ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จู่ๆ งานฮาโลวีนที่ชิบุยะก็กลายมาเป็นประเด็นฮอต กลายเป็นข่าวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากที่ไม่เคยมีอะไรแบบนี้มาก่อน เอาง่ายๆ สมัยผมเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่นเมื่อสิบปีกว่าก่อน ฮาโลวีนคือเทศกาลที่นักเรียนต่างชาติฉลองกันเองในหอพัก หรือไม่ก็ต้องไปตามผับที่เน้นเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติในญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่างานฮาโลวีนที่ชิบุยะจะกลายเป็นเป้าหมายของทั้งชาวญี่ปุ่น ชาวต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่น รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่อยากจะเข้ามาชมและร่วมสนุกกับอีเวนต์ที่นับวันยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ผลกระทบจากอีเวนต์ฮาโลวีนปีนี้ก็เรียกได้ว่าดุเดือดเอาเรื่อง เพราะเป็นข่าวใหญ่ตั้งแต่วันแรกๆ เนื่องจากวัยรุ่นอาละวาดกันขนาดที่ช่วยกันยกรถบรรทุกเล็กจนพลิก ตำรวจต้องมาควบคุม แล้วก็มีการก่อความวุ่นวายเรื่อยๆ มีคนไปพังตู้กดตั๋วซื้อราเมงของร้านราเมงแถวนั้น ตามประสาความสนุกที่ได้รับการกระตุ้นด้วยแอลกอฮอลล์ แถมวันสุดท้ายวันที่ 31 ก็มีคนโดนจับกุมรวม 13 คนจากข้อหาต่างๆ เช่น ล่วงละเมิดทางเพศ ขโมยของ และแอบถ่ายใต้กระโปรง กลายเป็นว่าฮาโลวีนที่ชิบุยะเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่นับวันยิ่งดูจะเละเทะไร้ระเบียบมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนต้องมาดูกันว่ามันเกิดมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นไม่ได้มีวัฒนธรรมฮาโลวีนมาก่อนแท้ๆ
日本終わりやな、もう…
暴徒と化した渋谷ハロウィン民、駐車されていた車を集団人力でひっくり返してウェエエエエエイhttps://t.co/WUoUdxzBU0 pic.twitter.com/OAEqffbu8C
— ネット・アイドル界の重鎮だんごむしさん (@sengodebu) October 27, 2018
ไล่ดูที่มาที่ไปของการเข้ามาของวันฮาโลวีนในญี่ปุ่น ไปๆ มาๆ ที่มาก็เหมือนกับเทศกาลตะวันตกอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น นั่นก็คือมาจาก ‘การตลาด’ นั่นเอง เช่นเดียวกับการมอบช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์ จุดเริ่มแรกในการฉลองวันฮาโลวีนเกิดในยุค 70s เมื่อร้านขายของเล่น Kiddy Land ที่ฮาราจุกุเริ่มขายของเล่นฮาโลวีน และในปี 1983 ก็ได้จัดฉลองวันฮาโลวีนด้วยการจัดพาเหรดเดินฉลองที่ถนนโอโมเทะซังโดมีคนมาร่วมงานประมาณ 100 คน แต่ก็เป็นชาวต่างชาติเป็นหลัก หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรเด่นขนาดที่ทำให้คนทั่วไปสนใจได้
ずっとパンツ撮ってるおじいちゃんを見つけて草
#渋谷ハロウィン pic.twitter.com/D0CM6Ky2CZ
