ความเชื่อ ผีห่า และไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมานาน
คนไทยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคนไทยตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น แต่หมายถึงคนไทยในภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเหนือใต้ออกตก หรือหากจะกล่าวกันจริงๆ ก็คืออยู่คู่กับคนในแผ่นดินสุพรรณภูมินี้มาตั้งแต่ก่อนความเป็นไทยจะถือกำเนิดขึ้นเสียอีก ซึ่งหากนับย้อนกลับไปสู่ ‘ความเป็นไทย’ ที่บัญญัติขึ้นเป็นมาตรฐานจริงๆ ก็เห็นจะถือกำเนิดขึ้นในรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พ.ศ.2481-2487 นี่เอง ความเป็นไทยสมัยใหม่นี้จึงอุบัติขึ้นในอายุขัยไม่ถึง 100 ปีก่อนเสียด้วยซ้ำ
เรื่องตลกชวนหัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนได้รู้ได้เห็นได้ยินมาตลอดคือการอนุมานว่า ‘ผีไทย’ ควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีความน่ากลัว มีกฎเกณฑ์อย่างนั้นอย่างนี้มา ทั้งที่จริงแล้วผีอยู่คู่สังคมในภูมิภาคนี้มาก่อนความเป็นไทยจะอุบัติขึ้นเสียอีก แต่พอความเป็นไทยถูกอุบัติขึ้นแล้ว การรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางทางการเมือง ทำให้ลัทธิบูชาผีและอำนาจเหนือธรรมชาติต้องถูกทำลายลงอีกรอบ (หลังจากรอบแรกที่มีการ ‘กวาดล้าง’ ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ผ่านการปราบชุมชนกบฏผีบุญในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ)
ยิ่งพอรัฐไทยสมัยใหม่นับจากรัฐบาลจอมพลแปลกเป็นต้นมา เติบโตพร้อมๆ กับสื่อบันเทิงทั้งวรรณกรรม ไม่ว่าจะเรื่องสั้นหรือนวนิยาย, ละครวิทยุ ตลอดจนภาพยนตร์และในเวลาต่อมาคือละครโทรทัศน์ ต่างพากันผลิตเรื่องเล่าผีกันเป็นล่ำเป็นสัน เรื่องผีในสังคมไทยจึงถูกผลิตซ้ำๆ จนเกิดสูตรสำเร็จที่ลงตัวและเป็นที่เข้าใจตรงกัน มีการสร้างกฎเกณฑ์หลักๆ ขึ้นมาที่ผู้อ่านหรือผู้ชมรับรู้และเข้าใจได้ทันที อาทิ ผีจะต้องกลัวพระ เพราะพระเป็นผู้น้อมนำคำสอนทางศาสนา ผีจะมามีอำนาจเหนือพระไม่ได้ แม้จะมีข้อโต้แย้งที่ว่ามีผีหลายชนิดที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับสังคมมนุษย์เลย อาทิ ผีป่า ภูติ เทวดา เหล่านี้มีอายุมาช้านานก่อนจะมีศาสนาด้วยซ้ำ ดังนั้นนิยามความเป็นผีของไทยจึงค่อยๆ กร่อนจนเหลือแค่ความหมายว่า ผีคือคนตาย เมื่อเป็นเพียงจิตหรือวิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว การที่ ‘ผี’ ยังกลัวและเกรงต่อกฎต่อความเชื่อเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่จึงสมเหตุสมผล
