ว่าถึงความเป็นพุทธศาสนิกชนแล้ว ภาพลักษณ์ที่มักจะเคียงข้างกันมาเห็นจะมิพ้นวิถีการ ‘รักสงบ’ แต่ช่วงภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 (พุทธศักราช 2484-2488) ที่เสียงตบเท้าของทหารญี่ปุ่น เสียงดาบซามูไรสนั่นกรุงเทพฯ มีนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักวาดการ์ตูนลือนามคนสำคัญผู้หนึ่งทดลองเขียนเรื่องสั้นเพื่อตั้งคำถามต่อความ ‘รักสงบ’ อย่างคมคาย เขาคนนั้นคือ วิตต์ สุทธเสถียร แน่นอน ผมจำเป็นต้องเชื้อเชิญให้ท่านทั้งหลายทำความรู้จักเขา พร้อมทั้งจาระไนถึงเรื่องสั้นชิ้นที่เอ่ยพาดพิงไว้
โดยความตั้งใจแล้ว ผมปรารถนาเผยแพร่ข้อเขียนชิ้นนี้ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2560 อันเป็นวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของวิตต์ (เขาเกิด 26 ธันวาคม พ.ศ. 2460) หากกลับมัวเผลอไผลปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานาน กระนั้น ผมรู้สึกปลื้มเปรมยิ่งนักและหวังว่าคงไม่ช้าเกินไปในการปรนเปรอเรื่องราวดังกล่าวสู่สายตาคุณผู้อ่าน
หากใครเคยสัมผัสผลงานของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนสำนวนเพรียวนม อาจพอจะคุ้นชื่อ วิตต์ สุทธเสถียร อยู่บ้าง นั่นเพราะเขาเป็นบุคคลที่ ’รงค์ เอ่ยอ้างในฐานะแรงบันดาลใจและยกย่องว่า
“พี่ (วิตต์ สุทธเสถียร) นั้นยิ้มด้วยสายตาของผู้จัดเจนไวยากรณ์ชีวิต ความเคลื่อนไหวภาคภูมิและปราดเปรียวบนแพ่งถนนความคิดกว้างไกลจากกรุงเทพฯ-มะนิลา-นิวยอร์ค สุภาพบุรุษผู้ผ่านวิชาการหนังสือพิมพ์ระดับมหาวิทยาลัยรุ่นแรกๆ ของประเทศ ผู้เป็นหลักไมล์ด้านภาษาและสำนวนแห่งยุคคาบก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และผู้นำความคิดหลายรูปแบบสู่วงการเขียน…”
ขณะที่ “ในด้านนวนิยาย ท่านนำความตื่นเต้นตะลึงและเคลิบเคลิ้มสู่ผู้อ่านในยุคนั้นอย่างคาดไม่ถึง และเป็นแรงเร่งเร้าให้คนหนุ่มจำนวนไม่น้อยร่วมทั้งผมอยากเป็นนักเขียนบ้าง หรืออย่างน้อยอยากเป็นตัวละครในนวนิยายนั้น”

วิตต์ สุทธเสถียร
วิตต์สำแดงเอกลักษณ์ผ่านสำนวนภาษาเฉพาะตัวกระทั่งถูกเรียกขาน ‘นักเขียนสำนวนสะวิง’ คนแรกๆ ของไทย เปลื้อง ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยสวมร่างทรงนายตำรา ณ เมืองใต้ให้ข้อสังเกตในคอลัมน์ ‘ข้อน่าศึกษาทางการประพันธ์’ ประจำนิตยสาร อักษรสาส์นของสุภา ศิริมานนท์ ฉบับเดือนเมษายน พุทธศักราช 2492 ความว่า “อุบัติแห่งสำนวนสะวิงในวงการหนังสือนั้น มาพร้อมกับรสนิยมใหม่ในทางดนตรีที่เพลงในจังหวะละตินและท่วงทำนองแผดเร่าของเพลงแจ๊ซเข้ามา สำนวนสะวิงที่ปรากฏใน “ตระเวณมะนิลา” และรวมทั้งรายงานข่าวสังคมใน “สุภาพบุรุษ-ประชามิตร” โดยเจ้าของนามปากกา “คนพระนคร” ล้วนเป็นสีสันอย่างใหม่สำหรับวงการหนังสือพิมพ์และวงการวรรณกรรม”
