ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1837–1992 มีสถานฝึกศึกษาอาชีพพร้อมที่อยู่อาศัยสำหรับ ‘ผู้หญิงที่สังคมไม่ยอมรับ’ นามว่า ‘ร้านซักรีดแมกดาลีน’ (The Magdalene Laundries) ซึ่งกระจัดกระจายไปทั่วประเทศไอร์แลนด์ โดยเฉพาะในเมืองดับลิน เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ตั้งอยู่ใกล้อ่าวบนชายฝั่งทางภาคตะวันออกของประเทศ
ชื่อของร้านซักรีด ‘แมกดาลีน’ มาจากชื่อของ แมรี แมกดาลีน (Mary Magdalene) หนึ่งในผู้ติดตามพระเยซูที่ได้รับการสรรเสริญสูงสุดคนหนึ่ง และเป็นสาวกสตรีคนสำคัญที่สุดในการเคลื่อนไหวของพระเยซู
ร้านซักรีดแมกดาลีนเริ่มดำเนินกิจการในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ด้วยการให้ ‘สตรีที่ถูกคัดเลือก’ จากทั้งคริสตจักรคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีเพศสัมพันธ์นอกสมรส ตั้งครรภ์โดยไม่มีพ่อ ถูกมองว่าเจ้าชู้ หรือการกระทำอื่นๆ ที่ดูแล้วถือว่าไม่เหมาะกับสังคมและศาสนา โดยบังคับผู้หญิงเหล่านี้เข้ามาทำงานไม่ว่าจะเป็นการถักลูกไม้เย็บปักถักร้อย และที่เยอะที่สุด คือการให้ทำงานซักรีด ซึ่งควบคุมดูแลโดยเหล่าแม่ชี
เป็นเวลากว่าสองศตวรรษที่ผู้หญิงในไอร์แลนด์ถูกส่งไปยังสถานที่เหล่านี้ โดยเหตุผลคือเพื่อลงโทษ เพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นสตรี และเพื่อการไถ่บาป แต่สุดท้ายแล้วมันเป็นเหมือนดั่งนรกบนดิน หญิงสาวมากมายถูกบังคับให้ทำงานภายใต้การดูแลของแม่ชีอย่างเข้มงวดเป็นเวลาหลายเดือน หลายปี และสำหรับบางคนต้องอยู่ไปตลอดชีวิต หลายคนเสียชีวิตในสถานที่แห่งนี้โดยไม่มีโอกาสได้กลับไปใช้ชีวิตโลกภายนอก จากการดูแลอันย่ำแย่แสนสาหัสของร้านซักรีดแมกดาลีน
“บางครั้ง การไถ่บาปเหล่านี้ คือการบีบบังคับด้วยมาตรการหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการโกนหัว ใส่เครื่องแบบให้เหมือนกัน อดอาหารโดยมีเพียงขนมปังและน้ำ การกักขังเดี่ยว หรือแม้กระทั่งการเฆี่ยนตี” เฮเลน เจ. เซลฟ์ นักประวัติศาสตร์กล่าว
‘ดอนนีบรูค’ หนึ่งในสาขาซักรีดของแมกดาลีนในเมืองดับลิน อยู่ในโบสถ์ซึ่งมีสุสานของตนเองอยู่ด้านหลัง ในปี ค.ศ.1992 รัฐบาลพบว่ามันเต็มไปด้วยศพของผู้หญิงที่ถูกลบออกไปจากสังคมกว่า 155 ชีวิต ไม่มีใครรู้จักเธอ แม้แต่ชื่อบนหลุมก็ไม่มีไม่มีเอกสารใดๆ ระบุตัว และถูกปกปิดเป็นความลับมาเกือบร้อยปี บางคนอาจมีข้อหาเพียงแค่ตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือเพียงแค่เป็นผู้หญิงที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสตรีมากชาย แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่ได้มีความผิดทางอาญาแต่การถูกกระทำไม่ต่างกับการต้องคุกในคดีรุนแรง
เรื่องอื้อฉาวและความน่าสะพรึงกลัวของร้านซักรีดแมกดาลีนถูกพูดถึงมากขึ้น เหล่าบรรดาผู้หญิงที่รอดชีวิตมาได้เริ่มออกมาเปิดเผยประสบการณ์อันโหดร้ายที่ในสถานที่แห่งนี้ ประชาชนชาวไอริชหลายคนแทบไม่เชื่อว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริง เกิดข้อถกเถียงและตอบโต้กันอย่างรุนแรงในสังคม
แล้วเรื่องราวเลวร้ายนี้เลยเถิดมาถึงขนาดนี้ได้อย่างไร?