เรื่องเล่าบางชนิดถึงขั้นไปไกลกว่าที่ให้เจ้าฟ้าข้าแผ่นดิน มีความสามารถในการควบคุมและเลี้ยงผีได้ เจ้านายชั้นสูงและพระเถระชั้นผู้ใหญ่บางพระองค์ถึงกับมีชื่อเสียงในฐานะ ‘จอมขมังเวทย์’ คือมีวิชาอาคมแก่กล้าสะกดผีสยบวิญญาณร้ายได้ด้วยตนเอง เรื่องเล่าเหล่านี้ทำหน้าที่กล่อมเกลาให้คนในสังคมไทยเชื่อว่า ผีอยู่ใต้อำนาจของศาสนาและอำนาจของผู้มีบุญ ผีไม่ได้มีพลังอำนาจหรือสูงค่าไปกว่าผู้มีบุญในสังคมไทย
ร่างทรง
อาการ ‘กลัวผี’ ในหนังเรื่อง ‘ร่างทรง’ จึงเป็นภาวะอิหลักอิเหลื่อของคนดูที่ถูกผู้สร้างโยนกลับไปสู่สังคมที่ความเป็นไทยไม่ได้ครอบงำเบ็ดเสร็จอย่างที่คนดูคุ้นชิน กฎของผีในเรื่องไม่ได้อยู่ใต้กฎเดิมๆ อย่างที่พวกเขาคุ้นเคย เริ่มจาก ผีที่ไม่ได้เกิดจากคนตาย หนังอธิบายผ่านเสียงบรรยายสองประโยคแรกเปิดเรื่องเลยว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ได้ใช้ชุดคำอธิบายว่า “ผี=คนตาย” อีกต่อไป ประการต่อมาอำนาจของศาสนาไม่มีผลในหนังเรื่องนี้ไม่ว่าจะพุทธหรือคริสต์ เพราะความเชื่อของผี, ลัทธิบูชาผีทรงอำนาจและครอบงำผู้คนให้เกรงกลัวได้มากกว่าอำนาจศาสนา
พูดได้ว่าผีไทยขนานแท้กลัวอยู่สองสิ่ง คือพระกับเจ้า เพราะในทางสังคม ทั้งสองสถาบันมีอำนาจเหนือในสังคมไทยหลังการสถาปนารัฐไทยขึ้นมา นี่ก็นับว่าผีไทยนั้นทันสมัยกว่าผีชาติอื่นๆ ที่มักผูกติดกับเรื่องเล่าตำนานปรัมปราความเชื่อ อย่างน้อยๆ ผีไทยเราก็รับใช้ ‘การเมือง’ ร่วมสมัยได้ทันสมัยกว่าเยอะและมีอายุอ่อนวัยกว่าผีชาติอื่นๆ เสียด้วยซ้ำ ถ้าหากนับว่า ผีไทย=คนตาย ที่มีความกลัวต่อรัฐไทยเป็นที่ตั้งอย่างที่ผู้เขียนว่าไว้ข้างต้น
แต่ ‘ร่างทรง’ กลับเป็นหนังผีไทยที่มีความสากลกว่าหนังผีไทยเรื่องอื่นๆ เมื่อตัวหนังเลือกสลัดทิ้งกรอบความเชื่อเวร-กรรมไปเกือบหมดสิ้น ไม่มีคนบาป ไม่มีนักบุญในเรื่องนี้ ไม่มีการอ้างถึงผลบุญกรรม มีแต่มนุษย์ที่หาญกล้าท้าทายอำนาจเหนือธรรมชาติ ทั้งการท้าทายในฐานะปาวรณาตัวเองเป็นคนทรงผี ทั้งการท้าทายในฐานะหมอผี พิธีกรรมในหนังไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการชำระบาป อันเป็นความคิดพื้นฐานทางศาสนาเลย แต่กลับเป็นพิธีกรรมที่หยิบยืมอำนาจของผีตนนึงเพื่อทำลายผีอีกคน ด้วยความเชื่อว่าผีที่ตนบูชานั้น (ย่าบาหยัน) มีอิทธิฤทธิ์อำนาจเหนือกว่าผีทั้งปวง
รสชาติของหนังก็เป็นของแปลกสำหรับคนดูไทยส่วนใหญ่ ตั้งแต่การเลือกใช้ภาษาถิ่นแทบจะทั้งเรื่อง ภาษาถิ่นในหนังอันที่จริงแล้วก็ผสมผสานหลายสำเนียง เป็นภาษาถิ่นแบบอีสาน ‘กลาง’ คือพูดกันโดยทั่วๆ ไป คนในท้องถิ่นเข้าใจได้ ไม่ได้ติดสำเนียงเฉพาะว่ามาจากจังหวัดใด กับภาษาถิ่นอีสานเฉพาะถิ่นที่มีติดหางสำเนียงท้องที่มา อย่างหลังอาจจะฟังได้จากตัวประกอบที่พูดอีสานในฉาก อาการฟังรู้บ้างไม่รู้บ้างของคนดูกรุงเทพฯ ส่งผลให้หนังผีเรื่องนี้มีความเป็นอื่นกว่าหนังผีไทยส่วนมากที่ได้ดูกัน แต่ในขณะเดียวกันการเลือกมองหนังผ่านสายตาทีมงานสารคดี ก็เป็นตัวแทนสายตาของคนทำที่เป็นคนต่างถิ่น เข้ามามองสำรวจสังคมผีและอีสานในหนังเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน
‘ร่างทรง’ เลือกใช้การถ่ายทำด้วยวิธีการแบบกึ่งสารคดี (Found Footage) คือจำลองให้ผู้ชมจับจ้องเรื่องราวของหนังผ่าน ‘กล้อง’ ของทีมงานถ่ายทำหนังสารคดี ที่แทบไม่มีตัวตนในเรื่องอีกที เสมือนว่าดวงตาของผู้ชมกลายเป็นดวงตาของกล้อง มีผลทำให้ผู้ชมชาวไทยจึงต้องจัดวางตำแหน่งแห่งหนของตัวเองเสียใหม่ในแบบที่ไม่คุ้นเคยนัก ประการแรก หนังผีไทยชอบให้เราเลือกข้างตั้งแต่แรกผ่านการเกาะติดตัวละครฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้กระทำอย่างหนังเรื่อง ‘ชัตเตอร์’ ตัวเอกที่ทำผิดบางอย่างแล้วถูกผีตามรังควาญ นำไปสู่การไขปริศนาที่ท้ายสุดบ่งชี้ว่าตัวเขา/เธอนั่นแหละเป็นต้นเหตุของเรื่อง หรือเล่าในฝั่งผู้กระทำอย่าง ‘ลองของ’ ที่ไม่ใช่แค่ผีมาหลอกทั่วไป แต่เป็นคนที่ถูกคุณไสยเล่นงานจนชีวิตพังทลาย ตัวเองกลับกลายเป็นผู้ใช้คุณไสยเอาคืนคนอื่นๆ เสียเอง
หนังดำเนินไปโดยค่อยๆ พาคนดูไปรู้จักตัวละครสำคัญๆ ในครอบครัวหนึ่งคือ ป้านิ่ม (สวนีย์ อุทุมมา) ร่างทรงย่าบาหยันคนปัจจุบัน ป้าน้อย (ศิราณี ญาณกิตติกานต์) พี่สาวของป้านิ่ม และมิ้ง (ญดา นริลญา) ลูกสาวของป้าน้อยที่เป็นกุญแจสำคัญของเรื่อง ผู้หญิงทั้งสามคนมีความเกี่ยวพันทางสายเลือดคือเป็นรุ่นแม่และรุ่นลูกในตระกูลที่รับสืบทอดร่างทรงย่าบาหยันมาตั้งแต่รุ่นย่ารุ่นทวด กฎที่หนังวางไว้ให้ผู้ชมรับรู้คือย่าบาหยันหรือผีปู่ย่านี้จะรับทอดแต่เฉพาะผู้หญิงในครอบครัวนี้เท่านั้น
ตัวละครที่น่าสนใจสำหรับผู้เขียนที่สุดคือ ป้าน้อย พี่สาวของป้านิ่ม ป้าน้อยมีอดีตว่าเคยเป็นผู้รับย่าบาหยันมาก่อนจะเป็นตัวป้านิ่ม แต่การที่ป้าน้อยปฏิเสธไม่รับเป็นร่างทรงย่าบาหยัน ทำให้ชีวิตของป้าน้อยพลิกผันไปถึงขนาดว่าเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์เลยทีเดียว การเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์มีผลในหนังตรงที่ตัวป้าน้อยมีจุดยืนปฏิเสธการมีอยู่ของลัทธินับถือผี(หรือย่าบาหยัน) โดยการปฏิเสธความสัมพันธ์กับป้านิ่ม น้องสาวแท้ๆ ของหล่อนเอง ความขัดแย้งระหว่างพี่น้องสองสาวนี้ถูกเล่าอย่างคลุมเครือว่าอาจจะมีส่วนมาจากเรื่องการรับ/ไม่รับเป็นร่างทรงในอดีต และการรับเป็นร่างทรงนี้มีสถานะเสมือนรับทอดมรดก/กิจการครอบครัวที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการ เราจึงเห็นว่าในขณะที่ชีวิตของป้าน้อยมุ่งไปข้างหน้า แต่งงาน มีครอบครัว มีลูก แต่ชีวิตของป้านิ่มกลับยึดติดอยู่ในอดีต ความเชื่อ พิธีกรรม คนทรง ฯลฯ
