คำว่า Timocracy อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูของหลายคนนักครับ ไม่ใช่เฉพาะคนไทยอย่างเรา แม้แต่ฝรั่งตะวันตกเองก็ไม่ได้รู้จักคำคำนี้กันนัก ฉะนั้นเท่าที่ผมพยายามค้นหาดู คิดว่ายังไม่มีการแปลคำนี้เป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการนัก แต่หากใช้ ‘บริบททางภาษา’ ที่คุ้นชินกันในปัจจุบันมาใช้เป็นคำแปลแล้ว ผมคิดว่าจะแปลคำนี้ว่า ‘แต้มบุญญาธิปไตย’ หรือระบอบการปกครองด้วยแต้มบุญ ก็น่าจะไม่ผิดพลาดมากนัก
แม้จะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่เอาเข้าจริงๆ Timocracy หรือการปกครองด้วยแต้มบุญนี้เริ่มต้นมีมาตั้งแต่กรีกโบราณโน่นเลยครับ แต่ว่าในตอนเริ่มแรกเลยนั้น Timocracy ไม่ได้หมายถึง ‘แต้มบุญ’ อะไรหรอกครับ เพราะจริงๆ แล้วโดยรากศัพท์ คำคำนี้เกิดจากคำว่า Time ในภาษากรีกที่แปลว่า ‘มูลค่าหรือราคา’ (worth, price) รวมกับคำว่า cracy ที่หลายท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า แปลว่าปกครอง หรือ rule นั่นเอง ฉะนั้นคำนี้แต่แรกเริ่มมันจึงแปลว่า ‘การปกครองด้วยราคาหรือมูลค่าทรัพย์สินในครอบครอง’
เอาง่ายๆ ก็คือ ในตอนต้นนั้น Timocracy แปลว่า การปกครองที่ให้เฉพาะผู้มีสมบัติหรือมีทรัพย์สินในครอบครองเท่านั้น จึงจะสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองได้ และยิ่งรวยหรือมีทรัพย์สินเยอะ ก็ยิ่งดี ยิ่งมีอำนาจมาก อย่างไรก็ดีแนวคิดเรื่อง Timocracy นี้ แม้จะอิงอยู่กับโภคทรัพย์ต่างๆ ในครอบครอง แต่ก็ยังให้คุณค่ากับ ‘ความรับผิดชอบและหน้าที่ต่อสังคม’ อยู่ด้วย แต่ถ้าไปสุดทางแบบยิ่งเงินเยอะ ยิ่งอำนาจเยอะ โดยไม่สนใจความรับผิดชอบต่อพลเมืองใดๆ เลย อันนั้นจะเรียกอีกอย่างหนึ่งครับ นั่นเรียกว่า Plutocracy คนละอย่างกันเนาะ และความต่างที่ว่านี้สำคัญมากๆ ด้วย ในการพัฒนาจากแค่เรื่องทรัพย์สิน มาเป็น ‘แต้มบุญ’ ในเวลาต่อมา
แนวคิดเรื่อง Timocracy หรือ timokratia นี้เชื่อกันว่าเริ่มต้นโดยนักการปกครองและนักกฎหมายกรีกโบราณที่ชื่อ Solon ราวๆ 6 ศตวรรษก่อนคริสตกาล (6 BC) ครับ
Solon เสนอให้แบ่ง “อำนาจและความรับผิดชอบต่อสังคมและการปกครองตามสัดส่วนของทรัพย์สินในครอบครอง” โดยเขาแบ่งประชากรออกเป็น 4 ส่วน ตามทรัพย์สินที่ครอบครองและกำลังการผลิตที่สามารถผลิตได้ในแต่ละปี โดยหน่วยวัดกำลังการผลิตในยุคนั้นเรียกว่า Bushel ดังนี้ครับ
