เราทุกคนต่างมีอาชีพในฝันวัยเด็ก วัยที่เรายังมองเห็นทุกความเป็นไปได้ในชีวิต ยังไม่ได้รับรู้เงื่อนไขในโลกวัยผู้ใหญ่ที่รอข้างหน้า แม้วันนี้ความฝันเหล่านั้นจะถูกเก็บเข้าลิ้นชัก เป็นเพียงเรื่องเล่าขำขันในสักบทสนทนา แต่เราก็ได้มีอาชีพที่เลี้ยงชีวิต มีงานอดิเรกที่ได้ได้ค้นหาความชอบไปเรื่อยๆ มีชีวิตที่ได้เจองานที่ชอบ กิจกรรมที่ใช่ ใครกันจะอยากทิ้งชีวิตเหล่านี้ไป ไม่มีหรอก จวบจนกระทั่งเราได้เป็นแม่คนนั่นแหละ
“มีใครสักคนกำลังอยู่ในตัวเรา” “เขาจะหน้าตาแบบไหน โตขึ้นมาเป็นยังไง” ความคิดที่วนเวียนในหัวเมื่อตอนที่รู้ว่าตัวเองได้เป็นแม่ ใช้ชีวิตไปกับการเตรียมตัวเพื่อเจอใครอีกคน แม้จะได้เจอกันในที่สุดแล้วก็ตาม ความห่วงหาก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป กลับยิ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน โลกใบเก่าที่เราเคยมี กิจวัตรเดิมๆ ที่เคยทำ เป็นอันต้องเปลี่ยนไปให้เหมาะกับการเลี้ยงดูเด็กตัวน้อยที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ปั๊มนมเก็บไว้เมื่อมีเวลาว่าง ลวกขวดนม ซักผ้าอ้อมกองพะเนิน เฝ้าดูเจ้าเด็กน้อยไม่ให้คลาดสายตา แม้จะยังเดินไม่ได้ แต่มือของเด็กทารกนั้นว่องไวกว่าที่เราคิดไว้มาก พร้อมจะคว้าเอาทุกอย่างเข้าปากอยู่เสมอ จนคนเป็นแม่แทบไม่หลงเหลือคำว่าเวลาส่วนตัว เพราะต้องสละเวลาทั้งหมดที่มีไปกับการเฝ้าดูแลและเห็นเด็กน้อยคนนี้เติบโตขึ้นในแต่ละวัน แม่ลูกอ่อนหลายคนจึงแทบไม่เหลือเค้าคนเดิมที่เคยเป็น ทั้งรูปร่างที่เปลี่ยนไปจากการตั้งครรภ์ ความอิดโรยที่แสดงออกมาทางแววตา ดูแลตัวเองเพียงผ่านๆ เพราะไม่มีเวลามากขนาดนั้น แต่เมื่อมีสิ่งสำคัญมากกว่าที่ต้องทำ
จนวันหนึ่งได้กลับมาเห็นรูปเก่าๆ ในโทรศัพท์ หรือรูปเมื่อนานมาแล้วบนโซเชียลมีเดีย ภาพในวันช็อปปิงแตกแตน หิ้วของพะรุงพะรังที่เกาหลี ตระเวนกินของอร่อยไม่เว้นวันที่ญี่ปุ่น เดินป่าสัมผัสธรรมชาติ วันที่ได้รับรางวัลพนักงานดีเด่น กินเลี้ยงหลังโปรเจ็กต์ใหญ่สำเร็จลุล่วงด้วยสองมือของเรา เรื่องราวพวกนั้นมันผ่านมานานแค่ไหนแล้วนะ เราหลงลืมชีวิตเหล่านั้นไปได้ยังไง ทั้งที่มันเคยเป็นความสุข เป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิตให้เราได้ขนาดนั้น
สละชีวิตตัวเองเพื่อดูแลชีวิตอีกคน
ราวกับว่าเมื่อได้สวมบทบาทแม่แล้ว จำต้องสละชีวิตแบบเดิมที่เคยมี แล้วไปเลือกทางที่ดีที่สุดที่จะเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งได้ วิธีไหนดีกว่า สะดวกกว่า จำต้องทำแบบนั้น สละชีวิตเพื่อให้อีกชีวิตเติบโต กระทั่งเขาดูแลตัวเองได้ จนหลายคนลืมไปว่า ก่อนจะมาเป็นแม่ เธอเคยเป็นใครมาก่อน เธออาจเป็นนักกีฬาประจำโรงเรียน ที่มีความฝันอยากติดทีมชาติ อาจมีความฝันเที่ยวต่างประเทศทุกฤดูร้อน อาจอยากปีนขึ้นไปสู่งจุดสูงสุดของอาชีพ หรืออาจจะอยากนอนเอกเขนกในวันหยุดโดยทิ้งความกังวลใดๆ ไว้ข้างหลัง แต่บทบาทของคนเป็นแม่ ไม่อนุญาตให้ทำแบบนั้นได้อีกต่อไป
ตัวเลขที่น่าสนใจจาก Motherly แพลตฟอร์มให้ความรู้เกี่ยวกับการเป็นแม่และเลี้ยงดูเด็ก เผยว่า 18% ของเหล่าคุณแม่เลือกจะเปลี่ยนงานหรือออกจากงานในปีที่ผ่านมา 15% เลือกที่จะออกจากงานเพราะไม่มีเวลาดูแลลูก นั่นหมายความว่ามีแม่หลายคนที่ต้องหลุดออกจากตลาดแรงงาน ด้วยความไม่สะดวกในการเลี้ยงดูลูก บริษัทหลายแห่งต้องเสียฟันเฟืองที่มีไป หรือแม้แต่ตัวแม่เองก็เสียโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงานไปด้วย ถามว่าถ้าเรามีหน้าที่การงานที่ดี มีความพร้อมมากพอ เลือกที่จะใช้บริการเลี้ยงเด็ก พี่เลี้ยง แทนได้ไหม แน่นอนว่าได้ และตัวเลขจากผลสำรวจเดียวกัน บอกว่าครอบครัว 49% ก็เลือกที่จะใช้บริการพี่เลี้ยงเด็กแทน ซึ่งสูงถึง 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นดีเห็นงามกับทางเลือกนี้เท่าไหร่นัก กว่า 69% บอกว่าบริการเหล่านี้กลายมาเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลในการเลี้ยงดู
ชั่งน้ำหนักความจำเป็นและเงื่อนไขต่างๆ แล้ว แม่หลายคนจึงเลือกที่จะดูแลลูกด้วยตัวเอง ด้วยหวังว่าจะสร้างความผูกพัน พัฒนาการที่ดีให้เด็ก การดูแลที่ครอบคลุม ทั่วถึง และลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลง ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนไปอีกคืน มีเพียงเด็กน้อยคนนี้เท่านั้นที่อยู่ในสายตา จะนั่งนอนยืนเดิน ล้วนต้องเฝ้าดูไม่ให้มีอะไรผิดพลาด เขาเริ่มเดินได้แล้วล่ะ กินข้าวเองได้แล้ว เรียกแม่ครั้งแรก สื่อสารความต้องการ หม่ำๆ เล่นๆ จนถึงวัยที่เริ่มไปมีสังคมใหม่อย่างการเข้าโรงเรียน ใช่ว่าแม่จะวางใจ ก็ยังต้องดูแลเขาไม่ต่างจากเดิม หนำซ้ำยังกังวลยิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่เขาไม่อยู่ในสายตา เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ นั่นแหละ จนกว่าจะรู้สึกว่าปล่อยมือจากเขาไปได้ ก็กินเวลานับสิบปี หรือมากกว่านั้น จึงไม่แปลกเลยที่แม่หลายคนจะลืมชีวิตเดิมที่ตัวเองเคยมี ความฝันเดิมที่เคยเติมไฟให้เราคนเก่า เพียงแค่จำได้ว่าเคยทำอะไรเท่านั้น แต่คงกลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว
หน้าที่การงาน ความฝัน งานอดิเรก ไลฟ์สไตล์เดิมที่เคยมี กลายเป็นเพียงเรื่องเล่าในวันวานเมื่อถูกถามถึง พอเป็นแม่แล้ว ความต้องการ ความจำเป็นทุกด้านในชีวิต ขึ้นอยู่กับลูกและครอบครัวเสียมากกว่า เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘หน่อย’ คุณแม่วัย 58 ปี เมื่อถามถึงชีวิตครอบครัว เธอเล่าว่าเธอมีลูกชายเพียงคนเดียว อาจด้วยช่วงอายุที่ห่างกันมาก เพราะเธอเพิ่งมีเจ้าตัวน้อยในตอนที่เธอเลยเลข 3 ไปแล้ว ทำให้เธอไม่ได้สนิทสนมกับเขามากนักเมื่อเติบโตขึ้น ถึงอย่างนั้นเขาก็เป็นแก้วตาดวงใจที่เธอจะยังให้ความรักและการสนับสนุนจนกว่าจะจากกันไป
เมื่อถามถึงชีวิตก่อนจะมีลูก น้ำเสียงของเธอก็กระชุ่มกระชวยขึ้นมา สัมผัสถึงความกระตือรือร้นในการปัดฝุ่นเรื่องเล่าในวันวานเมื่อถูกถามถึง “ตอนนั้นแม่จบเกียรตินิยมเลยนะ ชอบเรียนหนังสือมากๆ จบมาก็อยากเรียนต่อ แต่นั่นแหละ ไม่ได้มีทุนรอนมากพอ ที่บ้านให้เรียนมหาวิทยาลัยได้ก็ลำบากมากแล้ว เลยตั้งใจหางาน อยากเป็นนักข่าว เป็นความฝันเลยตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นก็ทำงานสถานีโทรทัศน์แล้วนะ คนเก่งๆ เยอะมาก แต่เราก็ผลักดันตัวเองตลอด”
ไล่เลียงไปจนถึงวันที่รู้ตัวว่าเป็นแม่ “จะว่าไม่ตั้งใจก็ไม่ใช่ พอรู้ว่ามีเขา คุยกับสามีว่าเราเองก็พร้อม จะตั้งใจเลี้ยงเขาให้ดีที่สุด ก็เลยลาออกมาดูแลเขาเต็มที่เลย สามีก็สนับสนุน เขาก็ไม่อยากให้เราเหนื่อยมาก แต่มันก็เหนื่อย เหนื่อยจริงๆ แพ้ท้องเขาอยู่หลายเดือนจนเกือบคลอด ตอนนั้นว่าเหนื่อยแล้ว พอได้เลี้ยงเขาจริงๆ มันยิ่งกว่านั้นมาก ไหนจะลูก ไหนจะงานบ้าน จนบางครั้งก็นั่งคิดนะ ว่าคิดถูกไหมที่มีลูก”
แม่หน่อยเล่าเสริมถึงความวุ่นวายเช้าจรดเย็นของคนเป็นแม่ ทุกกิจวัตรที่ทำยังคงจดจำได้ เหมือนเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เพิ่งทำไปเมื่อวาน พอกลับมาถึงเรื่องความฝัน งานที่เคยทำ ลูกเคยรู้ไหมว่าก่อนหน้าจะเป็นแม่ แม่ทำอะไรมาก่อน
แม่หน่อยยิ้มอย่างเคยและให้คำตอบว่า “ไม่รู้หรอก (หัวเราะ) ไม่เคยเล่าให้ฟัง แม่ก็ไม่ได้ทำงานนานแล้วเนอะ ก็เพิ่งจะมีเวลาออกไปมีสังคม เจอเพื่อนฝูง ทำนู่นนี่เมื่อตอนเขาไปอยู่มหาวิทยาลัยนั่นแหละ แต่อย่างหนึ่งคือ เวลาขัดใจเขาจะบอกว่าแม่ไม่รักเขา มันก็น้อยใจนะ น้อยใจจริงๆ แม่ก็ไม่รู้ว่าเราไปผิดพลาดอะไรตรงไหน เขาถึงคิดแบบนั้น กว่าจะมีเขาได้แม่ผ่านความเหนื่อยมาเยอะมาก แต่ถามว่าเสียดายไหม ก็ไม่หรอก เราก็ได้มีรักได้ดูแลเขา ได้มีครอบครัวสมบูรณ์ก็โชคดีกว่าคนอื่นแล้ว”
เหมือนกับว่ามีความไม่ลงรอยบางอย่างฉายชัดอยู่ในความสัมพันธ์ของแม่หน่อยและลูกชาย เมื่อถามถึงเรื่องนี้ แม่หน่อยเล่าคร่าวๆ ว่าอาจเป็นเพราะตอนนั้นแม่หน่อยเองก็เพิ่งจะรับมือกับการเป็นแม่ครั้งได้ไม่ดีนัก เป็นฝ่ายที่คอยดุ ห้าม หรือลงโทษลูกมากกว่าสามี อาจเพราะใช้เวลาอยู่กับเขามากกว่า สามีจะกลับบ้านในช่วงเย็นหลังเลิกงาน และใช้เวลากับลูกในช่วงนั้นเท่านั้น เลยอาจทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อมีแต่ตามใจ ไม่ได้ดุด่าว่ากล่าวเหมือนที่แม่ทำในระหว่างวัน
“พ่อเขาจะใจดี ตามใจลูก ลูกเลยไม่ค่อยรักแม่เท่าไหร่ มีอะไรเขาเลยอยากคุยกับพ่อมากกว่า เลยคิดว่าแม่เนี่ยเป็นยักษ์เป็นมาร (หัวเราะ) ยอมรับว่าตอนนั้นแม่ก็ค่อนข้างดุเขาบ่อย มันหลายงานอะเนอะ งานบ้าน เลี้ยงลูก ตอนนั้นไม่ได้มีพี่เลี้ยงหรือแม่บ้านมาช่วย คิดว่าเลี้ยงเองคนเดียวไหว”
จนถึงวันนี้แม่หน่อยก็เล่าว่าความสัมพันธ์ของแม่กับลูกชายก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ เหมือนกับว่ายิ่งโตเขายิ่งอยากออกไปมีชีวิตของเขาเอง แม่หน่อยได้เจอกับเขาปีละไม่กี่ครั้ง เสียงบอกเล่าว่ายังสบายดีผ่านโทรศัพท์ของพ่อ น้อยครั้งเหลือเกินที่โทรศัพท์ของแม่หน่อยได้กดรับเบอร์ปลายสายของลูกชาย ความน้อยใจเจือปนในน้ำเสียงอย่างปิดไม่มิด แต่ถึงอย่างนั้นแม่หน่อยไม่เคยกล่าวโทษสามีหรือลูกชายเลย มีเพียงความคิดโทษตัวเอง วนซ้ำอยู่กับความผิดพลาดที่อาจใช้วิธีเลี้ยงดูเขาไม่ถูกต้องนักจนถึงวันนี้
ราวกับความเป็นแม่กลายเป็นบทบาทบังคับให้ผู้หญิงคนหนึ่งต้องเป็นคนที่ทำทุกอย่างถูกต้อง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็เป็นเพียงคนธรรมดา ที่ใช้ชีวิตถูกๆ ผิดๆ อย่างที่มนุษย์คนหนึ่งจะมี แม่หน่อยจมอยู่กับความทุกข์นั้นในช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างตอนลูกชายเรียนมหาวิทยาลัย ความสัมพันธ์กระท่อนกระแท่นยิ่งไกลห่างกันออกไปจนไม่อยากเชื่อตัวเอง ในตอนนี้แม่หน่อยเล่าว่าพอจะปล่อยวางเรื่องเหล่านี้ได้แล้ว ปล่อยให้เขามีชีวิตตามใจที่เขาอยากมี สิ่งที่พอจะชดเชยกับความรู้สึกผิดในใจได้ คงจะเป็นการเฝ้ารอเป็นฝ่ายสนับสนุนเขาอยู่ข้างหลัง ในวันที่เดือดร้อนอะไรขึ้นมา ให้เขารู้ว่าแม่และพ่อก็ยังพร้อมที่จะดูแลเขาเสมอ
หลังจากนั้นเราพูดคุยกันถึงงานอดิเรกอีกนิดหน่อย ที่น่าสนใจคือ งานอดิเรกหรืองานที่เราเคยทำในวันวาน ต่อให้ตอนนี้มีเวลาว่างมากพอ มีใจรักมันเหมือนเดิม แต่ร่างกายก็ไม่เอื้ออำนวยให้กลับไปทำอะไรแบบนั้นได้แล้ว แม่หน่อยและสามีเคยมีสัญญาไปเที่ยวต่างประเทศด้วยกันในทุกปี เฝ้าตั้งตาคอยว่าปีนี้เราจะไปประเทศไหน แต่ตอนนี้ร่างกายก็โรยราเกินกว่าจะไปทำอะไรแบบนั้นได้ เลยเลือกเป็นกิจกรรมง่ายๆ อย่างโยคะ อ่านหนังสือ ดื่มกาแฟ เท่านี้ก็เติมเต็มวันเวลาที่เหลือได้แล้ว
การเป็นแม่ก็คืออีกงานหนึ่งเหมือนกัน
บ่ายวันเดียวกัน เราต่อสายคุยกับ ‘นุ๊ก’ คุณแม่วัย 30 เพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย ตอนนี้เธอมีลูกชายตัวน้อย วัยกำลังเริ่มเข้าโรงเรียน ความน่าสนใจอยู่ตรงที่นุ๊กมีมุมมองต่อการเป็นต่างออกไปจากแม่หน่อยพอสมควร “นุ๊กมองว่าการเป็นแม่มันก็คือการทำงานอย่างนึง ต่อให้แกไม่มีลูกแล้วไปทำงานอย่างอื่น มันก็มีเวลาส่วนตัว มีอะไรต่างๆ ที่แกต้องเสียสละไปเหมือนกัน” และที่สำคัญ หากการมีลูกคือหน้าที่การงาน เธอมีสามีเป็นพาร์ทเนอร์ที่สนับสนุนเธอได้เป็นอย่างดี จนทำให้รู้สึกว่าการมีลูกครั้งนี้ เธอไม่ได้เสียตัวตน ชีวิตที่เคยมี หรือความเป็นตัวเองไป สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น
นุ๊กเล่าถึงวินาทีตัดสินใจแต่งงานไปจนถึงตอนมีลูก แน่นอนว่าทุกอย่างราบรื่น นุ๊กมีครอบครัวที่ช่วยดูแลลูก มีสามีที่คอยสนับสนุนทุกอย่าง “เขาขอบคุณเราทุกวันที่ช่วยดูแลลูก เราสัมผัสได้ว่าเขาชื่นชมในสิ่งที่เราทำลงไป” จนไปถึงด่านหนึ่งที่เป็นเหตุการณ์สำคัญ นุ๊กกับลูกย้ายไปมีครอบครัวของตัวเองฟิลิปปินส์ ส่วนสามีไปทำงานอีกประเทศหนึ่ง นั่นหมายความว่านุ๊กกับลูกไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ ที่ไม่มีญาติพี่น้องเพื่อนฝูง รวมทั้งไม่มีสามีหรือพ่อของลูกอยู่ด้วย ในปีนั้น เกิดพายุครั้งใหญ่จนสาธารณูปโภคน้ำและไฟฟ้าถูกตัดขาดไป นุ๊กเล่าว่าขอบคุณตัวเองที่จิตแข็งมากพอที่จะอดทนกับวันเวลาที่ยากลำบากเหล่านั้นและที่สำคัญคือความช่วยเหลือจากสามี
นี่ไม่ใช่เรื่องเล่าเกทับครอบครัวอื่นว่ามีสามีดีทุกอย่างจะดีเอง เราอย่าลืมว่าสามีก็คือพ่อของลูกเราเหมือนกัน เขาเองก็มีส่วนร่วมในการดูแลลูกคนนี้ไม่ต่างจากเรา เหมือนการทำงานเป็นทีมว่าใครจะรับผิดชอบหน้าที่ส่วนไหน แล้วมาประกอบกันเพื่อให้การเลี้ยงลูกคนนี้ราบรื่น หากมีเพื่อนร่วมทีมที่ดีทุกอย่างก็ไปได้สวย การเลี้ยงลูกจึงไม่ใช่แค่การยกหน้าที่นี้ให้กับคนเป็นแม่เพียงอย่างเดียว จนหน้าที่นั้นกลืนกินชีวิตไปทั้งหมด
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือมุมมองของการสวมบทบาทเป็นพ่อแม่ นุ๊กบอกเสมอว่ามีลูกคนนี้ เธอไม่ได้เปลี่ยนชีวิตตัวเองไปมากนัก กลับกันเธอรู้สึกว่าอยากเป็นคนที่ดีขึ้นเพื่อเขา นั่นเพราะเธอเชื่อว่าต่อให้เป็นแม่แล้ว เราก็ยังเป็นคนที่มีความรู้สึก ทำผิดพลาดได้ ไม่กดดันตัวเองว่าพอเป็นแม่แล้วจะต้องผันตัวมากลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำทุกอย่างถูกต้องไปเสียหมด
“พ่อแม่บางคนเหมือนไปสวมหัวโขนอะไรสักอย่างให้ตัวเองมากเกินไป เรารู้สึกว่าเราเป็นแม่แล้ว แต่เราก็ยังเป็นคนคนหนึ่งอยู่ เราโกรธได้ เหนื่อยได้ เสียใจได้ มีหลายครั้งที่เราโกรธลูก เราก็บอกเขา สอนเขาว่า เราต้องช่วยกันนะ อย่าทำแบบนี้อีก” อะไรเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายคนหลงลืมไป จนรู้สึกว่าการแบกหน้าที่ของความเป็นแม่ไว้ มันหนักหนาและทำให้เราสูญเสียความเป็นตัวเอง
พูดคุยกันมาถึงช่วงท้าย ถามไถ่ถึงความเป็นไปในชีวิต นุ๊กยังได้เที่ยวบ่อยๆ เหมือนเดิม แม้จะมีลูก มีครอบครัว และได้มีเจ้าตัวน้อยมาค่อยเที่ยวเป็นเพื่อนไปแล้วถึง 11 ประเทศ เราดีใจที่ได้เห็นเพื่อนคนนี้มีความสุขกับครอบครัว และทึ่งในความคิดที่ก้าวนำหน้าเราไปหลายก้าวเมื่อได้เป็นแม่ นี่สินะ ชีวิตที่มีใครสักคนเพิ่มเข้ามาเป็นคนสำคัญ
จากการพูดคุยกับคุณแม่ทั้ง 2 วัย เราต่างรับรู้ถึงความเหนื่อยล้าและภาระหน้าที่ที่ทั้งคู่แบกเอาไว้ แน่นอนว่าเราได้เพียงรับฟังแต่ไม่ตัดสิน เราหวังเพียงว่าคนเป็นแม่จะอนุญาตให้ตัวเองได้มีชีวิตบางส่วนที่หลงเหลือความเป็นตัวเองเอาไว้ เมื่อถึงวันที่เขาเติบโต โผบินไปจากอ้อมอก เราจะได้กลับมามีชีวิตของเราเองได้อย่างเคย
เป็นกำลังใจให้แม่ทุกคนได้เป็นตัวเองไปด้วย 🙂
อ้างอิงจาก