กลายเป็นข่าวดังขึ้นมาทันที เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สั่งให้ระบบอินเตอร์เน็ต-มือถือทุกค่ายระงับการเข้าถึง Pornhub เว็บโป๊ชื่อดังระดับโลก โดยให้เหตุผลว่า ‘เป็นคำสั่งศาล’ ที่ให้มีการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บลามกอนาจารจำนวน 191 URLs ที่ผิดกฎหมายเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ต่อมาก็มีคนออกมาต่อต้าน ทั้งแบบทีเล่นทีจริงเขียนโพสต์สเตตัสตลกๆ ไปจนกระทั่งรุกรามปลุกเร้าให้ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงสื่อ จนกลายเป็นแฮชแท็กอย่าง #หยุดจ้วบจ้าบพรฮับ #SavePornhub กันเลยทีเดียว
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ Pornhub นั้นเกิดขึ้นที่ประเทศแคนาดา ก่อตั้งขึ้นโดยนักพัฒนาเว็บ แมท คีเซอร์ (Matt Keezer) เป็นเว็บไซต์ภายในบริษัท Interhub และเปิดตัวในปี ค.ศ.2007 และต่อมาปี ค.ศ.2010 บริษัทถูกซื้อโดย ฟาเบียน ธิลมัน (Fabain Thylmann) นักลงทุนจากเยอรมนีในฐานะส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัท MindGeek ของแคนาดาและทำการเปลี่ยนเว็บไซต์ใหม่เริ่มปรับปรุง Features ต่าง ๆ ออกมามากมาย เขาทำให้การเข้าถึงหนังโป๊เป็นเรื่องฟรีๆ ไม่เสียเงิน ธิลแมนเห็นว่า รูปแบบธุรกิจของเว็บโป๊แบบเดิมที่อาศัยการเก็บเงินจากผู้ชมก่อนจะเข้าถึงแหล่งหนังโป๊ได้นั้นโบราณไปแล้ว เหมือนตอนที่ YouTube ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเพลง เขาก็อยากให้ Pornhub เป็นแบบนั้นบ้างกับอุตสาหกรรมหนังโป๊ ธิลมัน ในวัยยี่สิบกว่าก็เริ่มคิดว่าอยากจะสร้างเว็บโป๊แบบเข้าถึงฟรีไปเลย หารายได้จากค่าโฆษณาเอาและขายฟีเจอร์อื่นๆ แบบ ‘พรีเมียม’ เติมเข้าไปแทน
คอรีย์ ไพรซ์ (Corey Price) รองประธาน Pornhub เคยให้สัมภาษณ์ไว้ครั้งหนึ่งว่าเว็บไซต์ของพวกเขาเข้ามาในจังหวะที่พอดี พฤติกรรมของผู้บริโภคกำลังจะเปลี่ยนผ่านจาก traditional media (พวก dvds หรือ vhs) มาเป็นแพลตฟอร์มแบบสตรีมมิ่งเหมือนที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในตอนนี้
นอกจากจังหวะที่ดีแล้ว Pornhub ยังพัฒนาพวก Machine Learning และ AI เพื่อใช้สำหรับการแนะนำคอนเทนต์สำหรับผู้ใช้งาน โดยพวกเขามีข้อมูลในแต่ละปีเยอะมากๆ โดยมีการทำสรุปในแต่ละปีเอาไว้ด้วยบนเว็บไซต์ตั้งแต่ปี 2012 (ลองดูตัวอย่างข้อมูลจากปี 2019 ได้ที่นี่) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เก็บมาจากการรับชมคลิปกว่า 1 แสนล้านครั้งตลอดทั้งปีและคำที่ใช้ค้นหาบนเว็บไซต์จากการเยี่ยมชมกว่า 42,000 ล้านครั้ง มีการเพิ่มโมเดลธุรกิจในแบบ ‘subscription’ หรือที่เรียกว่า ‘Pornhub Premiums’ เหมือนที่ Netflix ทำโดยเริ่มให้บริการครั้งแรกปี ค.ศ.2015 (ประเทศไทยติดลำดับที่ 17 ของโลกที่มีทราฟฟิกการเข้าใช้งานเว็บไซต์สูงสุด ขึ้นมา 5 อันดับจากปี ค.ศ.2018)
แต่แน่นอนว่าเรื่องราวของเว็บไซต์หนังโป๊ไม่ได้เรียบหรูอยู่แล้ว มีหลายๆ ประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) ที่ไม่ได้ให้บริการอย่างถูกกฎหมาย
Pornhub เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึง
ความถูกต้องและศีลธรรมในการดำเนินธุรกิจอยู่แทบตลอดเวลา
สำหรับประเด็นที่หลายๆ คนมักถามกันเสมอว่าการดูหนังโป๊นั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพในทางลบไหม? คำตอบมีทั้งที่ใช่และไม่ใช่ ซึ่งคำถามนี้ก็ถูกถามบนเว็บไซต์ conversation โดยคำถามนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและทางเพศมาตอบอยู่ 5 คน โดย3 คนบอกมันส่งผลทางด้านลบ ส่วนที่เหลือเห็นต่างออกไป
Dr. Michael Flood ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเพศ เพศสภาพ และความรุนแรงที่มหาวิทยาลัย Queensland University of Technology ให้ความเห็นว่า
“ผมเห็นด้วยครับว่าการดูหนังโป๊นั้นส่งผลทางลบแก่ความสัมพันธ์ของคนที่ดู เรื่องเซ็กส์ของพวกเขา และการปฏิบัติต่อผู้อื่น เซ็กส์เป็นเรื่องที่ดี แต่หนังโป๊ไม่เป็นแบบนั้น”
เขาอธิบายเพิ่มเติมถึงงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าหนังโป๊นั้นมีแนวโน้มจะทำให้คนที่ดูนั้นเหยียดเพศ มีทัศนคติและพฤติกรรมที่รุนแรง ผู้ชายที่เสพหนังโป๊เป็นประจำนั้นจะพึงพอใจในเรื่องเพศและความสัมพันธ์ลดลง ส่วนผู้หญิงที่คู่รักเสพหนังโป๊เป็นประจำก็บอกเหมือนกันว่าผู้ชายนั้นดูห่างเหินมากขึ้นด้วย
Andrea Waling นักวิจัยชาวออสเตรเลียที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเพศ เทคโนโลยี และความสัมพันธ์ที่ Australian Research Centre in Sex แสดงความคิดเห็นแตกต่างออกไปว่าหนังโป๊ไม่ได้แย่ แต่ก็ต้องดูด้วยว่าใช้มันยังไง เธอบอกว่า
“หนังโป๊นั้นสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและยอมรับกันและกันสำหรับคู่รักได้มากขึ้นเพื่อที่จะค้นหาอิโรติกแฟนตาซีด้วยกัน แล้วมันยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้นด้วย มันยังช่วยสร้างความมั่นใจทางเพศ และการรวมตัวกันในเชิงบวกของสังคม LGBTIQ+ อีกด้วย”
เธอพูดถึงหนังโป๊ว่ามันเป็นสื่อที่อำนวยให้การช่วยตัวเองนั้นเป็นเรื่องง่ายขึ้น ซึ่งงานวิจัยก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่าการช่วยตัวเองนั้นทำช่วยลดความตึงเครียด และมีโอกาสลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย
แต่ถึงอย่างงั้นก็ตาม เมื่อผู้เสพไม่สามารถแยกแยะระหว่างหนังโป๊กับเรื่องจริงได้ จนเกิดความคาดหวังแบบผิดๆ ขึ้นมา หนังโป๊ก็ทำให้ผู้ดูนั้นรู้สึกสูญเสียความมั่นใจในรูปร่างของตัวเอง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค Eating Disorder (ED) ที่ผู้ป่วยมีการรับรู้ ความรู้สึก ความคิดต่อรูปร่างและน้ำหนักตัวผิดปกติอย่างรุนแรง มีพฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติอย่างมาก และความพึงพอใจในความสัมพันธ์ก็ลดลงด้วยเช่นเดียวกัน แต่ถึงอย่างงั้นเธอก็ยังไม่ได้ปักใจเชื่อว่าหนังโป๊นั้นเป็นต้นเหตุของความรุนแรงทางเพศซะทีเดียว
นอกจากเรื่องของผลต่อร่างกายและพฤติกรรมของผู้เสพแล้ว
ยังมีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
การค้ามนุษย์ความหละหลวมของแพลตฟอร์มในการดูแล ‘เหยื่อ’ ที่ได้รับความเสียหาย โดยข้อมูลมากมายถูกอัพโหลดโดยไม่ได้รับความยินยอมอีกด้วย
มีกรณีข่าวของ โรส คาเลมบา เด็กสาวที่ได้รับผลกระทบจากเว็บไซต์ Pornhub โดยตรง เธอตกเป็นเหยื่อความรุนแรงและข่มขืนในปี ค.ศ.2014 และวิดิโอที่ปรากฎใบหน้าของเธอก็ถูกอัพโหลดขึ้นบน Pornhub ซึ่งเธอก็พยายามส่งอีเมลบอกให้ Pornhub ให้เอาวีดีโอออกแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ จนสุดท้ายเธอก็ต้องดำเนินการฟ้องร้อง จนกระทั่งในที่สุด Pornhub ก็เอาวีดีโอของเธอลง หรืออีกเคสหนึ่งที่เด็กผู้หญิงวัย 15 ปีที่รัฐฟลอริด้าถูกลักพาตัวจากบ้านไปเป็นปี จนกระทั่งวีดีโอที่เธอถูกข่มขืนกว่า 58 คลิปไปปรากฏบน Pornhub จนสุดท้ายตำรวจก็ตามจับคนร้ายและช่วยเหลือเธอออกมาจากขุมนรกตรงนั้นได้ในที่สุด
แม้ Pornhub จะมีมาตรการควบคุมแต่ก็ยังไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง การอัพโหลดวีดีโอขึ้นบนเว็บไซต์นั้นใช้เพียงแค่อีเมลเท่านั้นก็สามารถอัพโหลดได้แล้ว เพราะฉะนั้นแม้ Pornhub จะเจอคอนเทนต์ที่ผิดกฎหมาย ก็ทำได้เพียงแค่เอาวีดีโอลงแล้วก็ลบบัญชี ซึ่งคนที่ต้องการจะอัพโหลดอีกครั้งก็แค่สร้างบัญชีใหม่เท่านั้น
ทางแก้อย่างหนึ่งที่ Pornhub ทำได้คือการทำให้ผู้อัพโหลดนั้นต้องทำการพิสูจน์ยืนยันตัวตนมาแล้วเท่านั้น (ยกตัวอย่าง Airbnb ที่โฮสต์ต้องแสดงหลักฐานยืนยันตัวตนก่อนที่จะกลายเป็นโฮสต์ได้) ต้องทำการตรวจสอบได้ว่าผู้ใช้งานเป็นใคร แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวของ Pornhubber ที่สร้างคอนเทนต์ของตัวเองด้วย
อีกอย่างหนึ่งที่ Pornhub สามารถทำได้คือการสร้างระบบร้องเรียนที่ลดขั้นตอนการทำงานของคนที่รีวิวคอนเทนต์ อย่างYouTube เองเวลาที่เห็นวีดีโอที่ไม่เหมาะสมก็สามารถรายงานได้และบอกได้เลยว่าให้ดูที่ช่วงไหน วินาทีไหนของวีดีโอ ซึ่งก็ลดขั้นตอนและเวลาการตรวจสอบลงไปด้วย นอกจากเรื่องทางเทคนbdแล้ว พวกเขาเองก็ยังสามารถสร้างแคมเปญหรือขยายการรับรู้แก่ผู้ชมให้ร้องเรียนคอนเทนต์ที่ไม่ถูกกฎหมายบนเว็บไซต์ด้วย
Pornhub ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย DMCA (Digital Millennium Copyright Act) ซึ่งหมายความว่าตราบใดที่พวกเขาจัดการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกแจ้งว่าละเมิดลิขสิทธิ์ตามสมควรแล้ว ทางเว็บไซต์ก็ไม่ต้องรับผิดอะไร
Pornhub สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องนี้มีสองด้านเสมอ ต่อจากนี้เราก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สำหรับสังคมบ้านเราที่การพูดถึงเซ็กส์หรือมีเดียต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ‘เรื่องอย่างว่า’ มักถูกมองว่าเป็นเรื่องที่น่าอาย ไม่ควรพูดถึง ภาพยนต์อีโรติกถูกมองว่าจะไปเติมเชื้อเพลิงให้เด็กอยากรู้อยากลอง เป็นสิ่งเด็กๆ ไม่ควรรู้เพราะมันยังไม่ถึงวัยอันควร เป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่วางเอาไว้ จึงทำให้การถกเถียงหรือพูดคุยประเด็นนี้อย่างเปิดเผยเป็นเรื่องลำบากพอสมควร เมื่อเทคโนโลยีทำให้การเสพหนังโป๊เป็นเรื่องง่ายขึ้นเหมือนกับภาพยนต์ประเภทอื่นๆโดยไม่ต้องก้าวขาออกจากบ้านด้วยซ้ำ เมื่อเข้าถึงง่าย ความเสี่ยงก็มากขึ้นตามมาด้วยเช่นเดียวกัน
มีช่วงเวลาหนึ่งที่ผมจำได้ดีตอนที่มีโอกาสไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่อเมริกา โฮสต์แฟมิลี่ที่ผมไปอาศัยอยู่ด้วยเป็นแม่ม่ายวัยเกือบ 80 ปี เป็นผู้ใหญ่ใจดีและหัวสมัยใหม่ เธอมักพูดกับผมทุกครั้งเวลาก่อนไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆว่า
“อย่าลืมพกถุงยางไปด้วย สนุกได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบด้วย”
ที่จริงบางทีคำแนะนำนี้ก็อาจจะใช้ได้กับ Pornhub ที่สร้างความบันเทิงได้ แต่ก็ต้องรับผิดชอบด้วยเช่นเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://theconversation.com/profiles/michael-flood-14025
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1054139X18308012
https://theconversation.com/profiles/andrea-waling-149105
https://theconversation.com/happy-news-masturbation-actually-has-health-benefits-16539
https://psycnet.apa.org/record/2014-04664-001
https://link.springer.com/article/10.1007/s10508-016-0783-6
https://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/1077801216648795?journalCode=vawa
https://twitter.com/LailaMickelwait/status/1260116732976467969
https://www.blockdit.com/articles/5fa17c0ee1d23f0c91c3332d/#