1. Pentacosiomedimni หรือ Man of 500 Bushel หรือคนที่มีกำลังการผลิตโภคทรัพย์ต่างๆ ได้ตั้งแต่ 500 bushel ขึ้นไป สมควรได้ตำแหน่งในฐานะ ‘แม่ทัพ’ ในกองทัพ ซึ่งนับเป็น ‘ระดับสูงสุด’ ในการจัดลำดับอำนาจของ Solon
2. Hippeis อันนี้ไม่ใช่ฮิปปี้นะครับ แต่หมายถึงอัศวิน โดยให้กับคนที่มีกำลังการผลิตที่ 300 bushels ขึ้นไป
3. Zeugitae คือ คนที่มีกำลังผลิตประมาณ 200 bushel คนกลุ่มนี้จัดให้เป็น Hoplites ซึ่งถ้าเทียบก็ประมาณทหารราบในยุคนี้คงจะพอได้ (คือ ทหารที่ถือหอกยาวๆ แบบเฉพาะของกรีกโบราณกับโล่น่ะครับ)
4. Thetes ก็คือคนกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือนั่นแหละครับ พวกนี้ควรเป็นได้แค่แรงงานทั่วไปเท่านั้น ไม่ควรได้รับเกียรติหรือความรับผิดชอบอะไรต่อสังคมมากไปกว่านี้
อาจจะดูหยาบกร้านฟอนเฟะพอสมควรนะครับ กับโครงสร้างที่ว่ามา แต่ต้องเข้าใจว่านี่เรากำลังพูดถึงอดีตราวๆ 2,600 ปีก่อนโน่น ที่สังคมเค้ามีความพยายามจะจัดโครงสร้างการอยู่ร่วมในสังคมแล้ว แม้จะหยาบกร้านเถื่อนถ่อยอยู่บ้างหากมองด้วยสายตาคนยุคปัจจุบัน แต่แนวคิดเหล่านี้ต้องนับเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าไม่น้อยทีเดียวในยุคสมัยนั้น (มันคือยุคสมัยที่ประเทศไทยยังไม่มีแม้แต่วุ้นเลยนะครับ นับยุคสมัยเทียบไม่ได้เลย คือ ย้อนกลับไปสุโขทัยแล้วคูณ 3 เข้าไปอีกทียังไม่นานเท่าเลย… นี่คือเรื่องนึงที่เราควรจะตาสว่างกับประเทศเราได้แล้วนะครับ เราเป็นประเทศที่ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ยาวนานรุ่มรวยอะไรขนาดนั้น กลางๆ ตารางมากๆ)
นอกจากความรับผิดและอำนาจในทางสังคมที่แบ่งตามกำลังการผลิตโภคทรัพย์ 4 ลำดับชั้นที่ว่าไปแล้ว ความรับผิดชอบหรือความเสียสละต่อสังคมอย่างเป็นทางการแบบ ‘การเก็บภาษีชนิดก้าวหน้า’ แบบแรกๆ ของโลกด้วย จากคำอธิบายของ N.G.L. Hammond นักวิชาการด้านกรีกโบราณชื่อดังชาวอังกฤษ ได้เสนอว่า รูปแบบของ Timocracy ที่ Solon เสนอนี้ ดูจะมีการเก็บภาษีในอัตรา 6:3:1 ในขณะที่ Thetes ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นล่างสุดเนื่องจากมีกำลังในการผลิตต่ำสุดนั้น ไม่ต้องจ่ายภาษีอะไร เพราะไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ทางสังคมอะไรอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ Timocracy ของ Solon จะอิงอยู่กับการเป็นเจ้าของทรัพย์สินและวัด ‘ตำแหน่งหน้าที่ทางสังคม’ ผ่านความสามารถในการผลิตแล้ว (ฟังดูทุนนิยมจริงๆ 555) แต่เอาเข้าจริงๆ คนที่มักจะถูกคัดเลือกเข้ามาสู่ตำแหน่งหน้าที่ในทางการปกครองและอำนาจในกองทัพนั้นมักจะเป็น ผู้ซึ่งมีความรักและต้องการจะได้มาซึ่งเกียรติยศเป็นอย่างมาก เสียมากกว่า ข้อสังเกตนี้ถูกชูขึ้นมาโดยตัวของตัวพ่อของโลกปรัชญากรีกโบราณอย่างเพลโตเองเลยทีเดียว แม้ว่าเพลโตจะมองว่าการปกครองในวิถีของ Timocracy นี้จะเป็นการปกครองที่ไม่เป็นธรรม (unjust) แบบหนึ่ง แต่สภาพที่เกิดขึ้นจริงที่ว่า มักจะไม่ค่อยได้อิงกับปริมาณโภคทรัพย์ แต่เป็นเกียรติยศมากกว่านั้น อาจจะพอนับได้ว่าเป็นจุดที่ทำให้ ความเข้าใจที่มีต่อ Timocracy ขยับเช้ามาสู่ด้านของ ‘การสะสมแต้มบุญ’ แทนนั่นเอง
แนวคิดนี้ถูกย้ำถึงซ้ำและขยับขยายไปในทาง ‘แต้มบุญ’ มากขึ้น (และดูจะได้รับการยอมรับมากขึ้น) เมื่อศิษย์เอกของเพลโต อย่างอริสโตเติล ได้เขียนถึง Timocracy เช่นกัน ใน Nicomachean Ethics ของเขา (เล่มที่ 8 บทที่ 10) ซึ่งหลักๆ แล้วเป็นการพูดถึง ‘รูปแบบการเมืองที่แท้จริง’ (true political forms) 3 แบบ ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบนี้อาจนำไปสู่การปกครองแบบที่เป็นบวก หรือเป็นลบก็ได้ โดย Timocracy ไปปรากฏอยู่ในรูปแบบหนึ่งของ ‘รูปแบบการเมืองที่แท้จริง’ ของอริสโตเติล คือ Aristotelian Timocracy ซึ่งแม้เขาจะมอง Timocracy บนฐานของการถือครองโภคทรัพย์อยู่ แต่มันไม่ใช่การถือครองโภคทรัพย์โดดๆ แบบสมัย Solon แล้ว แต่ใช้มันในฐานะของการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมและเกียรติยศในทางสังคม (civic honor) ด้วย ในจุดนี้เองที่เราจะเรียกอย่างเต็มปากเต็มคำว่า ‘คือเรื่องของการสะสมแต้มบุญ’ ก็ไม่ผิดแม้แต่น้อย
ว่าง่ายๆ ก็คือ อริสโตเติลมองว่า เมื่ออำนาจทางการเมืองและเกียรติยศทางสังคมเพิ่มมากขึ้น อำนาจทางโภคทรัพย์หรือทรัพย์สินต่างๆ ในครอบครองต่างๆ ก็ย่อมเพิ่มขึ้นด้วยเป็นเรื่องปกติที่ ‘มันพึงเป็นอยู่แล้ว’ ตามวิธีคิดแบบ Aristotelian Timocracy นี้
ที่อธิบายถึง Timocracy มายาวเหยียดนั้น ก็เพื่อจะบอกว่า ในระบอบการปกครองที่เคยถูกมองว่าดีเมื่อสองพันปีก่อนนั้น การที่ยิ่งสะสมแต้มบุญมาก ยิ่งทำเพื่อประเทศชาติมาก ก็จะยิ่งได้อำนาจในทางการปกครองมาก (โดยเฉพาะในทางการทหาร) และจะมี ‘ทรัพย์มากตามมาจากอำนาจทางการเมือง’ และแต้มบุญที่สั่งสมมาจากการเสียสละเพื่อชาตินั้น เป็นเรื่อง ‘ปกติ๊ปกติ’ จากจุดยืนเมื่อสองพันปีก่อนครับ
