ใครจะรู้ว่าขีดแดงเล็กๆ 2 ขีด บนชุดตรวจวัดตั้งครรภ์ไม่เพียงจะเปลี่ยนชีวิตพวกเขาและเธอ แต่ยังเกี่ยวโยงไปถึงโครงสร้างสังคม ทรัพยากรของรัฐ และระเบียบวาระแห่งชาติ
จากรายงานสังเคราะห์การวิเคราะห์สถานการณ์การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2547-2556 จำนวนการคลอดบุตรของวัยรุ่นที่สูงที่สุด มีอายุระหว่าง 15-19 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัย 18-19 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่สามารถแต่งงานได้ตามกฎหมายแล้ว ในขณะที่จำนวนการคลอดในช่วงอายุ 15-17 ปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2554 และเพิ่มสูงสุดในช่วง พ.ศ. 2553-2554 จากนั้นมีแนวโน้มลดลง ตั้งแต่ พ.ศ. 2554-2556 สำหรับแม่วัยรุ่นอายุ 18-19 ปีนั้น จำนวนคลอดลดลงใน พ.ศ. 2547-2549 จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2550-2554 แต่ลดลงอีกครั้งใน พ.ศ. 2555-2556
จำนวนการคลอดในผู้หญิงอายุ 10-14 ปี แม้ค่อนข้างน้อยแต่ก็มีแนวโน้มค่อยๆ เพิ่มขึ้น จำนวนการคลอดของวัยรุ่นอายุ 10-12 ปี ลดลงจาก 126 คน ใน พ.ศ. 2547 เป็น 66 คน ใน พ.ศ. 2556 ขณะเดียวกัน วัยรุ่นที่มีอายุ 13-14 ปี มีปริมาณคลอดลูกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและลดลงหลังจาก พ.ศ. 2555
และเมื่อมาคำนวน ต่อการคลอดของหญิงที่มีอายุ 10-49 ปี 1,000 คน พบว่า ใน พ.ศ. 2547-2550 สัดส่วนคลอดของวัยรุ่นที่มีอายุ 10-14 ปี มีตัวเลขอยู่ที่ 3.0 และค่อยๆเพิ่มขึ้นจาก 3.5 ใน พ.ศ. 2551 เป็น 4.8 ในพ.ศ. 2555 ขณะที่วัยรุ่นช่วง 15-19 ปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 136.1 ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ในพ.ศ. 2547 เป็น 164.7 ในพ.ศ. 2555 และค่อนข้างคงที่ที่ 163.2 ใน พ.ศ. 2556[1]
ไงล่ะ อ่านแล้วงงล่ะสิ… ขนาดลอกรายงาน unicef มาเอง ยังงงเลย
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมักถูกทำให้มีหน้าตาเป็นสถิติตัวเลขและกราฟ ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องท้องเรื่องไส้ อัตราการเกิดการตาย ประชากรศาสตร์เท่านั้น แต่มันถูกสถาปนาให้เป็นดัชนีชี้วัดและสัญญาณอันตรายของสังคมฟอนเฟะ จากอุปกรณ์สื่อสารเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ขยายช่องทางให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์ง่ายขึ้น และสื่อที่ยั่วยุกามารมณ์[2] ครอบครัวที่ขาดความรักความอบอุ่น ไม่มีเวลาดูแลกัน[3] ไม่ก็โบ้ยวัฒนธรรมตะวันตก เหมือนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเเละหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ แสดงความกังวลใจในวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ว่า
“ขอฝากไว้ด้วยว่าเรามีวัฒนธรรมไทย ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ผู้ชายต้องทำตัวเป็นสุภาพบุรุษ ดูแลให้เกียรติซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้จะต้องกลับมาสังคมจึงจะสงบ ดังนั้นอย่าเอาวัฒนธรรมของที่อื่นมาทำให้เป็นภาระทางสังคม”[4]