‘สำนวนสะวิง’ แบบวิตต์ได้แก่การเขียนสำนวนแปลกใหม่ไปจากสำนวนแบบเดิมของภาษาไทยช่วงทศวรรษ 2480 และทศวรรษ 2490 มีวิธีเล่าเรื่องและจัดเรียงประโยคซึ่งรับอิทธิพลจากภาษาตะวันตก มิหนำซ้ำ วิตต์คนนี้เองแหละครับ คือผู้ประดิษฐ์คำศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมาโลดแล่นในงานเขียนของตนจนกลายเป็นถ้อยคำที่เราๆ ท่านๆ ใช้กันติดปากตราบปัจจุบัน เฉกเช่น ป่าคอนกรีต, เครื่องบินไอพ่น, นางแบบ, สาวสังคม,ล้ำยุค และ มือปืน
วิตต์เป็นบุตรชายมหาอำมาตย์โท พระยาเมธาธิบดี (สาตร สุทธเสถียร) กับคุณหญิงเมธาธิบดี (อรุณ สุทธเสถียร) เจ้าคุณเมธาธิบดีก็ดำรงสถานะนักการศึกษาคนสำคัญของประเทศ ได้แต่งตำราและบทเรียนหลายต่อหลายเล่ม ทั้งยังเป็นคนแรกๆ ที่นำนิทานอีสปเข้ามาเผยแพร่ในสังคมไทย ช่วงทศวรรษ 2460 พระยาเมธาธิบดีต้องเดินทางไปรับตำแหน่งผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา เด็กชายวิตต์จึงติดตามครอบครัวไปด้วยและเข้าเรียนชั้นอนุบาล ณ กรุงวอชิงตันดีซี แล้วค่อยมาเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 วิตต์สนอกสนใจทางด้านหนังสือพิมพ์และการวาดเขียน เขาพากเพียรเขียนเรื่องสั้นๆ และวาดการ์ตูนส่งไปลงตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารต่างๆ เป็นต้นว่าประมวญสารและ เพลินจิตต์อาศัยร่างทรงในนามแฝง ‘วิตตมิน’
กลางปีพุทธศักราช 2482 วิตต์ออกเดินทางไปศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งยุคนั้นอวลกลิ่นอายความเฟื่องฟุ้งแบบอเมริกัน เขาสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยซิลลิแมน (Silliman University) เมืองดูมาเกเต้ (Dumaguete) จากนั้นย้ายมาเรียนต่อยังมหาวิทยาลัยซานโตโทมัส (University of Santo Tomas) ในกรุงมะนิลา (Manila)
คงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า วิตต์คือคนไทยคนแรกที่ไปศึกษาวิชาหนังสือพิมพ์ในต่างประเทศ แต่เขายังไม่ทันเรียนสำเร็จจนคว้าใบปริญญาบัตร สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือจะเรียก ‘มหาสงครามเอเชียบูรพา’ ฉับพลันอุบัติขึ้น
วิตต์เขียนเล่าไว้ในหนังสือ ตระเวนมนิลาตอนหนึ่งว่า “อสูรสงครามได้ทำลายโอกาสที่จะได้รับปริญญาและทำให้ความฝันหลายอย่างหลายประการพังพินาศไปโดยสิ้นเชิง” ส่วนห้วงยามกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดครองฟิลิปปินส์ วิตต์มิอาจหลีกเลี่ยงเผชิญสภาวะสงครามอันโหดร้ายทุกข์ทรมานก่อนเขาถูกส่งตัวกลับสู่เมืองไทยเมื่อกลางปีพุทธศักราช 2485 และกว่าจะระหกระเหินถึงบ้านเกิดเมืองนอนทุลักทุเลแทบเอาชีวิตไม่รอด
