นับตั้งแต่มีข่าวชาวโรฮิงญาอพยพออกจากรัฐยะไข่ในพม่าหรือค็อกซ์บาซาร์ในบังคลาเทศ ช่วงปีค.ศ. 2015 ดูเหมือนว่าการอพยพย้ายถิ่นอย่างผิดปกติของชาวโรฮิงญาได้ยุติไประยะหนึ่งเพราะมีการให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา มีข่าวชาวโรฮิงญาเรือแตกเกือบ 100 ชีวิต ขึ้นฝั่งที่ จ.สตูล
‘โรฮิงญา’ หรือโรฮีนจา เป็นกลุ่มคนที่ชาวโลกอยากรู้จักและให้ความสนใจในชะตากรรมของพวกเขาในฐานะมนุษยชาติมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการสืบค้นที่มาที่ไปของคนกลุ่มนี้ว่าพวกเขาเป็นใคร มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร
เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์การอพยพโยกย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญามีหลายปัจจัยที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย กระบวนการลักลอบค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ ทำให้นานาประเทศออกมาวิพากษ์วิจารณ์และประณามหลายๆ ประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นประเทศต้นทางที่คนกลุ่มนี้อพยพออกมาอย่างพม่า และกลุ่มประเทศปลายทางอย่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
หลายฝ่ายที่กำลังจับจ้องเรื่องนี้ตั้งคำถามกับประเทศต้นทางที่คนกลุ่มนี้อพยพย้ายถิ่นออกมาถึงความรับผิดชอบและการตระหนักรู้ถึงต้นเหตุปัญหานี้ ในขณะที่พม่าซึ่งหลายฝ่ายกล่าวหาว่าเป็นประเทศต้นทางก็ออกมาปฏิเสธและยืนกรานเสียงแข็งว่าชาวโรฮิงญามิใช่กลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐบาลพม่ารับรองอย่างเป็นทางการ หากแต่เป็นผู้อพยพที่เข้ามาจากฝั่งบังคลาเทศหรือเป็น ‘แขกเบงกาลี’ จึงทำให้พม่าพยายามขับไสคนกลุ่มนี้ให้ออกไปจากบ้านของตัวเอง ซึ่งอาจฟังดูเหมือนกับเป็นการโบ้ยความผิดหรือการปัดความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี ทัศนะของชาวพม่าที่มีต่อชาวโรฮิงญาในปัจจุบันไม่ได้เป็นทัศนะใหม่ หากแต่เป็นมรดกทางความรู้สึกนึกคิดของชาวพม่าที่มีรากฐานมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม
การทำความเข้าใจว่าทำไมชาวพม่าจึงมีทัศนะที่รุนแรงต่อแขกโรฮิงญาด้วยการอ่าน ‘วรรณกรรมของชาวพม่า’ เป็นวิธีที่สามารถอธิบายวิธีคิดของชาวพม่าที่มีต่อชาวโรฮิงญาได้อีกทางหนึ่ง ประเด็นเรื่องภัยคุกคามจากภายนอกหรือการต่อต้านชาวต่างชาติ ต่างศาสนาเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่สามารถพบเห็นได้ในวรรณกรรมพม่าสมัยใหม่
ประเด็นที่ถือเป็นภัยคุกคามหลัก
คือภัยคุกคามทางศาสนาเพราะพม่า
ประกาศอัตลักษณ์ชัดเจนว่าเป็นเมืองพุทธ
ดังนั้น ศาสนาอื่นจึงถือเป็นอัตลักษณ์อื่นที่เป็นภัยคุกคาม นักเขียนพม่าหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อชี้ให้คนพม่าตระหนักรู้ภัยดังกล่าว ความคิดดังกล่าวได้แฝงฝังอยู่ในตัวบทวรรณกรรมมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม การอ่านวรรณกรรมพม่าจึงเปิดโปงให้เห็นความคิดของคนพม่าที่มีต่อคนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา
ต้นธารแห่งความเกลียดชังทางเชื้อชาติและศาสนาที่เข้มข้นนี้มีที่มาจากบทเรียนประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคม ช่วงที่อังกฤษนำเข้าแรงงานแขกจากอาณานิคมอินเดียเข้ามาในอาณานิคมพม่าเป็นจำนวนมาก และที่สร้างปัญหาและความเดือนร้อนให้แก่ชาวพม่าอย่างหนัก คือ พวกแขกเงินกู้หรือที่เรียกว่า ‘ชิดตีกะลา’
เหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นคราบน้ำตาในประวัติศาสตร์ดังกล่าวถูกนำมาผลิตซ้ำให้เห็นความเกลียดชังคน ‘แขก’ ในงานวรรณกรรมของอูโพจา (U Pho Kyar) นักเขียนที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยยุคอาณานิคม ในแวดวงวรรณกรรมพม่าต่างรับรู้กันว่าอูโพจาเป็นนักเขียนและเป็นนักการศึกษาคนสำคัญคนหนึ่งของพม่า เขามีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.1891-1942 และมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองฮิงตะดะ ซึ่งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเอยาวดี(อิระวดี) ในพม่าตอนล่าง
ผลงานที่ทำให้อูโพจาเป็นที่รู้จักและอยู่ในใจผู้อ่านชาวพม่าเสมอมาคือรวมเรื่องสั้นชุดโกต้วยวุตทุ้ (Ko Dwei Wuthtu Myar) ที่กล่าวอย่างนี้เพราะเรื่องสั้นบางเรื่องในรวมเรื่องสั้นชุดดังกล่าวถูกกระทรวงศึกษาธิการพม่าคัดสรรมาเป็นบทอ่านในวิชาภาษาพม่าระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมเรื่องสั้นชุดโกต้วยวุตทุ้ ประพันธ์ด้วยลีลาภาษาอันเรียบง่าย ธรรมดา และเป็นภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแบบแผน กล่าวคือ เป็นระดับภาษาและคำศัพท์ที่ใช้ในวงสนทนาโดยทั่วไป อูโพจาใช้กลวิธีการประพันธ์ในลักษณะการถ่ายทอดผ่านบทสัมภาษณ์ การสังเกต การคลุกคลีกับชีวิตต่างๆ ที่เขาได้สัมผัสและคัดเลือกนำเสนอ งานเขียนของเขาจึงอยู่ในรูปแบบสัจนิยม (realism) ทำให้ผู้อ่านรวมเรื่องสั้นชุดโกต้วยวุตทุ้ รู้สึกเหมือนกับว่าได้สนทนากับเพื่อนพ้องชาวพม่าด้วยกันที่ต่างก็มีความรัก ความใฝ่ฝัน รอยยิ้ม และคราบน้ำตา
อูโพจาเริ่มเขียน รวมเรื่องสั้นชุดโกต้วยวุตทุ้ ในปีค.ศ. 1930 โดยนำประสบการณ์การทำงานเป็นศึกษานิเทศก์ที่ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนทั่วพม่าเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์รวมเรื่องสั้นชุดโกต้วยวุตทุ้ อูโพจาหวังไว้ว่ากลุ่มผู้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ คือ กลุ่มเยาวชน ดังถ้อยแถลงในบทนำของหนังสือเล่มนี้ที่ว่า “รวมเรื่องสั้นชุดโกต้วยวุตทุ้ เขียนขึ้นเพื่อมุ่งกลุ่มผู้อ่านที่เป็นเยาวชนพม่า เนื่องจากวรรณกรรมภาคบังคับสำหรับเยาวชนคือ วรรณกรรมคำสอน เช่น ชาดกต่างๆ ใช้ภาษาการประพันธ์ที่ยากและเหมาะกับการใช้อ่านในห้องเรียนโดยมีครูผู้สอนเป็นผู้แนะนำมากกว่า สำหรับรวมเรื่องสั้นชุดโกต้วยวุตทุ้ ผู้แต่งจึงหวังให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา”
