*เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง*
เรื่องเริ่มขึ้นในเช้าวันแรกที่ครอบครัวคุริฮาระตัดสินใจจะให้อาซาโตะลูกชายที่กำลังจะขึ้นชั้นประถม เดินไปโรงเรียน โดยพ่อกับแม่จะเดินไปส่ง เช้าวันนั้นแม่มองดูลูกชายแปรงฟันด้วยตัวเอง ยิ้มรื่นอย่างครอบครัวแสนสุข ไม่นานหลังจากพวกเขาออกจากบัาน มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นแต่พวกเขาไม่ได้รับ
แล้วก็มีโทรศัพท์มาอีก ในที่สุดพวกเขาก็ได้พูดคุยกัน เสียงปลายสายบอกว่าเธอชื่อ ฮิคาริ คิตาคุระ และเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดอาซาโตะ เธอจะมาขอลูกคืนถ้าไม่ให้เธอจะแฉกับทุกคนเรื่องที่อาซาโตะเป็นลูกบุญธรรม
เราอาจจะเร่ิมและจบเรื่องราววคร่าวๆ ลงตรงนี้ก่อน
เดาได้ไม่ยากจากชื่อเรื่องและเรื่องย่อคร่าวๆว่ านี่คือเรื่องของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงลูกของแม่ที่ให้กำเนิดและแม่ผู้เลี้ยงดู ใครกันแน่คือแม่ที่แท้จริง
เรากลับมามองเรื่องนี้กันอีกครั้ง
ครอบครัวคุริฮาระบอกกันไว้ว่าหลังแต่งงานก็อยากจะสร้างครอบครัว พวกเขาเป็นคนชั้นกลางทำงานได้เงินเดือนสูง มีชีวิตที่ดี พอแต่งงานก็แปลว่าพร้อมแล้วสำหรับการมีลูกจนฝ่ายสามีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหมัน สองคนเลยต้องมาคิดว่าจะหย่าหรือจะอยู่ด้วยกันโดยไม่มีลูก จนในคืนหนึ่งระหว่างการเดินทางพักผ่อน (ที่เดิมตั้งใจว่าจะเป็นทริปปั๊มลูก) พวกเขาได้ดูรายการทีวีที่พูดถึง Baby Baton โครงการที่แม่ท้องไม่พร้อมจะมาพักอาศัยในบ้านพักขององค์กรในฮิโรชิมา เมื่อคลอดก็ส่งมอบทารกให้กับครอบครัวที่มีปัญหาการมีบุตรยาก แล้วต่างคนก็กลับไปใช้ชีวิตของตน พวกเขาจึงตัดสินใจไปที่นั่น เรียนรู้ข้อกำหนด และวางแผนอุปการะเด็กทารกคนหนึ่งที่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่วัยใส ฝ่ายแม่ น่าจะเรียนไม่เกินชั้นมัธยม ผอมบางและทุกข์เศร้า ส่งมอบลูกชายพร้อมกับจดหมายฉบับหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วละก็เด็กสาวผมสีกร้านโลกที่กล้าดีมาทวงลูกคืน หรืออันที่จริงแค่จะมาขอเงินคนนี้เป็นใครกันแน่
ที่ตรงนี้ เราก็เห็นแล้วว่าใครกันแน่คือแม่ที่แท้ แม่ที่คอยโอบอุ้มดูแลลูกชายที่ไม่ได้มาจากครรภ์ตัวเอง แม่ที่ยืนหยัดเพื่อเด็กชายที่เคยแปลกหน้าแก่กัน และจะไม่ยอมให้ใครมาพรากไป
เรากลับมามองเรื่องนี้กันอีกครั้งดีไหม
ฮิคาริเพิ่งอยู่ม.ต้น เธอโตในบ้านที่เข้มงวดในเมืองนารา จะเล่นมือถือก็ต้องเล่นในห้องนั่งเล่น พี่สาวเธอกำกลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย เธอเองก็วางแผนเรียนม.