ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสการเมืองโลกที่ร้อนแรงมากๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องการดำเนินนโยบายต่างๆ ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะนโยบายเรื่องการกีดกันคนมุสลิมจาก 7 ประเทศที่จะเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งดันไปรวมถึงคนที่ถือสัญชาติอเมริกัน (มีกรีนการ์ดแล้ว) และคนที่ได้รับใบอนุญาตลี้ภัยแล้วด้วย[1] จนสุดท้ายถึงขั้นปลดอัยการสูงสุด (Attorney General) ของสหรัฐอเมริกา ที่พยายามจะยืนยันสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ[2]
เรื่องต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดการถกเถียงระอุไปทั่วโลก แม้แต่การดีเบตกันอย่างร้อนแรงในรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรว่าจะให้ทรัมป์เดินทางมาเยือนประเทศตนไหม[3] แน่นอนการประท้วงมีขึ้นเนืองๆ ในสหรัฐอเมริกาด้วย และการตอบโต้จากสารพัดประเทศก็เกิดขึ้น รวมถึงคำวิจารณ์จากคนไทยจำนวนมากเช่นกัน
นโยบายของทรัมป์ถูกตราออกมาผ่านคำสั่ง 2 ประเภท แบบแรกคือ Executive Order โดยเริ่มจาก Executive Order ที่ 13765 ที่ยกเลิกโอบาม่าแคร์[4], 13767 ที่ปูทางสู่การสร้างกำแพงเม็กซิโก[5] จนมาถึง 13769 ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าคำสั่งแบนคนมุสลิมจาก 7 ประเทศ (เข้าประเทศสหรัฐอเมริกา)[6] นั่นเอง คำสั่งแบบที่สองเรียกว่า Presidential Memoranda คำสั่งประเภทนี้ไม่มีลำดับเลขกำกับ แต่มีผลบังคับใช้เหมือนกับ Executive Order (แม้ในทางปฏิบัติอาจจะถือว่าความศักดิ์สิทธิ์น้อยกว่าเล็กน้อย) ที่ดังๆ และออกมาในยุคของรัฐบาลทรัมป์ก็เช่น การยกเลิก TPP (Trans-Pacific Partnership) ของรัฐบาลโอบาม่า[7] และการห้ามเอ็นจีโอที่สนับสนุนการทำแท้งโดยถูกกฎหมายรับเงินสนับสนุนใดๆ จากสหรัฐอเมริกา[8] เป็นต้น
การออกมาต่อต้าน ด่า หรือวิจารณ์ทรัมป์ไปทั่วโลกหลังจากบังคับใช้นโยบายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก จริงๆ ถ้าไม่มีการออกมาประท้วงหรือวิจารณ์นี่สิแปลก แต่ในความไม่แปลกของการวิจารณ์ทรัมป์นี้ ผมมองว่ามีความแปลกที่น่าฉงนซ้อนอยู่ด้วย คือ คนไทยจำนวนมาก ที่เห็นดีเห็นงามกับรัฐบาลไทยคณะปัจจุบัน ดูจะพร้อมใจกันวิจารณ์รัฐบาลทรัมป์กันหนักหน่วงทีเดียว ซึ่งน่าตกใจพอสมควรสำหรับผม ท่านๆ เหล่านั้นสามารถเห็นความผิดปกติของการดำเนินนโยบายของทรัมป์ได้ แต่กลับมองไม่เห็นหรือเลือกที่จะสนับสนุนรัฐบาลของประเทศตนเองที่ทำแบบเดียวกัน หรือทำหนักกว่า! ผมคิดว่ามันน่าสนใจ เลยว่า น่าจะลองมาเทียบๆ ดูถึงความเหมือนที่คนเหล่านี้ไม่เห็นความต่าง ระหว่างรัฐบาลทรัมป์และรัฐบาลไทย แล้วเดี๋ยวตอนท้ายค่อยว่ากันว่าทำไมกรณีของไทยถึงหนักหนาเสียยิ่งกว่าทรัมป์
อยากให้ลองดูสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เทียบกับพี่ทรัมป์ที่อเมริกาดูกันแบบคร่าวๆ นะครับ (อาจมีตกหล่นบ้าง เพราะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ท่านก็อยู่กันมาสองปีกว่าแล้ว ผลงานท่านเยอะเหลือเกิน)
จริงๆ หากลองค้นความทรงจำของเราเอง พร้อมกับอาศัยพลังของกูเกิลอีกสักนิด เราจะพบผลงานต่างๆ อีกมากของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่แม้แต่ทรัมป์เองก็ยังไม่ทันได้ทำ เช่น การให้หน่วยงานรัฐถือครองคลื่นความถี่ต่อได้อีก 5 ปี ทั้งที่จะต้องคืนอยู่แล้ว, การใช้มาตรา 44 กับองค์กรทางศาสนา, ฯลฯ แต่ไม่เป็นไร พวกนั้นเราไม่พูดถึง เอาเฉพาะนโยบายต่างๆ ที่เห็นๆ กันอยู่นี่แหละว่ารัฐบาลไทยทำแล้ว เหมือนกับรัฐบาลทรัมป์ที่ท่านด่าเลย แล้วไยจึงเพิกเฉยต่อรัฐบาลตนเอง?
อาการดังกล่าวที่ความเลวร้ายบางอย่างเกิดขึ้นตรงหน้ากลับทำเป็นไม่เห็น หรือเห็นแต่กลับชื่นชม ในขณะที่เมื่อพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้ไปเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งเรากลับกรีดร้องโหยหวนว่ามันเลวร้ายเสียเหลือประดานั้น ในภาษาอังกฤษเรียกลักษณะดังกล่าวนี้ว่า Hypocrite ซึ่งแปลไทยคงได้ความประมาณ ‘เสแสร้ง’ หรือ ‘ปากว่าตาขยิบ’ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าคนแบบนี้แหละที่น่ากลัวที่สุด (ไม่นับว่าย้อนแย้งที่สุดด้วย) เพราะคนเหล่านี้พร้อมที่จะปฏิเสธการใช้เหตุผลในการโต้แย้งหรืออธิบายความใดๆ ไม่คิดที่จะมองความจริงตรงหน้าอย่างที่พึงจะมองเห็น และอาศัยการอุดปากฝ่ายตรงข้ามด้วยคุณค่าทางศีลธรรมบางประการที่เขาถือครองไว้ เป็นเรื่องน่าประหลาดเหลือเกินที่คนเราพร้อมจะทำตัวเองเป็นตัวตลกได้ขนาดนี้ และที่น่ากลัวเสียยิ่งกว่าคือ ตัวตลกผู้ยีหน้าผู้อื่นด้วยศีลธรรมฉบับรัฐสร้างมาเหล่านี้ กลับมีที่ยืนและเสียงที่ดังเหลือเกินในสังคมบ้านเรา
ที่ตลกและดูแย่ยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ เอาจริงๆ แล้วบางสิ่งที่ทรัมป์ทำมานั้น หากจะพูดกันในทางเหตุผลต้องนับว่าเลวร้ายน้อยกว่าคำสั่งต่างๆ ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ด้วย เพราะอะไรครับ? เพราะว่า ‘กลไกของระบอบ’ นั่นเอง คือ จะแย่อย่างไร เราต้องยอมรับก่อนว่าโดนัลด์ ทรัมป์ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเค้าดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำของรัฐในระบอบประชาธิปไตย นั่นหมายความว่าเขาอยู่ภายใต้กลไกการถ่วงดุลย์อำนาจตามระบอบอยู่ คำสั่งต่างๆ ของทรัมป์นั้น สามารถถูกปัดตกได้ โดยศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา (Supreme Court) หากมีคนยื่นเรื่องให้ศาลพิจารณา และศาลมองแล้วว่าขัดต่อหลักการพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ไปจนไกลสุดคืออาจถึงขั้นการถูกขับออกจากตำแหน่ง (Impeachment) ได้ ง่ายๆ คือ มันมีกลไกตามระบอบที่จะเข้ามาถ่วงดุลย์อยู่ ในกรณีจำเป็นถึงที่สุด
และอีกสิ่งหนึ่งที่ควรเข้าใจคือ ประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบที่ประกันว่าจะไม่เกิดความเลวร้ายขึ้น ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นได้ซ้ำๆ เรื่อยๆ ด้วย อีกทั้งความเข้าใจผิดในระยะหลังๆ มานี้ที่พยายามแยก ‘ความขวาหรือฝ่ายขวา’ ออกจากความเป็นประชาธิปไตยนั้น ไม่ถูกต้อง ฝ่ายขวา ฝ่ายอำนาจนิยม หรือแม้แต่คนที่มีแนวคิดไปในทางเผด็จการเอง สามารถเกิดขึ้นและมีที่ยืนในระบอบประชาธิปไตยได้ และบ่อยครั้งที่มันนำมาสู่สภาพที่เลวร้าย จากการเลือกผู้นำที่ผิดพลาด จนมันมีคำว่า Kakistocracy ขึ้นมา คำคำนี้แปลแบบดิบๆ ง่ายๆ ว่า “ระบอบซึ่งถูกปกครองโดยคนโง่ หรือคนซึ่งไม่มีศักยภาพเพียงพอ” แม้จะถูกประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1829 โดยนักเขียนอังกฤษชื่อว่า David Love Peacock แต่ถูกนำมาใช้วิจารณ์การเมืองอย่างกว้างขวางจริงๆ ก็ในสหรัฐอเมริกานี่แหละครับ ในสมัยรัฐบาลโรนัลด์ เรแกน ในช่วงปี ค.ศ. 1981 ไล่มาจนถึงรัฐบาลโอบาม่า ที่โดนฝ่ายอนุรักษ์นิยมด่าด้วยคำนี้อยู่เนืองๆ[9] ที่อยากจะบอกก็คือ การเป็นประเทศประชาธิปไตยมันอาศัยเวลา มันต้องเจอกับภาวะแย่ๆ แบบซ้ำๆ ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ พัฒนาไป สหรัฐอเมริกาเองแม้จะเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ก็ยังต้องพัฒนาต่อไปอีกมาก แต่สำคัญคือ การยืนยันที่จะยืนอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตย แม้ความเลวร้ายจะเกิดขึ้น
ที่สำคัญคือ ดังได้บอกไปแล้ว อย่างน้อยที่สุดในระบอบประชาธิปไตยมันมีกลไกในจัดการสภาวะความไม่ชอบมาพากล สภาพความผิดปกติของมันอยู่ อาจจะจัดการไม่ทันใจเรา ไม่ถูกใจเราบ้าง แต่อย่างน้อยๆ มันก็มีกลไกผ่านระบบกฎหมาย ซึ่งประชากรของรัฐให้การยอมรับ แต่การใช้อำนาจอย่างเลวร้ายในระบอบที่ไม่มีกลไกใดๆ มายับยั้งหรือถ่วงดุลย์การใช้อำนาจแบบในไทยเลยล่ะ เราจะสู้กับรัฐด้วยอะไร? คุณไปชุมนุม คุณก็โดนจับ คุณชูสามนิ้วก็โดนจับ คุณอ่านหนังสือ 1984 ก็ยังโดนจับ
ผมถึงได้บอกว่าโดยเงื่อนไขของกลไกของระบอบที่เราเป็นอยู่นั้น สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำ แม้จะเป็นพฤติกรรมชุดเดียว ตรรกะแบบเดียวกับรัฐบาลทรัมป์เลย แต่ต้องนับว่ามันเลวร้ายกว่ามาก เพราะเราไม่มีอะไรไปถ่วงดุลย์ ไปต่อสู้ หรือคัดทานได้เลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ตัวอย่างผู้เดือดร้อน www.facebook.com/ajplusenglish
[2] ที่มา www.bbc.com
[3] ที่มา www.facebook.com/cnn
[4] ที่มา www.whitehouse.gov
[5] ที่มา www.whitehouse.gov/the-press-office/2017
[7] ที่มา www.cnbc.com
[8] ที่มา edition.cnn.com
[9] ลองดู www.opendemocracy.net