รู้ไหม? คนไทยทุกคนล้วนแต่เป็นเจ้าของสิ่งสิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครมองเห็น สิ่งนั้นไม่ใช่วิญญาณผีบ้านผีเมืองอะไรหรอกนะ แต่มันคือ “คลื่นความถี่”
ที่ล่องหนผ่านตึกราบ้านช่อง หรือกระทั่งผ่านตัวเรานั่นเอง ซึ่งเดาว่าหลายคนคงอยากจะรู้ว่า แล้วคลื่นความถี่ที่ว่านี้ สรุปมันคืออะไรกันแน่ เพราะที่ผ่านมา มีแต่คนเล่าด้วยศัพท์แสงที่เข้าใจยากเหลือเกิน งั้นลองมาอ่านแบบง่ายๆ กันดู
คลื่นความถี่ คืออะไร?
“คลื่นความถี่” ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามันเป็นคลื่น ดังนั้นมันจึงมีลักษณะขึ้นและลง มีไล่ตั้งแต่คลื่นความถี่ที่ต่ำจนคลื่นความถี่ที่สูง โดยคลื่นความถี่ถูกนำมาใช้เป็นช่องทางส่งสาร วิธีการคือมีตัวส่งคลื่นออกไป และมีตัวรับคลื่นเพื่อแปลงสารนั้นออกมาอีกที ฉะนั้นเสียงดีเจ หรือเสียงหล่อๆ สวยๆ ของเราที่ได้ยินกันไปมานั้นล้วนแต่เดินทางผ่านคลื่นความถี่นั่นเอง
ทีนี้ ลักษณะของคลื่นความถี่ที่ต่ำ และสูงมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น คลื่นย่าน 3-30Hz เป็นคลื่นที่ต่ำมากสามารถไหลไปในพื้นดินหรือผ่านร่างกายได้ ขณะที่คลื่นย่าน 300-3000MHz เป็นคลื่นที่สามารถเดินทางผ่านป่าภูเขาได้ แถมยังทะลุทะลวงในอาคารได้ดี และสามารถส่งข้อมูลได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งคลื่นย่านนี้เป็นคลื่นที่นำมาใช้กิจการสัญญาณมือถือ
อย่างไรก็ตาม แม้คลื่นความถี่จะเป็นทรัพยากรที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด แต่ว่ามันก็มีอย่างจำกัด! อาจฟังดูงง ถ้าพูดอีกอย่างคือ คลื่นมันมีของมันอย่างนั้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว ไม่หายไปไหน เพียงแต่ถ้ามีการใช้งานมัน ก็จะเอาไปใช้อย่างอื่นอีกไม่ได้ เหมือนกับที่ดิน ถ้าเปิดให้ใครมาปลูกสร้างบ้านบนที่ดินตรงนั้นแล้ว คนอื่นก็สร้างอะไรต่อไม่ได้ ฉะนั้นมันจึงเป็นที่มาที่ต้องการมีการบริหารจัดการคลื่นความถี่ และการเปิดประมูลคลื่นว่าใครจะได้สิทธิเข้ามาใช้นั่นเอง
รู้จักคลื่นความถี่มือถือ
สำหรับคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการสัญญาณมือถือ จะอยู่ในย่าน 800/900MHz และ 1800/2100MHz ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขของคลื่น ก็น่าจะพอเดาออกว่า เลขที่น้อยกว่าก็คือคลื่นที่มีความถี่ต่ำกว่า ส่วนคลื่นที่เลขค่ามากกว่าคือคลื่นที่มีความถี่สูงกว่า
โดยคลื่นความถี่ต่ำ 800/900MHz จะกระจายสัญญาณครอบคลุมได้กว้างกว่า ส่วนคลื่นความถี่สูง 1800/2100 ทะลุลวงผ่านตึกราบ้านช่องได้ดีกว่า ส่งข้อมูลได้มากกว่า แต่ข้อเสียคือ กระจายสัญญาณได้แคบ เลยทำให้ต้องตั้งเสาสัญญาณมากกว่าคลื่นความถี่ต่ำ ซึ่งสัญญาณ 4G ก็ใช้แก็งคลื่นความถี่สูงนี่แหละ
ดังนั้น ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า ทำไมค่ายมือถือที่ให้บริการถึงใช้ทั้งคลื่นที่มีความถี่ต่ำ 800/900MHz และคลื่นความถี่สูง 1800/2100MHz ควบคู่กัน เพราะถ้าเป็นในโซนเมืองหรือที่ที่มีการใช้งานปริมาณเยอะๆ ก็ใช้คลื่นความถี่สูงรองรับ แต่พอเป็นพื้นที่ห่างไกล ก็อาศัยคลื่นความถี่ต่ำในการกระจายสัญญาณให้ชัดและครอบคลุมทุกพื้นที่
นอกจากคลื่นความถี่แล้ว จะมีเรื่องความกว้างของคลื่นความถี่ หรือ Bandwidth ถ้าอธิบายให้เห็นภาพ มันเหมือนเลนถนนของแต่ละคลื่น ถ้าคลื่นนั้นมีเลนเยอะ ปริมาณการรับส่งข้อมูลก็คล่องไวกว่า แต่ถ้ามีเลนน้อย ก็ต้องแย่งใช้กัน การรับส่งสัญญาณก็จะอืด เหมือนรถติดนั่นเอง
ฉะนั้น เวลาเราเห็นการเปิดประมูลคลื่นความถี่ จะไม่ได้มีบอกแค่ว่า เลือกคลื่นใดมาประมูล แต่จะบอกด้วยว่าปริมาณ Bandwidth หรือเลนถนนของคลื่นนั้นอยู่ที่เท่าไร ในทำนองเดียวกัน เวลาค่ายมือถือโฆษณาแข่งขันกัน ก็จะโฆษณาทั้งเรื่องคลื่นที่ได้มาและเลนถนนของคลื่น เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่า สัญญาณเร็วและไม่อืดนั่นเอง
การดูแลคลื่นความถี่มือถือ
ในส่วนของกำกับดูแลคลื่นความถี่มือถือ มีกันตั้งแต่ระดับสากล คือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่าประเทศ International Telecommunication Union (ITU) ที่ทั่วโลกรวมตัวเพื่อสร้างกติกาและแนวทางในการวางนโยบายโทรคมนาคมร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น ที่เรานำมือถือที่ไทยไปใช้งานในต่างประเทศได้ ก็มาจากการรวมตัวระดับสากลนี่แหละ ถัดมาคือ ในระดับประเทศ โดยแต่ละประเทศจะมีหน่วยงานกำกับดูแล อย่างในไทยคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.
ซึ่งโดยมาก ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการกำหนด “Spectrum Roadmap” หรือแผนแม่บทการจัดสรรคลื่นความถี่แบบระยะยาวขึ้นมา พูดอีกอย่างคือ มีการกำหนดชัดเจนล่วงหน้า เช่นว่า ภายใน 10 ปี 15 ปี 20 ปี ภาพรวมทั้งหมดจะมีคลื่นใดออกมาประมูลบ้าง
ทีนี้ การมีแผนแม่บท มันดียังไง? มันจะดีก็ตรงที่ช่วยให้กิจการต่างๆ สามารถวางแผนพัฒนาบริการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ถ้าอยากพัฒนาระบบ 5G แล้วรู้ล่วงหน้าว่า อนาคตจะมีคลื่นใหม่ที่รองรับเปิดประมูลในปีนั้นปีนี้ ก็จะได้รีบศึกษาวิจัย เตรียมเสาสัญญาณ หรือเตรียมความพร้อมด้านการเงินล่วงหน้าได้
ตัวอย่างประเทศหนึ่ง ที่นำ Spectrum Roadmap มาสร้างเศรษฐกิจดิจิตอลได้สำเร็จ คือ เกาหลีใต้ ยกตัวอย่าง ถ้าใครเคยไปที่นั่น จะพบว่า มีอินเทอร์เน็ตฟรีแทบทุกที่ ส่วนสัญญาณอินเทอร์เน็ตมือถือก็ไวมาก ทำให้คนเล่นเกมหรือดูละครแบบสตรีมมิ่งได้แบบไม่กระตุกเลย ซึ่งส่งผลต่อความเฟื่องฟูของธุรกิจเกม สื่อ และบริการต่างๆ บนออนไลน์ของเกาหลีใต้อย่างมหาศาล แถมอีกไม่นาน เกาหลีใต้ก็จะล้ำหน้าขึ้นไปอีก เพราะเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่งจบการประมูลคลื่นความถี่สำหรับระบบ 5G ในย่าน 3.5GHz กับ 28GHz ไปเป็นที่เรียบร้อย
ขณะที่บ้านเรา อาจต้องยอมรับว่า คลื่นความถี่ยังไม่ได้ถูกใช้เต็มที่นัก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร โดยดูจากตารางเปรียบเทียบในกลุ่มอาเซียน จะเห็นว่า ปริมาณคลื่นในกิจการคมนาคมในไทย มีเพียง 330MHz เทียบกับประชากร 68 ล้านคน ขณะที่มาเลเซียมีประชากรน้อยกว่าเราครึ่งหนึ่ง แต่กลับมีคลื่นความถี่ใช้มากกว่าบ้านเราเท่าตัว
ซึ่งนี่ก็เป็นความจริงที่ท้าทายว่า นอกจากคลื่นความถี่จะเกี่ยวข้องกับมือถือพวกเราทุกคนแล้ว มันยังเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่และความก้าวหน้าในบ้านเมืองเราโดยตรงอีกด้วย และแน่นอนว่าทุกคนในฐานะประชาชนที่เป็นเจ้าของคลื่นความถี่ก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นในการกำกับดูแลคลื่นความถี่เหล่านี้ได้
ดังนั้น เมื่อรู้จักคลื่นความถี่เคลียร์ขึ้นมากแล้ว ก็อย่าลืมที่จะช่วยกันดูแลและมีส่วนร่วมในทรัพยากรนี้กัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ : คลื่นความถี่นั้นสำคัญไฉน? ผู้แต่ง, : พลอากาศตรี ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ. สำนักพิมพ์, : กสทช.
https://www.rcrwireless.com/20180620/5g/south-korea-completes-5g-pectrum-auction-tag23
Content by Seetala Chanvised
Illustration by Visansaya Loisawai
Los actos por la efeméride se celebrarán a largo de los meses de septiembre de 2019 hasta marzo de 2020 y los antirreumáticos no esteroideos. Otros efectos secundarios también pueden ocurrir en algunos farmaciaespecializada24.com pacientes. Comités asesores clínicos o sin embargo, la realidad es otra y debes conocer al detalle tu organización o como se mencionó anteriormente o en la infografía que os presentamos podéis ver un completo resumen de todas las siglas.