หนังสือปกสีชมพูอ่อนๆ มีภาพชายค่อนข้างชราสวมเสื้อสีฟ้าและนุ่งผ้าสีเหลืองทองกำลังนั่งเท้าคางอยู่โปรยชื่อเรื่องแกะปมจินตนภาพ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม ผู้เขียนคือ บุญพิสิฐ ศรีหงส์ ก็หนังสือเล่มนี้แหละครับ ฉุดอารมณ์ให้ผมหวนระลึกถึงเรื่องอ่านเล่นสั้นๆ เรื่องหนึ่งซึ่งเคยอ่านมาเมื่อเกือบสี่ปีก่อน (ปลายปีพุทธศักราช 2557) ทว่าความสนใจของผมย่อมมิแคล้วแตกต่างไปจากคุณบุญพิสิฐ เนื่องเพราะผมมุ่งมั่นตามแกะรอยเรื่องราวของผู้เป็นบุตรเยี่ยงนาย ก.ห. ชาย หรือ นายชาย ตฤษณานนท์ เสียมากกว่าผู้เป็นบิดาเยี่ยงนาย
หากผมมัวสาธยายแค่เรื่องราวของลูกชายล้วนๆ โดยมิกล่าวพาดพิงพ่อผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยแล้ว อาจเสมือนการประกอบอาหารที่ลืมปรุงแต่งอรรถรสเอร็ดอร่อย ผมจึงอดมิได้หรอกที่จะต้องแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับ ก.ศ.ร. กุหลาบอย่างย่อๆ คร่าวๆ ให้ทุกท่านล่วงรู้สักนิด เขาคือใคร? และเขาทำอะไรไว้?
คุณผู้อ่านคงพอจะแว่วยินมาบ้างถึงที่มาของคำว่า ‘กุ’ ในสังคมไทย จะใครเสียอีกล่ะถ้ามิใช่ ก.ศ.ร. กุหลาบ หรือชื่อเต็มๆ ในยุคสมัยคนไทยมีนามสกุลใช้คือ กุหลาบ ตฤษณานนท์ เหตุที่พฤติกรรมของเขากลายเป็นต้นกำเนิดของคำนี้ กล่าวคือ ช่วงทศวรรษ 2440 นายกุหลาบออกหนังสือพิมพ์รายเดือน สยามประเภทนำเสนอเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งมักเป็นเรื่องแปลกๆ ไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน ส่งผลให้นักอ่านพากันตื่นเต้นและนิยมตามอ่านงานเขียนของเขา มิพักต้องสงสัยว่า สยามประเภทจะขายดีเทน้ำเทท่า อย่างไรก็ดี เริ่มมีผู้อ่านบางส่วนรู้สึกเคลือบแคลงและตั้งข้อสังเกตว่านายกุหลาบไปเอาข้อมูลจากไหนมาเขียนกันแน่?
ย้อนไปยังทศวรรษ 2420 คราวหนึ่งในงานสมโภชพระนครครบรอบ 100 ปี ณ ท้องสนามหลวง มีผู้นำข้าวของต่างๆ มาจัดแสดงรูปแบบพิพิธภัณฑ์ อันได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ กระทั่งชาวบ้านทั่วไป ก.ศ.ร. กุหลาบคือคนที่นำหนังสือของตนมาร่วมอวดในงานเช่นกัน บังเอิญว่าซุ้มของเขาใกล้เคียงกับซุ้มจัดแสดงหนังสือเก่าซึ่งกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณนำมาจากหอหลวงและกรมอาลักษณ์ ครั้น ก.ศ.ร.กุหลาบเห็นเข้ามิอาจทนหักห้ามความสนใจใคร่อยากอ่าน เขาจึงพากเพียรอ้อนวอนกรมหลวงท่านเพื่อขออนุญาตคัดลอก
อ้อ! ถ้าใครเคยท่องบทอาขยาน “สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน. ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม. กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม. อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม” โปรดทราบเถอะครับ เป็นพระนิพนธ์ในกรมหลวงท่านนี้แหละ
เสร็จสิ้นงานสมโภชพระนคร นายกุหลาบยังตามไปเฝ้าขอคัดลอกถึงวังของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณอีก ซึ่งก็ไม่ทรงยินยอมเพราะเป็นหนังสือห้ามคัดลอกเด็ดขาด กระนั้น ก.ศ.ร. กุหลาบหาได้ลดละความพยายาม จึงออกอุบายขอหนังสือไปอ่านเพียงครั้งละเล่มจนที่สุดได้รับอนุญาต แต่เขากลับไปจ้างคนช่วยคัดลอกเนื้อหาหนังสือเหล่านั้นไว้จำนวนมาก และอาจเพราะความที่เกรงกลัวใครจะล่วงรู้ว่าไปเอาข้อมูลมาจากหนังสือหวงห้าม นายกุหลาบดัดแปลงสำนวนภาษารวมถึงแทรกเสริมเติมแต่งเสียเองหลายจุด ทว่าภายหลังกลับมีผู้จับผิดได้ พร้อมๆ กับคนรับจ้างคัดลอกยอมสารภาพหมดเปลือก งานเขียนลงพิมพ์ สยามประเภท และผลงานหนังสืออื่นๆ ของ ก.ศ.ร. กุหลาบเลยมิพ้นถูกตีตราว่าเป็น ‘เรื่องกุ’ ยิ่งเฉพาะในสายตาชนชั้นนำ โดยขานเรียกตามชื่อผู้เขียน ถ้อยคำนี้ตกทอดจวบปัจจุบันในความหมายเอ่ยอ้างถึงเรื่องหลอกๆ แต่งขึ้นมาเอง มิหนำซ้ำ การที่ ก.ศ.ร. กุหลาบพยายามนำเสนอเนื้อหาทางประวัติศาสตร์แปลกๆ ยังทำให้เขาเคยถูกส่งตัวไปอยู่โรงพยาบาลบ้า
ข้อมูลชีวประวัติที่ ก.ศ.ร. กุหลาบเขียนขึ้นเองระบุว่าบิดาของเขาชื่อ เส็ง มีเชื้อสายจีน ส่วนมารดาชื่อตรุษ มีเชื้อสายลาวทางฟากเวียงจันทน์ ขณะตัวอักษรย่อนำหน้าชื่อ ‘ก.ศ.ร.’ มาจากฉายา ‘เกศโร’ ตอนเขาบวชพระ ทางด้านชีวิตครอบครัว ตอนอายุ 25 ปี กุหลาบได้สมรสกับแม่หุ่น ธิดาของพระพี่เลี้ยงคง ทั้งสองร่วมเรียงเคียงหมอนจนมีบุตรธิดาด้วยกัน 9 คน เป็นผู้หญิง 8 คน และมีลูกชายคนเดียวซึ่งก็คือ นายชาย หรือ ก.ห.ชาย
ก.ศ.ร. กุหลาบใช่จะครองรักเมียคนเดียวเสียเมื่อไหร่ เมื่อแม่หุ่นหยุดลมหายใจอำลาโลก เขามีเมียใหม่ชื่อแม่เปรม แล้วตอนหลังก็ยกเมียให้คนงานในโรงพิมพ์ไป แค่เมียสองคนไม่หนำใจ ระดับเอดิเตอร์หนังสือพิมพ์ สยามประเภท ทั้งทีย่อมเจ้าชู้เกินกว่าคาด เขาเขียนเล่าเรื่องตัวเองไว้ในหนังสือตำราไหว้พระสวดมนต์ ที่พิมพ์แจกในการทำบุญวันเกิดอายุครบ 80 ปี
“ตัวเราเองเกิดมาจำความได้ว่า อายุเราตั้งแต่ ๑๐ ขวบ ประจวบเถิงอายุเราได้ ๘๐ ปี จนเถิงเมื่อศก ๑๓๐ ปี (๒๔๕๕) นี้ เราไม่เมื่อย เราไม่มีเหนื่อย เราไม่มีป่วย เราไม่มีเจ็บหนักพักใหญ่ หามิได้สักครั้งเดียว ในระหว่าง ๗๐ ปี สังขาระขันธ์ของเรา มีบริบูรณ์พร้อมคือตาเปล่าสนเข็มได้ไม่ต้องสวมแว่นตา หูได้ยินมาแต่ไกลได้ถนัดชัดเจน ฟันเกณฑ์ให้เคี้ยวอาหารแข็งได้ทุกสิ่ง เรี่ยวแรงมีจริงทั้งกำลังวังชาสมบูรณ์ กุศลอุดหนุนให้ยกของหนักไหวอย่างคนหนุ่มทำได้ เดินหนทางไกลวันละพันเส้นไม่เหนื่อย ไม่ล้า เดินเร็วกว่าคนหนุ่ม ร่างกายยังกระชุ่มกระชวย ดั่งนี้นับว่ามีสังขารประหลาดอัศจรรย์เพราะเรารักษากุศลอนันตทัศกรรมบถของพระทศพลญาณ จึงสำราญร่างกายสังขารปกติ ยังซ้ำอุตริมีบุตรอ่อนๆคลอดใหม่ในเร็วๆนี้อีก ๒ คน นับว่าสับประดนมีบุตรหญิง ๒๐ คน มีบุตรชายคนเดียวเท่านั้น ยังข้อสำคัญที่มีภรรยาเถิง ๑๐ คน มีบุตรด้วยกันเถิง ๒๐ คน”
ถ้าอายุ 80 ก.ศ.ร.กุหลาบมีเมียมาแล้ว 10 คน ผ่านมาอีก 4 ปี เขาแต่งงานใหม่อีกหน ซึ่งหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ฉบับประจำวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2459 ลงข่าวเย้าหยอกทำนอง
“เราทราบข่าวว่า ท่านอาจารย์ ก,ศ,ร,กุหลาบ อายุ ๘๔ ปี กับแม่ชม อายุ ๓๐ ปี ได้แต่งงานการวิวาหะมงคลเปนสามีภรรยากันแล้วเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เรายินดีที่จะให้พรว่าขอให้สามีภริยาคู่นี้มีความเจริญ ขอแถมท้ายให้พรอีกว่าขอให้มีบุตรอีกคน ๑ เปนนัมเบอร์ที่ ๒๒ ต่อตระกูลบิดา ด้วยท่านเคยมีบุตรแล้ว ชาย ๑ หญิง ๒๐”
ในบรรดาลูกๆ ทั้งหมด มีอยู่สองคนปรากฏชื่อเสียงเรียงนามคุ้นสายตานักอ่าน นั่นคือ ก.ห.ชาย และ แม่ ก.ห. สายสร้อย ตัวอักษรย่อ ก.ห. มาจากชื่อของผู้เป็นบิดามารดาอันได้แก่ กุหลาบ และ หุ่น ดังเกริ่นไปแต่แรกแหละครับว่าผมปรารถนาจะทำความรู้จักนาย ก.ห. ชายยิ่งนัก แม้เรื่องราวของเขาจะหาอ่านยากก็ตามที
แท้จริง ชีวประวัติอย่างละเอียดลออของ ก.ห. ชายนั้น ผมเคยแกะรอยพบว่าจะมีอยู่ในหนังสือต้นเหตุพระสงฆ์ห่มแหวกห่มคลุม ผลงานของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกสุด เมื่อปี ร.ศ. 121 (ตรงกับพุทธศักราช 2445) โดยโรงพิมพ์ผดุงพันธุ์สรรพพัฒน์ อันเป็นหนังสือระลึกถึงแม่สายสร้อย ธิดาของนายกุหลาบ น่าเสียดายที่ผมเองเคยอ่านหนังสือเรื่องนี้ฉบับพิมพ์ครั้งหลังๆ ซึ่งมิได้บอกเล่าถึง ก.ห. ชายเท่าไหร่ สำหรับคนหนึ่งที่เคยเจอนาย ก.ห. ชายแน่ๆ คือ ส.ธรรมยศ นักคิดนักเขียนสำคัญของไทย ในปีพุทธศักราช 2479 เขาได้ไปสัมภาษณ์นายชาย ตฤษณานนท์ที่ตอนนั้นประกอบอาชีพทนายความ
บทบาทของ ก.ห.ชาย ทางด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์น่าสนอกสนใจมิใช่น้อย ระหว่างปี ร.ศ. 117-120 (ตรงกับปีพุทธศักราช 2441-2444) ก.ห. ชาย เคยทำหน้าที่บรรณาธิการฝ่ายไทยของหนังสือพิมพ์ บางกอกไตม์หลังจากผู้ช่วยบรรณาธิการคนเดิมลาออก เป็นไปได้ว่าเขาคงนำบทความของบิดาไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นี้ด้วย ขณะผลงานสำคัญชื้นหนึ่งของเขาคือเป็นผู้ช่วยสอบทานเนื้อหางานเขียนประวัติลำดับวงศ์ตระกูล ก.ศ.ร. กุหลาบ ของบิดาที่ตีพิมพ์ในสยามประเภทเมื่อปี ร.ศ. 123(ตรงกับปีพุทธศักราช 2445) แต่ครั้นพอ ก.ห. ชาย ลาออกจากตำแหน่งเอดิเตอร์หนังสือพิมพ์ ดูเหมือนไม่ค่อยพบหลักฐานระบุว่าลูกชายนายกุหลาบไปพัวพันแวดวงสิ่งพิมพ์ลักษณะใดอีก ที่พบข้อมูลบ้างก็ตอนเขาจัดทำหนังสืองานฌาปนกิจศพของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ณ วัดสระเกศกลางทศวรรษ 2460 กระทั่งผมบังเอิญค้นพบเรื่องอ่านเล่นสั้นๆ เรื่องหนึ่งชื่อ ‘เตะส่งเดช’ ซึ่งนาย ก.ห.ชาย ใช้นามแฝง ช. ตฤษณานนท์เขียนขึ้น ลงตีพิมพ์ใน สารานุกูลปีที่ 2 เล่ม 74 ประจำวันที่ 9 กรกฎาคม พุทธศักราช 2470 ระหว่างหน้า 2421-2426 เริ่มเรื่องย่อหน้าแรกสุดว่า
“กระบวนหญิงสาวสวยๆในย่านบางตะพดด้วยกันแล้วเปนไม่มีใครแข่ง แม่บานเย็น สมสมัยได้ หล่อนสวย-สวยพอที่จะชักให้พ่อหนุ่มมาลุ่มหลงได้ง่ายๆทีเดียว หล่อนเปนบุตรีของท่านมาก สมสมัย คนมั่งมีในย่านบางตะพดด้วยเหมือนกัน ชาวบ้านร้านตลาดพากันนับถือยำเกรงไม่กล้ามีใครมายุ่มย่ามด้วย แต่มีพ่อเจ้าชู้ที่ทนไม้มากล้าตอมแม่บานเย็นอยู่บ้างเหมือนกัน ในจำนวนพวกเจ้าชู้นี้มีคนที่มีหวังอยู่สองคน คือทิดโม้ เกลือจืด และทิดหนอน ใจเย็น คนทั้งสองนี้เปนผู้ที่แก่งแย่งเอาหน้าเอาตากันมานักต่อนักแล้ว ทุกๆสิ่งที่บิดาและตัวของแม่บานเย็นจะต้องการอไรแล้ว พ่อทิดทั้งสองเปนตะเกียกตะกายมาจนได้ เว้นแต่ดาวกับเดือนเท่านั้น”
ก.ห. ชายบรรยายต่อถึงเย็นวันหนึ่ง ขณะทิดโม้กำลังสูบบุหรี่ ‘สะพานโพ’ อยู่นอกชานเรือนพร้อมนั่งคิดหาวิธีจะแย่งชิงแม่บานเย็นจากทิดหนอนมาเป็นภรรยาของตน ฉับพลันทันใด เด็กจี๊ดก็วิ่งพรวดขึ้นมาและเอาจดหมายแม่บานเย็นมามอบให้ คืนนั้น พอนาฬิกาตี 11 ที ทิดโม้ตระเตรียมไม้ตะพดไปเดินยังบ้านของแม่บานเย็น แอบซุ่มอยู่ใต้ถุนเรือน ผ่านมาราวชั่วโมงเศษๆ ทิดโม้กำลังมีอาการครึ่งหลับครึ่งตื่นๆ ก็รู้สึกเหมือนถูกไม้ตะพดหวดบนกลางหลัง จึงหันไปใช้ไม้ตะพดหวดยังใบหน้าของอีกฝ่าย กลายเป็นว่าท่ามกลางความมืดมืด มีคนสองคนกำลังหวดไม้ตะพดตีกัน ปลุกปล้ำชกต่อย และฉุดลากกันไปมาอย่างชุลมุน ต่างฝ่ายต่างล้มลุกคลุกคลานเป็นเวลาสักครู่ใหญ่ จวบจนเมื่อทั้งสองกลิ้งเกลือกไปถึงตรงจุดที่มีแสงสว่างแวบมา ทิดโม้ก็จำได้ว่าเขากำลังพันตูอยู่กับทิดหนอนพร้อมกับร้องทักด้วยน้ำเสียงเกือบจะขาดใจ ทิดหนอนได้ยินฟังและล่วงรู้ว่าเป็นพี่ทิดโม้เลยผ่อนเรี่ยวแรงและยับยั้งหมัดกระหน่ำต่อยตี พร้อมอ้างความเข้าใจผิดเนื่องจากคิดว่าทิดโม้เป็นขโมย สอบถามระหว่างกันจึงทราบความ ดังที่ทิดหนอนเอื้อนเอ่ย “ฉันได้รับจดหมายจากแม่บานเย็น ให้มาจับขะโมยคืนนี้ นี่ไงล่ะ จดหมายอ่านดูซี” และทิดโม้ตอบกลับ “อูว๊ะ, ข้าก็ได้เหมือนกันนี่หว่า เอ้า อ่านดูซี” กว่าสองชายเจ้าชู้จะคุยกันรู้เรื่องจนพูดเป็นเสียงเดียวกันทำนอง“ สุก เราถูกผู้หญิงต้มเสียแล้ว!” ทั้งทิดโม้และทิดหนอนต้องอาศัยพื้นดินเป็นที่นอนเจ็บปวดตลอดคืน แล้วผู้ประพันธ์จึงปิดเรื่องย่อหน้าสุดท้ายว่า
“ในที่สุดคนทั้งสองนี้ ได้ผลลัภอย่างใดท่านผู้อ่านคงเดาถูก ถ้าไม่ถูกข้าพเจ้าผู้แต่งจะไขปัญหาให้คือ พี่ทิดทั้งสองได้ถูกส่งไปรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลพร้อมกัน!”
อุ๊ย อุ๊ย!เกือบลืมไป คุณผู้อ่านคงอยากทราบเนื้อความจดหมายที่ทั้งสองพี่ทิดได้รับจากแม่บานเย็น งั้นลองดูเถอะครับ
ถึง พี่ทิด ทราบ
มีคนมาบอกฉันว่า คืนนี้จะมีผู้ร้ายขึ้นบ้าน ฉะนั้นถ้าพี่ทิดยังรักและกรุณาต่อฉันแล้ว ฉันขอให้พี่ทิดมาซุ่มคอยจับทีเถิด และอย่าเอะอะให้ใครรู้ด้วย อย่าลืมนะ เวลา ๒ ยามกว่าๆ มาให้ได้จะขอบใจมาก
จากฉัน.
บ.ย.
เรื่องอ่านเล่นของ ช. ตฤษณานนท์ย่อมจัดเข้าข่ายวรรณกรรมแบบ ‘หัสนิยาย’ ที่มุ่งเน้นความตลกขบขัน หากมองบริบทงานเขียนร้อยแก้วตามหน้ากระดาษสื่อสิ่งพิมพ์ในสังคมสยามนับแต่ช่วงทศวรรษ 2410 เป็นต้นมา ก็จะพบ ‘เรื่องอ่านเล่น’ เชิงขบขันเสียส่วนใหญ่ และมิอาจปฏิเสธว่าได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมล้อเลียนขบขันยุควิกตอเรียน (Victorian Period) อันแพร่กระจายมาสู่แวดวงหนังสือประเทศสยาม
ช่างน่าติดตามเหลือเกินว่านายชาย หรือ ช. ตฤษณานนท์ สร้างสรรค์ผลงานเขียนชิ้นอื่นๆ อีกมากน้อยเพียงไร การเจอเรื่องอ่านเล่น ‘เตะส่งเดช’ และนำมาบอกเล่าสู่คุณผู้อ่านคราวนี้ ผมจึงหาใช่แค่เขียนส่งเดชให้พ้นๆ ไป แต่จงใจจะยึดเป็นหมุดหมายสำคัญมุ่งสืบค้นชีวประวัติโลดแล่นของบุตรชาย ก.ศ.ร. กุหลาบให้กระจ่างชัดเจนขึ้น
หาก ก.ศ.ร. กุหลาบเป็นที่รำลือในฐานะ ‘นักกุเรื่อง’ คนสำคัญในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยแล้ว ฉะนั้น ลูกชาย ‘ยอดนักกุ’ เยี่ยง ก.ห. ชาย หรือนายชาย ตฤษณานนท์ อาจพอจะถูกเรียกขานเป็น ‘คนตลก’ ได้บ้างกระมัง
อ้างอิงข้อมูลจาก
- ใกล้รุ่ง อามระดิษ. ร้อยแก้วแนวขบขันของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533
- ช. ตฤษณานนท์. ‘เตะส่งเดช’ในสารานุกูล 2, ล.74 (9 กรกฎาคม 2470). หน้า 2421-2426
- บุญพิสิฐ ศรีหงส์. แกะปมจินตนภาพ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยามกรุงเทพฯ: มติชน, 2560
- ปียกนิฏฐ์ หงษ์ทอง. สยามสนุกข่าว.กรุงเทพฯ : กัญญา, 2531
- ส.พลายน้อย. เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต 2. กรุงเทพฯ : ฅอหนังสือ, 2546