คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกำหนดอัตราโครงสร้างภาษี 3 สินค้า คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไพ่ และยาสูบ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต 2560 ฉบับใหม่ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา
แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ไพ่ เหล้า เบียร์ บุหรี่ จะขึ้นราคากันอีกรอบแล้วนะครับ
รัฐท่านยังบอกกับเราอีกด้วยว่า รัฐไม่ได้ต้องการเพิ่มรายได้ แต่ต้องการปรับโครงสร้างภาษี ให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมยิ่งขึ้น แถมนี่ยังเป็นอะไรที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการดูแลสุขภาพของประชาชนอีกด้วย
… (ขออนุญาตสงบนิ่งไว้อาลัยหนึ่งนาที ก่อนจะพิมพ์ต่อ)
ถึงแม้ว่ารัฐจะไม่ต้องการรายได้เพิ่ม (มีรัฐที่ไหนไม่ต้องการรายได้เพิ่ม?) แต่การขึ้นภาษีอย่างนี้ รัฐก็ต้องมีรายได้เพิ่มอยู่แหงแซะ ส่วนข้ออ้างที่ว่าต้องการดูแลสุขภาพของประชาชนนั้น ก็น่าจะหมายถึงการเพิ่มราคา เพื่อลดอัตราการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ของคนไทย
แต่มันจะลดได้จริงๆ หรือครับ?
หน่วยงานผู้รับผิดชอบอย่างกรมสรรพสามิต ได้อ้างข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ว่า เป็น ‘Beat Buys’ หรือ มาตรการที่ทำได้ง่าย ได้ผล ด้วยต้นทุนต่ำที่สุด ก็คือการเพิ่มภาษีจะช่วยลดความต้องการในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ แถมยังบอกว่า WHO ได้แนะนำให้ใช้มาตรการเพิ่มภาษีเป็นอันดับ 1 เลยเสียด้วย
ข้อแนะนำของ WHO ที่กรมสรรพสามิตอ้างถึงนั้น ที่จริงแล้วคือ รายงานชิ้นหนึ่งของ WHO ที่สามารถหาดูได้ข้อแนะนำที่ว่านี่ได้ง่ายๆ โดยแค่คีย์ชื่อรายงานเข้าไปในกูเกิ้ลว่า From Burden to “Best Buy”: Reducing the Economic Impact of Non-Communicable Diseases in Low- and Middle-Income Countries ก็จะมีไฟล์ PDF ให้เปิดอ่านกันแบบฟรีๆ
และถ้าใครได้เปิดอ่านดูแล้วก็จะเห็นว่า ในรายงานฉบับนี้ก็ออกตัวดังเอี๊ยดด…ยิ่งกว่ารถเมล์สาย 8 ในตำนานเอาไว้ตั้งแต่ต้นด้วยว่า รายงานฉบับนี้เป็นเพียงภาพรวมของบทความสองชิ้น (ของ WHO เองหนึ่งชิ้น และของ Harvard School of Public Health อีกหนึ่งชิ้น) แต่ไม่ใช่จุดยืนอย่างเป็นทางการขององค์การ (ในรายงานชิ้นนี้ใช้คำว่า does not represent an official position of the World Health Organization ซึ่งก็คือชื่อเต็มๆ ของ WHO)
เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วนี่จึงไม่ใช่คำแนะนำของ WHO อย่างที่กรมสรรพสามิตอ้างอิงระดับเล่นใหญ่รัชดาลัยเธียเตอร์ยังต้องค้อมหัว แล้วลุกขึ้นยืนปรบมือให้หรอกนะครับ แต่เป็นภาพรวมของบทความสองชิ้นที่ WHO เค้าสรุปภาพกว้างๆ มาให้อ่านกันก็เท่านั้นแหละ (แถมเอาเข้าจริงแล้ว รายงานชิ้นนี้ก็ไม่ได้บอกไว้ด้วยซ้ำว่า การเพิ่มภาษีเป็นมาตรการอันดับแรกที่ควรจะทำหรอกนะครับ ในรายงานฉบับนี้ก็แค่พูดถึงวิธีการที่ว่าเป็นหัวข้อแรกต่างหาก)
ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งที่ในรายงานฉบับที่ว่าไม่ได้เขียนถึงเลยก็คือ ในช่วงหลังสงครามปฏิวัติอเมริกาเพียงเล็กน้อย (สงครามครั้งนั้นจบลงเมื่อ พ.ศ. 2326) รัฐบาลของประธานาธิบดีของอเมริกันชนคนแรกอย่าง ยอร์ช วอชิงตัน ก็ได้ค้นพบว่าสงครามปลดปล่อยตนเองจากสหราชอาณาจักรในครั้งนั้น ก็ได้ทำให้กระเป๋าสตางค์ของประเทศแฟบลงไปด้วย
แน่นอนว่าวิธีการที่ยอร์ช วอชิงตัน ใช้ก็คือ การเพิ่มภาษีเหล้าเพื่อเอารายได้เข้ารัฐนี่แหละครับ (ไม่งั้นผมจะเล่าถึงเรื่องนี้ทำไมกัน?)
ถึงแม้ว่ายอร์ช วอชิงตัน จะไม่ได้เอาเงินไปซื้อเรือดำน้ำ หรือรถถังที่ไหนมาทำให้กระเป๋าสตางค์ของประเทศแฟบไปเล่นๆ แต่ภาวะสงครามก็ทำให้กระเป๋าสตางค์ของประชาชนแฟบเสียยิ่งกว่าของประเทศเสียอีก
การขึ้นภาษีเหล้าจึงเท่ากับเป็นการซ้ำเติมพวกเขาให้ตายทั้งเป็น เพราะการเปลี่ยนข้าวโพดที่ขายไม่ออกให้เป็นวิสกี้ (หรือจะเรียกแบบอเมริกันสไตล์ว่า เบอเบอร์น ก็ช่าง) นี่แหละที่เป็นกำไร และรายได้เสริมของพวกเขาในภาวะที่ ‘ต้องรอด’ เช่นนั้น
ผลที่ตามมาก็คือไม่มีใครคิดจะจ่ายไอ้ภาษีบ้านี่กันเลยนะครับ สหรัฐอเมริกา ณ ขณะจิตนั้นจึงเต็มไปด้วย อะไรที่รัฐเรียกว่า ‘เหล้าเถื่อน’ (สถานการณ์ดูคล้ายๆ กับที่หลายคนในประเทศกรุงเทพฯ นาทีนี้เริ่มคิดถึง การหาซื้อเหล้า และบุหรี่เถื่อนกันเพียบ)
แน่นอนว่า เมื่อรัฐเก็บภาษีไม่ได้ก็เลยมีการปราบปรามการทำเหล้าเถื่อนที่ว่า ซึ่งก็ทำให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากจากคนที่โดนปราบ และก็เป็นผู้คนพวกนี้เองจำนวนหลายร้อยคน ที่ลุกขึ้นมาประท้วงกันในเมืองพิตต์สเบิร์ก เมื่อ พ.ศ. 2337 จนรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาต้องนำกำลังทหารจำนวน 13,000 นายเข้าล้อมปราบ และจับกุม จนกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ที่รู้จักกันในชื่อ ‘กบฏวิสกี้’ (Whiskey Rebellion)
ถ้าจะใช้เหตุการณ์กบฏวิสกี้เป็นบทเรียนแล้ว ผมก็ไม่แน่ใจนักว่า อะไรที่อยู่ในรายงานชื่อยาวๆ ฉบับนั้นของ WHO จะได้ผลอย่างที่คาดหวังไว้อย่างสวยหรูราวกับอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์เสมอไปนะครับ
แถมนี่ยังเป็นประเทศกรุงเทพ ในขวบ พ.ศ. ที่มีสารพัดช่องทาง และความเป็นไปได้ ไม่ใช่สถานที่เปลี่ยวเหงาราวกับอยู่ในหนังคาวบอย อย่างประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ของ ยอร์ช วอชิงตัน เสียหน่อย?