— ゆるふわ怪電波☆埼玉 (@yuruhuwa_kdenpa) October 27, 2018
แต่พอเข้ายุค 2000s คนญี่ปุ่นเริ่มสนใจเรียนภาษาอังกฤษตามโรงเรียนสอนบทสนทนาภาษาอังกฤษมากขึ้น และที่มาพร้อมกับการเรียนภาษาก็คือวัฒนธรรม ซึ่งนักเรียนรวมไปถึงเด็กที่เรียนภาษาก็เริ่มรู้จักงานฮาโลวีนและบางโรงเรียนก็มีการฉลองเล็กๆ ด้วย กลายเป็นสิ่งที่เริ่มแทรกซึมเข้ามาในสังคมญี่ปุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ก็เริ่มมีการจัดงานเพื่อเด็ก ด้วยการจัดแจกของให้เด็กที่แต่งตัวแฟนซี ตามที่ผมเคยได้เขียนไปแล้วในบทความเรื่องยากูซ่ามาแจกของให้เด็ก (อ่านได้ที่นี่) ซึ่งก็ค่อนข้างเหมาะกับสังคมญี่ปุ่น เพราะว่าทุกคนไม่ได้รู้จักวัฒนธรรมนี้ จะให้เด็กออกไปกดออดบ้านนั้นบ้านนี้ แล้ว Trick or Treat ก็คงจะโดนด่า แถมยังขัดกับนิสัยการพยายามไม่รบกวนคนอื่นของชาวญี่ปุ่นอีกด้วย ฮาโลวีนเลยกลายเป็นแจกตามกิจการหรือหน่วยงานต่างๆ แบบนี้ล่ะครับ
แต่สิ่งที่ทำให้ฮาโลวีนเป็นเรื่องแมสได้ก็คือ Disney Land และ Universal Studio Japan สองสวนสนุกดังของญี่ปุ่นที่เริ่มเอาเทศกาลฮาโลวีนมาเป็นกิมมิก ทำให้คนเริ่มสนใจฮาโลวีนมากขึ้น และเริ่มมองฮาโลวีนเป็นงานปาร์ตี้ขนาดใหญ่ตามที่สวนสนุกได้จัด ทีแรกสวนสนุกก็ยังคงยึดธีมเรื่องราวผีๆ อยู่ มีเครื่องเล่นพิเศษที่น่ากลัวเพิ่มขึ้นมา แต่อิมเมจของฮาโลวีนก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง เมื่อ Disney Sea จัดงานฮาโลวีน โดยที่ให้คาแรคเตอร์แต่งชุดแบบชาวยุโรปในอดีตที่หรูหรา กลายเป็นว่าไม่ใช่แค่ผีแล้ว แต่จะเป็นงานคอสตูมแต่งตัวเอาสนุก แฟนซีหลุดจากชีวิตประจำวันก็ได้ เลยทำให้คนญี่ปุ่นยิ่งอินได้ง่าย
และที่ผ่านมาก ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยมีการจัดงานฮาโลวีนกันในที่สาธารณะมาก่อนนะครับ ในโตเกียวเคยมี รถไฟฮาโลวีน ซึ่งจริงๆ ก็เป็นกิจกรรมแบบกองโจร เริ่มต้นโดยชาวอเมริกาในโตเกียว ด้วยการนัดกันไปบอมบ์รถไฟสาย Yamanote รถไฟสายหลักที่วนรอบโตเกียว โดยนัดเวลา ชานชลา และตู้รถไฟที่จะขึ้นไปถล่มด้วยการแต่งกายแบบฮาโลวีน พร้อมถือเครื่องดื่มไปฉลองกันในรถไฟด้วย เท่าที่หาข้อมูลมาคือเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงต้นยุค 90s และหลังจากนั้นพอมีอินเทอร์เน็ต การนัดหมายก็เริ่มใหญ่โตขึ้นด้วยการไปโพสต์ในเว็บบอร์ด ทำให้คนเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นปัญหาหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น เพราะคนที่ต้องการกลับบ้านเฉยๆ ก็ต้องมาเจอปาร์ตี้ในรถไฟแบบนี้ ขนาดที่เคยมีการประท้วงโดยชาวญี่ปุ่นหน้าสถานีชินจุกุไล่ให้ชาวต่างชาติกลับไปฉลองที่ประเทศตัวเอง รวมถึงในโปสเตอร์รณรงค์เรื่องมารยาทในการขึ้นรถไฟโดยอาจารย์ Yorifuji Bunpei ก็มีตัวที่บอกว่า “กรุณาฉลองที่อเมริกา” อยู่ด้วย (ถ้าพูดแบบนี้ยุคนี้นี่อาจจะโดนว่าไม่พีซีได้ง่ายๆ)
