ในช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมาที่พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารสารสนเทศ การสืบค้น หุ่นยนต์ (robotic) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มีพัฒนาการขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดนั้น หัวข้อที่มาแรงควบคู่กันไปด้วย เห็นจะหนีไม่พ้นการที่สักวันจักรกลจะครองโลก หรือการที่จักรกลเหล่านี้จะเข้ามาแย่งงานของ ‘มนุษย์’ อย่างเราไป กรณีหลังนี้อาจจะนับว่าเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากกว่าประเด็นแรกด้วยซ้ำ เพราะว่ามาดูเกี่ยวกับเรามากกว่า และคืบใกล้เข้ามาเรื่อยๆ หรืออาจจะมาถึงแล้ว
ความสนใจในประเด็นเรื่องการเข้ามาแทนที่งานของมนุษย์นั้น ถูกพูดถึงในแทบทุกสื่อ (ทาง The MATTER เองก็เคยนำมานำเสนอหลายครั้ง) มีการประเมินต่างๆ กันไป ทั้งมนุษย์ประเมินการเข้ามาแย่งงานโดย AI และทั้งการประเมินที่ให้ AI ทดลองประเมินดู (ว่าง่ายๆ ก็คือ แย่งงานมนุษย์ในการประเมินนั่นเอง) ทุกสำนักการประเมินแม้อาจจะมีผลแตกต่างออกไปบ้าง แต่ทุกฝั่งมีจุดร่วมกันแทบทั้งหมดคือ มันจะมาแย่งงานมนุษย์แน่ๆ เราจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจ หาทางรับมือกับภูมิทัศน์ทางการงานแบบใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่ของเดิมนี้
วิธีคิด หรือข้อสรุปแบบนี้แหละครับที่ผมอยากจะนำมาพูดถึงในวันนี้ ว่าถึงที่สุดแล้วมันเป็นกับดักของวิธีคิดของระบบทุนนิยมเสรี ที่ขังเราไว้ในกรอบวิธีคิดในลักษณะดังกล่าวและไม่เอื้อให้เรามองไปสู่ความเป็นไปได้แบบอื่นๆ เลย และผมคิดว่าระบบทุนนิยมเสรีนั้นมันสร้างกอบแบบนี้ขึ้นมาเพื่อความอยู่รอดของมันเองในท้ายที่สุดด้วย
ทุนนิยมเสรีนั้นวางฐานรากของคำอธิบายตนเองบนเรื่องเล่าของ โอกาส และการพยามไขว่คว้าหาฝัน (โอกาส) นั้นมาครอบครองครับ หากเราทำงานให้เยอะ ขยันทำงาน ไม่ย่อท้อในการมองหาโอกาส ‘สักวัน’ โอกาสจะมาถึงมือเรา สักวันเราจะเป็นผู้ชนะ (ผมเขียนถึงเรื่องนี้ไปบ้างแล้วในครั้งก่อน เรื่องเวลาแบบทุนนิยมกับปีใหม่ ฉะนั้นจะไม่ขอลงรายละเอียดมากไปกว่านี้นะครับ) เอาเป็นว่า โดยหลักๆ แล้วระบบทุนนิยมนี้ มันผลักให้เราต้องคิดถึงการแข่งขัน การเป็นผู้เล่น การไม่หยุดหย่อนจากการทำงานเพื่อจะได้มาซึ่งความสำเร็จ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว หากมองในองค์รวมก็คือ เพื่อรักษาและขยาย ‘ผลิตภาพ’ (productivity) เอาให้ให้จงได้
ฉะนั้นเมื่อพัฒนาการของจักรกลมันมีขึ้นขนาดที่สามารถมีผลิตภาพได้สูงมาก และเริ่มใช้ทุนต่อหน่วยการผลิตน้อยลงเรื่อยๆ ความกังวลของมนุษย์ในฐานะ ‘แรงงาน’ ในห่วงโซ่การผลิตจึงเกิดขึ้นในทันที
เราถูกบังคับหรือควบคุมโดยวิธีคิดของ
ระบบทุนนิยมเสรีในทันทีให้มองเห็นตัวเอง
ในฐานะ ต้นทุนการผลิตที่ทดแทนได้
แต่ถึงจุดนี้เอง หากเราลองเอาตัวหลุดออกมาจากกรอบวิธีคิดแบบทุนนิยมเสรีสักชั่วขณะจิตหนึ่งแล้ว เราจะพบได้ว่า วิธีการคิดแบบที่ว่ามา รวมไปถึงข้อสรุปที่สื่อและงานวิจัยแทบทุกสำนักประดามีนำมาแสดงนั้น ช่างแปลกประหลาดและผิดวิสัยเสียนี่กระไร ในเมื่อเราบอกว่าระบบต้องการรักษาผลิตภาพมวลรวมเอาไว้ให้ได้ เพื่อความอยู่รอดและเพียงพอในการบริโภคของสังคมองค์รวม และตอนนี้จักรกลได้พัฒนาตัวมาจนถึงจุดที่แทบจะทำแทนมนุษย์ได้ทั้งสิ้นแล้ว ทำไมเราจึงไม่คิดกันว่า นี่คือโอกาสที่ ‘มนุษย์จะอยู่ได้โดยสบาย แทบไม่ต้องทำงานอะไร เพราะมีจักรกลมาทำหน้าที่ในห่วงโซ่การผลิตแทนเราแล้ว’
เงื่อนไขทางวัตถุเช่นนี้ไม่ใช่หรือที่เรายิ่งควรจะดีใจ และหาทางที่จะทำให้จักรกลนั้น ทำงานแทนมนุษย์ เพื่อมนุษย์จะได้สามารถมีอยู่มีกินได้ โดยไม่คำนึงถึงบทบาทในฐานะปัจจัยหรือทุนในห่วงโซ่การผลิตของระบบทุนอีก หากพูดกันด้วยภาษาวิชาการสักนิดแล้ว เราควรจะมองพัฒนาการทางเทคโนโลยีในตอนนี้ในฐานะที่เป็น ‘เงื่อนไขของความเป็นไปได้’ (condition of possibility) ที่สำคัญยิ่งในการปลดแอกมนุษย์ ออกจากห่วงโซ่ของทุน โดยที่เราจะยังสามารถอยู่ดีกินดี (ทางวัตถุสภาพ) กันได้อย่างถ้วนหน้าไม่ใช่หรือ?