ปลายที่โรงเรียนเดียวกับพี่สาว จนกระทั่งทาคุมิ หนุ่มนักบาสของโรงเรียนมาสารภาพรักและเธอตอบตกลง ความรักที่มาถึงในฤดูซากุระเบ่งบาน อ่อนโยนเหมือนกลีบดอกไม้ และอบอุ่นเหมือนแสงแดด ทั้งคู่ถีบจักรยานไปเที่ยวกัน ไปยืนฟังเสียงลมพรูผ่านป่า เอานิ้วมือบังแสงอาทิตย์ที่สะท้อนลงมา กระซิบแก่กันและกันว่าจะรัก และจะรักไปตลอด ในวันแสงแดดอบอุ่นวันหนึ่งพวกเขาก็เป็นของกันและกัน ช่วงเวลาแสนสั้นที่งดงาม สิ่งงดงามมักมีอายุสั้นและจบลงอย่างเศร้าสร้อยเสมอ เมื่อเธอเกิดตั้งท้องขึ้น ลูกที่มาจากคนรัก จากคนที่จะรักไปตลอด แต่ไม่มีใครรักลูกของเธอเลยสักคน และไม่มีใครรักเธอด้วย แม่ของเธอทั้งโกรธและเสียใจ เอาแต่คร่ำครวญว่าเธอยังไม่มีประจำเดือนด้วยซ้ำ จนในที่สุดพวกเขาค้นพบ Baby Baton และร่วมมือกันตัดสินใจส่งเธอไปที่นั่น บอกทุกคนว่าป่วยหนัก เธอจะไปที่นั่น คลอดลูกออกมาและกลับมาทันสอบเข้าม.ปลาย ชีวิตจะดำเนินต่อ ราวกับว่าทารกไม่เคยมีตัวตน เธอจะมอบลูกของเธอ ลูกที่เธอรัก กำเนิดจากคนที่จะรักไปตลอดสองคนให้กับคนแปลกหน้าเพราะเธอไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นแม่
และนี่คือการใคร่ครวญถึงความเป็นแม่ในแบบต่างๆ ของ Naomi Kawase ผู้กำกับหญิงชาวญี่ปุ่นที่จัดได้ว่ามีชื่อเสียงในแวดวงเทศกาลภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่ง คล้ายกับฮิคาริ เธอเกิดและเติบโตในเมืองนารา ถูกเลี้ยงมาด้วยป้า คล้ายกันกับคุณป้าเจ้าของโครงการ Baby Baton และแน่นอนตอนนี้เธอมีลูกของเธอเองไม่ต่างจากครอบครัวคุริฮาระ และ True Mothers หนังเรื่องล่าสุดของเธอก็พาผู้ชม สำรวจความเป็นแม่แบบพหูพจน์ ด้วยการไม่ได้บอกว่าใครกันแน่คือที่จะมีคุณสมบัติเป็นแม่ที่แท้ หากชี้ให้เห็นว่าความเป็นแม่มีความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้หลากหลายรูปแบบ ความเป็นแม่เป็นทั้งสัญชาตญาณและการประดิษฐ์สร้างทางสังคม ความเป็นแม่เป็นทั้งเรื่องของผู้หญิงทุกคนและผู้หญิงในเฉพาะแต่ละชนชั้นที่ต่างกันออกไป ไปจนถึงการเมืองในการสร้างคุณสมบัติของความเป็นแม่ขึ้นมา
‘การตั้งครรภ์ไม่ใช่อื่นใดนอกจากรูปแบบหนึ่งของการล่าอาณานิคม
ในทุกๆการเกิด ที่ถูกเชิดชูและให้คุณค่า ล้วนมีเค้าลางของความตาย
นี่แหละคือสารัตถะแห่งความเป็นแม่ที่แท้จริง’ (1)
อธิบายเพิ่มเติมตามความเข้าใจของตนเอง ดูเหมือนความเป็นแม่ถูกเรียกร้องอย่างยิ่ง เราอาจกล่าวว่าทุกการตั้งครรภ์อันที่จริงแล้วเต็มไปด้วยอันตรายระดับถึงตายทั้งกับแม่และลูก แต่สังคมยังคาดหวังมากกว่านั้น ‘สัญชาตญาณความเป็นแม่’ เป็นมากกว่าการให้คุณค่ากับการเกิด ในขณะเดียวกัน คุณค่าก็เป็นอีกด้านหนึ่งของการลงโทษแม่ที่ไม่สามารถทำให้การเกิดผ่านไปได้อย่างถูกต้องทั้งทางสุขภาพและศีลธรรม แม่ที่ถูกบังคับให้ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเกิด ยังจำเป็นต้องโทษตัวเอง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีลูกแบบเดียวกันกับคนในอาณานิคมที่ถูกกดให้ต่ำโดยเจ้าอาณานิคม
ความเป็นแม่จึงมีการเมืองโดยตัวของมันเอง ในบทแรกของหนังสือ Mothers: An Essay on Love and Cruelty โดย Jacqueline Rose เธอเขียนถึงแม่ที่เป็นคนอพยพหนีภัยสงคราม และกลายมาเป็นภาระให้ระบบสุขภาพของอังกฤษ จนหนังสือพิพม์ฝ่ายขวาเอาตัวเลขค่าใช้จ่ายมาโจมตีเพื่อกีดกันแม่เหล่านี้จากการคลอดในระบบประกันสุขภาพ และขยับขยายไปสู่สภาวะยากลำบากและการถูกเหยียดหยามของแม่เลี้ยงเดี่ยวว่าเป็นผลพวงจากการตัดสินใจผิดพลาด เป็นหญิงไม่ดี และถูกทำให้เชื่อว่าจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดีพอ หรือแม้แต่การตั้งครรภ์ที่ทำให้หางานยากมากขึ้น เนื่องจากจุดสูงสุดของห่วงโซ่ความเป็นแม่คือมาตรฐานความเป็นแม่ของหญิงผิวขาวชนชั้นกลางที่ร่ำรวยความเป็นแม่เป็นการลงทุนชนิดหนึ่ง แม่ที่สมบูรณ์แบบนั้นเกิดขึ้นได้ แต่มาตรฐานสำหรับความเป็นแม่ที่ถูกผลิตจากแนวคิดเหล่านี้ ผลักให้ความเป็นแม่โดยเฉพาะกับความรู้สึกภายในของเหล่าแม่เหลือเพียงเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบหรือล้มเหลวในแบบต่างๆกัน
เป็น Foucault นี้เองที่ชวนให้เราพิจารณาถึงบรรทัดฐานใหม่ของชีวิตชนชั้นกลางโดยมุ่งมองที่หญิงสาว ตัวอย่างเช่นมีการลงทุนหนักมากขึ้นเรื่องเกี่ยวกัยการแต่งงาน ความเป็นแม่ และชีวิตครอบครัว ซึ่งถูกทำให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานของความสำเร็จของผู้หญิง สิ่งนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงการถอยห่างออกจากแนวคิดที่จะต้องประสบความสำเร็จในงานประจำและในความเป็นแม่ด้วย มันและมันให้สถานะมืออาชีพอย่างใหม่ในการเป็นคุณแม่เต็มเวลา ในขณะเดียวกันก็เปิดช่องทางสำหรับการอภิปรายทางสื่ออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับ ‘การเลี้ยงดูแบบเข้มข้น’ และในเวลาเดียวกัน การสร้างตลาดใหม่ เช่น ร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับเด็กและที่เรียกว่า ‘แฟชั่นสำหรับไปรับลูกที่โรงเรียน ‘ สำหรับสิ่งที่เรียกว่า ‘อาหารสำหรับคุณแม่’)และขยายไปถึงรถเข็นเด็กแบบพิเศษ ชุดชั้นในเซกซี่สำหรับสตรีมีครรภ์ และนิตยสารสำหรับพ่อแม่ที่เน้นแฟชั่นใหม่ ความเป็นมือาชีพสำหรับชีวิตครอบครัว กลายเป็นเหมือนด้านตรงข้ามของสิ่งเฟมินิสต์รุ่นก่อนเคยพยายามปฏิเสธงานบ้าน และการเลี้ยงเด็ก ที่น่าเบื่อหน่ายไม่รู้จบ โดยการยกระดับทักษษะงานบ้านและการเลี้ยงเด็กให้มีคุณค่าและน่ารื่นรมย์ ใน ‘ครอบครัวแบบบรรษัท’ที่มีผลประกอบการดี และกระตุ้นให้ ‘การเลี้ยงดูแบบเข้มข้น’เป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุนในทารกและเด็ก ขณะเดียวกันก็ต่อต้านการสูญเสียสถานะที่เชื่อว่าเกิดจากการการเป็นแม่บ้าน (แม่ที่อยูบ้าน) ผู้ซึ่งตอนนี้นำทักษะทางวิชาชีพของเธอไปสู่การรับรองสถานะชนชั้นกลางที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ของลูก ๆ ของเธอ เธอจะไม่เป็นคนขี้บ่นและจะไม่ ‘ตกต่ำในหมู่ผู้หญิงด้วยกัน’ (2)
มันจึงน่าสนใจที่หนังเรื่องนี้พูดถึงความเป็นแม่ในฐานะแม่ที่สมบูรณ์แบบในฉากที่ครอบครัวคุริฮาระ เข้าไปรับการอบรมของ Baby Baton ข้อเสนอจำพวก คนใดคนหนึ่ง (แน่นอนว่าหมายถึงแม่มากกว่าพ่อ) จะต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกเต็มเวลา การให้สิ่งที่ดีกับลูกคือสิ่งที่แม่พึงทำ ต้องทำ และถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ควรเป็นแม่ แม่จะต้องกีดกันความรู้สึกทางเพศของตนออกจากโลก (เป็นเหตุผลที่ทำให้สังคมมีอคติต่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีโอกาสจะเห็นแก่ความสุขทางเพศของตนมากกว่าความรับผิดชอบต่อสังคม (เพราะไม่มีสามีที่จะครอบครองความถูกต้องทางเพศของเธอไว้) และในที่สุดจะนำไปสู่การทำให้ลูกๆ ของเธอต้องถูกทำร้ายหรือล่วงละเมิดไปได้)
แม่ถูกเรียกร้องอย่างมากเหลือเกิน
และมีบทลงโทษมากมายเหลือเกิน (3)
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ ฮิคาริ นักเรียนมัธยมปลาย ตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ต่อให้มีสัญาชาตญาณของความเป็นแม่มากแค่ไหน เป็นลูกที่เกิดขึ้นมาจากความรักเพียงใดก็ไม่สามารถเป็นแม่ที่ดีได้หรือกล่าวให้ยิ่งกว่านั้นไม่สามารถเป็นแม่ได้
แม่ที่ดีที่สุดต้องเป็นมากกว่าแม่ คือเป็นแม่ที่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ เมื่อลูกป่วย เป็นความผิดของแม่ ถ้าลูกโตมาเป็นคนชั่วร้าย เป็นความผิดของแม่ ถ้าลูกพิการโดยกำเนิดเป็นความผิดของแม่ สังคมลงโทษแม่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือในระดับลึกที่สุดคือแม่ลงโทษตัวเองว่าเลี้ยงลูกไม่ดีพอ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้แม่แท้ๆ คนเดียวในเรื่อง นั่นคือแม่ของฮิคาริไม่สามารถยอมรับการตั้งครรภ์ของลูกสาวได้ เพราะในแง่นั้นเธอกำลังจะถูกลงโทษในฐานะแม่ที่เลี้ยงลูกไม่ดีพอ ในที่สุดเธอจึงกลายเป็นแม่ที่ไม่สนใจความรู้สึกของลูกสาวอีกต่อไป แม่ที่พยายามผลักไสให้ลูกสาวมอบทารกให้ไปอยู่ในอุปการะของคนอื่น ในขอบเขตความเป็นแม่ที่เธอต้องรับผิดชอบ จำกัดความเสียหายให้แคบที่สุด คือการกำหนดทางเดินชีวิตของลูกสาว ไม่ใช่ความรู้สึกภายในที่มองไม่เห็น
แม่คนสุดท้ายคือ คุณอาซามิ เจ้าของโครงการ Baby Baton เทียบกับแม่คนอื่น เธอคือแม่ที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะเธอคือแม่ที่ไม่มีลูก หากเป็นแม่อุปถัมภ์ของบรรดาสาวๆ ที่ท้องไม่พร้อม มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกๆ ของเธอ ความเป็นแม่ของเธอเป็นอุดมคติ เพราะเธอเป็นแม่ที่ไม่ได้มีขอบเขตเฉพาะต้องรับผิดชอบลูกคนใดคนหนึ่งเหมือนอย่างกับแม่ของฮิคาริ ในแง่นี้เธอจึงทั้งเป็นแม่ที่สมบูรณ์และไม่ได้เป็นแม่ไปพร้อมๆ กัน อันที่จริงในช่วงเวลาที่หนังติตดามชีวิตของฮิคาริบนเกาะฮิโรชิมาที่ที่เธอมาคลอดลูก หนังก็มีภาพเรืองรองขึ้นมา เพราะขณะที่หนังถ่ายส่วนของครอบครัวคุริฮาระ ด้วยเทคนิคทางภาพแบบหนังญี่ปุ่นเมนสตรีมทั่วไป และถ่ายส่วนของฮิคาริด้วยเทคนิคทางภาพฟุ้งฝันแบบหนังโรแมนติกเหนือจริง ซากุระเบ่งบาน ลมร้อนพัดพา ฉากต่างๆ ถูกความเป็นภาพยนตร์ทำให้โรแมนติกอย่างยิ่ง
