่คิดจะลาออกรึเปล่า”
drama 10 : โอเคไหม ถ้าจะลาออกเพื่อหนีปัญหา
“ในบางครั้ง การลาออกเพื่อหนีปัญหามันจำเป็นนะ เพราะถ้ายิ่งฝืนทนไปเรื่อยๆ สุขภาพจิตเรามันก็ยิ่งแย่ไปจากเดิม แต่ถ้าจะตัดสินใจจริงๆ อยากให้นึกย้อนกลับไปถึงเหตุผลในการทำงานของเราวันแรก เช่น ต้องการเงิน ต้องการทำงานกับคนที่เป็นไอดอล ต้องการทำงานที่มันท้าทาย ต้องการที่ทำงานตามแพชชั่น แล้ววันนี้เหตุผลที่ตัดสินใจลาออกนั้นมันมีน้ำหนักมากกว่าไหม
“ลองถามตัวเองว่า อยากลาออกเพราะอะไร ลาออกเพราะไม่ได้สิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า หรือลาออกความสัมพันธ์ แล้วเอาเหตุผลที่เราลาออก มาเทียบกับเหตุผลในวันที่เราเข้ามาทำงาน ลองคิดว่ามันสมเหตุสมผลรึเปล่า ถ้ามันสมเหตุสมผลก็ลาออกไปเสี่ยงเอาข้างหน้า แต่เราต้องตั้งสติเอาไว้ก่อนว่า บริษัทใหม่เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าเราจะเจอกับอะไร ถึงแม้เราจะได้ข่าวมาว่าบริษัทนั้นมีข้อดีอะไรบ้าง
“ถ้าอยู่ที่เดิมแล้วมันลำบากใจ ลองทำเช็คลิสต์ว่าบริษัทนี้ยังมีมุมดีๆ อะไรอยู่บ้าง อย่ามองแค่มุมลบเพียงอย่างเดียว แต่ถ้ามองแล้วมุมบวกมันมีน้อยกว่ามุมลบ ส่วนตัวพี่ยอมรับความเสี่ยงตรงนั้นได้นะ ถึงอย่างนั้น แต่ละคนก็มีเงื่อนไขที่จะรับความเสี่ยงไม่เหมือนกัน
“พี่ไม่ได้เชียร์ว่าทุกคนต้องลาออกจากงานในทันที เพราะตัวเราเองต้องมานั่งเปรียบเทียบให้ดี ว่าความเสี่ยงในการอยู่ที่เดิมกับอยู่ที่ใหม่คืออะไร เพราะมีคนที่ลาออกไปแล้วประสบความสำเร็จ กับคนที่ลาออกไปแล้วแป้ก”