ต้องเล่าย้อนไปในปี ค.ศ.1765 ในขณะนั้นการค้าประเวณีในเมืองต่างๆ ของไอร์แลนด์เริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โสเภณีในตอนนั้นถือว่าผิดต่อทางศาสนาและสังคมอย่างรุนแรง พวกเขาเริ่มกังวลว่าต่อไปผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์นอกสมรส หรือตั้งครรภ์นอกสมรส อาจมีโอกาสมีแนวโน้มเป็นโสเภณีได้
จึงมีการก่อตั้งสถาบันแห่งหนึ่งในเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ นามว่า สถาบันแมกดาลีนสำหรับผู้หญิงที่สำนึกผิด (Magdalen Asylum for Penitent Females) มันเป็นสถาบันที่ก่อตั้งโดยนิกายโปรเตสแตนต์เป็นแห่งแรกในประเทศ เพื่อดัดนิสัยผู้หญิงเหล่านี้ไม่ให้เติบโตกลายเป็นโสเภณีในอนาคต
ในไม่ช้าหลังจากสถาบันถูกก่อตั้ง พ่อแม่ผู้เคร่งศาสนามากมายก็เริ่มส่งลูกสาวที่ยังไม่แต่งงาน แต่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือว่ากำลังตั้งครรภ์มาที่แห่งนี้ แม้ในช่วงแรกผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เข้ามาในสถาบันจะมาด้วยความสมัครใจ และพวกเธอต้องใช้เวลาอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายปีเพื่อเรียนรู้ทักษะวิชาชีพต่างๆ ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวออกไปเพื่อนำทักษะที่ได้เรียนไปหารายได้ ดูคร่าวๆ แล้ว เหมือนว่าสถาบันแห่งนี้จะทำให้สังคมดีขึ้น
แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถาบันแบบนี้ก็ถูกขยับขยายสาขาออกไปทั่วดับลินจนมีอยู่ทั่วประเทศ มันกลับกลายเป็นเหมือนเรือนจำมากขึ้น ผู้หญิงถูกคัดเลือกเป็นกลุ่มๆ และถูกส่งผ่านเป็นระบบโดยคริสตจักรรวมไปถึงรัฐบาลไอร์แลนด์ มีการนำทั้งผู้ต้องขังจากเรือนจำและสถาบันจิตเวชเข้ามา เหยื่อจากการข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ เด็กวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ที่พ่อแม่บังคับส่งเข้ามา รวมไปถึงเด็กวัยรุ่นหญิงที่ถูกมองว่าเจ้าชู้หรือมีลักษณะที่เย้ายวนใจผู้ชายเกินไป
หลายคนต้องเข้ามาอยู่โดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน สถาบันเหล่านี้แม้จะดำเนินการตามคำสั่งของคริสตจักรแห่งไอร์แลนด์ แต่พวกเขายังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไอร์แลนด์ ซึ่งรับเงินจากรัฐบาลจำนวนมากเพื่อแลกกับบริการซักรีด โดยที่ผู้หญิงในสถาบันจะถูกบังคับทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่เคยได้รายได้ตรงนี้แม้แต่นิดเดียว
