มองไปยังเรื่องราวสยองขวัญทั่วโลก บ่อยครั้งทำไมมันถึงมักมาคู่กับภาพของชนบท?
ปอบ กระสือ กระหัง ฯลฯ ผีที่เรารู้จักกันอย่างดีในประเทศไทย มาจากความเชื่อท้องถิ่นอยู่บ่อยครั้ง หรือหากมองไปไกลๆ ภาพของเรื่องราวสยองขวัญเหนือธรรมชาติที่เราคุ้นตา ก็มักมาจากพื้นที่ห่างไกล ทั้งลัทธิบูชายัญในหมู่บ้านห่างไกล เรื่องราวของแม่มดที่หลบซ่อนอยู่ในแมกไม้ หรือผีดูดเลือดที่อาศัยอยู่ในปราสาทห่างไกลผู้คน ฯลฯ เรื่องราวเหนือธรรมชาติอันตราตรึงเราจำนวนมากมักมีจุดร่วมเช่นนี้ ตั้งแต่เรื่องเล่าและตำนาน ไปจนถึงภาพยนตร์ในวัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัย
ในขณะเดียวกันหากมองมายังชุมชนเมืองปัจจุบันที่เราจำนวนมากอาศัยอยู่ การนึกถึงเรื่องสยองขวัญเหนือธรรมชาติในพื้นที่ที่เราคุ้นเคยนี้ กลับยากกว่าที่คิด และอาจฟังดูแปร่งๆ เมื่อเราแต่ละคนต่างคิดว่า ไม่ใช่ว่ายิ่งเราคุ้นเคยกับอะไร เราจะยิ่งมีความรู้สึกร่วมกับมันมากกว่าอย่างนั้นเหรอ? อย่างนั้นแล้วความกลัวของเราจะทำงานแบบนั้นด้วยหรือเปล่า? ทำไมเรื่องราวสยองขวัญพื้นบ้าน หรือ Folk horror ถึงแตะต้องความรู้สึกกลัวของเราได้ แม้เราจะห่างไกลจากมัน?
อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ซับซ้อนเกินกว่าเราจะสามารถฟันธงได้อย่างเที่ยงตรง เจาะจง และตายตัวว่าอะไรต้องเป็นแบบไหน นั่นรวมไปถึงความกลัวของเราด้วย เช่นเดียวกันกับที่เราสุขต่างกัน ทุกข์ต่างกัน และกลัวต่างกัน อย่างนั้นแล้วเราจะต้องเริ่มอย่างไร หากจะลองมาคุยกันว่า สิ่งสิ่งหนึ่งทำให้เรากลัวได้อย่างไร? จุดเริ่มต้นที่ดีจึงอาจเป็นการลองแยกสิ่งสิ่งนั้นออกมาเป็นองค์ประกอบของมัน
หากเราให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองลองนึกภาพพื้นที่ชนบท แล้วให้ตอบว่านึกถึงอะไรบ้าง คำตอบคงไม่พ้นป่าพง สัตว์ ความมืด ความเงียบ ความโดดเดี่ยว ความไม่คุ้นเคย ฯลฯ ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นส่วนที่ประกอบร่างพื้นที่ห่างไกลจริงหรือไม่ ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเราลองแยกออกมาเช่นนี้ หลายๆ องค์ประกอบ เช่น ความมืด ความโดดเดี่ยว ความไม่คุ้นเคย หรือความไม่รู้ ล้วนตกอยู่ในหมวดของความกลัวที่เรียกว่า ความกลัวปฐมบท (Primal Fear)
ความกลัวปฐมบท คือความกลัวที่ฝังอยู่ในสัญชาตญาณมนุษย์ แล้วส่งต่อผ่านขั้นตอนการวิวัฒนาการโดยมอบความรู้สึกแง่ลบให้กับเรา แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถเอาชีวิตรอดได้ เช่น ความกลัวความมืดของเรา ทำให้เราตื่นตัวเมื่อเราไม่สามารถมองเห็นได้ หรือเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การอยู่อย่างโดดเดี่ยว ก็มอบความกลัวให้เราด้วยการเป็นสิ่งมีชีวิตไร้เขี้ยวเล็บ และความกลัวดังกล่าวยิ่งทวีคูณขึ้นไป เมื่อเรารู้ว่ารอบกายของเราอาจมีนักล่าอยู่ ทั้งหมดนี้อยู่ในภาพจินตนาการพื้นที่ห่างไกลของมนุษย์จำนวนมาก
หนึ่งในความกลัวปฐมบทที่นักวิชาการและนักเขียนหลายๆ คนเชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ คือความกลัวจากความไม่รู้ ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานกันว่า ความเชื่อบางอย่างของมนุษย์ เกิดขึ้นมาจากการพยายามอธิบายสิ่งที่พวกเขาไม่อาจอธิบายได้ด้วยวิทยาการในห้วงขณะนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจและขจัดความกลัวความไม่รู้ออกไป โดยความกลัวจากความไม่รู้นี้ บ่อยครั้งก็เกิดขึ้นกับเราในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไปจนถึงการย้ายตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เราไม่คุ้นเคย และนั่นเองอาจเป็นหนึ่งในความกลัวที่สุด ซึ่งมาพร้อมกับพื้นที่ห่างไกล คือความกลัวว่าเราจำต้องออกจากพื้นที่ที่เราคุ้นเคย ไปเป็นคนนอก และต้องเอาชีวิตรอดในที่ที่เราไม่รู้จักอะไรเลย
เมื่อพูดถึงความไม่คุ้นเคย สิ่งที่เรานึกถึงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ ความคุ้นเคยเกิดขึ้นได้เพียงจากการเปรียบเทียบ ต้องมีสิ่งที่คนผู้นั้นมองว่าเป็นสถานการณ์ปกติเสียก่อน จึงจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคย การเป็นพื้นที่ห่างไกล แปลได้ในตัวของมันเองว่าต้องมีพื้นที่ใกล้ การที่ใครสักคนเป็นคนนอกได้ ก็แปลว่าต้องมีใครสักคนเป็นคนใน
บ่อยครั้งเหลือเกิน เมื่อเราพูดถึงความกลัวเกี่ยวกับความน่ากลัวของความเชื่อท้องถิ่น เรามักมองและรับรู้ผ่านระบบ ‘คนใน-คนนอก’ ซึ่งมนุษย์จัดแจงตัวเองเอาไว้ผ่านแนวคิดชนเผ่า โดยสื่อประเภท Folk Horror เช่น Midsommar หรือ The Wicker Man ในแง่หนึ่งเป็นการเสนอว่า “คงจะน่ากลัวใช่ไหม ถ้าวันหนึ่งเราเดินเข้าไปในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แล้วพวกเขามีพิธีกรรมเช่นนี้?”
