เคยคิดกันไหมครับว่าหากเราต้องอยู่ภายใต้ระบบการปกครองของรัฐบาลชุดปัจจุบันไปอีกสัก 5 – 10 ปี จะเป็นยังไง สำหรับบางคน แค่คิดก็ชวนให้หวาดเสียวแล้วใช่ไหมครับ
แต่ไม่ได้มีแค่บ้านเราหรอกครับที่กังวลในเรื่องนี้ ฮ่องกงเองก็เป็นอีกที่หนึ่งซึ่งหวาดระแวงต่ออนาคตที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่จะเข้ามาควบรวมอำนาจเข้าสักวัน ซึ่งแปลว่า นอกจากชาวฮ่องกงจะต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว เสรีภาพที่พวกเขาหวงแหนและคุ้นเคยก็อาจถูกลดทอนลงไปภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการ
“ฮ่องกงจะมีสภาพเช่นไรหากต้องตกอยู่ภายใต้ระบบการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่” จึงเป็นคำถามที่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของประชาชนต่อความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นกับเกาะแห่งนี้ และด้วยคำถามเดียวกันนี่เองที่หนังสั้นทั้ง 5 เรื่องจาก 5 ผู้กำกับ (Jevons Au/Ng Ka-Leung/Chow Kwun-Wai/Fei-Pang Wong/Kwok Zune) ‘Ten Years’ (2015) ได้พาเราไปสำรวจฮ่องกงในอีกสิบปีข้างหน้าเมื่อระบอบเผด็จการได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างมั่นคง
เรื่องราวทั้ง 5 ประกอบด้วย
Extras: เรื่องของมือปืนรับจ้างสองคนที่ต้องลอบสังหารผู้นำทางการเมืองฮ่องกงตามแผนการของรัฐบาลกลาง ที่หวังจะหล่อเลี้ยงความกลัวให้คงอยู่ในจิตใจประชาชน เพื่อตอกย้ำถึงความจำเป็นในการขยายระยะเวลาของกฎอัยการศึก
Season Of The End: คิวเรเตอร์คู่รักผู้ต่อสู้ดิ้นรนอยู่กับการรักษาวัฒนธรรมฮ่องกงที่กำลังสูญสลาย ด้วยความเศร้าและสิ้นหวัง หนึ่งในพวกเขาก็ได้ตัดสินใจเปลี่ยนตัวเองไปเป็นงานแสดงเสียเอง
Dialect: หนังสั้นฉายภาพความพยายามของคนขับแท็กซี่ที่จำต้องหัดพูดภาษาจีนกลาง เพราะนโยบายของรัฐที่ไม่อนุญาตให้แท็กซี่ที่พูดได้แค่ภาษากวางตุ้งเข้ารับผู้โดยสารในหลายพื้นที่สำคัญของฮ่องกง
Self Immolator: สารคดีสั้นจำลองเล่าเรื่องการต่อสู้ของกลุ่มนักศึกษา ควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์นักวิชาการและกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่
Local Egg: เมื่อนักเรียนฮ่องกงได้กลายเป็น Youth Guard ที่มีหน้าที่คอยเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐเพื่อตรวจสอบสิ่งต้องห้าม เยาวชนเหล่านี้เพียงแต่ปฏิบัติตามคำสั่ง โดยขาดการนึกคิดหรือสงสัยเลยว่าเขาทำไปทำไม พวกเขาไม่สนใจด้วยซ้ำหากสิ่งต้องห้ามที่ตรวจพบนั้นจะเป็นเรื่องของครอบครัวตัวเองก็ตาม
จริงอยู่ว่าหนังสั้นทั้ง 5 ฉายภาพบนพื้นที่และช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แต่จินตนาการของทุกเรื่องได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง
แม้ว่าแต่ละเรื่องจะดำรงอยู่แค่ในขอบข่ายของตัวเอง ทว่าว่าจุดร่วมหนึ่งที่เรื่องราวทั้งหมดเห็นตรงกัน คือสายตาอันเจ็บปวดที่มองไปยังอนาคตของฮ่องกง ราวกับว่าอนาคตอันสดใสเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หากพวกเขาต้องทนอยู่ภายใต้การปกครองของจีน
เรื่องสั้นแต่ละเรื่องนั้นซ่อนสัญญะและการอ้างถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของฮ่องกงไว้ได้อย่างน่าสนใจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น ในเรื่อง Dialect ที่ก็ได้สะท้อนถึงความกลัวที่ภาษากวางตุ้งที่อาจจะหายไป ยิ่งเมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวว่าโรงเรียนในฮ่องกงหลายที่ก็เริ่มหยุดสอนภาษาท้องถิ่นและหันมากระตุ้นให้นักเรียนใช้ภาษาจีนกลางกันมากขึ้นด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะน่าเชื่อว่า ภาพอนาคตที่ Ten Years เสนอจึงไม่ใช่ความเพ้อเจ้อที่เป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย กลับกัน บางเรื่องอาจก่อร่างเป็นความเป็นจริงขึ้นมาแล้วด้วยซ้ำ