ที่เมืองไทย วิตต์เริ่มทำงานนักหนังสือพิมพ์อย่างจริงจังนับแต่กึ่งทศวรรษ 2480 ไปจนถึงทศวรรษ 2490 ประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แห่งยุคสมัยหลายฉบับ เช่น สุวรรณภูมิ, สุภาพบุรุษ-ประชามิตร เป็นต้นเขายังควบตำแหน่งบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ ชาติไทยรายวัน และ ชาติไทยวันอาทิตย์ วิตต์ผลิตงานเขียนทั้งสารคดี นวนิยาย และเรื่องสั้น ผลงานโดดเด่นมักจะใช้ฉากในประเทศฟิลิปปินส์ที่เขาเคยสูดลมหายใจและเรียนหนังสือช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อันได้แก่ ตระเวนมะนิลา (ลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ประชามิตร ปีพุทธศักราช 2486 จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์เทพไพศาล ราวๆ พุทธศักราช 2487), กุหลาบดำ และ วัยไฟ นอกเหนือจากนี้ พบผลงานชวนเหลียวมองอีกหลายป อย่าง สาวไห้ นวนิยายเรื่องแรกที่ตีพิมพ์ในปีพุทธศักราช 2486 หลังกลับมาจากแดนตากาล็อก, สาวนํ้าเค็ม และ วิญญาณเปลือย
ปัจจุบัน งานเขียนของวิตต์ สุทธเสถียรกลายเป็นหนังสือหายาก อย่างไรก็ดี จำพวกนวนิยายอยู่ในครอบครองของนักเก็บสะสมหนังสือเก่า แต่งานเขียนที่หาได้ยากจริงๆ เห็นจะมิแคล้วเรื่องสั้นของวิตต์ แม้จะเคยมีการนำเรื่องสั้นของเขามารวบรวมพิมพ์เป็นเล่มแล้วก็ตามที ดังปรากฏรายชื่อเรื่องสั้นระบุไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานเมรุ วิตต์ สุทธเสถียร มีจำนวน 12 เรื่อง รวมพิมพ์ในหนังสือตระเวนมนิลาฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์เทพไพศาล ได้แก่ เมื่อคืนขึ้นปีใหม่, คนบาป, คำสารภาพของหญิงชั่ว, ความรักในวสันตฤดู, เวตาลทิ้งไพ่ตาย, คู่รักของฉันคนนี้, โฉมตรูหัวใจอ่อน, วิมานพัง, คลื่นถอยจากหาดทราย, มะม่วงดิบ, เขาออกมาจากห้องของสีดา และ บุปผาในหัวใจ ทั้งยังพบเรื่องสั้นรวมพิมพ์เป็นเล่มชื่อ รุ่นสาวในปีพุทธศักราช 2487 เช่นกัน มีเรื่องสั้นทั้งสิ้น 6 เรื่อง ได้แก่ รุ่นสาว, นิยายรักของวีเซนตัน อองเกา, บาปที่ต้องซ้ำสอง, กระท่อมขอบฟ้า, รางวัลสงคราม และ สุดที่รัก
ช่วงกลางปีพุทธศักราช 2557 ถึงปลายปีพุทธศักราช 2558 ผมเองได้ค้นพบเรื่องสั้นของวิตต์ สุทธเสถียรเพิ่มเติมจากที่ระบุไว้ในหนังสือหนังสืออนุสรณ์งานเมรุอีกหลายเรื่องจากเอกสารชั้นต้นหลายชิ้น ตรวจสอบดูแล้ว ล้วนเป็นเรื่องสั้นที่ยังไม่เคยถูกนำไปรวมพิมพ์ในหนังสือเล่มใดของวิตต์มาก่อนเลย นับเป็นเรื่องสั้นเพิ่งค้นพบใหม่ของวิตต์เลยก็ว่าได้ ซึ่งผมจะลองนำรายชื่อเรื่องสั้นที่ผมได้สัมผัสอรรถรส โดยเฉพาะที่เขาใช้ชื่อจริงเขียนมาแสดงดังนี้ครับ
1. พุทธศาสนิกชนผู้รักสงบ ลงพิมพ์ในนิตยสารประชามิตร ฉบับที่ 188 (18 สิงหาคม 2485)
2. ธิดาลอยตายอยู่ในบ่อ ลงพิมพ์ใน นิตยสารสยามสมัย ปีที่ 1 ฉบับที่ 12 (4 สิงหาคม 2490)
3. ลุลิตากลับจากชายทะเล ลงพิมพ์ในนิตยสารโบว์แดงรายทศ ฉบับที่ 48 (21 พฤศจิกายน 2490)
4. เพราะสมบัติผู้ดี ลงพิมพ์ในนิตยสารโบว์แดงรายทศ
สำหรับคราวนี้ ผมขออนุญาตเน้นกล่าวถึงเพียงเรื่องสั้นที่วิตต์เขียนเกี่ยวกับทหารญี่ปุ่นในเมืองไทย ตอนที่เขาเพิ่งกลับมาจากฟิลิปปินส์หมาดใหม่
‘พุทธศาสนิกชนผู้รักสงบ’ ถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งกำลังจะโดยสารเรือจากท่าเตียนไปเยี่ยมแม่ซึ่งป่วยหนักที่ปากเกร็ด เมืองนนทบุรี หากเขากลับถูกทหารญี่ปุ่นขี้เมาเดินโซซัดโซเซเข้ามาหาเรื่องและพยายามรังแก เด็กหนุ่มส่งเสียงร้องลั่นให้บรรดาคนไทยบนเรือช่วยเหลือ ทว่าทุกคนกลับนิ่งมองเหตุการณ์อยู่เฉยๆ ไม่มีใครช่วยเลย ได้แต่จ้องมองสถานการณ์อย่างเดียว เด็กหนุ่มวิ่งหนีทหารญี่ปุ่นตั้งแต่หัวเรือไปจนถึงท้ายเรือ จวบจนเขาหนีไปแอบในห้องน้ำท้ายเรือและถูกล้อมจนมุม จึงบอกทหารญี่ปุ่นว่าอย่าเข้ามานะ เขามีมีด ถ้าเข้ามาเขาจะแทงจริงๆ ทหารญี่ปุ่นมีหรือจะยอมหยุด ยิ่งเข้ามาราวีเขาอีก เด็กหนุ่มตัดสินใจป้องกันตัวด้วยการใช้มีดแทงทหารญี่ปุ่นตาย ท้ายที่สุดเขาถูกตำรวจจับกุม ขณะคนไทยบนเรือซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพุทธศาสนิกชนผู้รักสงบก็ยืนมองเฉยๆ
เอาล่ะ ลองดูสำบัดสำนวนนักเขียนสักหน่อยเถอะ วิตต์เปิดเรื่องว่า
“ขาสั้น อกสามศอก หัวโล้น เมาเปนบ้า และพูดไทยได้— เจ้าทหารญี่ปุ่นคนนั้น มันกำลังไม่ชอบชตาเด็กหนุ่มผู้หนึ่งที่ท่าเตียน ความจริง, น่าจะกล่าวว่าความเมาของมันทำให้มันขวางหูขวางตาไม่ว่าอะไรมากกว่า แต่บังเอิญมาจำเพาะเจาะจงเด็กหนุ่มที่น่าสงสารคนนี้เข้า เวลานั้นเปนเวลาที่ผู้คนกำลังรอเรือออกไปปากเกร็ด ถ้ามันไม่เมาอย่างคลั่งไคล้เช่นนี้แล้ว ก็คงไม่มีใครผิดสังเกต เพราะทหารขาสั้น หัวโล้น ชาติญี่ปุ่นมีอยู่ทั่วไปทั้งกรุงเทพฯ เวลายิ่งผ่านไป ประชาชนคนโดยสารยิ่งสงสารเห็นใจเด็กหนุ่มเจ้ากรรมนั้นยิ่งขึ้น แต่ไม่มีใครบังอาจยื่นมือเข้าเกี่ยวข้อง (โดยเฉพาะกรณีย์เกี่ยวกับทหารของสมเด็จพระจักรพรรดิ) เด็กผู้ถูกรบกวนรังแกจึงยิ่งรู้สึกกลัวลานขึ้นทุกที”
อย่างที่บอกแหละครับว่าเด็กหนุ่มนั้น “เขาพยายามไปยืนแทรกอยู่ในหมู่พวกเราคนไทยด้วยกัน แต่เจ้าญี่ปุ่นยังตามไปผลักไส แสยะปากพูดภาษาไทยกระท่อนกระแท่นว่า “หลีกไป ไปให้พ้นทหารของพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อกูขึ้นบกที่ประจวบ พวกมึง หน้าตาอย่างมึง เกะกะกีดขวางพวกกูนัก หลีกไป อ้ายถ่อย !”