ครึ่งแรกของหนังค่อยๆ จูงมือคนดูเข้าสู่โลกของสังคมบูชาผีที่พวกเขาเคยได้ยินได้ฟัง แต่ ‘ไม่เคยเห็น’ ในหนังไทยมาก่อนอย่างเต็มรูปแบบ* – ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มไว้ว่าความเชื่อแบบสังคมบูชาผีนี้เคยปรากฏให้เห็นบ้างแล้วในหนังอย่าง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ และ ‘รักที่ขอนแก่น’ หนังทั้งสองเรื่องเป็นผลงานของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือถ้าหากจะนับรวมหนังอย่าง ‘นาคี 2’ (รวมถึงละครเรื่องนาคี) ก็อาจนับอยู่ในกลุ่มหนังที่พูดถึงสังคมบูชาผีด้วยได้เช่นกัน เพราะผีในหนังกลุ่มนี้ไม่ใช่คนตาย หากแต่เป็นภูตผีเทวดา ผีป่าผีเขา ผีที่ไม่ได้ผูกติดกับกฎทางศาสนาและการเมืองไทยเลย คนดูค่อยๆ ถูกถอดชุดความเชื่อฝังหัวออกทีละชุดๆ จนเราเข้าสู่โลกในหนังอย่างเต็มตัว ไม่กังขากับความเชื่อของตัวละครอีกต่อไป
ส่วนครึ่งหลังของหนังคือการยุติการตั้งคำถามและคำตอบ เลือกให้เห็นผลลัพท์กันจะๆ ไปเลยว่า ชะตากรรมของตัวละครหลักจะเป็นเช่นไร การต่อสู้ทางความเชื่อเขยิบไปสู่การต่อสู้ระหว่างมนุษย์ vs อำนาจเหนือธรรมชาติ กฎเกณฑ์ในโลกมนุษย์ไม่สามารถใช้เพื่อปราบสิ่งเหนือธรรมชาติอีกต่อไป ผู้ชมคนเมืองจึงตกอยู่ในภาวการณ์อิหลักอิเหลื่อ พวกเขาไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมายึดถือยึดมั่นเพื่อให้รู้สึกปลอดภัยในโลกใบนี้ เมื่อพวกเขาเริ่มรู้เต็มอกว่าไม่มีพิธีกรรม-ความเชื่อใดจะหยุดยั้งผีห่าในเรื่องได้เลย พวกเขาเริ่มตะกายหาคำตอบในทุกๆ ฉากหลังจากครึ่งทางของหนัง ทุกคำอธิบายจากปากป้านิ่มหรือกระทั่งสันติ (บุญส่ง นาคภู่) จอมขมังเวทย์ผู้กลายเป็นแสงสว่างหนึ่งเดียวของผู้ชมในช่วงไคลแมกซ์
ร่างคน (ไทย)
อาการ ‘ไม่เชื่อ’ ‘ยากจะเชื่อ’ ที่คนดูรู้สึกในครึ่งแรกค่อยๆ ถูกทลายลงในครึ่งหลัง เมื่อหนังตัดตัวเลือกออกไปจนหมด โยนสถานการณ์ให้คนดูต้องเลือกจะเชื่อซักอย่าง ต้องยึดคำอธิบายซักชุดเพื่ออธิบายปรากฎการณ์นี้ ในท้ายสุดสำหรับคนดูชาวไทย เรามักจะหวนกลับไปหาคำอธิบายเดิมๆ ที่เราคุ้นชินเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ในช่วงครึ่งหลังขอหนัง กรรม? เวรกรรมแท้ๆ ที่ทำให้ตัวละครต้องประสบเคราะห์ขนาดนี้? ชะตากรรม? ชะตากำหนดเอาไว้แล้วไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย
คำถามที่ผู้เขียนสนใจคือ คำตอบข้างต้นมันอธิบายปรากฎการณ์ในหนังได้จริงๆ หรือเปล่า? วาทกรรมเรื่อง ‘กรรม’ นี้สามารถทำให้คนดูหนังนอกภูมิภาคนี้เข้าใจหรือเปล่า? นี่เป็นคำถามที่ผู้เขียนสนใจจากปรากฏการณ์ของหนังผีไทยเรื่อง ‘ร่างทรง’ และรวมไปถึงหนังผีไทยเรื่องก่อนหน้าอาทิ ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ ที่ไปดังในต่างประเทศมาก หรือหนังฮ่องกง/ไทยอย่าง ‘ดิอาย คนเห็นผี’ ทั้งสองเรื่องเป็นตัวอย่างชัดเจนของหนังผีไทย(หรือเรื่องผีแบบไทยๆ) ที่ไม่ได้ผูกติดกับกรรมเข้มข้นนัก อาจบอกได้ว่ามันเป็นหนังผีที่ไฮคอนเซปต์พอที่ชาวตะวันตกจะเข้าใจถึงความกลัวในเรื่องได้ทันที ชัตเตอร์ – ถ่ายรูปติดผี, ดิอาย – ผ่าตัดตาคนตายมาใส่ ทำให้เห็นผี คอนเซปต์ที่แข็งแรงและเป็นชุดความเชื่อสากลทั้งสองตัวอย่างข้างต้นนี้ ทำให้หนังสามารถไปไกลในระดับนานาชาติได้ถึงขั้นมีฉบับรีเมกฮอลลีวูด นี่ยังรวมไปถึงหนังผีญี่ปุ่นอย่าง ‘เดอะริง’ (The Ring) ที่แม้จะเอาผีแบบญี่ปุ่นเก่าๆ มาทำแต่เล่าภายใต้คอนเซปต์ทันสมัยอย่าง เทปวิดีโอผี ทำให้หนังเดินทางไปไกลกว่าแค่ความกลัวในระดับภูมิภาค
‘ร่างทรง’ สร้างความน่ากลัวในการฉายสัปดาห์แรกที่เกาหลี และน่าสนใจว่าจะสร้างความน่ากลัวในระดับเดียวกันเมื่อมีโอกาสฉายในประเทศตะวันตกได้หรือเปล่า ในเมื่อความกลัวที่ร่างทรงเลือกเล่านี้ เป็นความกลัวที่หลุดพ้นเรื่องกรรมแบบไทยๆ ไปแล้ว แต่เป็นการสำรวจชุดความเชื่อดั้งเดิมที่ถูกลืมเลือนไป กลายเป็นความดึกดำบรรพ์ (primitive) ที่ถูกทำให้เสื่อมลง ไม่ใช่เพราะมันเสื่อมด้วยตัวเอง แต่เสื่อมเพราะมันไม่รับใช้อำนาจรัฐไทยสมัยใหม่
ทั้งที่ความกลัวผีแท้จริงเป็นความรู้สึกสากลโลก มันสากลเพราะมนุษย์ทุกคนบนโลกกลัวสิ่งเหนือธรรมชาติ กลัวความมืด กลัวความตาย กลัวความสยดสยอง ‘ร่างทรง’ มีทุกอย่างที่พูดมานั้น
สำหรับหนังผีไทย ‘ร่างทรง’ ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามตัวใหญ่ๆ ต่อเรื่องเล่าผีไทยในทุกรูปแบบไม่แค่เฉพาะหนัง ว่าแท้จริงแล้วเรากลัวผีไทยเพราะเรื่องราวมันน่ากลัว หรือเรากลัวเพราะ ‘กรรม’ ที่อยู่ในเรื่องเล่าผีนั้นๆ เรากลัวผลแห่งกรรมที่มาในรูปของผี มากกว่าเรากลัวผีจริงๆ หรือเปล่า ผีไทยเกิดขึ้นเพราะกรรม เหมือนที่ผีไทยเกิดขึ้นเพราะมีคนตาย คนที่ตายไปแล้วกลับเป็นผีมาหลอกหลอนก็เพราะมีกรรมติดอยู่บนโลกมนุษย์ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดจนกว่าจะใช้กรรมนี้ ชุดคำถาม-คำตอบนี้ฝังอยู่ในหนังไทยมาตลอดนับแต่ถือกำเนิดรัฐไทยจนปัจจุบัน ผีในหนังไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันสำหรับผู้เขียนจึงไม่ได้ต่างไปจากเดิมเลย ภายนอกอาจจะเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไป จากผีนางตะเคียน ผีกระสือ สู่ผีตาโบ๋ จนถึงผีบุปผาและผีมะขิ่น แต่เนื้อในยังคงเป็นผีในกงกรรมกงเกวียน