แต่เหตุผลที่ถึงที่สุดแล้ว เราติดแหง็ก ค้างเติ่งกับข้อสรุปแบบเดิมๆ นั้นก็เพราะว่า กรอบคิดหลักของเรานั้น วางฐานอยู่บนความเชื่อที่ว่าเฉพาะผู้ประกอบการระดับยักษ์ใหญ่เท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของจักรกลซึ่งมีศักยภาพในการเป็นปัจจัยการผลิตระดับนั้นได้ และด้วยระบบโครงสร้างแบบทุนนิยมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นมันก็เป็นเช่นนั้นจริง แต่นี่แหละครับคือปัญหาใหญ่ที่แท้จริง
ปัญหาใหญ่ที่แท้จริงนั้น มันจึงไม่ใช่การที่จักรกลจะมาแย่งงานเรา แต่มันอยู่ที่เทคโนโลยีการเข้าถึงและใช้งานจักรกลในการผลิตนั้น ถูกผูกขาดอยู่ในมือของคนส่วนน้อยมากๆๆๆๆๆๆ ของสังคม ถึงขนาดที่แม้แต่ในสภาวะที่มนุษยชาติควรจะสามารถปลดแอกตนเองออกจากการทำงานเยี่ยงทาสของระบบทุนได้แล้ว และไปหาทำสิ่งที่ตนฝัน ตนชอบได้แล้ว กลับต้องมาเป็นกังวลและวนลูปของฝันร้ายว่า ‘จะตกงาน เพราะโดนจักรกลแย่งที่ไป’
เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้ว การพูดคุย การเตรียมการทางชีวิตที่ควรจะเตรียมกันจริงๆ นั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องว่าจะหาอาชีพไหนอย่างไร ควรมองกลุ่มอาชีพไหนที่ หุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์จะไม่เข้ามาแย่งงานเรา แต่เป็น
ทำอย่างไรให้การเข้าถึงและเทคโนโลยีเหล่านี้
จะมีขึ้นเพื่อเป็นกำลังการผลิต ‘ส่วนร่วม’
เพื่อคนทั้งสังคมได้
แทนที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งกลุ่มใด เพราะหากทำเช่นนั้นได้ มนุษย์เองย่อมได้รับการประกันความอยู่รอดพื้นฐานทางวัตถุสภาพไปด้วยโดยปริยายนั่นเอง การคิดเรื่องลดระยะเวลาของสิทธิบัตร หรือการที่รัฐต้องเป็นผู้ลงทุนในการซื้อองค์ความรู้ใหม่ และนำมาลงทุนแจกจ่ายกับสังคม หรืออื่นๆ อาจจะต้องเป็นประเด็นที่ต้องคิด ต้องถกอย่างจริงจังมากกว่าเสียยิ่งกว่าการมาพูดเรื่องการโดนแย่งงาน ‘ซึ่งไม่ควรจะต้องพูดถึงตั้งแต่แรก’ เพราะยิ่งเราคิดบนฐานแบบที่ว่า นั่นแปลว่าเรายิ่งกำลังลดทอนความเป็นมนุษย์ของตนเองให้มีค่าเท่ากับหรือกระทั่งด้อยค่าเสียยิ่งกว่าจักรกลไปเสีย
และที่ตอนต้นผมเกริ่นทิ้งไว้ว่าสำหรับผมแล้ว การจองจำวิธีคิดแบบนี้ของระบบทุนนิยมนั้น ถึงที่สุดแล้วเป็นการทำเพื่อรักษาหรือเพื่อความอยู่รอดของตัวระบบทุนนิยมเสรีเองก็เพราะว่า เงื่อนไขแบบที่ว่ามา ที่โลกทางวัตถุได้พัฒนามาถึงจุดที่มีศักยภาพจะกลายเป็นกำลังการผลิตแทนมนุษย์ได้แทบจะทั้งหมดสิ้นแล้วนั้น เป็นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากๆ และมันสามารถทำลายฐานที่มั่นทางความคิดแบบทุนนิยมเสรีได้เลย เพราะเมื่อเราอยู่ในเงื่อนไขทางวัตถุที่สามารถถอดมนุษย์ออกจากสมการของการผลิตได้แล้ว การต่อสู้ดิ้นรนบนฐานเรื่องเล่าแบบทุนนิยมเสรีนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่แทบไม่มีประโยชน์อะไรนักไปในทันที อย่างมากที่สุดการแข่งขันจะวางอยู่บนฐานของความสำราญและสุนทรียรส แทนที่จะเป็นเรื่องของความอยู่รอด ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ทุนนิยมเสรีจะยอมให้เกิดขึ้นได้ (เพราะหากเกิดขึ้น ทุนนิยมเสรีก็จะกลายเป็นเพียงอดีตไป)
