วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปีถือเป็น วันแม่แห่งชาติ ของประเทศไทย ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าที่รัฐไทยนับวันนี้เป็น ‘วันแม่แห่งชาติ’ เป็นเพราะตรงกับ ‘วันเฉลิมพระชนมพรรษา’ ของสมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถ
แต่ชาติอื่นๆ เขาก็มีวันแม่เป็นของตนเองกันเกือบทั้งนั้น ส่วนจะนับว่าตรงกับวันไหน? และเป็นเพราะอะไรบ้าง? ก็สุดแล้วแต่เหตุผลที่แต่ละชาติจะสะดวกใจหามาสนับสนุนตัวเอง
วันแม่ ในแบบที่เข้าใจต้องตรงกันทุกวันนี้ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2450 โดยผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ชื่อ แอนนา จาร์วิส (Anna Jarvis) โดยเรื่องของเรื่องมันมีอยู่แค่ว่า แม่ของเธอได้ตายไปสองปีแล้ว และเธอก็ ‘คิดถึงแม่’ ง่ายๆ สั้นๆ เท่านั้น จบปะ!
12 พฤษภาคม ปี 2450 คุณนายจาร์วิส ได้เริ่มโปรเจกต์รณรงค์ให้มี ‘วันแม่’ (Mother’s Day) ขึ้นมา เพื่อให้มีการระลึกถึง ‘แม่’ ของใครแต่ละคน กิจกรรมง่ายๆ ที่นางคิดค้นขึ้นก็คือ การเขียนการ์ดอวยพร พร้อมขนมติดไม้ติดมือกลับไปเยี่ยมแม่ของตัวเอง ในทุกวันอาทิตย์ที่สอง ของเดือนพฤษภาคมในแต่ละปี
แต่กว่าที่กิจกรรมง่ายๆ อย่างนี้จะเป็นอะไรที่ชิค จนถือตรงกันว่าเป็นวันแม่จริงๆ ก็ใช้เวลานานอยู่พอควรเลยเหอะ เพราะต้องล่วงเข้าสู่ปี 2457 หรือใช้เวลา 7 ปีเลยทีเดียว กว่าที่การส่งการ์ดส่งขนมให้แม่จะเป็นอะไรที่ดูชิคๆ คูลๆ ขึ้นมาได้
จนสุดท้ายกิจกรรมวันแม่ แบบคุณนายจาร์วิสสไตล์ ก็เป็นอะไรที่คูลเอามากๆ ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2463 ซึ่งก็คูลมากถึงมากที่สุดเสียจนขนาดที่ว่า มีการพิมพ์การ์ดวันแม่ขายกันอย่างเป็นที่เอิกเกริกเลยก็แล้วกัน
แต่ก็นั่นแหละครับ คุณนายจาร์วิสนางอาจจะรู้สึกว่า มันดูไม่ค่อยจะคราฟท์ นางก็เลยต้องออกมาโวยลั่นเลยว่า “การซื้อการ์ดที่พิมพ์ขึ้นมาไปให้กับแม่นี่มันไม่คูลเลยนะตัวเธอ แลดูขี้เกียจ แถมมันจะมีค่าอะไรน่ะ ถ้าการ์ดที่แม่เธอได้มันไม่ใช่ของแฮนด์ เมด ที่ลูกของพวกนางตั้งใจทำให้” พูดง่ายๆ ว่า ของแมสๆ มันดูไม่ฮิป แค่นี้ก็ไม่เข้าใจรึไง? ปั๊ดโธ่!