จนกระทั่งมาถึงส่วนของ Baby Batom จู่ๆ หนังก็กลับไปเป็นหนังอีกแบบ กลับไปเหมือนกับ Katatsumori (1994) หนังเรื่องแรกของคาวาเสะที่เธอตามถ่ายคุณป้าของตนอย่างชิดใกล้ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่จู่ๆ หนังเปลี่ยนตัวเองจากหนังเล่าเรื่องไปเป็นสารคดี แม้จะเลี่ยงว่าเป็นสารคดีของฮิคาริที่ถ่ายเล่น หนังถ่ายฉากวันเกิดของเด็กสาวท้องไม่พร้อมคนหนึ่ง ผู้หญิงหลายคนใช้เวลาร่วมกันแลกเปลี่ยนความทุกข์และช่วงเวลาที่น่าจดจำของกันและกัน เป็นช่วงเวลาที่หนังเป็นอิสระ เลือนระหว่างสารคดีและหนังเล่าเรื่อง ช่วงที่ทำให้นึกถึงงานบางชิ้นของ Agnes Varda คนทำหนังชาวฝรั่งเศสที่ ทำหนังที่งดงามเกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิง ความเป็นแม่ ศิลปะ และภาพถ่ายออกมาอย่างงดงาม
เลยพ้นไปจากเหล่าแม่ที่ได้กล่าวไป ยังมีเหล่าแม่ที่หมายถึงกับบรรดาเด็กสาวคนอื่นๆ ในโครงการ บางคนเป็นสาวบาร์ บางคนถูกล่อลวงจนต้องไปขายตัว บางคนไม่ได้สนใจลูกของตน บางคนก็อยากรู้ ทั้งหมดทั้งมวลแม่ที่น่าสนใจที่สุดคือแม่คนสุดท้ายของ Baby Baton ที่เป็นเหมือนด้านตรงข้ามของฮิคาริ เธอคือแม่ทีไม่อยากแม้แต่จะแตะตัวลูกที่อยู่ในครรภ์ ไม่มีความรักให้สักนิดเดียว ไม่ได้อยากเป็นแม่สักหน่อย เธอถูกขับออกจากความเป็นแม่ที่ถูกขัดถูให้มีเฉพาะแต่ความเอื้ออาทร มีแต่การให้ เธอถูกขับออกจากความเป็นแม่ด้านเดียวเช่นนั้น ถูกทำให้ไม่มีตัวตน ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งต่อลูกของเธอเอง และต่อสังคมโดยรวม
ความเป็นแม่ตามมาตรฐานของโลกตะวันตกสมัยใหม่ จึงได้กลายเป็นทั้งอุดมการณ์และเครื่องมือเชิงอำนาจในการควบคุมความเป็นแม่ ในการกำหนดว่าใครมีคุณสมบัติที่จะเป็นแม่ กำหนดทั้งร่างกายความคิด กำหนดการให้รางวัลและการลงโทษแก่แม่ที่ดีพอและดีไม่พอ แม่ที่ถูกคาดหวังให้จัดการทุกสิ่ง
“ในประเทศที่มีเด็กมากมายที่ไร้บ้านและอาหาร มันง่ายกว่าที่จะลงโทษบรรดาหญิงมีครรภ์ แทนที่จะยกระดับสภาพความเป็นอยู่โดยรวมของสังคม” มิเชลล์ แฮริสัน จากรายงานที่เธอเขียนถึงองค์กร Metis Women of Manitoba ในแคนาดา (3) อาจจะเป็นประโยคที่สรุปเรื่องราวโดยเฉพาะส่วนของฮิคาริได้ดีที่สุด
ถึงที่สุด True Mothers ใช้ขนบของหนังเมโลดรามามาเป็นพิ้นฐานในการพาผู้ชมไปสำรวจการเมืองเรื่องความเป็นแม่อย่างน่าตื่นเต้น ด้วยการทำให้ประเด็นแม่ที่สมบูรณ์แบบ แม่ที่เหมาะจะเป็นแม่ กลายเป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าความเป็นแม่และทำให้เราต้องใคร่ครวญเกี่ยวกับการเมืองเรื่องแม่อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าหนังอาจจะเลือกจบโดยพยายามประนีประนอมกับความเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบอยู่สักนิด แต่ประเด็นที่หนังสำรวจไว้ก็ยังคงหนักแน่นมากพอที่จะพูดคุยต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
*1https://www.thenation.com/article/archive/jacqueline-rose-politics-of-motherhood/
*2บางส่วนจากบทความFeminism, The Family and The new ‘mediated’ maternalism โดย Angela McRobbie
*3 จากหนังสือ Mothers: An Essay on Love and Cruelty โดย Jacqueline Rose