เนื้อหาในวรรณกรรมดังกล่าวเป็นตัวอย่างบทเรียนชีวิต
ให้กับเยาวชนพม่า อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังคุณลักษณะ
ของคนที่เป็นที่ต้องการของสังคม
ตัวละครหลายตัวเป็นตัวแทนของตัวละครเด็กเอ๋ยเด็กดีของพม่า ซึ่งพบว่าคุณธรรมที่บ่งชี้การเป็นเด็กดีหรือคนเก่งคนดีในวรรณกรรมดังกล่าวไม่ได้เป็นคุณธรรมจริยธรรมที่สร้างขึ้นมาใหม่ในยุคอาณานิคม แต่เป็นชุดเดียวกันกับคุณธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมชาดกซึ่งใช้สอนเยาวชนในสังคมพม่ามาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่นักเขียนนำมาปรับโดยนำเสนอในรูปแบบเรื่องสั้น ซึ่งสอดคล้องกับบริบทการปรับเปลี่ยนกระแสการสร้างและการเสพวรรณกรรมพม่าในยุคอาณานิคมจากวรรณกรรมขนบมาเป็นวรรณกรรมสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น บทละคร นวนิยาย แม้ว่ารูปแบบการประพันธ์จะเปลี่ยนไปตามอิทธิพลตะวันตก แต่ประเด็นที่นักเขียนยังคงมุ่งเน้นคือการนำเสนอวิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวพม่าที่ผูกพันอยู่กับวิถีพุทธอย่างแนบชิดและแสดงความรู้สึกหวงแหนและต้องการปกป้องอัตลักษณ์ดังกล่าวซึ่งปรากฏให้เห็นในเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า แหม่เมี๊ยะ (Mae Mya)
แหม่เมี๊ยะเป็นตัวละครที่นักเขียนหรือตัวละคร ‘ข้าพเจ้า’ ในเรื่องสั้นเจอระหว่างโดยสารเรือเพื่อไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนที่เมืองซิตตเหว่ในรัฐยะไข่ การเดินทางจากเมืองย่างกุ้งไปเมืองซิตตเหว่ต้องโดยสารทางเรือ ใช้เวลาสองคืนสามวัน เรือโดยสารที่ตัวละครข้าพเจ้าโดยสารไปด้วยส่วนใหญ่มีผู้โดยสารเป็นแขกจิตตะกอง (แขกเบงกาลี) ในเรือมีชาวยะไข่สามถึงสี่คน และมีชาวพม่าคนเดียวคือตัวละครข้าพเจ้าผู้เล่าเรื่องนี้ ในระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่บนเรือ ตัวละครข้าพเจ้าเจอกับคู่สามีภรรยาที่เป็นแขกเบงกาลีคู่หนึ่งซึ่งตัวละครข้าพเจ้าได้เข้าไปคลุกคลีและพูดคุยด้วย
เรื่องเริ่มจากการที่ตัวละครแขกที่เป็นสามีทักทายกับตัวละครข้าพเจ้าว่ามาจากไหนและจะเดินทางไปไหน ตัวละครข้าพเจ้ารู้สึกว่าแขกคนนี้สามารถพูดภาษาเมียนมาร์ได้ชัดเจน เสียงไม่เหน่อหรือแปร่ง สืบทราบว่าแขกผู้นี้เข้ามาอาศัยและทำมาหากินอยู่ในพม่าได้ประมาณ 8 ถึง 9 ปีแล้ว จนตัวละครข้าพเจ้าคิดว่าแขกผู้นี้เรียนภาษาพม่าเสียด้วยซ้ำ ความสนใจของตัวละครข้าพเจ้าเบนมาที่ภรรยาของแขกคนดังกล่าว และเมื่อได้พูดคุยทักทายจึงได้รู้ว่าตัวภรรยานั้นไม่ใช่แขกเบงกาลี แต่เป็นชาวพม่า ซ้ำยังมีภูมิลำเนาเดียวกันกับตัวละครข้าพเจ้าและเป็นผู้ที่เคยรู้จักกันในสมัยวัยเยาว์ด้วย สิ่งที่ทำให้ตัวละครข้าพเจ้าวิพากษ์เรื่องราวของแหม่เมี๊ยะนั้นเกิดจากการที่เขาแต่งงานกับแขกมุสลิมและเปลี่ยนมานับถืออิสลามตามสามีของเธอ