จากที่เคยโดนต่อต้าน พอเข้าช่วงปี 2010 การฉลองฮาโลวีนที่ชิบุยะก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันกลายเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่หลายต่อหลายคนอยากจะเข้าร่วม แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงไม่พอใจจากคนในท้องที่ด้วยเช่นกัน จากที่ทีแรกทางท้องที่ก็ช่วยอำนวยความสะดวก หยุดการจราจรบางส่วนให้ เตรียมห้องน้ำสาธารณะให้ แต่หลังๆ การจัดอีเวนต์นี้กลายเป็นปัญหาเนื่องจากเกิดเรื่องราวตามที่บอกไป และแทนที่จะเป็นผลดีกับธุรกิจ กลายเป็นว่าร้านค้าต้องรีบปิดหนี บางร้านก็ต้องดึงชัตเตอร์ลงมา เพราะมีร้านค้าที่โดนทุบกระจก หัวหน้ากลุ่มผู้ค้าขายในย่านนั้นได้แต่ส่ายหัวครับ
เอาเข้าจริงๆ อีเวนต์ฮาโลวีนของญี่ปุ่นก็หลุดไปจากความหมายดั้งเดิมของงานฮาโลวีนที่เป็นการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวและไล่วิญญาณชั่วร้าย รวมถึงเทศกาลที่ให้เด็กๆ ได้สนุกออกไป ฮาโลวีนของญี่ปุ่นกลับกลายเป็นงานสนุกของผู้ใหญ่และวัยรุ่นเสียมากกว่า และหลายต่อหลายคนก็ไม่ได้สนใจที่มาหรืออะไร แค่มองว่าเป็นงานที่ได้สนุก ได้ออกมาแต่งตัวคอสเพลย์ ที่สำคัญคือ ธีมการแต่งตัวก็ไม่ได้เกี่ยวกับผีปีศาจอีกต่อไป ส่วนนึ่งอาจจะเพราะอิมเมจจาก Disney Sea ตามที่ได้บอกไป เลยกลายเป็นงานแฟนซี แต่งคอสเพลย์ไปเสียอย่างนั้น ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรนัก เพราะญี่ปุ่นเองก็ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดคอสเพลย์อยู่แล้ว สองสิ่งนี้มาผสมกันเลยกลายเป็นงานที่ให้คนทั่วไปได้ออกมาปล่อยผี (ในคนละความหมาย) ไม่ใช่แค่ได้ปิดเมืองดื่มฉลองกัน ได้แต่คอสเพลย์สนุกสนาน บางคนก็แต่งกันมาเป็นทีม บางคนก็ตั้งใจทำชุดในเวลาว่างจากการทำงาน จนใช้เวลาปีนึงพอดีกว่าจะเสร็จ บางคนก็ เอิ่ม มาแบบเซ็กซี่ ชุดชั้นในเลยอ่ะครับ ซึ่งก็เป็นงานคอสเพลย์ที่ดูไม่เหมือนแต่งไปให้ตากล้องถ่ายรูปตามงานคอมมิคเคะ หรือ Comic Market ที่ดูออกจะเฉพาะทางเสียมากกว่า
มีคนให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ส่วนหนึ่งที่เกิดอีเวนต์แบบนี้ขึ้นกลางชิบุยะได้ ไม่ใช่แค่เพราะว่ามันเป็นพื้นที่ของคนวัยรุ่น รวมถึงเป็นพื้นที่ที่มีห้างร้านเปิดกันดึกอยู่แล้ว และห้าแยกหน้าสถานีที่เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของพื้นที่มีคนผ่านไปผ่านมาเสมอ แต่อาจจะเป็นความต้องการ ‘งานฉลอง’ ที่เป็นของตัวเอง งานฉลองที่ว่าก็หมายถึง งานมัตซึริ หรืองานเทศกาลงานวัดสไตล์ญี่ปุ่นที่เรามักจะเห็นกันในภาพยนตร์หรืออนิเมะ หรือไม่ก็บางงานที่ดังจนชาวต่างชาติก็ตามไปดู แต่สำหรับโตเกียวที่เป็นเมืองใหญ่ ดึงคนใหม่ๆ เข้ามาอยู่อาศัย ก็ไม่ได้มีเทศกาลอะไรเพื่อชาวโตเกียวหน้าใหม่เหล่านี้ เทศกาลต่างๆ ที่มีส่วนใหญ่ก็เป็นการจัดโดยชาวลูกเอโดะ เพื่อลูกเอโดะดั้งเดิมเสียมากกว่า ความเคว้งตรงนี้ทำให้พอมีคนเริ่มจุดประกายงานฉลองใหม่ใจกลางพื้นที่ที่รวมคนต่างถิ่นเข้ามาเที่ยวมากินกันเยอะอยู่แล้วอย่างชิบุยะ ทำให้มันจุดติดได้ง่าย รวมไปถึงชาวต่างชาติที่มาอยู่โตเกียวก็พร้อมที่จะร่วมแจมกันอย่างสนุกสนาน
แต่ก็นั่นล่ะครับ ปัญหาที่ตามมาคือ อีเวนต์ฮาโลวีนที่ชิบุยะกลายเป็นอีเวนต์ได้โดยไม่มีแกนนำในการจัด ไม่มีใครรับผิดชอบส่วนไหน เป็นเหมือนแฟลชม็อบขนาดใหญ่ที่พร้อมจะมาเฮฮากันโดยมีแอลกอฮอล์และความอยากสนุกเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ทำให้ปัญหาเกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เรื่องขยะที่ถูกทิ้ง ร้านค้าเสียหาย ขโมย ล้วงกระเป๋า แอบถ่ายใต้กระโปรง ล่าสุดก็กลายเป็นจลาจลพอๆ กับสงกรานต์บ้านเราในแถบที่พีคๆ เลย ลำบากตำรวจต้องเพิ่มกำลังพลเพื่อเข้าดูแลความสงบในพื้นที่ มาพร้อมกับรถกระจายเสียงขนาดใหญ่ที่คอยเตือนคนตลอด จนถูกแซวว่าเป็น DJ Police ไปแทน ผู้ว่าเขตชิบุยะก็ปวดหัวกับปัญหานี้ แถมปี 2014 ที่ผ่านมา วันฮาโลวีนตรงกับวันศุกร์ เลยเหมือนงานปล่อยผีสุดสัปดาห์ ปีถัดมาก็วันเสาร์เลยฉลองกันง่ายหน่อย แต่พอต่อมาไม่ตรงวันหยุด ก็เริ่มฉลองกันยาวๆ จนปี 2018 นี้ ซัดกันมาตั้งแต่วันที่ 27 จนถึงวันที่ 31 กลายเป็นเทศกาลยาว 5 วันที่ชวนให้คนในท้องถิ่นและตำรวจปวดหัว
แต่หลังจากความเละเทะวิบัติ อย่างน้อยก็ยังมีอะไรชวนให้ชื่นใจอยู่บ้าง นั่นคือหลังงานเลิก คนที่มาเที่ยวเล่นสนุกในอีเวนต์ส่วนหนึ่ง รวมถึงอาสาสมัครก็ช่วยกันเก็บขยะที่เกิดจากความเละเทะในคืนก่อน ให้เมืองกลับมาสะอาดเหมือนเดิมได้อย่างรวดเร็ว ก็ช่วยให้มันไม่ได้เลวร้ายไปหมด และดูเหมือนทางเขตเริ่มจะวางแผนจัดงานอย่างเป็นทางการให้มีระเบียบขึ้นเสียที ไม่อย่างนั้นก็คงต้องปวดหัวกันต่อไป ส่วนใครอยากจะสนุกกับเทศกาลนี้แบบไม่ต้องห่วงอะไรมาก ไปตามอีเวนต์ในสวนสนุกต่างๆ หรือไม่ก็ไปอีเวนต์ที่ท้องถิ่นเขาตั้งใจจัดน่าจะดีกว่า เช่นที่เมือง Kawasaki ใน Kanagawa ที่มีพาเหรดฮาโลวีนให้ร่วมสนุก หรือที่ Ikebukuro ก็มีการจัดงานในลักษณะงานคอสเพลย์เช่นกัน หรือที่เกียวโตก็เห็นว่าทางรถไฟท้องถิ่นสายที่ไป Arshiyama ก็จัดเป็นรถไฟฮาโลวีนเหมือนกันนะครับ
ส่วนใครอ่านมาแบบนี้แล้วอยากไปที่ชิบุยะก็ขอให้ปลอดภัย และอย่าไปร่วมก่อปัญหานะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก