ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ล้วนแต่เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น”
— Communist Manifesto, Karl Marx
*คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญมากๆ ของหนัง
อะไรคือเส้นแบ่งกั้นระหว่างชนชั้น เส้นที่ว่านั่นดูเหมือนเราจะไม่เคยมองเห็นมันได้ชัดเจน ความเหลื่อมล้ำมักเป็นหัวข้อสำคัญที่คนต่างให้ความสนใจ ใครเอาเปรียบใครบนโลกที่ผู้คนต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นชนชั้นบนที่คอยแต่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากชนชั้นล่าง? หรือชนชั้นปรสิตอย่างในหนังเรื่อง Parasite ที่หวังแค่ดูดกลืนผลได้จากผู้อื่น?
Parasite หนังสัญชาติเกาหลีใต้ กำกับโดย บง จุนโฮ เล่าความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นผ่านสองบ้านที่ฐานะต่างกันโดยสิ้นเชิง ครอบครัวคิมใช้ชีวิตอยู่อย่างอัตคัดขัดสน ทุกคนว่างงาน บ้านที่อาศัยอยู่ดูคล้ายห้องใต้ดิน มีเพียงหน้าต่างบานเล็กช่วยให้เห็นโลกภายนอกได้บ้าง และครอบครัวพัคที่มีพร้อมทุกอย่าง หน้าที่การงานเพียบพร้อม บ้านหลังงามออกแบบโดนสถาปนิกชื่อดัง—ไม่ทีทางที่ทั้งสองครอบครัวจะมาสัมพันธ์กันได้
แต่เหมือนชะตาฟ้าลิขิต เพื่อนผู้มีฐานะของ คิวู (ลูกชายบ้านคิม) มาเยี่ยมเยียนหา โดยนำหินก้อนหนึ่งมาฝากเป็นของขวัญ และชักชวนให้คิวูปลอมตัวไปทำหน้าที่เป็นครูสอนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษที่บ้านครอบครัวพัค แทนตัวเองที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ จากนายคิวูผู้ไร้ใบปริญญา จึงเปลี่ยนเป็นเควินนักศึกษาเครดิตดี หลังจากเข้าถึงครอบครัวพัคได้ ครอบครัวคิมเห็นว่านี่เป็นโอกาส จึงพยายามแทรกซึมและหาประโยชน์จากบ้านนั้นให้ได้มากที่สุด—ทุกคนผูกโยงเข้าด้วยกันตั้งแต่จุดนั้น
Parasite พยายามให้คนดูได้เห็นถึงความคลุมเครือของการเอาปรียบกันทางชนชั้น ที่แม้ดูเหมือนหนังตั้งใจจะบอกว่ามีเพียงฝ่ายเดียวที่ได้ประโยชน์จากอีกผั่ง แต่ลึกๆ แล้วก็กำลังบอกเป็นนัยว่าไม่ใช่อย่างที่เห็น และหนังยังอิงกับแนวคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) นักปรัชญาคนสำคัญที่ตั้งคำถามถึงระบบทุนนิยม
ก้อนหิน และแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์
‘ก้อนหิน’ ในเรื่องเป็นมากกว่าของมีมูลค่าที่รับมาฟรีๆ เราจะเห็นหินก้อนนี้อยู่กับครอบครัวคิมตั้งแต่ต้นเรื่อง พวกเขามองหินเป็นเหมือนเครื่องรางนำโชค เพราะไม่นานหลังจากได้มา ทั้งครอบครัวเหมือนตกกระไดพลอยโจนเมื่อได้รู้จักกับบ้านคุณนายพัค คิวูเข้าไปเป็นครูสอนพิเศษ ก่อนจะแนะนำน้องสาวตัวเองมาเป็นครูสอนศิลปะบำบัด ดึงพ่อมาเป็นคนขับรถให้คุณพัค วางแผนให้แม่ได้มาทำงานเป็นแม่บ้าน—แน่นอนว่าพวกเขาปลอมตัว และทำทีเป็นไม่รู้จักกัน
สถานการณ์ของครอบครัวคิมก็เหมือนกับระบบที่กล่อมเกลาผู้คนให้ดิ้นรนไขว่คว้าความฝัน และการที่พวกเขายอมทำทุกอย่างให้ได้ดังหวัง ก็ไม่ต่างกับการถูกกดขี่ในระบบนั้น ตรงนี้เองที่หนังอิงกับแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งมองว่า ที่การกดขี่ยังมีอยู่ เป็นเพราะชนชั้นยอมถูกกดขี่ และมันก็มีผลมาจาก ‘จิตสำนึกลวง’ (false consciousness) สิ่งที่โครงสร้างส่วนบนของสังคม (superstructure) กำหนดและปลูกฝังเอาไว้ผ่านความคิดความเชื่อ วัฒนธรรม ศิลปะ วรรณกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนสัมพันธ์กับโครงฐานส่วนล่าง (base)
ถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์ ‘ก้อนหิน’ ที่ว่าก็คงเป็นเหมือนกับความคิดในโลกทุนนิยม ความคิดที่บอกว่า ไม่ว่าใครก็ประสบความสำเร็จได้หากพยายามมากพอ ทุกคนสามารถร่ำรวยและเลื่อนขั้นสู่ฐานะที่ดีกว่าเดิมได้ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ครอบครัวคิมวางแผนอย่างหนักเพื่อให้ได้งานในบ้านพัค ไม่ต่างกับที่ผู้คนล้วนดิ้นรนในโลกของผลประโยชน์ ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ (ideology) ที่พัฒนาต่อจากมาร์กซ์มาอีกทอดนึง
การที่เพื่อนฐานะดีนำหินมามอบให้คิวู ก็ดูจะคล้ายกับการที่โครงสร้างส่วนบนมอบความคิดเรื่องการประสบความสำเร็จให้ส่วนล่าง โดยที่ฐาน/ส่วนล่างซึ่งก็คือคิวูและครอบครัว รับเอาความคิดนั้นไปอย่างไม่สงสัย และไม่รู้ด้วยว่าปักใจเชื่อไปแล้ว จะเห็นได้ว่ามีช่วงหนึ่งของหนังที่คิวูหอบหิ้วหินไว้กับตัว โดยไม่รู้ว่าเอามันมาด้วยทำไม
แม้ว่าตอนท้ายเรื่องคิวูจะทิ้งก้อนหินไป ความฝันที่จะร่ำรวยก็ไม่ได้หายไปด้วย แต่กลับยิ่งทวีคูณขึ้นกว่าเดิม เพราะถ้ามองจากแนวคิดแบบ ‘วัตถุนิยม’ (materialism) ของมาร์กซ์ ที่บอกว่า เราไม่ได้คิดเองก่อนแล้วค่อยนำไปสู่การปฏิบัติหรอก แต่เป็นวัตถุหรือสิ่งโดยรอบต่างหากที่มากำหนดเรา ก้อนหินเองเป็นตัวแทนของวัตถุ ที่สุดท้ายแล้วคิวูไม่จำเป็นต้องมีมันอีกต่อไป เพราะเขาปักใจเชื่อเรื่องความพยายามและการประสบความสำเร็จไปแล้ว
เป็นคนจนแล้วยังไง หรือคนจนไม่ใช่คนดี?
คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่าบ้านคิม (ครอบครัวของคิวู) คือภาพสะท้อนของครอบครัวคนจน และบ้านพัคคือแบบอย่างของคนฐานะร่ำรวย แม้ดูเหมือนว่าฝั่งบ้านคนจนคอยแต่จะเอาผลประโยชน์จากคนรวย เป็นเหมือนความสัมพันธ์ของชีวิตในระบบนิเวศน์แบบภาวะ ‘ปรสิต’ ที่โฮสต์มีแต่เสียกับเสีย และปรสิตได้อยู่ฝ่ายเดียว…แต่มันเป็นแบบนั้นจริงๆ รึเปล่า?
ด้วยความที่ถูกตีตราเป็นปรสิต มันจึงนำไปสู่การมองคนมีฐานะคือคนดี และคนจนคือตัวร้ายที่ใช้ชีวิตอยู่โดยไม่สร้างผลผลิตแก่สังคม ตรงนี้ตัวหนังก็สะท้อนให้เห็นอยู่หลายครั้ง ทั้งคำพูดที่แม่ของคิวูพูดออกมาว่า เป็นคนดีไม่รวย คนรวยต่างหากที่เป็นคนดี—คนจนไม่เชื่อว่าพวกเขาจะมีความเป็นอยู่ที่ดีและเป็นคนดีได้ ถ้าไม่พยายามจนกว่าจะร่ำรวย
ไหนจะท่าทีหยามเหยียดที่เห็นได้ชัดจากครอบครัวพัค คนรวยในเรื่องคัดแยกกลิ่นหอมอันรุ่มรวยของตัวเอง ออกจากกลิ่นเหม็นสาบของคนติดดิน ที่จริงๆ แล้วก็เป็นคนกลุ่มเดียวกันนี่แหละที่ยอมถูกกดขี่ และลงแรงก่อคุณประโยชน์ให้พวกเขา บ้านพัคดูถูกคนที่คอยขับรถ เลี้ยงลูก และปัดกวาดเช็ดถูบ้าน เหมือนกับที่คนขาวเฆี่ยนตีคนดำในไร่ฝ้าย คล้ายกับที่คนรวยบอกว่าคนจนดีแต่กินเงินภาษีที่คนรวยหามาได้—ซึ่งหากดูจากภาษีทั้งก้อนของประเทศ เงินซื้อสินค้าจากประชาชนคนทั่วไปนี่แหละที่มีสัดส่วนมากสุด
ความจริงแล้วอาจไม่ใช่ภาวะปรสิตหรอก แต่ทั้งสองครอบครัวกำลังพึ่งพาอาศัยกันมากกว่า
การนิยามว่าใครดีใครเลวจากฐานะและชนชั้น และการเหยียบย่ำกดขี่ผู้ด้อยกว่าจึงไม่ใช่ปลายทางอย่างที่สังคมแห่งความยุติธรรมควรจะเป็น เพราะคนทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน และคนยากจนเองก็ต้องไม่ละทิ้งสิทธิของตัวเองที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเท่าเทียม ฮา จุงชาง (Ha-Joon Chang) นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เคยเขียนถึงประเด็นนี้ไว้ในหนังสือ Economics: The User’s Guide ว่า
“เมื่อใดที่คนยากไร้ถูกโน้มน้าวให้คิดว่า ‘ความยากจนเป็นความผิดของพวกเขาเอง คนที่มีฐานะดีควรได้รับในสิ่งที่พวกเขาควรได้ ถ้าคนจนมีความพยายามมากพอก็จะลืมตาอ้าปากได้เช่นกัน’ เมื่อนั้นคนร่ำรวยย่อมมีชีวิตที่ง่ายขึ้น เพราะคนยากไร้และแรงงานจะลดข้อเรียกร้องในเรื่องที่เป็นประโยชน์ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นระบบภาษีอัตราก้าวหน้า งบรายจ่ายด้านสวัสดิการ กฎระเบียบด้านเศรษฐกิจ และสิทธิแรงงาน”
Parasite คือหนังที่พาชนชั้นซึ่งต่างกันสุดขั้วมาชนกัน กลมเกลียวเป็นเนื้อเดียวกันและขัดแย้งกันในคราวเดียว… ถ้าการต่อสู้ทางชนชั้นยังคงมีอยู่ และระบบทุนนิยมที่แม้จะกดขี่ผู้คน แต่ก็ยังให้ประโยชน์กลับคืนไม่ได้หายไปไหน คำถามสำคัญคือ เราจะทำความเข้าใจและปรับปรุงคุณภาพชีวิตอย่างไรในอนาคตข้างหน้า
อ้างอิงข้อมูลจาก