แมรี สมิธ เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกส่งตัวเข้าไปและรอดชีวิตกลับออกมา เธอถูกจองจำในร้านซักรีดนามว่า ซันเดย์เวลล์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาของแมกดาลีนในเมืองคอร์ก สมิธถูกนำตัวเข้ามาหลังจากเธอถูกข่มขืน แม่ชีบอกเหตุผลที่นำตัวเธอมาว่า “ในกรณีที่เผื่อเธอท้อง”
เมื่อไปถึงที่นั่น เธอถูกบังคับให้ตัดผมและตั้งชื่อใหม่ สมิธไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับใคร และได้รับมอบหมายให้ทำงานหนักหน่วงในงานซักรีด แม่ชีต่างทุบตีเธอเป็นประจำเพียงเพราะการทำงานผิดพลาดเพียงเล็กน้อย และยังบังคับให้เธอนอนท่ามกลางความหนาวเหน็บ
เนื่องจากบาดแผลทางร่างกายและจิตใจอันรุนแรงที่เธอได้รับ สมิธจำไม่ได้ว่าเธอใช้เวลานานแค่ไหนในร้านซักรีดแห่งนั้น
“สำหรับฉัน มันรู้สึกเหมือนราวกับหมดไปทั้งชีวิตของฉัน” แมรี สมิธ กล่าว
สมิธกล่าวว่าบ่อยครั้งที่ชื่อของผู้หญิงมักถูกเรียกเป็นตัวเลข เหมือนกับว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์ ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักเป็นเด็กกำพร้า หรือเหยื่อของการข่มขืนหรือถูกทารุณกรรม ส่วนใหญ่ถูกจองจำอยู่ที่นั่นชั่วชีวิต บางคนพยายามหลบหนี บางคนถูกจำได้และนำตัวกลับมา
มารีนา แกมโบลด์ หนึ่งในผู้รอดชีวิตอีกคนหนึ่ง เล่าถึงเหตุการณ์ของเธอว่า ครั้งหนึ่งเธอจำได้ว่าถูกบังคับให้กินอาหารจากพื้นหลังจากที่เธอทำถ้วยแตก และเธอถูกขังอยู่ข้างนอกในที่หนาวเย็นบ่อยครั้งเพียงเพราะทำผิดเล็กน้อย
“ฉันทำงานซักผ้าตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงหกโมงเย็น ฉันหิวมาก ฉันได้รับเพียงขนมปังและหยดน้ำสำหรับอาหารเช้า” มารีนา แกมโบลด์ บอกกับ BBC ในปี ค.ศ.2013
สตรีที่มีครรภ์จะถูกย้ายไปอยู่รวมกันในบ้าน พวกเธอจะได้รับอนุญาตคลอดทารกออกมาและอาศัยอยู่กับของลูกๆ เป็นเวลาชั่วคราว ก่อนที่จะพรากทารกออกจากอ้อมอกมารดาและส่วนใหญ่จะส่งต่อให้กับครอบครัวอื่น โดยที่มารดายังต้องกลับไปทำงานซักรีดโดยไม่มีโอกาสเห็นหน้าลูกของเธออีกต่อไป
แต่ใช่ว่าทารกทุกคนจะมีชีวิตรอดออกไปหาครอบครัวใหม่
บ้าน ‘Bon Secours Mother and Baby’ ในเมืองทวม ประเทศไอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในบ้านที่โด่งดังที่สุดเรื่องความโหดร้าย เพราะในปี ค.ศ.2014 มีการพบศพทารกอย่างน้อย 796 ศพในถังบำบัดน้ำเสียในบ้านแห่งนี้ ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ใน 200 กว่าปีที่ผ่านมา?
คำถามคือ ทำไมระบบที่เลวร้ายนี้ถึงดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ เป็นเวลาหลายร้อยปี?