นักเขียนนำเรื่องราวของแขกเงินกู้ในสมัยอาณานิคมมากล่าวซ้ำในงานเขียนของเขาเพื่อเตือนภัยว่าบทเรียนประวัติศาสตร์ดังกล่าวทำให้ชาวพม่าต้องบาดเจ็บและรับเคราะห์กรรมมาแล้ว จากกรณีที่แขกชิดตีปล่อยเงินกู้ให้ชาวนาพม่า ต่อมาเมื่อไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ที่นากลายเป็นของแขกชิดตี ชาวนาพม่าจึงกลายสถานะมาเป็นผู้เช่าที่นา ซ้ำร้ายเมื่อแขกชิดตีนำแรงงานชาวนาที่เป็นแขกด้วยกันเข้ามาทำนาในพม่าทำให้ชาวนาเมียนมาร์เดือนร้อนเป็นอย่างมาก เหมือนเป็นการทวีบาดแผลให้ลึกลงไปอีก เห็นได้ชัดจากการลุกฮือขึ้นของกบฏชาวนาในยุคอาณานิคม และการเข้ามาของแขกชิดตียังเป็นการเข้ามาตักตวงช่วงชิงทรัพยากรและผลประโยชน์ในพม่าดังเช่นตัวละครสามีของแหม่เมี๊ยะซึ่งเป็นแขกจิตตะกองหรือแขกเบงกาลีก็เข้ามาอยู่ในพม่าได้ 8-9 ปีแล้ว แถมเป็นเจ้าของโรงฆ่าวัวจนร่ำรวยหอบผลกำไรมหาศาลกลับไปบ้านเกิดของเขาที่จิตตะกอง (ในบังคลาเทศ)
การยกบทเรียนประวัติศาสตร์มาวิพากษ์ซ้ำในวรรณกรรม
เพราะนักเขียนอาจไม่ต้องการให้เกิดเคราะห์ซ้ำกรรมซัดกับชาวพม่า
บทเรียนต่อมาที่นักเขียนเน้นย้ำให้เห็นและต้องการบอกชาวพม่าโดยเฉพาะผู้หญิงพม่าคือ การแต่งงานของผู้หญิงพม่ากับแขกมุสลิม ซึ่งผู้เขียนถือว่าเป็นภัยคุกคามทางศาสนา อันที่จริงควรกล่าวด้วยว่าพม่ามิได้จงเกลียดจงชังแขกทั้งหมด แต่การที่รู้สึกเกลียดแขกมุสลิมเพราะเห็นว่าเป็นภัยคุกคามทางเชื้อชาติและศาสนา ผู้หญิงพม่าเมื่อแต่งงานกับแขกมุสลิมต้องเปลี่ยนมานับถืออิสลาม เหมือนอย่างที่ตัวละครแหม่เมี๊ยะก็ต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม
นอกจากนี้ยังชี้ให้ผู้หญิงตระหนักถึงภัยอีกข้อหนึ่ง คือ เมื่อแต่งงานไปแล้ว อาจไม่ได้เป็นที่ยอมรับในหมู่ ‘พวกเขา’ อย่างแนบเนียนเหมือนกับที่ตัวละครแหม่เมี๊ยะก็ไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายพ่อแม่สามีและถูกปฏิบัติเยี่ยงคนรับใช้ ทำให้เธอต้องลอบหนีมาและกลับมาสร้างชีวิตใหม่ที่บ้านเกิด ตัวละครแหม่เมี๊ยะเป็นบทเรียนชีวิตในแง่ที่ว่าไม่ควรเห็นแก่ทรัพย์สินแต่ควรเห็นแก่การธำรงรักษาไว้ซึ่งชาติพันธุ์พม่าและพุทธศาสนา
อีกประเด็นหนึ่งที่นักเขียนต้องการวิพากษ์ให้เห็นเป็นประเด็นเรื่องภัยคุกคามทางเชื้อชาติ โดยชี้ให้เห็นว่าในระยะยาว ถ้าสถานการณ์บานปลายแบบนี้ต่อไปภายในห้าสิบปีนับจากนี้ พม่าอาจต้องสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นพม่า นักเขียนมองว่าการรุกเข้ามาของมุสลิมเป็นภัยสั่นคลอนอัตลักษณ์พม่าผ่านคำพูดของตัวละครแหม่เมี๊ยะที่ว่าถ้าหากเป็นเช่นนั้นแล้วก็สมควร “ถ่ายถอดความเป็นพม่าออกจากตัวเสีย” ซึ่งเป็นการวิพากษ์ที่ใช้ถ้อยคำกระทบใจผู้อ่านชาวพม่าเป็นอย่างมาก
นักเขียนต้องการวิพากษ์คนพม่าด้วยกันเองที่หละหลวม หย่อนยาน ปล่อยให้ภัยคุกคามอัตลักษณ์พม่าเข้ามาสั่นคลอน โดนบ่อนเซาะ ซึ่งอาจนำมาซึ่งความสูญเสียความเป็นพม่าที่พยายามสร้างและปกป้องมาตลอดประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภัยคุกคามทางศาสนาซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับชาวพม่า ในสมัยอาณานิคม พุทธศาสนาถูกงัดง้างนำมาใช้เป็นแกนอ้างอิงหลักร่วมกันในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ เห็นได้ชัดจากขบวนการชาตินิยมที่เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษเป็นกลุ่มแรกในพม่า คือ กลุ่มยุวพุทธิกสมาคม (Young Men’s Buddhist Association)
เรื่องเล่าชีวิตของตัวละคร ‘แหม่เมี๊ยะ’ เปิดโปงให้เห็นอำนาจของเรื่องเล่าที่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนพม่าที่มีต่อ ‘แขก’ ในยุคอาณานิคมและเป็นชุดความคิดที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน การอ่านวรรณกรรมดังกล่าวทำให้เข้าใจวิธีคิดแบบพม่าที่ปฏิเสพวกเขาเพราะเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อเชื้อชาติพม่า ศาสนาพุทธ และผู้หญิงพม่า แม้ว่าการแต่งเรื่องสั้นเรื่องนี้ระบุว่าเป็นแขกเบงกาลีแต่ก็เผยให้เห็นงานเขียนที่เป็นแนวคิดต้นแบบในการพยายามสร้างภาพแบบเหมารวม (stereotype)ให้กับแขกมุสลิมทั้งหมด โดยเฉพาะแขกที่มาจากเบงกอล ความคิดดังกล่าวนำมาซึ่งความเกลียดชังโรฮิงญา ซึ่งก็เป็นแขกต่างศาสนาและถูกเหมารวมให้อยู่ในกลุ่มแขกเบงกาลีในความคิดของพม่า ในขณะที่ ถ้าเป็นแขกในศาสนาพุทธหรือฮินดูอาจถูกปฏิบัติและยอมรับไปในทางที่ดีกว่า
งานเขียนประเภทวรรณกรรมนับว่ามีความน่าสนใจ
เพราะนักเขียนสามารถนำเสนอในส่วนที่เป็น
ความรับรู้และอารมณ์ทางสังคมที่มีต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว
ในขณะเดียวกันก็แสดงหมุดหมายที่ชัดเจน เพื่อเตือนสติผู้คนและเรียกร้องให้มีการใคร่ครวญและหวนคำนึงถึงเกียรติภูมิและศักดิ์ศรี ส่งผลให้วรรณกรรมที่แฝงฝังประเด็นการต่อต้านวัฒนธรรมอื่นหรืออัตลักษณ์อื่นมิได้เป็นเพียงเรื่องแต่งเพื่อให้ผู้อ่านได้รับอรรถรสทางวรรณศิลป์อย่างเดียว แต่เป็นวรรณกรรมที่ต้องการปลูกจิตสำนึกในความรักชาติ จิตสำนึกของความรักในเผ่าพันธุ์และที่สำคัญคือการรักษาพุทธศาสนาของชาวพม่าโดยการต่อต้านคนอื่นที่แตกต่าง
อูโพจามิได้เป็นคนแรกที่ลุกขึ้นมาสร้างงานในลักษณะดังกล่าว แต่งานวรรณกรรมในลักษณะนี้เป็นกระแสหนึ่งที่นักเขียนพม่านิยมพูดถึงเป็นหลัก ต้นธารของกระแสและแนวโน้มดังกล่าวเริ่มตั้งเค้ามาในงานเขียนประเภทประวัติศาสตร์นิพนธ์ซึ่งเรียบเรียงโดย อูกะลา ระหว่าง ค.