เคยเห็นผีกันหรือเปล่า? อาจจะเคยหรือไม่เคยก็ได้ เมื่อภาพผีในหัวของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป อาจเป็นการตกค้างของวิญญาณผู้ล่วงลับ เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เป็นภาพเลือนรางไม่ชัดเจน เป็นเรื่องเล่า เป็นความเขย่าขวัญ หรืออาจจะเป็นแค่เรื่องไม่จริง
แต่ในบางพื้นที่ ผี เป็นวิถีชีวิต เป็นความเชื่อ ที่อยู่ในทุกสิ่ง ในทุกย่างก้าว ตั้งแต่บ้านที่พักอาศัย ไร่นาที่ไว้ทำมาหากิน ในชุมชน ในผู้คน อย่างที่เราได้เห็นกันในตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง (THE MEDIUM)’ ผลงานจาก โต้ง – บรรจง ปิสัญธนะกูล
ในตัวอย่างภาพยนตร์ที่เราได้เห็นกันนั้น ภายในเวลาไม่เกินสองนาที เราได้เห็นพิธีกรรม ความเชื่อ ของชาวอีสาน (ที่หลายอย่างเองก็เป็นวัฒนธรรมร่วมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ว่า ผี ในมุมมองของเขา ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องลี้ลับ วิญญาณ ที่มาๆ หายๆ แต่ผีสำหรับชาวอีสานนั้น แทรกซึมอยู่ในแทบจะทุกความเชื่อ ทุกพื้นที่ในชีวิต เป็นทั้งผู้ปกปักรักษา คอยคุ้มครอง และเป็นผีที่มีจุดประสงค์ร้าย คอยสร้างความเดือดร้อน วุ่นวาย ไปจนถึงเอาชีวิตผู้คน
มาสำรวจพิธีกรรม ความเชื่อ จากที่ได้เห็นในตัวอย่างของเรื่องนี้ ว่าภายในตัวอย่างสองนาที เราได้เห็นผีในความเชื่อแบบไหนกันบ้าง
ผีตาแฮก
ภาคอีสานที่มีความเป็นอยู่ส่วนมากแบบสังคมเกษตรกรรม อาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้าน จึงเป็นเกษตรกร การทำไร่ทำนา จึงเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต ทุกผลผลิต หมายถึงความเป็นอยู่ของเกษตรกรด้วยเช่นกัน เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนทำไร่ทำนาในครั้งนี้จะราบรื่น จึงเกิดการผูกความเชื่อเข้ากับการเกษตรอย่างการทำนาตาแฮก เพื่อบูชาผีตาแฮกก่อนเริ่มดำนา
ผีตาแฮก เป็นเหมือนผู้ปกปักผืนไร่ ผืนนา น้ำท่าไม่ขาด ให้มีผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อถึงฤดูทำนา ก่อนที่จะดำนาในพื้นที่ทำกินจริงๆ ชาวบ้านจะต้องดำนาในพื้นที่เล็กๆ เสียก่อน เพื่อบูชาผีตาแฮก โดยสร้างที่อยู่ของผีตาแฮกขึ้นมา อาจมีลักษณะคล้ายบ้านหลักเล็ก ตั้งเสาสูงมา เหมือนกับศาลที่เราคุ้นเคยกัน เพื่อให้ผีตาแฮกคอยดูแลการทำไร่ทำนาครั้งนี้ ให้มีผลผลิตอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีที่อยู่ให้ผีตาแฮกแล้ว ก็เริ่มเซ่นไหว้ และปักดำนาตาแฮก ก่อนที่จะปักดำนาจริง
ผีปู่ตา