แต่อันที่จริงแล้ว ความพยายามในการผลักดันให้เกิด วันแม่ ในอเมริกามีมาก่อนหน้านั้นสมัยของคุณนายจาร์วิสนานหลายสิบปีแล้วนะครับ
กิจกรรมวันแม่แบบ ‘บีฟอร์ อิท วอส คูล’ ที่ว่า เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2410 โดยนักสตรีนิยม ควบตำแหน่งนักเขียน และนักเรียกร้องสันติภาพชื่อ จูเลีย วอร์ด ฮาวอ์ (Julia Ward Howe) ได้พยายามผลักดันให้ทุกวันอาทิตย์ที่สองของเดือนมิถุนายน เป็น ‘วันแม่เพื่อสันติภาพ’ (Mother’s Day for peace) แต่ทำไมต้องเป็นวันดังกล่าวนั้น ไม่ยักมีข้อมูลบันทึกไว้ ไม่เหมือนกิจกรรมวันแม่ของคุณนายจาร์วิส ที่มีประวัติว่าเธอเริ่มคิดที่จะรณรงค์ให้มีวันแม่ในวันนี้เพราะอะไรอย่างชัดเจน
อย่างไรก็แล้วแต่ ดูเหมือนว่าคุณนายจาร์วิสจะไม่รู้เรื่องที่วันแม่เพื่อสันติภาพที่นักเคลื่อนไหวอย่างฮาวอ์ เคยคิดเอาไว้เลย และจากหลักฐานที่มีอยู่นั้น กิจกรรมวันแม่ของจาร์วิสก็ไม่มีอะไรพาดพิงไปถึงแนวคิดเรื่องสันติภาพเลยอีกด้วย
แน่แหละครับ ผมบอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าคุณนายจาร์วิส นางเป็นแค่ผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น (ถึงจะชอบทำอะไรคราฟท์ๆ ก็เหอะ) ยิ่งเมื่อสมัยที่นางมีชีวิตอยู่นั้น การสื่อสารเชื่อมโยงโลกเข้าหาระหว่างกันยังไม่ได้มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมเหมือนอย่างทุกวันนี้
ต่อมาแนวคิดเรื่อง ‘วันแม่’ ก็เริ่มแพร่หลายไปยังส่วนต่างๆ ของโลก ซึ่งแต่ละที่ก็เลือกจะจัดวันแม่ขึ้นในวันที่เหมือนและต่างกันไปบ้าง ตามเหตุผลของแต่ละชาติอย่างที่บอกไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่แล้วจะจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ที่สอง ของเดือนพฤษภาคมในแต่ละปี ตามอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ปฏิบัติเป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่คุณนายจาร์วิสยังมีชีวิตอยู่
ในฐานะประเทศที่อยากจะศิวิไลซ์เสียเหลือเกิน ไทยแลนด์แดนสยามในยุคของ ‘ท่านผู้นำ’ อย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็อยากที่จะให้ประเทศของเรามีอีเวนต์อะไรที่มันดูฮิปๆ กับเขาบ้างก็เลยได้จัดให้มีงานฉลองวันแม่ขึ้นที่สวนอัมพร เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ แต่ช่วงระยะเวลาดังกล่าวบังเอิญไปตรงกับช่วงปลายๆ ของสงครามโลกครั้งที่สอง พอรบกันหนักๆ เข้า ก็เลยไม่มีการจัดให้มีงานอีเวนต์ชิคๆ อย่างนี้อีกในปีถัดมา ไปแบบขัดใจบรรดาฮิปสเตอร์ยุคสงครามโลก
หลังจากนั้นก็มีความพยายามจัดอีเวนต์งานวันแม่ขึ้นในประเทศไทยอีก โดยกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2493 ซึ่งก็อยู่ในยุครัฐบาลของจอมพล ป. อยู่นั่นเอง เพียงแต่คราวนี้เป็นรัฐบาลที่จอมพล ป. ท่านก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศเป็นครั้งที่สอง
ในช่วงเวลาดังกล่าว ‘วันแม่แห่งชาติ’ ดูยังไม่มีวี่แววที่จะมาบรรจบกันกับ ‘วันเฉลิมพระชนมพรรษา’ ของสมเด็จพระราชินีได้เลยสักนิด โดยถึงแม้ว่าในปี พ.ศ. 2495 จะมีการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระราชินีขึ้นด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ถูกผูกโยงเข้าหากันอย่างในปัจจุบันนี้
(และยิ่งน่าสังเกตด้วยนะครับว่า ในธรรมเนียมสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่เคยมีการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาให้กับสมเด็พระราชินีมาก่อนเลย งานวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อ พ.ศ. 2495 จึงเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานพิธีเช่นนี้อีกด้วย)
แต่หลังจากนั้นกระทรวงวัฒนธรรมก็ถูกยุบไปเมื่อ พ.ศ. 2501 ด้วยสภาวะแปรผันทางการเมืองในขณะนั้น การจัดงานวันแม่แห่งชาติจึงจำเป็นต้องเลิกไปอีก ต่อมาสมาคมครูคาธอลิคแห่งประเทศไทยก็ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้งในวันที่ 4 ตุลาคม 2515 แต่ก็จัดครั้งเดียวก็เลิกไปเหมือนเดิมอยู่ดี เป็นอันสิ้นสุด ‘วันแม่แห่งชาติ’ ในยุคที่จะยังไม่ควบรวมเป็นเนื้อเดียวกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างในปัจจุบัน
วันแม่ที่จัดขึ้นทุกวันที่ 12 สิงหาคม ต้องตรงกับวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 เป็นครั้งแรก
ความตรงนี้น่าสนใจนะครับ เพราะเป็นการริเริ่มจัดกิจกรรมขึ้นในช่วงระหว่างเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ปี 16 และ 6 ตุลาฯ ปี 19
ที่สำคัญคือประเทศไทยเป็นชาติเดียวในโลกที่ ‘วันแม่’ ไปผูกอยู่กับ ‘สถาบันกษัตริย์’ โดยเฉพาะเมื่อเจ้าภาพที่ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกคือ คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์
(ก็แม้แต่ประเทศอังกฤษที่มี ‘ควีน’ เป็นประมุข วันแม่ก็ผูกอยู่กับความเชื่อในศาสนาคริสต์ ที่เริ่มมีมาแต่ศตวรรษที่ 16 ซึ่งถือได้ว่ายาวนานก่อนที่คุณจาร์วิสจะริเริ่มกิจกรรมวันแม่ในแบบของนางราว 300-400 ปี โดยชาวอังกฤษจะจัดวันแม่ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 4 ของช่วง Lent คือช่วง 46 ก่อนถึงเทศกาลอีสเตอร์ตามความเชื่อของชาวคริสต์ ไม่ได้มีอะไรตรงไหนที่จะไปเกี่ยวข้องกับควีนพระองค์ไหนๆ เหมือนอย่างประเทศไทยของเราเลยสักนิดเลย)
น่าสนใจว่า นักประวัติศาสตร์ตัวท็อปของประเทศ ควบตำแหน่งไอคอนของนักประวัติศาสตร์ไทยคนสำคัญในยุคปัจจุบัน อย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยได้อธิบายไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งของท่าน ซึ่งก็ตีพิมพ์ลงในมติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่เมื่อปี 2549 แล้วว่า
“การนับญาติกับพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งที่คนไทยไม่เคยคิดแม้แต่ (ผู้ที่) เป็นพระญาติจริงๆ ก็ไม่พึงเรียกพระเจ้าอยู่หัวว่าน้อง, ว่าหลาน, ว่าเขย ฯลฯ แต่คนไทยปัจจุบันกลายเป็นเจ้ากันไปทั้งเมือง ความรู้สึกผูกพันกลายเป็นความรู้สึกของเครือญาติ”
และก็แน่นอนด้วยว่าเมื่อเป็นเครือญาติกันไปอย่างชิลๆ ปนงงๆ แล้ว ไพร่ หรือคนธรรมดาอย่างเราๆ ก็สามารถ ‘รัก’ พระองค์ได้อย่างสุดแสนจะซาบซึ้ง ทั้งที่โลกทัศน์แต่ดั้งเดิมเดิมของชาวสยาม คนทั่วไปไม่สามารถที่จะรู้สึกรักพระเจ้าแผ่นดินได้ มีได้ก็เพียงความยำเกรงในพระบารมี หรือพระอาชญาสิทธิ์
และแน่นอนอีกเช่นกันว่า เมื่อคนทั่วไปรักพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ ในตอนนั้นเราจึงรักพระ ‘ราชินี’ ในฐานะ ‘แม่’ ไม่ได้ด้วยเช่นกัน
บางที ใครต่อใครหลายคนในประเทศนี้จึงอาจต้องกราบขอบพระคุณต่อรัฐ (ที่มีคณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ออกหน้า) ในฐานะที่นอกจากจะทำให้เรามีกิจกรรมฮิปๆ แบบการเอาดอกมะลิไปมอบให้แม่ทุกวันที่ 12 สิงหาคมแล้ว ก็ยังทำให้คนไทยในปัจจุบัน สามารถเรียกพระองค์ท่านว่าแม่หลวงของแผ่นดินได้
เพราะถ้าหากว่ารัฐไม่อำนวยความสะดวกให้อย่างนี้ ผมก็ยังนึกหาหนทางไม่ออกว่าเราจะสามารถแสดงออกซึ่งความรักที่มีต่อพระองค์ได้อย่างไรกัน?
พ.ศ. 2523 หรือเพียง 4 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 และ 4 ปีหลังจากการจัดงานฉลองวันแม่แห่งชาติตรงกับวันพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จึงค่อยเริ่มมีการฉลองวันพ่อขึ้นในไทย เรียกได้ว่า วันแม่แห่งชาตินี่แหละครับ
แน่นอนว่าวันพ่อแห่งชาติในครั้งนั้นจัดตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือวันที่ 5 ธันวาคม โดยกิจกรรมในครั้งนั้นจัดขึ้นในรัฐบาลของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จากนั้น ‘พระเจ้าอยู่หัว’ ก็กลายเป็น ‘พ่อ’ ให้คนไทยสามารถรักได้ไปพร้อมๆ กันทั้งประเทศอย่างเป็นทางการ ตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้