แน่นอนครับ ทั้ง 5 เรื่องสั้นต่างก็มีความโดดเด่นและชั้นเชิงการเล่าที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าถามผมว่าผมชอบเรื่องไหนที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่อง Local Egg นอกจากเรื่องของ Youth Guard แล้ว อีกประเด็นที่ผมสนใจในเรื่องนี้คือนัยยะที่หนังซ่อนไว้ใน ‘ไข่’ ไข่ธรรมดาทั่วไปที่ตัวละครหนึ่งขายในร้านของชำของเขา ว่าแต่ไข่นี้มันน่าสนใจยังไงน่ะเหรอครับ ตรงนี้เห็นจะต้องให้ Haruki Murakami เป็นคนตอบแล้วล่ะ
ในปี 2009 มูราคามิเดินทางไปรับรางวัลทางวรรณกรรมที่กรุงเยรูซาเล็ม ตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ที่เขากล่าวระหว่างขึ้นรับรางวัล เขาก็ได้พูดเรื่องของไข่ขึ้นมาว่า ระหว่างกำแพงอันสูงใหญ่กับไข่ที่แตกง่ายเมื่อถูกกระแทก เขาจะขอยืนหยัดอยู่ข้างไข่เสมอ จากนั้นเขาก็ขยายความว่า พวกเราทุกคนก็เป็นเช่นไข่ที่ต่างก็มีลักษณะเฉพาะ และจิตวิญญาณที่ไม่อาจถูกแทนที่ได้ภายใต้เปลือกนอกอันบอบบาง เราเองกำลังเผชิญอยู่กับกำแพงอันสูงใหญ่ที่มีชื่อว่า ‘ระบบ’ ซึ่งควรจะปกป้องเรา แต่กลับกลายเป็นว่าบางครั้ง ‘ระบบ’ ก็กลับมีชีวิตของมันเองและเริ่มสังหารพวกเรา จนทำให้เราเริ่มสังหารคนอื่นอย่างเยือกเย็น มีประสิทธิภาพ และเป็นระบบ
มูราคามิสรุปในช่วงท้ายว่า เราที่เป็นไข่นั้นไม่มีความหวังที่จะชนะกำแพงอันสูงใหญ่ได้เลย แต่ถ้าจะมีความหวังสำหรับชัยชนะอยู่บ้าง ก็ต้องมาจากความเชื่อในจิตวิญญาณอันเป็นเอกลักษณ์และไม่อาจทดแทนได้ของเรา ที่เชื่อมเอาจิตวิญญาณดวงอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน
ถ้ายึดตามสุนทรพจน์นี้ ‘ไข่’ ที่ปรากฏใน Local Egg ก็เป็นดั่งตัวแทนของชาวฮ่องกงที่กำลังเผชิญหน้าอยู่กับ ‘ระบบ’ ของรัฐบาลจีนที่กำลังกลืนเอาความเป็นฮ่องกงเข้ากับแผ่นดินใหญ่ เพื่อให้กลายเป็นจีนเดี่ยว ที่อยู่ภายใต้การปกครองเดียว และด้วยเสรีภาพอันจำกัด
แม้กำแพงของจีนจะมหึมาขนาดไหน ถ้าชาวฮ่องกงยังเชื่อในจิตวิญญาณอันเข้มแข็งก็ใช่ว่าการต่อสู้ของพวกเขาจะไร้ซึ่งความหวัง
Local Egg จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในฐานะเรื่องสุดท้ายของ Ten Years ด้วยการส่งผ่านข้อความอันทรงพลังที่บอกกับเหล่านักเคลื่อนไหว และประชาชนชาวฮ่องกงที่ยังคงต่อสู้เพื่อมาตุภูมิอันเป็นที่รักว่า ตราบใดที่จิตวิญญาณเราเข้มแข็ง ความหวังก็จะไม่ทิ้งเราไปไหน
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Ten Years ก็เพิ่งไปคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ Hong Kong Film Awards มาครอง ซึ่งในช่วงของการถ่ายทอดสดรางวัลนี้เอง ก็มีข่าวรายงานว่าผู้ชมในจีนแผ่นดินใหญ่ไม่สามารถรับชมการประกาศผลรางวัลได้ เนื่องจากถูกตัดสัญญาณ พร้อมกับปรากฏภาพรายการทำอาหารแทนที่
แม้ Ten Years จะเป็นหนังที่ได้รับรางวัลสูงสุดบนเวที สื่อต่างๆ ในจีนกลับเลือกที่จะไม่พูดถึงหนังเรื่องนี้ แต่หันไปให้ความสนใจกับผลรางวัลอันดับอื่นแทน
แต่นั่นล่ะครับ เรื่องสำคัญที่สุดอาจไม่ได้อยู่ที่ความพยายามในการเซนเซอร์ แต่คือเรื่องที่ว่ากำแพงอันสูงใหญ่ก็ยังต้องเจอกับการระดมปาไข่ไปต่อไปนั่นล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Murakami, Haruki. Always on the Side of the Egg.