ในทุกวัฒนธรรมล้วนมีรูปแบบการเลี้ยงดูลูกหลานที่เป็นแบบเฉพาะ ไม่เว้นแม้กระทั่ง ‘นาซี’ (Nazi) ที่พัฒนาแนวทางการเลี้ยงดูลูกในแบบฉบับของตัวเอง เพื่อให้เด็กๆ กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เข้มแข็งและเป็นผู้ตามที่จงรักภักดี ซึ่งระบอบนาซีจะสอนแม่ๆ ชาวเยอรมันเสมอว่า ให้มองข้ามความต้องการทางอารมณ์ของลูกๆ ตั้งแต่ครั้งยังแบเบาะ แต่จงสั่งสอนวินัยพวกเขาให้เป็นผู้ตามที่ดีด้วยความเข้มงวด การเลี้ยงดูแบบนาซีนั้นแม้จะล่มสลายไปแล้ว กลับฝังรากลึกในครอบครัวชาวเยอรมันจวบจนถึงปัจจุบันนี้
รูปแบบการเลี้ยงดูลูกจึงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือหาประโยชน์ของรัฐที่พยายาม ‘ปั้น’ เด็กอย่างที่ชาติต้องการ โดยพรากธรรมชาติการเติบโตของมนุษย์ และแน่นอนพรากความรักไปจากครอบครัว
Renate Flens หญิงชราชาวเยอรมันวัย 60 ปีเข้าพบจิตแพทย์เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า เธอบอกกับจิตแพทย์ว่า เธออยากจะแสดงความรักกับบรรดาลูกๆ ที่โตกันไปหมดแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่อยากให้ลูกๆ เข้าใกล้ เป็นความย้อนแย้งในจิตใจที่แม้อยากจะให้ลูกอยู่ใกล้ แต่อีกใจก็อยากผลักไสให้พวกเขาไปพ้นๆ ตัว หลังจากสนทนาอยู่พักใหญ่ จิตแพทย์จึงสืบประวัติพบว่า หญิงชรารายนี้ เมื่อตอนสาวๆ ฝักใฝ่ในระบอบนาซีเยอรมนี เป็นแม่ที่เลี้ยงดูลูกตามหลักของนาซีโดยแท้ ยึดถือคู่มือของ Johanna Haarer แพทย์ชาวเยอรมันที่ระบุถึงเทคนิคการเลี้ยงลูกให้เป็นผู้นำ (Führer) ในอนาคตที่ใครๆ ก็ทำได้ โดยคู่มือนี้มีชื่อว่า The German Mother and Her First Child ซึ่งค่อนข้างเป็นที่นิยมในบรรดาแม่ๆ ชาวเยอรมันในสมัยนั้นที่ต้องการสร้างลูกให้เป็นยอดคนที่เข้มแข็ง
แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลง หนังสือเล่มนี้ก็ยังขายดีอยู่อีกหลาย 10 ปี จนเป็นของสามัญประจำบ้าน
นาซีเยอรมนีต้องการให้ประชากรรุ่นใหม่เป็นมนุษย์ที่เข้มแข็ง ในคู่มือระบุให้แม่มือใหม่ต้องใจแข็ง มองข้ามความต้องการทางอารมณ์ของลูก แต่ให้ดูแลเฉพาะความต้องการขั้นพื้นฐานเท่านั้น เช่น ให้นม ให้น้ำ ให้อาหาร อย่าพยายามผูกมัดทางอารมณ์ และอย่าสงสารลูก หากพวกเขาแสดงความอ่อนไหวออกมาก็ให้มองข้ามเสีย แล้วลูกๆ จะสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ในเวลาไม่นาน มีระเบียบวินัยสูง ปฏิบัติตามคำสั่งพ่อแม่ง่ายขึ้น นักวิชาการในปัจจุบันมีความเห็นว่า รูปแบบการเลี้ยงลูกแบบนาซีเยอรมนีส่งผลกระทบต่อแนวคิดความสัมพันธ์ของครอบครัวชาวเยอรมันจวบจนปัจจุบัน พ่อแม่มักไม่ต้องการใกล้ชิดลูก ไม่ค่อยแสดงออกถึงความรัก มีกฎระเบียบที่เข้มงวดชัดเจน อันเป็นผลจากการเลี้ยงดูของคนรุ่นก่อนๆ ที่ส่งต่อมาจนเป็นอุปนิสัยของคนเยอรมัน
แพทย์ผู้เขียนคู่มือเลี้ยงดูลูกเล่มนี้ ในความเป็นจริง เขาเป็นแพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจ (pulmonologist) ที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กเลยแม้แต่น้อย หนังสือถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1934 และเป็นรากฐานในการเลี้ยงดูลูกของคุณแม่มือใหม่ โดยคาดว่ามีแม่ๆ ชาวเยอรมันกว่า 3 ล้านคนเข้าโปรแกรมการอบรมนี้ ทำให้คู่มือ The German Mother and Her First Child กลายเป็นของที่ต้องมี ทุกครอบครัวใหม่ต้องอ่านและปฏิบัติตาม น่าสนใจที่รูปประกอบในคู่มือ แม้จะมีภาพแม่ที่ต้องอุ้มทารก แต่เมื่อดูหลายๆ ภาพจะเห็นว่า เป็นท่าอุ้มที่มีการสัมผัสตัวเด็กให้น้อยที่สุดอย่างน่าสังเกต
Johanna Haarer ผู้เขียนคู่มือเล่มนี้มีแนวคิดเกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กว่า เด็กๆ ต้องได้รับอาหาร อาบน้ำ และทำให้ตัวแห้งอยู่เสมอ จากนั้นเด็กๆ ต้องเรียนรู้ในการอยู่อย่างโดดเดี่ยวให้คุ้นชิน พ่อแม่ต้องแยกห้องอยู่กับทารก หากพวกเขาร้องไห้ จงปล่อยให้ร้องไป อย่าไปสัมผัสตัว อย่าอุ้ม อย่าโอ๋ เป็นกระบวนการที่ใช้เวลา จนกระทั่งเด็กจะค่อยๆ เรียนรู้และขัดเกลาเองว่า การร้องไห้ไม่สามารถดึงดูดความสนใจของพ่อแม่ได้ เด็กๆ จึงเลิกร้องไปเอง หลังจากนาซีแพ้สงครามในปี ค.ศ. 1945 Johanna Haarer ถูกจับในฐานสมคบคิดกับนาซีเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ โดนถอนใบประกอบวิชาชีพแพทย์ และเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1988
ผลกระทบสู่ปัจจุบัน
นักพัฒนาครอบครัวและสวัสดิการสังคมในปัจจุบันมองว่า แนวคิดการเลี้ยงลูกแบบนาซียังคงฝังรากลึกในแนวคิดของชาวเยอรมัน แม้จะไม่มีคู่มือให้เห็นแล้วก็ตาม แต่การหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์กับครอบครัวเยอรมันมักเป็นสิ่งที่หยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะความเย็นชาที่แสดงออกต่อเด็กๆ ซึ่งนำไปสู่ครอบครัวที่แยกกันอยู่ มีอัตราการเกิดต่ำ มีภาวะซึมเศร้าที่เกิดการคนในครอบครัว มีรายละเอียดที่น่าสนใจว่า แม่มือใหม่ใส่ใจที่จะบันทึกข้อมูลของลูกเกี่ยวกับ น้ำหนัก ส่วนสูง ระบบลำไส้ การขับถ่าย แต่ไม่ค่อยเก็บรายละเอียดทางด้านอารมณ์กับเด็กทารก
หลายครั้งที่พบกรณีที่คล้ายๆ กันว่า พ่อแม่มีความขัดแย้งในใจ คือพวกเขาอยากจะมีปฏิสัมพันธ์กับลูก แต่ไม่รู้ต้องทำอย่างไร (ส่วนหนึ่งคือพวกเขาก็ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์จากพ่อแม่รุ่นที่แล้วเช่นกัน) เป็นความย้อนแย้งที่ทำให้ครอบครัวดิ่งเหว มีชื่อเรียกการปฏิสัมพันธ์นี้ว่า ‘Relational disorder’ ซึ่งครอบครัวเยอรมันหลังสงครามมักมีความรู้สึกผิดต่อประวัติศาสตร์ที่คนในประเทศทำลงไป หรือเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงหลังสงคราม และความรู้สึกผิดยังคงตกทอดมายังทัศนคติการสร้างครอบครัว
ทุกครั้งที่เมินเฉยต่อการแสดงทางอารมณ์ของเด็ก ปฏิเสธการรับรู้ผ่านการสื่อสารทางสีหน้า ท่าทางหรืออวัจนภาษา ธรรมชาติของการเรียนรู้จะทำให้เด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่น้อยลง ไม่พูด และกลายเป็นว่ามีพัฒนาการแสดงออกที่ช้าลง
อีกส่วนหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน คือการที่แม่อยู่ในระบอบนาซีเยอรมนีซึ่งต้องเลี้ยงดูอย่างเดียวดาย ผู้ชายไปออกรบ การเลี้ยงดูลูกจึงตกเป็นงานของเพศหญิงด้านเดียว แม่บางคนจึงอาจมองว่าการเลี้ยงลูกเป็นภาระมากกว่าเป็นความสัมพันธ์ เวลาต้องการความช่วยเหลือก็ไม่รู้จะพึ่งพาใคร ความแกร่งแบบเยอรมันจึงครอบงำแนวคิดการเลี้ยงดูบุตรได้ง่ายขึ้น
‘คู่มือการเลี้ยงลูก’ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เมื่อรัฐพยายามสร้างครอบครัวให้ได้ผลผลิตอย่างที่รัฐต้องการ พวกเขาอาจต้องการแรงงานคุณภาพที่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยแพร่อิทธิพลมายังหน่วยสังคมที่สำคัญที่สุดและละเอียดอ่อนที่สุด นั่นคือครอบครัว หากปลูกฝังรากลึกไปแล้วก็ยากที่จะถอนโคน ดังนั้นเราน่าจะตั้งคำถามว่า สังคมอยากได้คนรุ่นใหม่แบบไหน แล้วเรานิยามเด็กแบบไหนว่าเป็นเด็กคุณภาพ
หรือพวกเราดัดพวกเขาบิดเบี้ยวเหมือนบอนไซที่เติบโตในแบบที่เราอยากให้เป็นหรือเปล่า?
อ้างอิงข้อมูลจาก
How the Nazi’s inhumane parenting guidelines may still be affecting German children