“มีเพียงสองอุตสาหกรรมเท่านั้นที่เรียกลูกค้าของตัวเอง
ว่า ‘ผู้ใช้’ นั่นก็คืออุตสาหกรรมยาเสพติด
และซอฟแวร์” – Edward Tufte
ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมานั้นแนวคิดกระแสต่อต้านเทคโนโลยีใหญ่ๆ นั้นมีให้เห็นกันอยู่ตลอดเวลา ทุกคนน่าจะเคยได้อ่านหรือเห็นมาเรื่อยๆ ว่า ‘Social Media’ นั้นสามารถสร้างผลกระทบกับชีวิตของผู้ใช้งานได้มากมายแค่ไหน แน่นอนว่าด้านหนึ่งมันเป็นเครื่องมือที่ทำให้การสื่อสารและติดต่อนั้นเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว เป็นช่องทางการเชื่อมต่อและรับข่าวสารจากทั่วโลก อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญเดียวกัน เครื่องมือเหล่านี้ทั้งละเมิดสิทธิ์ความเป็นส่วนตัว กระจายข่าวปลอมสร้างความเสียหาย แตกแยก เข้าใจผิดในสังคม การเมือง ทัศนคติ ทฤษฎีสมคบคิด และที่สำคัญกลไกการทำงานเบื้องหลังนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้งาน ‘เสพติด’ จนทำให้เสียสุขภาพจิต วิตกกังวล ซึมเศร้า และกลายเป็นไม่สนใจคนรอบข้างไปเลยก็มี
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา Netflix เพิ่งปล่อยตัวสารคดีใหม่ชื่อ ‘The Social Dilemma’ ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นบทวิเคราะห์เรื่องราวเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียที่ชัดเจน สั้น กระชับ กระตุ้นความคิด และชวนขนลุกไม่น้อย แม้ว่าหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับประเด็นเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ความสามารถที่โดดเด่นของผู้สร้างอย่าง Jeff Orlowski – ที่เคยทำผลงานสารคดีที่มีชื่อเสียงประเด็นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมมาแล้วอย่าง ‘Chasing Ice’ และ ‘Chasing Coral’ คือเรื่องการหยิบเอาประเด็นที่เราคุ้นเคยกันดี (อย่างปัญหาสภาพแวดล้อมหรือปัญหาของโซเชียลมีเดีย) มาใส่รายละเอียดที่ลึกซึ้งเพิ่มเข้าไป ปรับการนำเสนอให้ตรงจุดและทำให้ผู้ชมนั้นเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น (ในขณะเดียวกันก็รู้สึกกังวลไปด้วย) โดยสารคดีเรื่องนี้ก็ทำออกมาได้เป็นอย่างดีและชวนติดตามเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมแพลตฟอร์มเหล่านี้ถึงถูกออกแบบมาให้เราไหลฟีดและคลิ๊กอย่างไม่จบไม่สิ้น
The Social Dilemma หยิบเอาประเด็นปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันออกมาอธิบาย ทั้งเรื่องของการใช้โซเชียลมีเดียทางการเมือง การแพร่กระจายของข่าวปลอมเกี่ยวกับ COVID-19 ไปจนถึงประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าและอัตราการทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นหลายเท่าตัวของเด็กวัยรุ่นทั้งตอนต้นและตอนปลายในช่วงสิบปีตั้งแต่โซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของพวกเขา โดยในสารคดีนี้มีการสลับการดำเนินเรื่อง (โดยใช้นักแสดง) และสัมภาษณ์อดีตพนักงานที่เคยคลุกคลีและเป็นผู้สร้างอัลกอริทึมเหล่านี้ขึ้นมาตั้งแต่แรกถึงเหตุผลว่าทำไมเราถึงมาอยู่จุดนี้ได้ โดยทุกคนที่มาให้สัมภาษณ์ต่างกล่าวในทำนองคล้ายคลึงกันว่าไม่มีใครคิดในตอนแรกหรอกว่าจะให้มันออกมาเป็นแบบนี้ ทุกคนต่างคาดหวังว่าจะสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานให้ดีขึ้นทั้งนั้น (“fundamentally a force for good,”)
Justin Rosenstein หนึ่งในอดีตวิศวกรของ Facebook ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง ‘ปุ่ม Like’ บอกว่าในตอนแรกนั้นความตั้งใจของพวกเขาคืออยากจะส่งต่อ “พลังงานด้านบวก” ไปให้เพื่อนหรือคนใกล้ชิด เป็นการบ่งบอกว่าเรานั้นสนับสนุนพวกเขาอยู่ แต่พอมาตอนนี้มันกลับกลายเป็นตัววัดค่าอะไรบางอย่างสำหรับผู้ใช้งาน เกิดอาการเสพติดยอดไลค์ของคนที่ติดตาม เปรียบเทียบคุณค่า ความสำคัญของตัวเองกับจำนวนเหล่านั้น Tim Kendall อดีตผู้บริหารของ Pinterest ยอมรับว่าหลายปีก่อนเขาไม่สามารถที่จะวางมือถือของตัวเองลงได้แม้จะกลับมาที่บ้านแล้วก็ตาม ทั้งที่ที่บ้านก็มีลูกๆ ของเขารอที่จะใช้เวลากับเขาอยู่
“ผมไปทำงานระหว่างวันเพื่อสร้างบางอย่าง
ที่ตัวเองกลับกลายเป็นเหยื่อซะเอง ผมอดใจไม่ได้เลยจริงๆ”
สารคดีนี้เลือกใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยผ่านตัวละครที่เป็นครอบครัวธรรมดาๆ ครอบครัวหนึ่ง มีลูกสามคน แต่ละคนก็จะมีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง พึ่งพาและใช้งานโซเชียลมีเดียแตกต่างกันแล้วแต่วัย Jeff Seibert อดีตผู้บริหารของ Twitter บรรยายระหว่างที่ภาพชีวิตประจำวันของตัวละครเหล่านี้ดำเนินไปในแต่ละวันว่า
“สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนรู้ก็คือว่าทุกอย่างที่พวกเขาทำออนไลน์ ล้วนถูกจับจ้อง จับตามรอย และถูกประเมิน ทุกๆ การกระทำที่เราทำล้วนถูกจับตาดูด้วยความระมัดระวังและบันทึกเอาไว้ ภาพใดบ้างที่คุณหยุดมองดู มองดูนานแค่ไหน”
บริษัทเหล่านี้สามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำว่าตอนนี้ผู้ใช้งานของพวกเขากำลังรู้สึกแบบไหน เหงา เศร้า เบื่อ ตื่นเต้น เหนื่อย ง่วง หิว ฯลฯ แม้ว่า AI ที่อยู่หลังหน้าจอจะไม่มีความรู้สึก แต่มันรู้ดีว่าเรากำลังต้องการเห็นอะไร ดูอะไร อยากเห็นรูปอาหาร อยากดูรูปแฟนเก่า กลางคืนดึกๆ ทำอะไรบ้าง ชอบเก็บตัวหรือชอบเข้าสังคม พวกมันมีข้อมูลรายละเอียดส่วนตัวของทุกคนมากยิ่งกว่าที่เราจะคาดคิด ที่สำคัญที่สุดก็คือระบบจะสร้างโมเดลของตัวเราขึ้นมาจากข้อมูลที่เก็บเอาไว้เหล่านี้ ซึ่งนับวันจะยิ่งทำให้มันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แม่นขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือว่าระบบเหล่านี้มนุษย์แทบไม่ได้มีการควบคุมดูแลอยู่เลย
สิ่งหนึ่งที่สารคดีทำได้ดีอีกอย่างคือการอธิบายหลักการทำงานของระบบเบื้องหลังได้อย่างไม่ซับซ้อน (ในรูปแบบที่ใช้มนุษย์แสดงเป็นแมชชีนคล้ายกับอะนิเมชั่น Inside Out) เป้าหมายหลักของระบบหรือ AI หลังบ้านนั้นมีอยู่สามอย่างคือหนึ่งสร้าง Engagement เพื่อเพิ่มการใช้งานของคุณในระบบให้มากยิ่งขึ้น เช่นการส่งคอนเทนต์ที่คุณน่าจะสนใจไปให้ตอนที่ระบบรู้แล้วว่าใกล้ถึงเวลาค่าเฉลี่ยที่คุณจะใช้งาน (เช่นปกติจะหยิบมาดูสองนาที พอมันใกล้ถึงสองนาทีก็จะคัดเอาคอนเทนท์ที่น่าสนใจส่งมาต่อแล้วดูว่าจะรั้งคุณเอาไว้ได้ไหม ถ้าได้ มันก็รู้แล้วว่าครั้งต่อไปต้องทำยังไง)
เป้าหมายที่สองคือสร้าง Growth หรือการเติบโตของตัวคุณ ให้คุณไปเชื่อมต่อกับคนอื่นให้ได้ ดึงคุณกลับมา ให้คุณชวนเพื่อนมาเล่น และอย่างสุดท้ายคือเป้าหมายเรื่องการเงินด้านการโฆษณา เพื่อให้แน่ใจว่าขณะที่เป้าหมายสองอย่างแรกเกิดขึ้นนั้นก็สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับบริษัทได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยทุกอย่างนี้เป็นอัลกอริทึมที่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ฉลาดขึ้นทุกครั้งที่เรากดไลก์ กดแชร์ หรือเปิดดูวีดีโอ