ในป่าเขามีผี ในพื้นที่ทำกินมีผี และในบ้านก็มีผี ที่คุ้นเคยในชื่อของ ผีปู่ตา ที่เป็นเหมือนผู้พิทักษ์ของหมู่บ้าน คอยดูแลความเป็นอยู่ ผู้คนภายในชุมชน เมื่อมีเรื่องสำคัญอะไรในหมู่บ้านเกิดขึ้น ก็ต้องคอยไหว้ คอยบอกผีปู่ตาก่อนเสมอ อย่างการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรือใครย้ายไปบ้านไหน จะเดินทางออกจากหมู่บ้าน จะเป็นคนหน้าใหม่เข้ามา ก็ต้องไปลามาไหว้กับผีปู่ตาเสมอ โดยการสื่อสารกับผีปู่ตานั้น อาจจะบอกกล่าวผ่านศาล หรือติดต่อพูดคุยผ่านร่างทรง โดยจะมีพิธีบวงสรวงผีปู่ตาในเดือนหกของทุกปี
ผีปู่ตา จึงเป็นคล้ายๆ กับผีบรรพบุรุษ ที่ชาวบ้านจะต้องเคารพบูชาในญาติผู้ใหญ่ ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อให้พวกเขาคอยคุ้มครองผู้ที่ยังอยู่ให้แคล้วคลาดปลอดภัย
ผีแม่ม่าย
ไม่ใช่ว่าผีในความเชื่อของคนอีสาน จะเป็นบรรพบุรุษ เป็นผู้คุ้มครองไปเสียหมด ในความเชื่อนั้น ยังมีทั้งผีที่ให้คุณและผีที่ให้โทษ โดยผีที่ให้คุณ จะทำหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง อย่างที่เรารู้จักในผีปู่ตา ผีตาแฮก และจะขาดผีให้โทษไปได้อย่างไรกัน และผีแม่ม่ายนี่ทำให้ชาวบ้านต้องหยิบเสื้อสีแดงขึ้นมาแขวน ก็เป็นหนึ่งในนั้น
อย่างในตัวอย่างภาพยนตร์ร่างทรง ช่วงต้นๆ เราจะเห็นหลายบ้านที่แขวนเสื้อสีแดงไว้หน้าบ้าน ในระยะที่สังเกตได้ง่าย ด้วยความเชื่อที่ว่า ผีแม่ม่ายมักจะมาหลอกล่อชายหนุ่มไปกันตน และเอาชีวิตในที่สุด เมื่อมีชายหนุ่มในหมู่บ้านเสียชีวิตหลายคนเข้า จะเชื่อว่าเป็นฝีมือของผีแม่ม่าย จึงต้องเอาเสื้อสีแดงมาแขวนไว้หน้าบ้าน เพื่อเป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่า บ้านนี้ไม่มีผู้ชายอาศัยอยู่
แม้คนพื้นที่อื่น อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้จะจบลงได้ด้วยเสื้อเพียงตัวเดียว แต่คนในพื้นที่ ยังคงมีความเชื่อนี้มาตลอด จนถึงปีปัจจุบัน เรายังคงสามารถหาข่าวผีแม่ม่ายในภาคอีสานอ่านได้ทุกปี
บือบ้าน
บือบ้าน มาจากแนวคิดเดียวกับ ศาลหลักเมือง มีลักษณะเป็นเสาสั้นๆ ทำมาจากไม้มงคลจะอยู่ตรงกึ่งกลางของหมู่บ้าน แต่เสานี้ไม่ได้ทำหน้าที่ค้ำอะไรอยู่จริงๆ นอกจากช่วยค้ำจุนจิตใจของชาวบ้าน โดยมีการเซ่นไหว้ เชื้อเชิญให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาอาศัย เพื่อคุ้มครองผู้คนในชุมชน และมีการไหว้ประจำปี เช่นเดียวกับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ จะเดินทางไปไหน ใครเข้าออกหมู่บ้าน ก็ต้องมาไหว้หลักบือบ้านนี้เสมอ
จะเห็นได้ว่า สิ่งนี้ทำให้เกิดการยึดเหนี่ยวทางจิตใจทั้งส่วนบุคคลและของชุมชน แต่ที่สำคัญ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน มีพิธีกรรมร่วมกัน มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจสิ่งเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูล
https://library.stou.ac.th/odi/online/exhibition-pheetahak/index.html
https://www.silpa-mag.com/culture/article_8407