เช่นเดียวกับปัญหาเพศสัมพันธ์ ‘ในวัยอันควร’ ที่เอาเข้าจริงแล้วไม่ใช่เรื่องวัย หากแต่เป็นเรื่องของชนชั้นทางสังคมและฐานะทางเศรษฐกิจของคนมีเพศสัมพันธ์มากกว่า การตั้งครรภ์จะพร้อมไม่พร้อม เจ้าของมดลูกรังไข่และสเปิร์มเป็นผู้รู้เอง และความไม่พร้อมนั้นมันก็มีหลายปัจจัยอุบัติเหตุ ประมาท พลั้งเผลอ ฐานะทางเศรษฐกิจ เงื่อนไขการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ได้อยู่ที่วัย เพราะใครๆ ก็ท้องไม่พร้อมได้ในวัยเจริญพันธุ์ ไม่ว่าจะวัยรุ่น วัยกลางคน วัยทอง
เพียงแต่การตั้งครรภ์มันมีค่าใช้จ่ายและวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะบ้านชนชั้นรายได้ปานกลางขึ้นไปที่พ่อแม่เลี้ยงลูกประคบประหงม จน 20 ขวบแล้วยังไม่มีวุมิภาวะรับผิดชอบปากท้องได้ด้วยตนเอง กว่าจะเลี้ยงชีพดำรงชีวิตได้ก็หลังเรียนจบมหา’ลัยเป็นอย่างไว ไม่ได้บ่มเพาะวัฒนธรรมทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แต่ปลูกฝังให้เรียนจบสูงๆ บนการขอเงินพ่อแม่ไปก่อนค่อยทำมาหากิน ท้องในวัยเรียนจึงไม่ใช่ปัญหาการเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาใส่เป็นภาระสังคมไทย ดังที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.กล่าว หากแต่เกิดจากวัฒนธรรมการขัดเกลาเลี้ยงดูของสถาบันครอบครัวแบบไทยๆ ชนชั้นกลางที่ก่อความเสี่ยงขึ้นมากันเอง
ซ้ำร้าย การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ความหย่อนคล้อยทางศีลธรรม ความเรียวลงของศาสนา ความล้มเหลวของการเลี้ยงดูบุตร วัยรุ่นตั้งครรภ์จึงกลายเป็นตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม
ทั้งบ้าน โรงเรียน ชุมชน คนใกล้ชิดและสิ่งแวดล้อมไม่ได้เอื้ออำนวยให้วัยรุ่นสร้างครอบครัวเอง แม้ผู้ใหญ่ผู้ปกครองจึงมักหาทางออกปัญหาวัยรุ่นท้องด้วยการจับเด็กแต่งงานกัน ครอบครัวฝ่ายชายรับผิดชอบฝ่ายหญิง แต่มันก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรนอกจากแก้หน้ารักษาหน้าตาผู้ใหญ่กันเอง ที่ยังคงเชื่อว่าเพศสัมพันธ์ต้องเกี่ยวข้องกับสถาบันการแต่งงาน
สถานศึกษาเองก็ยังเป็นอุปสรรคให้พ่อแม่วัยรุ่นให้เรียนหนังสือไม่จบ ด้วยกฎระเบียบ ระยะเวลาการเข้าเรียน บรรยากาศ เพื่อนๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครูอาจารย์ที่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจอีกรูปแบบหนึ่งที่ยังคงอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง ไม่เพียงด้วยความเชื่อว่าการดูแลฟูมฟักลูกเป็นเรื่องของแม่มากกว่าพ่อ แล้วผลักภาระไปยังฝ่ายหญิง แต่ยังโดนตีตราเป็นว่าแรด ใจแตก สำส่อนมั่วซั่ว ไม่รักนวลสงวนตัวไปไกลถึงไม่รักศักดิ์ศรี สุวรรณมาลี ดอกทองกวาว แม้สถานศึกษาบางแห่งจะไม่ได้ไล่เด็กออกหรือปฏิเสธรับเด็กกลับเข้าเรียนต่อหลังคลอด แต่แม่วัยรุ่นก็อาจรู้สึกไม่ได้รับการต้อนรับ ทนแรงกดดันทางสังคมไม่ไหวจนต้องลาออกไปเอง
