อนิเมชั่นก็เหมือนกับสื่อบันเทิงหลายต่อหลายเรื่องล่ะครับ ที่มีทั้งการเล่าเรื่องแบบแฟนตาซีจ๋า ดราม่าหนักอึ้ง ไม่ก็ตลกโปกฮาเต็มที่ และอีกเรื่องหนึ่งที่อนิเมชั่นมักจะบอกเล่าได้อย่างดีเสมอ ก็คือการเล่าเรื่องประสบการณ์ทำงานของเหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ด้วยความที่เป็นภาพการ์ตูน มันสามารถจัดฉากบอกเล่าเรื่องราวอันอีรุงตุงนังในที่ทำงานให้เราไม่รู้สึกไม่เวอร์จนเกินเลยเท่าไหร่นัก
เพราะฉะนั้นในวันที่แรงงานหลายๆ คน อาจจะอยากพักผ่อนกันยาวๆ เราเลยขอนำเสนออนิเมชั่นส่วนหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวของคนทำงานในออฟฟิศ ที่ต้องหงุดหงิดกับนายจ้าง เหนื่อยหน่ายกับคนที่ทำงานด้วยแล้วไม่ได้ดั่งใจ หรือมีเหตุอื่นๆ ที่ชวนปวดสมอง เผื่อว่าเหล่าซาลารี่แมน แอนด์ วูเม่น ทั้งหลายจะดูการ์ตูนเหล่านี้แล้วได้เพลินไปกับสิ่งที่คุณอยากจะพูดแต่พูดไม่ได้บ้าง ส่วนคนที่ยังไม่ได้ทำงานในออฟฟิศก็สามารถดูอนิเมชั่นเหล่านี้เพื่อเป็นการเรียนรู้ล่วงหน้าว่า ถ้าคุณกระโดดเข้าสู่สายงานที่ต้องนั่งออฟฟิศแล้ว พวกคุณจะต้องเจออะไรบ้าง
Aggretsuko / Aggressive Retsuko – เรื่องเล่าของเหล่าพนักงานหญิง
เธอเป็นกระแสตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในบ้านเกิด แล้วก็ถูจดจำได้มากขึ้นเมื่อเดบิวต์ในระดับโลก กับ เร็ตสึโกะ แพนด้าแดงสาววัย 25 ปี ที่ทำงานอยู่ในแผนกบัญชีของบริษัทแห่งหนึ่ง ด้วยความเป็นสาวเรียบร้อยไม่กล้าโต้เถียงใครมากเธอเลยต้องรับมือกับการที่ใครๆ ก็พยายามมาโยนงานให้เธอช่วยทำ, ฟังเรื่องของชาวบ้านที่เธอไม่ได้อยากรู้, รับมือกับความสะตอ-บอแหลของใครต่อใครอีกมาก, โดนละเมิดทางเพศ โดนละเมิดทางอำนาจ ฯลฯ แต่เธอก็ยังทำงานได้อย่างดี ไม่เคยออกอารมณ์ให้คนอื่นเห็นโดยง่าย นั่นก็เพราะเธอใช้เวลาหลังเลิกงานในวันที่หัวเสียแล้วเดินทางไปยังร้านคาราโอเกะเพื่อร้องเพลง เดธเมทัล ว้ากกกก!!!!! แม้ว่ามันจะไม่ได้ช่วยให้ปัญหาที่เธอมีหายไป แต่อย่างน้อยก็ทำให้เธอสามารถสงบสติแล้วกลับไปทำงานได้อีกครั้ง
อนิเมชั่นชุดที่ฉายใน Netflix ปี 2018 ความจริงแล้วเป็นอนิเมชั่นชุดที่สอง แต่เหมือนเป็นการรีบูทเรื่องอ่อนๆ ที่ทำให้เราได้รู้เรื่องชีวิตของ เร็ตสึโกะ กับ เพื่อนในออฟฟิศมากขึ้น ทั้งยังเพิ่มเส้นเรื่องว่าแต่ละคนมารู้จักกันได้ยังไงบ้าง และตัวเร็ตสึโกะมีความฝันอะไรเหลืออยู่ในสถานที่ทำงานที่แสนจะน่าหงุดหงิดขนาดนี้