เพราะการกระทำอันโหดร้ายที่ร้านซักรีดมักดาลีน รวมถึงบ้านของเด็กทารกและมารดามักจะถูกปฏิเสธโดยสาธารณะว่า สิ่งที่เล่ามานั้นไม่มีทางเป็นความจริงได้ เนื่องจากสถาบันต่างๆ เหล่านี้ ดำเนินกิจการโดยศาสนา
ศาสนากับจริยธรรมและความดีควรอยู่อยู่กัน พวกเขาคิดเช่นนั้น
ดังนั้นผู้รอดชีวิตออกมามักถูกสังคมละเลย พวกเขาพยายามเล่าให้คนอื่นฟังว่าต้องผ่านอะไรมาบ้าง แต่กลับไม่มีใครสนใจเพราะสังคมส่วนใหญ่ได้ตัดสินพวกเขาไปแล้วว่าเป็นบุคคลที่สังคมไม่ต้องการ
ส่วนผู้หญิงบางคนก็อับอายเกินกว่าจะพูดถึงอดีตและปกปิดเรื่องราวนี้ไม่บอกใครเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขา ทำให้ในปัจจุบันมีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้น้อย และไม่น่าแปลกใจหากใครบางคนจะเพิ่งเคยได้ยินเรื่องราวเหล่านี้
เรื่องราวนี้แดงนี้ในสังคมก็เมื่อ ‘Sisters of Our Lady of Charity’ หนึ่งในสถาบันศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไอร์แลนด์ ตัดสินใจขายที่ดินบางส่วนของพวกเขาในปี ค.ศ.1992 และขอรัฐบาลเพื่อทำการย้ายศพ 133 คนจากหลุมศพหลังโบสถ์ของพวกเขา
แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบ รัฐบาลพบว่ามีศพถึง 155 คน เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ นักข่าวและสื่อมวลชนทำการตรวจสอบลงลึกเพิ่มเติมและพบว่ามีใบมรณะบัตรเพียงแค่ 75 คนในนั้น สมาชิกในชุมชนแถวนั้นเริ่มตกใจและร้องหาข้อมูลความจริงเพิ่มเติม แม่ชีในนั้นอธิบายเพียงว่าเป็นเพราะมีความผิดพลาดในการบริหารงาน
การค้นพบในครั้งนี้ทำให้ความลับในร้านซักรีดแมกดาลีนกลายมาเป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ ผู้หญิงที่รอดชีวิตออกมาจึงเริ่มมาเป็นพยานให้กับการสืบสวนในครั้งนี้
พวกเขาเล่าประสบการณ์ต่างๆ ที่พบเจอมา และกดดันให้รัฐบาลไอร์แลนด์ดำเนินคดีกับคริสตจักรเหล่านี้ รวมถึงแจ้งไปยังสหประชาชาติเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เวลาเพียงไม่นานต่อจากนั้น สหประชาชาติก็ได้เรียกร้องให้วาติกันทำการพิจารณาเรื่องนี้ โดยระบุว่า
“เด็กผู้หญิง [ที่ร้านซักรีด] ถูกพรากอัตลักษณ์ของตนออกไป พรากการศึกษา และบ่อยครั้งที่ถูกพรากอาหารและยาที่จำเป็น และถูกบังคับด้วยสัญญาผูกมัดแห่งความเงียบงัน และห้ามมิให้ติดต่อกับโลกภายนอก”
ในขณะที่คริสตจักรยังคงนิ่งเงียบ รัฐบาลไอร์แลนด์ได้รายงานเพิ่มเติมถึงการมีส่วนร่วมของรัฐบาลทั้งในอดีตและปัจจุบันกับการซักรีดและความโหดร้ายในสถาบันต่างๆ จากความโกลาหลนี้ ร้านซักรีดแห่งสุดท้ายที่รู้จักกันในชื่อ ‘Gloucester Street Laundry’ จึงปิดตัวลงในปี ค.ศ.1996 ซึ่งในนั้นมีผู้หญิงอยู่ 40 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและบุคคลมีความบกพร่องทางพัฒนาการ
ในปี ค.ศ.2013 ไมเคิล แดเนียล ฮิกกินส์ ประธานาธิบดีไอร์แลนด์ได้แถลงการณ์ขอโทษผู้หญิงที่ถูกกระทำในแมกดาลีนทั้งหมด และประกาศกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายในครั้งนี้
การสืบสวนยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปัจจุบัน เพื่อสืบหาความจริงที่ยังคงหลงเหลืออยู่ให้ได้มากที่สุด
นักประวัติศาสตร์ประมาณการว่า จำนวนผู้หญิงทั้งหมดที่เคยผ่านประสบการณ์ที่ร้านซักรีดแมกดาลีนมีจำนวนกว่า 300,000 คน แต่ทั้งนี้ยังคงเป็นตัวเลขปริศนาที่ไม่แน่ชัด เพราะทางศาสนาส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลแก่ผู้สืบสวนและนักประวัติศาสตร์
“โศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ อาจเป็นการปล้นจริยธรรม ซึ่งกระทำโดยศาสนา”
[The greatest tragedy in mankind’s entire history may be the hijacking of morality by religion.]
—อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก (Arthur C. Clarke) (1917–2008), นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ 2001: A Space Odyssey ผู้เสนอแนวคิดการสร้างดาวเทียม
อ้างอิงข้อมูลจาก