ด้วยเหตุนี้เอง การกำหนดวิถีความคิดให้เรามองไม่เห็นความเป็นไปได้ของเงื่อนไขของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจนเกิดเงื่อนไขอย่างที่ว่ามานี้จึงจำเป็น โครงสร้างที่เป็นอยู่จำเป็นจะต้องทำให้เราไม่สามารถคิดถึงมัน (unthinkable) หรือต่อเมื่อหลุดรอดมาคิดถึงมันได้ ก็ต้องทำให้รู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นเช่นนั้น(unachievable) แต่ผมกลับคิดว่ายิ่งเราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้นี่แหละครับ ยิ่งจะทำให้ ‘ความเป็นไปไม่ได้’ (ซึ่งไม่ได้มีอยู่แต่แรก) นั้น เป็นจริงขึ้นมา เป็น Self-fulfilling prophecy หรือการกลายเป็นจริงด้วยการย้ำคิดของตัวเราเอง
เงื่อนไขทางวัตถุสภาพในตอนนี้มันเข้าขั้นพร้อมแล้วที่จะทำให้เราหลุดรอดออกไปจากห่วงโซ่ของทุนและยังคงวิถีชีวิตในฐานะมนุษย์สมัยใหม่ได้ด้วย ไม่ใช่การกลับไปอยู่แบบพอเพียงเข้าป่าเป็นฤๅษีอะไรแต่อย่างใด ที่ขาดอยู่นั้นเป็นแต่เพียงการปรับฐานคิดของเราต่อความเป็นไปได้ต่อเงื่อนไขที่ได้มาถึงแล้วนี้ และถึงที่สุดแล้ว การเตรียมตัวต่างๆ นั้น ไม่ใช่การเตรียมตัวเพื่อจะหาทางเป็น ‘ทาสในระบบทุน’ ต่อไป เพียงแค่ทำงานแบบอื่น แต่ต้องเป็นการหาทางเตรียมตัวเพื่อจัดวางระบบให้เงื่อนไขทางเทคโนโลยีที่พร้อมจะรับใช้มนุษยชาติได้นี้ “ได้มารับใช้มนุษย์ส่วนรวม” จริงๆ ไม่ใช่แค่ไปกระจุกอยู่กับคนตัวเล็กๆ กลุ่มหนึ่งและให้พวกเขาสามารถใช้เทคโนโลยีที่พร้อมจะปลดแอกคนทั้งสังคมได้เพื่อตัวของเขาแต่เพียงคนเดียวเสียที
ถึงที่สุด ผมคิดว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดที่นักวิชาการสายทวนกระแส (คือ ทวนกระแสทุนนิยม) ไม่ว่าจะเป็นมาร์กซิสม์ หรือสำนักอื่นๆ จะพยายามคิดและออกมานำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างเงื่อนไขดังว่ามาให้เป็นจริงได้ และพึงทำกับ “สังคมมวลรวม” ด้วย ไม่ใช่การถกกันบนหอคอยงาช้างหรือบนท้องฟ้าอะไร จะบอกว่าดึงเอาหอคอยลงมาหาพื้นดินก็ได้ และพร้อมๆ กันไปสังคมเองก็อย่าเพิ่งรีบตัดสินความเป็นไปได้ใหม่ๆ อะไรว่า “เป็นไปไม่ได้เสียหมด” ไปเสียทันที เพราะยิ่งเรารีบร้อนทำลายหนทางใหม่ๆ ยิ่งเท่ากับเราเร่งที่จะเป็นทาสในระบบนี้อย่างเข้มข้นขึ้นไปอีกเท่านั้น และเรื่องนี้ไม่มีใครได้ประโยชน์เลย นอกเหนือไปจากนายทุนผู้ครอบครองเทคโนโลยีกลุ่มเล็กๆ นี้กระจุกหนึ่ง