ศ. 1712-1733 ชื่อว่า มหาหย่าซะหวิ่นจี หรือ ราชวงศ์ปกรณ์ฉบับอูกะลา ในงานเขียนนี้หยิบยกเรื่องเล่าความสัมพันธ์ผ่านการแต่งงานต่างสายเลือดระหว่างพม่าและแขกหลายเรื่อง เช่น เจ้านางฉ่วยเอ่งตี่ หรือเจ้านางเรือนคำหลงรักกับเจ้าชายจากแดนภารตะ แต่สุดท้ายพระบิดาพรากความรักของทั้งสองและให้เจ้านางอภิเษกกับเจ้าชายซอยูนซึ่งขาเป๋เพื่อรักษาไว้ซึ่งสายเลือดพม่าแท้ แต่ถ้ายังคงดื้อรั้นแต่งงานกับสายเลือดอื่นก็จะมีจุดจบเช่น พระเจ้านรสูที่รับเจ้าหญิงกะลาหรือเจ้าหญิงแขกมาป็นมเหสี ต่อมาทรงทำร้ายเจ้าหญิง ทำให้เจ้าหญิงถึงกับเลือดตกยางออก เมื่อพระบิดาของเจ้าหญิงทราบเรื่องก็นำทัพจากแดนภารตะมาโจมตีและสังหารกษัตริย์นรสู
ความเป็นชาติพันธุ์นิยมเป็นกระแสหนึ่งที่เคลือบแฝงมาในตัวบทวรรณกรรมพม่ามาช้านาน ตัวบทในลักษณะดังกล่าวถูกผลิตซ้ำเป็นจำนวนมากในยุคอาณานิคมและหลังอาณานิคม งานเขียนของ อูโพจา สร้างภาพแบบฉบับให้กับ ‘แขกเบงกาลี’ ก็นับอยู่ในช่วงกระแสนี้ นอกจากงานเขียนของอูโพจาแล้วยังพบว่าในระยะเดียวกัน นักเขียนร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงอย่าง ปี่ โม นีง (P. Moe Nin) ก็เขียนเรื่องสั้นชี้นำว่าถ้าเมียนมาร์แต่งงานกับฝรั่งและแขกอาจทำให้ความเป็นพม่าถูกกลืนกลายและสูญสิ้นในที่สุด
แม้ว่าอูโพจาระบุลักษณะของผู้คนว่าเป็นแขกเบงกาลี แต่ก็เผยให้เห็นแนวคิดต้นแบบในการพยายามสร้างภาพแบบฉบับว่าคนกลุ่มนี้อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นพม่า จึงไม่แปลกอะไรที่ในปัจจุบัน ในความรับรู้ของสังคมพม่าตีตรากลุ่มโรฮิงญาว่าเป็นแขกเบงกาลีเนื่องจากมีอัตลักษณ์ที่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตลอดจนถิ่นฐานมาตุภูมิ
ในมิตินี้ภาพแขกเบงกาลีในโลกวรรณกรรม
จึงเป็นภาพเดียวกันกับภาพโรฮิงญาในโลกจริง
ซึ่งเหมารวมได้ว่าเป็นภาพแบบฉบับเดียวกัน
การทำความเข้าใจรากเหง้าทางความคิดและการผลิตสร้างชุดความคิดที่เคลือบแฝงอยู่ในตัวบทวรรณกรรมในบริบทการเมืองเรื่องเชื้อชาติและศาสนา เช่นเดียวกับปมโรฮิงญา ทำให้เห็นว่าในโลกวรรณกรรมและโลกจริงมีกระแสธารความคิดที่ไหลเวียนวนอยู่ในสังคมและหล่อเลี้ยงอัตลักษณ์พม่า และเอาเข้าจริงๆ แล้ว เขาเลือกปกป้องอัตลักษณ์พม่ามากกว่าการเลือกมนุษยธรรมหรือสิทธิมนุษยชนตามที่นานาชาติต่างเรียกร้อง
หมายเหตุ: ข้อเขียนนี้ผู้เขียนพัฒนาเป็นบทความวิชาการขนาดยาวเสนอการวิเคราะห์อย่างละเอียดในบทความเรื่อง “จาก “แขกเบงกาลี” ในเรื่องสั้นทดลองของอูโพจาสู่ “โรฮีนจา” ในโลกจริง:รากเหง้าทางอคติทางชาติพันธุ์ในวรรณกรรมเมียนมา” ตีพิมพ์ใน Book Marx. Vol.2 (April2018) จัดพิมพ์โดยผจญภัยสำนักพิมพ์
เอกสารอ้างอิง
Pho Kyar, U. 1999. The Collection of Selected Short Stories: The Ko Dwei Wuthtu Series. 2nd. Yangon: Parami Sarpay Press.
วทัญญู ฟักทอง. 2556. “อูโพจา บิดาแห่งเรื่องสั้นเมียนมา:พัฒนาการของวรรณกรรมเมียนมาสมัยใหม่.” ใน ตรีศิลป์ บุญขจร (บรรณาธิการ).อาเซียนจากมิติวรรณกรรม: อดีตถึงยุคโลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ: ศูนย์วรรณคดีศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 190-206.