เมื่อเราหันมองผีท้องถิ่นในไทยบ้าง พวกเขาก็เป็นตัวแทนของความเป็นอื่นเหล่านั้นเสมอมา ในงานวิจัยแสงกระสือ: ผีเพศโรคและความเป็นอื่นการเมืองระหว่างเพศและโลกจริง โดยรศ. ดร.กำจร หลุยยะพงศ์ จากกลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่ายคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พูดถึงประเด็นความเป็นผีและความเป็นอื่นว่า บ่อยครั้งเรื่องราวเกี่ยวกับผีและเรื่องสยองขวัญ ก็เป็นภาพสะท้อนบางอย่างในสังคม ทั้งความเป็นหญิงและความเป็นเชื้อโรคของกระสือ หรือวิกฤติการณ์ทางการเมืองของซอมบี้ ฯลฯ
นอกจากนั้นอาจารย์กำจรยังใช้การมีอยู่ของกระสือในหนัง เป็นช่องทางการพูดถึงมุมมองของคนชนบทและคนเมืองว่า “ด้านหนึ่งทำให้กระสือดูล้าหลัง ด้อยค่า แต่กระสือสายตนนี้กลับถูกทำให้เชื่อมโยงกับความเป็นวิทยาศาสตร์ โดยยกคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ว่าเป็นผู้กำหนดลิขิตชะตากรรมของหญิงที่ต้องกลายมาเป็นกระสือ อันมาจากภาวะของการติดเชื้อโรคอย่างหนึ่ง แทนที่จะอธิบายไปถึงผลกรรมเฉกเช่นความเชื่อเรื่องกระสือในอดีต ที่เชื่อว่าเกิดมาจากการเล่นของหรือคุณไสย (ดังที่หลวงพ่อได้เอ่ยถึง)”
สิ่งที่ข้อสังเกตดังกล่าวสื่อสารออกมา คือสายตาของ ‘คนนอก’ และ ‘คนชนบท’ มองปรากฏการณ์บางอย่างแตกต่างกันออกไป เช่นนั้นแล้วจะเป็นการพูดเกินไปหรือไม่ หากเราตีความว่าความน่ากลัวของผีท้องถิ่นโดยรวม เป็นความกลัวจากการมองวัฒนธรรมหนึ่งด้วยสายตาที่เราไม่คุ้นเคย เป็นวัฒนธรรมที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจ และคำอธิบายที่เราสามารถมีให้แก่มันได้?
จะเป็นการพูดเกินไปหรือเปล่า หากจะบอกว่าความกลัวเหล่านั้น คือความกลัวที่เกิดจากระยะห่าง ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม?
เราแต่ละคนต่างมาจากที่ใดสักแห่งที่มีวัฒนธรรมของตัวเอง และบ่อยครั้งเหลือเกิน เราในฐานะคนเมืองผู้มีความศิวิไลซ์ ทำหน้าที่เป็นผู้จ้องมองและถ่ายทอดภาพความกลัวของตัวเอง ภาษาทางวัฒนธรรมของเราบอกว่า พิธีกรรมและภูตผีชนบทนั้นน่ากลัว ความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่มาคู่กับความเป็นอื่นไม่ปกติและล้าหลัง ดังนั้นการแง้มมองมันผ่านวัฒนธรรมป๊อปของเราอาจนำไปสู่ความกลัวได้ เพราะการแต่งเติมส่วนที่เราไม่เห็นผ่านจินตนาการและสัญชาตญาณ
เราสามารถลองนึกภาพอีกภาพหนึ่งได้ ภาพของโลกที่เราเข้าใจวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างถ่องแท้ และเข้าใจความเชื่อของคนในพื้นที่ว่า ไม่ใช่ทุกอย่างที่ต้องถูกจับอยู่ภายใต้คำอธิบายของวิทยาศาสตร์
และน่าลองคิดดูว่า สิ่งเหล่านั้นจะยังน่ากลัวอย่างที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่? หรือยังเป็นความน่ากลัวในแบบที่เรากลัวหรือเปล่า?
อ้างอิงจาก