ตลอดทั้งเรื่อง สถานการณ์บนเรือที่หมายแล่นลำสู่ปากเกร็ดอลหม่านชุลมุนไม่ใช่น้อย กระทั่งนำไปสู่จุดสูงสุดของเรื่องคือ
เด็กหนุ่มกำมีดกระชับผลักประตูเปิดผางออก และพยายามวิ่งตัดหน้าทหารญี่ปุ่นไป แต่มันคว้าไหล่เขากระชากจนแขนเสื้อขาด มันก้าวชิดเข้ามาทำท่าจะจับฟาดยูโด เด็กหนุ่มเสียหลักเซแม้กระนั้นก็ดีมือขวาของเขาพุ่งจ้วงเข้าตรงชายโครงเจ้าญี่ปุ่นสุดแรงเกิด ใบมีดแหลมกระทบกับกระดูกเบื้องในเสียงดังชัด มันสดุ้งสุดตัวร้องเสียงหลงเหมือนหมูถูกทุบหัว พร้อมกับมืออันสกปรกและหยาบกระด้างทั้งคู่ของมันคว้าคอเขาไว้แล้วบีบกระชับเข้า ใบมีดพุ่งกระหน่ำเข้าแถบชายโครงอีกจนนับครั้งไม่ถ้วน
รวมถึงจุดจบที่น่าสะเทือนใจ วิตต์ปิดเรื่องด้วยภาพของเด็กหนุ่มตอนถูกตำรวจจับแล้วหันมาทางผู้โดยสารบนเรือ ใบหน้านองด้วยน้ำตา
“ผมไม่ได้ตั้งใจฆ่าเขา” เด็กหนุ่มรำพรรณ “ทำไมพวกท่านจึงไม่ช่วยห้ามปรามเขาไว้? ทำไมถึงปล่อยเขารังแกผมอย่างหมากลางถนน? ท่านก็รู้อยู่ว่าเขาเมาเกะกะ ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำอันตรายอะไรเขาเลย แต่เขาไม่ยอมปล่อยให้ผมไปดีๆ เขากระชากเสื้อผม บีบคอผม ผมได้บอกแล้วว่าผมมีมีด ให้เขาไปให้พ้น ม่ายงั้นจะถูกแทง ญี่ปุ่นคนนี้ก็เข้าใจภาษาไทยดี ทำไมท่านไม่ช่วยอธิบายให้เขาฟัง? ผมกำลังจะไปเยี่ยมคุณแม่ที่เมืองนนท์ ท่านเจ็บหนัก พวกท่านคิดหรือว่าผมต้องการมีเรื่องเมื่อคุณแม่ผมเจ็บหนักอยู่? ทำไมพวกท่านไม่ช่วยห้ามปรามเขาไว้—”

นิตยสารประชามิตร เล่มที่เรื่องสั้น ‘พุทธศาสนิกชนผู้รักสงบ’ ลงพิมพ์
ความน่าสนใจของเรื่องสั้นนี้อยู่ตรงที่สะท้อนให้เห็นทัศนคติต่อพวกทหารญี่ปุ่นของวิตต์ สุทธเสถียร จำกันได้ใช่ไหม วิตต์เป็นนักเรียนฟิลิปปินส์แล้วเผอิญไม่ทันเรียนจบ กองทัพญี่ปุ่นพลันบุกยึดครองมะนิลา คนหนุ่มจากเมืองไทยได้รับความทุกข์ยากลำบากเหลือหลาย เขาพรรณนาบรรยากาศและเหตุการณ์ไว้ละเอียดลออในเรื่องตระเวนมะนิลานำเสนอความโหดร้ายของพวกทหารญี่ปุ่น โดยเขาได้พบครั้งแรกที่ถนนริซาล
กาลครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้ากำลังตุหรัดตุเหร่ไปตามถนนรีซาล เห็นทหารเตี้ยสามคนเดินเข้าไปหาเด็กหนุ่มฟิลิปิโน ซึ่งกำลังเร่ขายนาฬิกาข้อมืออยู่ข้างถนน
“อีกูร่ะเด็สก่ะ?” (เท่าไหร่?) มันถาม
เด็กทำมือห้าสิบ
“ตาไก!” (แพง!) มันร้อง
โดยปราศจากเหตุผล เจ้าคนหนึ่งใช้ดาบปลายปืนจ้วงเข้าที่หัวไหล่ ! นี่-เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้ารู้จักญี่ปุ่น
แค่ครั้งเดียวเสียที่ไหนล่ะ มีอีกหลายครั้งหลายหน ไปดูกันต่อเลย
ครั้งที่สอง–ข้าพเจ้ากลับมาจากไปฟังข่าวที่สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทย ถนนเดลพิล่าร์ กำลังข้ามสะพานซันตากรู๊ส เห็นคนยืนมุงเต็มราวสะพานร้อง “นากุ๊ ! วัวลังเฮียะ !” พลางโคลงหัวไปมาเป็นแถว ผู้หญิงบางคนถึงกับเดินปิดหน้าหนี จึงแหวกคนชะโงกหน้าไปดู
ที่เขื่อนทหารญี่ปุ่นหมู่หนึ่ง กำลังกระทืบหน้าผู้ชายคนหนึ่งอยู่ ผู้เคราะห์ร้ายถูกเตะลงไปในแม่น้ำ ตะกุยตะกายขึ้นมาเกาะเขื่อน ก็ถูกส้นรองเท้าเตะหน้าลงไปอีก เหตุการณ์เป็นเช่นเดิมอีกไม่กี่ครั้ง ต่อหน้าข้าพเจ้าและฝูงชนที่ยืนดู เขาผู้นั้นได้จมหายไปกับตา เหลือแต่ฟองน้ำเดือดพรายเท่านั้น-!
และ “ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าเห็นทหารคุมการจราจรที่สี่แยกถนนรีซาลกับเอสการะก้า เอาแส้ตีม้าหวดหน้าคนขับรถ เพราะชักม้าหยุดตอนป้ายแดงไม่ทัน”
นอกเหนือจากที่วิตต์เจอเต็มตาตนเอง เขายังยินฟังคำบอกกล่าวความโหดร้ายทารุณของทหารจากแดนอาทิตย์อุทัยนับครั้งไม่ถ้วน
เช่น “การปลุกปล้ำทำอนาจารนิสิตสาวมหาวิทยาลัยทั้งคันรถ ขณะที่พวกเธอนั่งรถขนส่งอพยพหลบหนีไปต่างจังหวัด” รวมถึง “การทรมานเชลยศึกอเมริกันที่สนามบินนิโคลส์จนเชลยศึกหลายคนพยายามหลบหนี โดยเอาชีวิตเข้าแลก บ้างเสียจริต บ้างพยายามกระโดดเอาหัวชนกำแพงเพื่อให้คอหักตาย ท่านนึกบ้างไหมว่าในโลกนี้มีมนุษย์ที่ยอมพลีแขนขาให้รถตู้หนักๆ ทับ พวกเชลยอเมริกันมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว เขาพยายามเสือกไสรถตู้ขนาดหนัก 2 ตันให้เคลื่อนไปตามราง แล้วเอาแขนขาเข้าไปวางรออยู่บนรางนั้น แม้นจะเจ็บปวดสาหัสประการใดก็ตาม แต่การถูกส่งตัวไปอยู่คุก บีลิบิด ซึ่งดัดแปลงเป็นโรงพยาบาล ซึ่งมีการรักษาพยาบาลอย่างเลวเต็มทน ก็ยังดีกว่าเป็นเชลยที่ต้องทำงานเป็นไหนๆ”
ไม่แปลกหรอกที่พอวิตต์หวนกลับมาเมืองไทย เขาคงอึดอัดต่อการที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้พวกทหารญี่ปุ่นเข้ามาเดินขวักไขว่เต็มเมืองหลวง ทำให้ลงมือเขียนเรื่องสั้น ‘พุทธศาสนิกชนผู้รักสงบ’ ออกเผยแพร่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2485 ถัดต่อมาก็เขียน ตระเวนมะนิลา ลงพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์หัวชื่อเดียวกันราวๆ ปีพุทธศักราช 2486 ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์กองทัพญี่ปุ่นอย่างเจ็บแค้น งานชิ้นหลังนี้ถูกเซ็นเซอร์ด้วย เพราะรัฐบาลไทยตอนนั้นเข้าร่วมกับกองทัพญี่ปุ่น จึงเกรงว่านายทหารแดนอาทิตย์อุทัยจะไม่สบายใจถ้าเห็นงานเขียนแสดงเนื้อหาโจมตีญี่ปุ่น
ที่จริง สิ่งที่วิตต์ฉายภาพไว้ในเรื่องสั้นสอดคล้องกับการที่ชาวไทยถูกทหารญี่ปุ่นคุกคามรังแกในหลายลักษณะด้วยกัน ดังเสียงเล่าของสละ ลิขิตกุล ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ยุคสมัยนั้น
“คนไทยโดนข่มเหงน้ำใจเยอะ บางคนถูกจับไปเอาธูปจี้ กินน้ำมันก๊าด เอาไปฝังครึ่งตัวหล่อซีเมนต์ก็มี ถ้าญี่ปุ่นสงสัยว่าเป็นพวกฝรั่ง เขาจับหมด พวกหนังสือพิมพ์โดนจับไปหลายคน ผมเองก็เคยหนี เคยปีนโรงพิมพ์หนีก็มี เพราะญี่ปุ่นเข้ามาอาละวาด ไม่รู้ใครเป็นใคร…ทหารญี่ปุ่นที่เลวๆ ในกรุงเทพฯ เยอะเลย พวกเกะกะ ลงจากรถไฟมาก็เมาแอ๋ แล้วเที่ยวไล่ปล้ำชาวบ้านก็มี เห็นตำหูตำตาแต่ทำอะไรไม่ได้”
จะว่าไป การแลเห็นทหารญี่ปุ่นรังแกชาวบ้านตำตา แล้วคนไทยไม่ได้เข้าช่วยเหลืออะไรดูเหมือนจะเป็นความปกติในช่วงเวลานั้นกระมัง คงเพื่อเลี่ยงปัญหาและความอยู่รอดในชีวิตประจำวันนั่นล่ะ คนไทยจึงเลือกนิ่งเฉยเสียดีกว่า
หากโดยสำนึกความเป็นนักเขียน วิตต์ สุทธเสถียรซึ่งพยายามอาศัยเครื่องมือเรียกว่า ‘วรรณกรรม’ สร้างผลงานต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นและต่อต้านนโยบายรัฐบาลยุคนั้นด้วยกลายๆ เขายังอดมิได้ที่จะตั้งคำถามเชิงเสียดเย้ยคนไทยด้วยกัน ทำนองว่าทุกคนบนเรืออดทน ‘อุเบกขา’ อยู่ได้อย่างไรที่ให้เด็กคนหนุ่มเผชิญหน้ากับทหารญี่ปุ่นตามลำพัง นั่นเพราะ “ทุกคนในเรือลำนั้นเห็นเหตุการณ์ใกล้ชิดตลอดเวลา แต่ทุกคนไม่ได้หายใจหรือกระดุกกระดิกเคลื่อนไหวประการใดเลย”
ที่ผมหยิบยกมาสาธยายทั้งหมด คือภาพความเป็น ‘พุทธศาสนิกชนผุ้รักสงบ’ บนเรือจอดเทียบท่าเตียนผ่านมุมมองนักประพันธ์เมื่อเกือบ 80 ปีก่อน แล้วคุณผู้อ่านทั้งหลายแห่งยุคสมัยปัจจุบันนี้ล่ะครับ คิดเห็นต่อประเด็นเหล่านี้เยี่ยงไรบ้าง!
อ้างอิงข้อมูลจาก
- นายตำรา ณ เมืองใต้. ‘ความหมายของสำนวนสะวิง.’ อักษรสาส์น 1,ฉ.1 (เมษายน 2492). หน้า 70-75
- ’รงค์ วงษ์สวรรค์. พูดกับบ้าน.พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ฟรีฟอร์ม, 2553
- วิตต์ สุทธเสถียร. ‘พุทธศาสนิกชนผู้รักสงบ’ใน ประชามิตร, ฉ. 188 (18 สิงหาคม 2485). หน้า 6, 19 และ 20
- โสภิดา วีรกุลเทวัญ. ตามรอยหญิงบำเรอกามในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง.เชียงใหม่: ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544
- อนุสรณ์งานเมรุวิตต์ สุทธเสถียรณ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2533. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ด่านสุทธา, 2533