ขณะที่พ่อเด็กซึ่งมักถูกทำให้หายตัวไปจากปัญหา บางคนยังคงได้เรียนหนังสือต่อ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทั้งคู่ต้องออกจากโรงเรียนไปพร้อมกัน (ทั้งในกรณีที่เรียนโรงเรียนเดียวกัน หรือต่างโรงเรียน) สถานศึกษาไม่ควรกีดกันใครเข้าถึงการศึกษาเพียงเพราะพวกเขาและเธอมีลูกตามธรรมชาติของวัยเจริญพันธุ์ เพราะการศึกษาก็จะช่วยให้เขามีความสามารถอาชีพการงานประคับประคองหาเลี้ยงครอบครัว
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงระดับปฏิบัติการภาครัฐภาคสังคม ที่เต็มไปด้วยปัญหาขาดจำนวนเจ้าหน้าที่และความเข้าใจในการให้บริการด้านสุขภาพพยาบาล สังคมสงเคราะห์ การกระจายโอกาสความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ การบริการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้งที่ปลอดภัยและทั่วถึง รวมถึงเพศศึกษาทั้งนอกและในสถานศึกษาที่เอาแต่สอนแต่เรื่องรักนวลสงวนตัว คุมกำเนิด ทำไงไม่ท้อง ข่มกลั้นอารมณ์ทางเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการ NGO ด้าน gender, sexuality และ sex education พร่ำเสนอให้แก้ไขปัญหากันจนปากเปียกปากแฉะมาเป็นทศวรรษ
สุดท้าย ไปมาๆ การท้องของวัยรุ่นกลายเป็นการโยนบาปและปัญหาไปให้ครอบครัววัยรุ่นมะงุมมะงาหราแก้ไขกันเองตามมีตามเกิดในระดับปัจเจก
ปัญหาแม่ ‘วัยรุ่น’ ที่ต้องแก้ไข จึงไม่ใช่ลดจำนวนวัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ หากแต่เป็นขยายเพดานความรู้และกรอบทัศนคติของสังคม เพราะวุฒิภาวะทางสังคมไม่ได้วัดด้วยวัยของพ่อคนแม่คน หากแต่วัดด้วยการกระจายทรัพยากร คุณภาพของรัฐสวัสดิการ เพดานความคิดและกรอบทัศนคติของสมาชิกในสังคมมากกว่า
เอาเป็นว่า วัยรุ่นท้อง กลายเป็นปัญหา ‘ท้องไม่พร้อม’ เพราะสังคมไม่มีความพร้อมนั้นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] องค์การยูนิเซฟประจำาประเทศไทย. การวิเคราะห์สถานการณ์การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในประเทศไทย รายงานสังเคราะห์. กรุงเทพ : องค์การยูนิเซฟประจำาประเทศไทย, 2558, หน้า 4-5.
[2] ชาตรี บัวคลี่. สื่อที่มีอิทธิพลต่อปรากฎการณ์ ‘แม่วัยรุ่น ท้องวัยเรียน’, วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ปีที่ 34 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม – กันยายน 2557), หน้า 104-115.
[3] ประไพพิศ เขมะชิตและคนอื่น ๆ. การศึกษาเพศวิถีของวัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัยเรียน, วารสารร่มพฤกษ์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 (กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2552), หน้า 75-133.
[4]นายกฯห่วงปัญหาคุณเเม่วัยใส ฝากวัยรุ่นหญิงรักนวลสงวนตัว อย่าเอาอย่างวัฒนธรรมอื่น, ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์21 ก.ค. 2558 เวลา 21:15:05 น., www.prachachat.net