ฉะนั้นการที่บิ๊กป้อมจะใส่นาฬิกาอะไร แหวนจากไหน จะของใคร หรือของท่านเอง ก็เป็นเรื่อง ‘ปกติ๊ปกติ’ (เสียงสูง) ครับ ขนาดเมื่อสองพันปีก่อน เค้ายังว่าโอเคเล้ยยยยยย เราจะมาเถียงคำพูดของคนเฒ่าคนแก่เหรอ? เด็กสมัยนี้ยิ่งชอบเถียงอยู่ด้วย ไม่รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่เสียจริง (ไหว้ปู่ทวดอริสโตเติลเค้าสิลูก)
แต่เพื่อเป็นการยืนยันว่า การมีแหวนสารพัดวง (ที่ไม่รู้เพราะมีแม่หลายคน?) หรือนาฬิกาสารพัดเรือน (เพื่อนเยอะจริงๆ) ของบิ๊กป้อมนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดามาก (ลองดูภาพจากโพสต์ Watchmen ของทาง The MATTER ประกอบได้) ที่พึงจะเป็นอยู่แล้ว ตามเงื่อนไขของ Timocracy หรือแต้มบุญญาธิปไตยของเราแล้ว ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า บิ๊กป้อม เค้าสะสมแต้มบุญทางการเมืองได้อย่างเหมาะสมกับฐานะทางทรัพย์สินของท่านแล้วจริงๆ ซึ่งเอากันตรงๆ รัฐบาลนี้ทั้งคณะดูจะเข้าเงื่อนไขนี้ทั้งหมดนะครับ ไม่ใช่เพียงแต่บิ๊กป้อมคนเดียว เพราะรัฐบาลนี้ มีกลไกสำคัญในการ ‘ผลิตหรือสร้างแต้มบุญทางการเมือง’ อย่างเป็นทางการอยู่ นั่นก็คือ นโยบายประชารัฐ นั่นเอง
ส่วนมากแล้วคนมักจะเข้าใจว่านโยบายประชารัฐ หรือจะเรียกว่าโครงการประชารัฐก็แล้วแต่ ว่าเป็นโครงการในเชิงการ ‘พัฒนาสังคมหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของประเทศ’ เพื่อยกระดับการพัฒนาขึ้น โดยได้มาจากการแลกเปลี่ยนที่จะเชื่อฟังหรือทำประโยชน์ให้กับรัฐ แต่เอาจริงๆ แล้วนโยบายนี้ โดยโครงสร้างเริ่มต้นพื้นฐานเลยนั้น มาจากฐานความคิดเรื่องการทดแทนคุณแผ่นดิน หรือว่ากันอีกอย่างก็คือ ‘การแข่งขันกันสะสมแต้มบุญ’ ในนามการเสียสละต่อชาตินั่นเอง เพราะประเทศชาติได้ ‘ให้อะไรกับเรามากแล้ว’ จึงถึงเวลาที่ ‘ประชาชนจะให้อะไรคืนกลับประเทศชาติบ้างเสียที’ ฉะนั้นโรลโมเดลที่สำคัญคนหนึ่งในระยะหลังในฐานะตัวแทนของ ‘ประชารัฐ’ ที่ทางรัฐบาลพูดถึงจึงหนีไม่พ้นพี่ตูน บอดี้สแลม ที่ดูจะสะสมแต้มบุญขึ้นมาอย่างล้นหลามในการวิ่งการกุศล เพื่อหาเงินทุนไปช่วยโรงพยาบาลที่ขาดแคลน
เพราะฉะนั้นจากฐานคิดนี้เอง มันจึงเป็นการที่รัฐบาล มองตัวเองในฐานะองคาพยพที่แยกตัวออกจากส่วนหนึ่งของประเทศชาติก่อน แล้วจึงสร้างผลงานต่างๆ หรือพัฒนาชุมชนนู่นนี่นั่นในประเทศในฐานะการ “เลือกที่จะทำเช่นนั้น การเลือกที่จะทดแทนหรือตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน” นั่นเอง คือ มันไม่ได้มองรัฐบาลในฐานะกลไกเชิงสถาบันของรัฐที่มีหน้าที่แต่ต้นโดยตัวมันเองอยู่แล้วที่จะต้องทำการพัฒนาประเทศหรือยกระดับประเทศในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น (คือ ไม่ใช่ ‘ทางเลือกที่รัฐบาลจะต้องมาเลือก แต่ต้องทำอยู่แล้วแต่ต้น’) แต่มันเป็นการทำในฐานะที่รัฐบาล ‘เป็นคนดี และเลือกที่จะตอบแทนแผ่นดิน’ ฉะนั้นการออกนโยบายพัฒนาชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เน็ตประชารัฐ โรงเรียนประชารัฐ หรือบัตรประชารัฐ ต่างๆ นั้น จึงเป็นการสร้างแต้มบุญให้กับรัฐบาลเอง
หรือพูดอีกอย่างก็คือ เพราะรัฐบาลกลายเป็นหน่วยทางการเมืองที่สร้างคุณูปการหรือผลิตแต้มบุญในฐานะการทดแทนแผ่นดินนี้ได้มากที่สุดนั่นเอง พวกเขาจึงเหมาะสมที่จะได้เป็นผู้ปกครองประเทศนี้[1]
กลไกลักษณะนี้เอง เป็นไปตามเงื่อนไขสำคัญของระบอบแต้มบุญญาธิปไตยหรือ Timocracy ที่เราพูดถึงกันไปเลย นี่เราไม่ต้องไปพูดถึงปัญหาของตัวนโยบายประชารัฐเองด้วย ที่มีนัยยะแอบแฝงทางการเมืองมากมาย อย่างนโยบายอินเทอร์เน็ตประชารัฐ (NetPracharat) ที่กำหนดตัว Internet Provider เป็น TOT เท่านั้น และอยู่ภายใต้การควบคุมโดย กสทช. อย่างเต็มที่, นโยบายโรงเรียนประชารัฐ ที่ชัดเจนมากในการพยายามบรรจุวิถีแบบ ‘คนดี’ เข้าหัวเด็กให้ได้อย่างเข้มข้น (ดูรูปด้านล่างประกอบ), การที่โครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นเสมือนส่วนศูนย์กลางหรือสมองของโครงการในนโยบายประชารัฐทั้งหมดนั้น ‘ไม่มีส่วนที่เป็นตัวแทนของฝั่งประชาชน’ เลย มีแต่ตัวแทนของฝั่งรัฐบาลและบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศเท่านั้น ฯลฯ เลย
คือ เรื่องเหล่านี้มันเป็นกลไกการทำงานที่มีปัญหาในตัวมันเองแน่ๆ แต่คงไม่มีพื้นที่พอจะลงรายละเอียดได้ขนาดนั้น (และต่อให้มีพื้นที่เหลือพอ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเขียนในประเทศนี้ แล้วไร้ซึ่งผลพวงที่อันตรายต่อชีวิตตามมาด้วย) ฉะนั้นก็จะไม่ไปยุ่มย่ามมากกว่านี้ เอาเป็นว่า โดยโครงสร้างและจุดเริ่มต้นของนโยบายประชารัฐนั้น มันคือโครงการที่ให้ทุกภาคส่วนของสังคมแข่งกันผลิตแต้มบุญในฐานะการทดแทนคุณแผ่นดิน แต่พร้อมๆ กันไป ก็มาพร้อมกับกลไกที่ประกันเงื่อนไขด้วยว่า รัฐบาลจะเป็นผู้นำด้านแต้มบุญนี้ไปโดยตลอด (ร่วมกับบริษัทต่างๆ ที่เป็นตัวแทนภาคเอกชน ซึ่งมีโภคทรัพย์แน่นหนา) เพราะผู้ที่มีแต้มบุญมากเท่านั้นจึงเหมาะจะเป็นผู้มีอำนาจทางการปกครองครับ
ผมเขียนมาเพื่อจะอธิบายให้เห็นว่า จริงๆ แล้วนโยบายประชารัฐที่กำลังฮิตฮอตกันอยู่ตอนนี้นั้น มันไม่ใช่อะไรที่แปลกเลย มันคือสิ่งที่ถูกต้องและปกติมาก ตามวิถีของ ‘แต้มบุญญาธิปไตย’ หรือ Timocracy ที่อธิบายไป มันเป็นสิ่งที่เค้าเคยยอมรับกันว่าดีเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว และในเมื่อคณะรัฐบาลทหารมีแต้มบุญมากก็ควรได้ปกครอง และเมื่อมีแต้มบุญมาก มีอำนาจในการปกครองมาก ก็ย่อมมีทรัพย์มากตามมาด้วย เป็นเรื่องธรรมดา
ฉะนั้นบิ๊กป้อมเค้าจะมีนาฬิกาอีกกี่สิบเรือน แหวนอีกกี่สิบวง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร และไม่ควรต้องไปแจ้ง ปปง. อะไรด้วย เพราะเรื่องนี้มันเรื่องปกติ๊ปกติไง ไม่เรื่องผิดแปลกอะไรเลยที่จะมามองว่าทุจริตได้ นี่สุจริตครบหมดตามวิถีทางของแต้มบุญญาธิปไตยเลยครับ มีอำนาจมาก ก็รวยมาก… บิ๊กป้อมแปลกตรงไหน ผิดตรงไหน (ปัดโธ่!!!) นี่คือความดีงามเมื่อสองพันปีก่อนเลยนะครับ
ผมอยากจะจบโดยให้ฉุกคิดกันสักนิดเท่านั้นแหละครับว่า ไอ้โวหารว่า “ทดแทนคุณแผ่นดิน สะสมแต้มบุญ” อะไรพวกนี้ มองเผินๆ อาจจะดูดี แต่การนำเอาการทดแทนคุณแผ่นดินที่ ‘ควรเป็นทางเลือกส่วนบุคคล’ มาทำให้เป็นกลไกเชิงนโยบายในระดับรัฐนั้น มันเท่ากับเป็นการกลับตาลปัตรบทบาทในเชิงหน้าที่ระหว่างประชาชนและรัฐสมัยใหม่โดยสิ้นเชิง
เพราะรัฐสมัยใหม่มีขึ้นเพื่อรับใช้ดูแลและได้รับการตรวจสอบประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนเป็นฝ่ายดูแลบริการหรืออยู่ในการควบคุมอีกต่อไปอย่างในสมัยก่อน สิ่งที่เคยเป็นของที่ดี เป็นสิ่งที่ใช้ได้ในบริบทยุคหนึ่งก็อาจจะเน่าเฟะไปตามการเดินทางของเวลาและความเปลี่ยนแปลง
ก็คงไม่ผิด ที่วันนี้เราจะบอกว่าประเทศเราถูกแช่แข็งไว้ในสุญญากาศของเวลาเมื่อราวๆ 2,000 กว่าปีมาแล้ว
Illustration by Namsai Supavong
[1] คำอธิบายส่วนนี้ มาจากคำสัมภาษณ์จากหนึ่งในคณะทำงานคนสำคัญของ นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแนวความคิดของนโยบายประชารัฐจริงๆ แต่เนื่องเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของผู้เขียนที่กำลังทำอยู่ จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลหรือชื่อของผู้ให้สัมภาษณ์ได้ ณ ขณะนี้ แต่ผู้เขียนขอยืนยันในเนื้อหาข้อมูลส่วนนี้ และมีเทปคำสัมภาษณ์เป็นหลักฐานกับตัวผู้เขียนด้วย