ถึงการใส่หน้ากากจะจำเป็นในการเข้าสังคม แต่ถ้าปิดบังอะไรมากเกินไปก็อาจจะไม่ดีต่อสุขภาพจิตเหมือนกันนะ
Salaryman Kintaro – ก้าวแรกของการทำงานประจำ
อนิเมชั่นเรืองนี้ถึงจะเก่าสักนิดแต่ก็บอกเล่าเรื่องราวที่หลายต่อหลายคนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย เรื่องราวของ ยาจิม่า คินทาโร่ อดีตขาโจ๋ตัวดีที่ผันตัวไปเป็นชาวประมง แต่โชคชะตานำพาทำให้เขาได้ไปช่วยประธานบริษัทแห่งหนึ่งที่เชิญชวนให้เขาไปทำงาน
การ์ตูนบอกเล่าปนกันระหว่างแนวดราม่ากับตลกปนแอคชั่น ด้วยความที่ตัวเอกเป็นคนที่อยู่นอกกรอบเกณฑ์มาก่อน ตัวเนื้อหาของเรื่องจึงบอกเล่าการกระทำการหลายอย่างที่เป็นคำถามต่อระบบการทำงานแบบญี่ปุ่น อาทิ ทำไมบางครั้งถึงมีการเอาเรื่องส่วนตัวมาพิจารณากับการทำงาน, ผู้บริหารบางครั้งก็รับสิทธิ์มากเกินไป ฯลฯ
น่าตลกนิดหน่อยว่าการ์ตูนเรื่องนี้ถูกเขียนมาตั้งแต่ช่วงปี 1994 แต่ปัญหาหลายอย่างในการทำงานที่บอกเล่าในเรื่องก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่เช่นเดิม
The Great Passage – ภาวะกะทันหันของการโยกย้ายแผนก
ถ้าคุณเคยทำงานในบริษัทขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สักแห่งหนึ่ง น่าจะเคยเห็นการย้ายแผนกกันบ้าง ซึ่งการถูกโยกย้ายนี้ สำหรับบางคนก็เป็นเรื่องที่แย่ บางคนก็เป็นเรื่องที่ดี บางคนก็เห็นคนที่ย้ายมาแล้วรู้สึกไปต่างๆ นานา บางคนก็ถูกย้ายเพราะถูกเห็นพรสวรรค์ บางคนก็ถูกโยกย้ายจากความไม่เหมาะสม
ทั้งหมดทั้งปวง เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในอนิเมะเรื่อง The Great Passage ที่จริงๆ แล้วมีประเด็นหลักอยู่ที่การทำพจนานุกรม ‘ทางเดินอันยิ่งใหญ่’ (Daitokai หรือ The Great Passage) แต่คนในแผนกกองบรรณาธิการไม่มีบุคลากรที่มีฝีมือดีพอ จนกระทั่งกองบรรรณธิการของฝั่งพจนานุกรมคนหนึ่ง ได้บังเอิญไปเจอกับตัวละครเอกอย่าง มาจิเมะ มิตสึยะ และพบว่าเขาสามารถจดจำคำศัพท์ได้อย่างแม่นยำ เมื่อเดินเรื่องไปอีกระยะ ตัวละครในกองบรรณาธิการที่สนิทกับพระเอก มีมารยาทกับมีทักษะทางการคิดงานขายก็ได้โยกย้ายไปการตลาดที่สอดคล้องกับทักษะของตัวเองเช่นกัน
เพราะฉะนั้นถ้าคุณมีความสามารถใดๆ อยู่ ก็อย่าได้เกรงว่าจะไม่มีใครในบริษัทมองเห็น บางทีคนอาจจะทราบแล้วเพียงแต่ยังหาสถานที่ให้คุณแสดงฝีมือไม่ได้เท่านั้นเอง
Hataraki Man – ความมุ่งมั่นของพนักงานหลากรูปแบบ
Work Hard, Play Harder เป็นแนวทางการทำงานที่สมัยนี้หลายๆ คนอยากให้ทำกัน อนิเมชั่นเรื่องนี้จับเอาประเด็นนั้นมาเล่นผสมกับการใส่มุกเพิ่มเติมว่า นางเอกของเรื่องที่เป็นนักเขียนและกองบรรณาธิการของนิตยสารรายสัปดาห์ JIDAI ที่สามารถเปลี่ยนโหมดเป็น ‘ฮาทาราคิแมน’ (มนุษย์ทำงาน) ที่หญิงสาวจะทำงานเหมือนผู้ชายและเร่งเร็วขึ้นได้สามเท่า แต่ก็ใช่ว่าเธอจะละทิ้งชีวิตกับความฝันแบบสาวๆ เสียทีเดียว เพราะเธอก็ยังพยายามรักษาสถานภาพกับแฟนของเธอที่เป็นคนตั้งใจทำงานไม่แพ้กัน
เรื่องนี้อาจบอกเล่าชีวิตการทำงานของกลุ่มคนที่ทำงานหนักมากและเล่นเต็มที่อย่างมาก เพราะตัวละครแทบทุกตัวในเรื่องเป็นคนทำงานแนวจริงจังสุดๆ และเรื่องนี้ก็เลือกบอกเล่า ความ Work Hard กับความ Play Hard ของแต่ละคนมีรูปแบบไม่เหมือนกัน
ก่อนที่เราจะตัดสินใครในที่ทำงาน บางทีเราควรเข้าใจด้วยว่าจุดยืนของแต่ละคนอยู่ตรงไหน
Servant x Service – งานตายตัวก็ปวดขมองได้
หลายคนอาจจะคิดว่างานที่ตายตัวโคตรๆ แบบงานตามตาราง หรืองานราชการ น่าจะไม่เหนื่อยยากเท่าไหร่ ซึ่งอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้ทำให้เห็นว่าแม้จะเป็นงานที่ตายตัวค่อนข้างมากก็มีปัญหาและการรับมือที่ต้องใส่ใจในการทำงานไม่แพ้งานอื่นเช่นกัน ในเรื่อง Servant X Service นี้เป็นเรื่องรางของพนักงานหน้าใหม่ของข้าราชการฝ่ายบริการประชาชนประจำเมืองมิทสึบะ ของจังหวัดฮอกไกโด (เป็นเมืองสมมติ) ที่ตัวละครได้กระโดดเข้ามารับงานนี้ด้วยเป้าหมายแตกต่างกันไป กระนั้นสิ่งที่พวกเข้าต้องเจอก็คือการให้บริการประชาชนหลากนิสัย นับตั้งแต่ คุณย่าคุณยายที่ชอบบ่นยาวๆ เหมือนจะไม่มีวันจบ, คนที่หัวร้อนเพราะอยากให้เคลียร์เอกสารเร็วๆ ทั้งที่เตรียมของมาไม่พร้อมเอง, รับมือกับครอบครัวของเพื่อนร่วมงานที่มักจะมีคาแรคเตอร์ประหลาดๆ เป็นอาทิ
เนื้อแท้ของอนิเมชั่นเรื่องนี้จริงๆ เป็นเรื่องแนวตลกโปกฮาจากสถานการณ์สุดโต่ง ถึงอย่างนั้นข้อความหนึ่งที่บอกกล่าวคนดูตลอดๆ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นงานตายตัวหรืองานไม่ตายตัว การนึกถึงใจเขา ใจเรา ในฐานะผู้ให้บริการและผู้มาใช้บริการก็สำคัญเสมอ
Shirobako – การประสานงานเป็นเรื่องสำคัญ
ทีมเวิร์กถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญในการทำงาน กระนั้นการบอกเล่าว่าทีมเวิร์กนั้นสำคัญอย่างไรอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก Shirobako ซึ่งบอกเล่าการทำงานของบริษัทอนิเมชั่นในญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่เพิ่งผลักดันงานของตัวเองให้ออกฉายทางได้ ด้วยคิวฉายที่ตายตัวแน่นอนทำให้ โชคดีที่อนิเมชั่นเรื่องนี้สามารถพูดคุยความสำคัญของการประสานงานกันระหว่างทีมเวิร์กได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุที่ว่าการทำอนิเมชั่นนั้นมีขั้นตอนการทำงานหลายอย่างทั้งวาดภาพ, ขึ้นงาน 3D, เขียนบท, ชงสตอรี่บอร์ด, ตัดต่อ, พากย์เสียง ฯลฯ แล้วงานแต่ละอย่างไม่ได้ทำจบลงแค่ในบริษัทหรือแผนกเดียว ทำให้การทำงานประสานกันของแต่ละที่จะต้องทำงานต่อเนื่องกัน หรือถ้ามีปัญหาขึ้นมาจะต้องแก้ไขอย่างทันท่วงทีไม่เช่นนั้นคิวงานทั้งหมดที่จองไว้จะมีปัญหาอย่างต่อเนื่องตามมา
ในเรื่องนำเสนอทั้งช่วงเวลาที่งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี และในช่วงที่งานมีปัญหาระดับที่ชวนลุ้นว่างานจะได้ออกฉายหรือไม่ รวมถึงว่ายังเดินเรื่องด้วยกลุ่มตัวละครหลักที่ได้ทำงานในวงการที่ตัวเองฝันใฝ่มาแต่เด็ก ก่อนที่พวกเขาจะพบว่าเมื่อมาถึงฝันแล้วอาจจะต้องทรมานกับการอยู่ในฝันที่ไม่หวานดั่งคิด หรือไม่เช่นนั้นก็คือต้องพัฒนาตัวเองจากเรื่องรอบข้างมากขึ้นเพื่อให้ไปไกลมากกว่าที่เคยฝันไว้
Bartender – เสวนางานเคล้ารสสุรา
บางทีการงานมันไม่ได้จบแค่ที่ออฟฟิศหรือที่ทำงานหรอก ร้านเหล้า มักจะเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่มีบทสนทนาด้านการงานมากมายไม่แพ้กับออฟฟิศไหนเลย เพราะงั้นเราเลยหยิบอนิเมชั่นเรื่อง Bartender ที่มู้ดแตกต่างจากฉบับหนังสือการ์ตูนที่เป็นแนว Slice Of Life แฝงความเบาสมองเอาไว้เยอะ มาเป็นโทนละครชีวิตที่บังเอิญจบลงที่ร้านเหล้า แน่นอนล่ะว่า ลูกค้าของร้านเหล้าก็จะต้องเป็นเหล่าคนทำงานที่เหนื่อยล้าจากการงานที่หนักหน่วง ไม่ก็ วนเวียนมาสนุกกับเพื่อนร่วมงาน หรืออาจจะแค่อยากแวะเวียนมาเปลี่ยนบรรยากาศ ก่อนที่จะทำงานในวันต่อไป บาร์เทนเดอร์ในเรื่องที่ปรากฎตัวในร้านก็จะเลือกปรุงค็อกเทลที่สอดคล้องกับชีวิตของลูกค้าในช่วงนั้น (ถ้าลูกค้าไม่โวยวายสั่งเครื่องดื่มอื่นไปก่อน) และในขณะเดียวกันเนื้อเรื่องก็บอกเล่าถึงความยากลำบากในการเปิดบาร์หรือเป็นเจ้าของกิจการด้วย
ไม่ว่าคุณจะมีอารมณ์อะไรมา อย่างน้อยร้านของกินก็จะคอยลดดีกรีดังกล่าวลงไปไม่มากก็น้อย และทำให้คุณพอจะใจเย็นลง ก่อนจะกลับไปนอนพักผ่อนที่บ้าน (หรือจะเมาน็อกตั้งแต่ที่ร้านก็ตาม) เพื่อที่จะได้รับมือต่อไปกับงานอันวุ่นวายในวันพรุ่ง
วันพรุ่งนี้ก็ขอให้ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่นะ!