อย่างที่บอกไว้แล้วว่าแนวคิดที่ว่าปัญหาของโซเชียลมีเดีย ทั้งระบบที่สะกดให้ผู้ใช้งานนั้นเป็นซอมบี้ที่ไหลฟีดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สร้างความแตกแยกในสังคม กระจายข่าวปลอมอย่างไม่มีการคัดกรอง หรือทำให้แนวคิดความเชื่อผิดๆ (อย่างโลกแบนหรือ pizzagate) จนก่อให้เกิดเป็นปัญหาสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้มันชัดเจนและเป็นสัญญาณเตือนที่น่ากังวลก็คือว่าวิศวกรและผู้บริหารทั้งหลายที่ทำงานทางด้านนี้หลายคนนั้นไม่อนุญาตให้ลูกๆ หรือเด็กในปกครองของตัวเองนั้นใช้สมาร์ตโฟนหรือโซเชียลมีเดียเลยด้วยซ้ำ หลายคนเลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งงานที่มีค่าจ้างสูงเพราะไม่อยากเป็นฟันเฟืองในปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ตัวอย่างล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Washington Post ก็ไปสัมภาษณ์ Ashok Chandwaney อดีตวิศวกรกว่าห้าปีของ Facebook ถึงเหตุผลว่าทำไมถึงลาออก เขาบอกว่า
“ผมไม่สามารถที่จะทนทำงานและรับผิดชอบต่อองค์กรที่สร้างผลกำไรจากการเกลียดชังในอเมริกาและทั้งโลกได้อีกต่อ”
ส่วน Orlowski ให้สัมภาษณ์กับ FastCompany ว่า
“ทุกคนมีพื้นที่ความคิดเห็นส่วนตัวของตัวเองทั้งหมด ตอนนี้เราเห็นระบบที่ปรับแต่งหน้าตาของมุมมองโลกสำหรับผู้ใช้งานของทุกคน ซึ่งก็ทำให้มันยากมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ที่มีมุมมองต่างกัน ‘ความจริงของฉันกับความจริงของคุณต่างกัน’ นั้นคือส่ิงที่เราเห็นในสังคมตอนนี้ และผมคิดว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะให้มันเกิดขึ้น”
คำอธิบายเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนปัญหาใหญ่และลึกที่เรามักมองข้าม แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นหลุมดำทางความคิดที่จะทำให้เราติดอยู่ในวังวนความเชื่อที่ตอกย้ำไปในสมอง (ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม) จนกลายเป็นว่าเมื่อมีใครก็ตามที่แสดงความคิดเห็นในทิศทางที่แตกต่างออกไปคือ ‘อีกฝ่าย’ และเป็นศัตรูทันที
“เรายอมรับความจริงของโลกเท่าที่มันนำถูกนำเสนอให้เรา ง่ายๆ แค่นั้น”
นี่คือประโยคทองจากภาพยนต์เรื่อง Truman Show และนั้นคือสิ่งที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ในเวลานี้ ข้อมูลมากมายถูกนำเสนอให้เราเห็น เป็นการชักนำให้เราเชื่อในบางเรื่องโดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ มีสถิติหนึ่งจาก Pew Research Center ที่นำเสนอในสารคดีนี้ที่น่าสนใจ นั่นคือตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ประชากรของอเมริกามีแนวคิดที่แบ่งแยกแตกต่างกันมากที่สุดทั้งเรื่องส่วนตัวและการเมืองในรอบยี่สิบปี ต่างฝ่ายต่างมองว่าตัวเองถูก บอกว่าอีกฝั่งคือตัวก่อปัญหา เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจและเป็นภัยต่อประเทศ ซึ่งที่จริงแล้วข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนเพื่อเป็นการหาผลกำไรทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ว่ามันเป็นการบิดเบือนและหาผลประโยชน์จากความสามารถของอินเตอร์เน็ตและแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมต่อคนที่มีความคิดคล้ายๆ กันมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน
สิ่งหนึ่งสารคดีนี้อาจจะไม่ได้ไปแตะมากนักคือ ‘ข้อดี’ และผลบวกที่โซเชียลมีเดียมีต่อสังคมและผู้ใช้งาน แน่นอนว่าเหรียญมีสองด้านเสมอ The Social Dilemma เลือกที่จะพูดถึงด้านมืดซะมากกว่าเพราะนั้นคือสิ่งที่ Orlowski นั้นอยากนำเสนอ เขาพูดต่อในการสัมภาษณ์ว่า
“ระหว่างที่เรากำลังเรียนรู้ที่จะเข้าใจว่าการทำงานของ machine learning คืออะไร ผมก็เริ่มเข้าใจว่าอีกด้านของหน้าจอกำลังเกิดอะไรขึ้นในมุมที่แตกต่างออกไป ผมแค่รู้สึกว่ามันมีพลังงานบางอย่างอยู่อีกฝั่งหนึ่งที่ไม่เคยมีคนคิดถึงและไม่มีใครที่เข้าใจว่ามันทำงานยังไงจริงๆ”
แม้ว่าสารคดีเรื่องนี้จะออกแนวหดหู่และสิ้นหวัง แต่ Orlowski เน้นว่านี่ไม่ใช่สารคดีที่ ‘ต่อต้านเทคโนโลยี’ แต่อย่างใดเพียงแต่ว่ามันเป็นการยกมือเรียกร้องให้ทุกคนหันมาสนใจถึงปัญหาที่แท้จริงที่ฝังรากลึกในโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็คือระบบโครงสร้างการทำรายได้ของบริษัท ตัว business model ที่เป็นขับเคลื่อนการตัดสินใจของแพลตฟอร์มเหล่านี้ เพื่อให้รัฐบาลและประชาชนเห็นความสำคัญและออกกฎหมายมาควบคุมการทำงานของบริษัทเหล่านี้อย่างจริงจังซะที
Orlowski กล่าวปิดท้ายด้วยว่า “ก็เหมือนประเด็นเรื่องของสภาวะโลกร้อน เราไม่สามารถที่จะโทษทุกอย่างและวางความรับผิดชอบทั้งหมดให้กับประชาชนได้ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนด้วยตัวเองเพียงว่าเปลี่ยนไปใช้หลอดประหยัดไฟ มันเป็นเพียงก้าวหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่คำตอบ ก็เหมือนกันที่ว่าความรับผิดชอบทั้งหมดไม่ควรไปตกอยู่บนผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองให้กำหนดกฎแก่ลูกๆ และเด็กในครอบครัวว่าควรใช้โทรศัพท์นานเท่าไหร่ ผมคิดว่าพ่อแม่มีหน้าที่ที่สำคัญในการปกป้องครอบครัวจากปัญหาสุขภาพจิตและข้อมูลที่ผิดๆ ทางการเมือง แต่มันมีปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นที่ต้องได้รับการแก้ไข”
กลุ่มคนที่มาให้สัมภาษณ์นั้นยังคง ‘มองโลกในแง่ดี’ และคิดว่าเรายังมีโอกาสที่จะแก้ไขและกู้โซเชียลมีเดียที่สร้างผลกระทบทางบวกให้สังคมให้กลับคืนมาได้ สารคดีเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ทำให้คุณปิดบัญชีโซเชียลมีเดียแล้วหนีเข้าไปอยู่ในป่าเพื่อหลีกหนีปัญหาอะไรแบบนั้นหรอก เพราะอย่างที่ Orlowski บอกแหละว่าที่จริงแล้วโซเชียลมีเดียและสมองกลเบื้องหลังนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยอำนาจของเม็ดเงินทางธุรกิจและแรงกดดันของนักลงทุนให้บริษัทหาเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งทางเดียวที่บริษัทเหล่านี้ทำได้ดีคือการปรับแต่งแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้เสพติดมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นทางแก้ที่ดีที่สุดในขณะนี้น่าจะเป็นเรื่องการสร้างกรอบกฎหมายที่ชัดเจน มีการทำโทษผู้ให้บริการอย่างจริงจัง มีการควบคุมดูแล ปกป้องผู้ใช้งานและข้อมูลของพวกเขา โดยเฉพาะเด็กๆ และวัยรุ่นที่ถือว่าเป็นช่วงอายุที่กำลังค้นหาตัวเองและมีความเสี่ยงสูง ปรับเปลี่ยนดีไซน์และวิธีการสร้างรายได้ใหม่
โซเชียลมีเดียไม่ใช่ตัวที่ก่อให้เกิดปัญหา มันแค่ทำให้ด้านมืดของมนุษย์ชัดเจนมากขึ้น การปิดบัญชีเฟซบุ๊คส์หรืออินสตาแกรมอาจจะไม่ได้ช่วยอะไร เพราะถึงปิดที่หนึ่งก็ยังมีแพลตฟอร์มอื่นที่พร้อมจะดึงเราเข้าไปใช้งานอยู่ดี ตอนนี้เทคโนโลยีมันมีอยู่ทุกที่แล้ว ก็เหมือนกับคำพูดที่บอกว่า
if you’re not paying for the product, you are the product.
และเราก็เป็นสินค้ามูลค่ามหาศาลเลยทีเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก