จากเหตุการณ์ความผิดพลาดในการสอนภาษาอังกฤษที่เกิดขึ้นและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วนั้น (ในที่นี้ผมไม่ขอนำลิงก์อะไรมาแปะเพิ่ม เพราะคิดว่าความผิดพลาดระดับที่เกิดขึ้น กับระดับของการโดนโจมตี กระทั่งการโดนใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องเบ่งใส่กันนั้นชักจะเลยเถิดไปมากแล้ว) นำมาซึ่งบทเรียนที่เราน่าลองใช้ทบทวนสภาวะที่เป็นอยู่ของการศึกษาและตัวสังคมไทยเองไม่น้อย ซึ่งผมจะพยายามเขียนถึงเฉพาะในส่วนที่เป็นภาพใหญ่ๆ ทางโครงสร้างนะครับ คงจะไม่ลงไปถึงรายละเอียดเฉพาะเจาะจงจากเหตุการณ์ต้นเรื่องอะไรเป็นพิเศษ โดยผมคิดว่าเรื่องที่ควรนำมาพิจารณากันนั้น หลักๆ แล้วมี 2 เรื่อง ทั้งปัญหาจากฝั่งของทางด้านระบบการศึกษาเอง และปัญหาของฝั่งทางสังคมเองด้วย ซึ่งในแต่ละประเด็นนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้วก็เป็นปัญหาของที่มีอยู่ในทั้งสองฝั่งผสมปนกันไปอย่างแยกไม่ค่อยจะออกนัก
ประเด็นที่ 1 – สำนึกรับผิดชอบขาดพร่องของสังคม (โดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษา)
ปัญหาหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเคยเขียนถึงมากกว่าหนึ่งครั้งแน่นอนของสังคมไทยก็คือ การขาดแคลนระดับแร้นแค้นเลยทีเดียวของสิ่งที่เรียกว่า ‘สำนึกรับผิดชอบและการตรวจสอบได้’ ของสังคมนี้ (sense of responsibility and accountability) เพราะสังคมนี้เป็นสังคมที่ละเลยประเด็นนี้มาโดยตลอด เรามีสถาบันทางการเมืองมากมายที่ทรงอำนาจทั้งทางกำลังและการบริหาร แต่กลับไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้เลย หรือได้ก็น้อยมาก สภาพดังกล่าวนี้เกิดขึ้นไล่ลงมาในทุกระดับด้วย ทั้งส่วนราชการเองที่เวลาฝั่งเอกชนทำงานกับรัฐ หากพบอะไรไม่ชอบมาพากลก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะต่างทราบดีว่าหาก ‘หาเรื่องกับรัฐ’ ตนเองก็จะโดนบีบ กลั่นแกล้ง หรือหาเรื่องตลอดในทุกระดับการทำงานตั้งแต่กับข้าราชการระดับล่างๆ ไปจนถึงหัวขบวนเป็นต้น ฉะนั้นหากไม่ได้อยู่ในสภาวะจวนตัวสุดขีดจริงๆ คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะไม่ปะทะ ระบบการตรวจสอบมันก็ทำงานไม่ได้ตามมา วัฒนธรรมการตรวจสอบคานอำนาจ ก็จึงถูกแทนที่ด้วยการพินอบพิเทาหลับตาเลียเท้าไป เพื่อความอยู่รอดของตนในระบบโครงสร้างอภิมหาสับปะรังเคนี้
แน่นอนอาชีพครูและข้าราชการทางการศึกษาเองก็ไม่ได้ต่างไปนัก แม้ปัจจุบันครูรุ่นใหม่บางส่วนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้าง แต่ครูโดยภาพรวมนั้นก็ยังคงอยู่ในสถานะของอำนาจสูงสุดในห้องเรียนหรือวิชานั้นๆ ที่ผู้เรียนไร้อำนาจในการตรวจสอบกระทั่งขัดขืนใดๆ อยู่ดี ปัญหานี้จะบอกว่าเกิดที่ครูเองเลยทั้งหมดก็ไม่ถูกด้วย แต่ตัวสังคมเองด้วยที่ทำให้เป๋ไปหมดตั้งแต่ต้น นานมาเท่าไหร่แล้วที่เราได้ยินและใช้คำว่า ‘แม่พิมพ์/พ่อพิมพ์ของชาติ’ แทนครู (เหมือนคำว่า ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ แทนชาวไร่ชาวนา หรือ ‘รั้วของชาติ’ แทนทหาร) เอาเข้าจริงแล้วคำแทนที่เสมือนมุมมองและความคาดหวังที่มีต่ออาชีพนี้มันผิดตั้งแต่ต้นแล้ว และเป็นตัวสังคมเองนี่แหละครับที่ร่วมกันผลิตวิธีคิดนี้ และกำกับครอบทิศทางของอาชีพที่เรียกว่าครูอาจารย์ ในที่นี้ครูอาจารย์ทั้งหลายเองก็เป็นทั้งเหยื่อและผู้ร่วมผลิตวาทกรรมทางสังคมนี้ไปพร้อมๆ กันด้วย
การเป็น ‘พิมพ์ของชาติ’ นั้น มันชัดเจนว่าคือ เครื่องมือในการผลิตของที่
‘มีหน้าตาเหมือนๆ กันจำนวนมากกลับคืนสู่ชาติ’
เป็น mass production of the populace ก็ว่าได้ พูดอีกแบบก็คือ มุมมองลักษณะดังกล่าวที่มีกับอาชีพครูที่มันอยู่ในวิธีคิดแบบนี้นั้น มันไม่ได้มีเป้าหมายให้นักเรียนมีความคิดความอ่านเป็นของตนเอง ได้หาทางพัฒนาองค์ความคิดความรู้ในฐานะปัจเจกแต่ต้นอยู่แล้ว แต่เป็นการสร้างแบบจำลองของบทเรียนที่รัฐกำหนดมาแบบซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นจึงไม่ผิดที่ในศตวรรษที่ผ่านมา การเรียนการสอนในโรงเรียนและแทบทุกที่นั้น จึงเน้นไปที่การท่องจำ และการสอนหน้าห้องว่าอะไร ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ ตามครูว่าไว้ แน่นอนว่ารวมไปถึงวัฒนธรรมข้างเคียงของการศึกษาด้วย อย่างเรื่องเครื่องแบบนักเรียน การตัดผมเกรียนหรือเสมอหู การเข้าแถวหน้าเสาธงกลางแดดร้อนสี่สิบองศาของไทยเพื่อฟัง ผอ. พล่ามอะไรก็ไม่รู้ ทุกอย่างเพื่อพัฒนาการส่วนตัวของนักเรียนในฐานะปัจเจกหรือ? เปล่าเลย เพื่อสร้างแบบจำลองของบทเรียนต่างหาก
เมื่อครูทำหน้าที่ของ ‘พิมพ์’ ที่มุ่งเป้าเพื่อการผลิตจำนวนมากแล้ว ปัญหาที่ตามมาคือ ครูมักจะต้องยืนกรานในท่าทีของการเป็นความถูกต้องสัมบูรณ์ให้จงได้ เพราะหาก ‘พิมพ์มีปัญหา’ ก็เท่ากับว่าทั้งหมดทั้งมวลของแบบจำลองบทเรียนที่ตนผลิตส่งออกไปนั้นมันก็คือสินค้ามีปัญหาในตลาดสังคมด้วย ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา การสั่งสอนจึงอยู่บนฐานของการให้เคารพเชื่อฟังครู ‘เสมือนเป็นพ่อแม่คนที่สอง’ เพิ่งมามีไม่กี่ปีนี้เองที่กระแสในการให้ถกเถียงครู และ ‘ครูเองก็ผิดได้ ผิดเป็น’ นั้นเริ่มผุดขึ้นมาบ้าง แม้เราจะรู้กันดีว่าครูสอนผิดนั้นมีมานานแล้ว ปัญหาทั้งหมดของโครงสร้างที่เกิดมา รวมทั้งพลังของวัฒนธรรมทางสังคมที่สร้างขึ้น มันจึงก่อให้เกิดสภาวะ ‘ครูผิดเป็น แต่รับผิดชอบไม่เป็น’ ทั่วไปหมด
กรณีการสอนที่เกิดขึ้นนี้ ที่เนื้อหาที่สอนอาจจะผิดหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษจริง แต่ก็ไม่พร้อมจะรับผิดชอบต่อความผิดที่เกิดขึ้นนัก ก็เป็นหนึ่งในนั้น (เอาเข้าจริงแล้ว ดราม่าอาจจะไม่วายวอดขนาดนี้ หากยอมรับว่าสอนผิดหลักไวยากรณ์และจะปรับปรุงตัว แต่นั่นแหละ ครูเองก็เป็นผลผลิตและผู้ร่วมผลิตในวาทกรรมทางสังคมนานนมชุดนี้ด้วย) แต่ทำนองเดียวกัน เราก็ยังมีอีกหลายกรณีที่เลวร้ายกว่านี้อีกมาก อย่างกรณีของอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งซึ่งมักอวดอ้างเรื่องการถือครองปริญญา 5 ใบของตน ก็มีปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศนักศึกษาเพื่อแลกเกรดเอง ก็ยังคงหนีหายจากความรับผิดชอบชนิดหน้าด้านๆ ปัจจุบันยังได้รับการเชิดชูอยู่ใน ‘พรรคคนดี’ พรรคหนึ่งอยู่เลยด้วยซ้ำ
ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่จะบอกว่าครูไม่ผิด ครูที่สอนนั้นมีส่วนที่ผิดจริงแน่นอน แต่พร้อมๆ กันไป ก็ต้องยอมรับตัวเอง (ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมด้วย) ว่าเราเองก็มีส่วนในการประกอบสร้างผลผลิต (คือ ครูและวิธีคิดแบบนี้) อยู่ด้วย ในทางหนึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม ผมคิดว่าคนเป็นครูเองก็มาจากฐานทางโอกาสที่ไม่เท่ากัน เช่นเดียวกับทุกอาชีพในสังคม โดยเฉพาะวิชาที่เป็นภาษาที่สองอย่างภาษาอังกฤษนั้น ย่อมเกิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางความรู้ขึ้นเป็นปกติ ฉะนั้นไม่ใช่แค่เรื่องสำเนียงที่เจ้าของภาษาเองก็ไม่เคยจะมีตรงกัน คนอเมริกันจำนวนมากฟังคนสก็อตติชพูดไม่รู้เรื่องก็มาก แต่เป็นปัญหาเรื่องการออกเสียงให้ถูก (Pronunciation) ที่อาจจะสำคัญกว่าเรื่องสำเนียงมากและต้องการความถูกต้อง ความเป๊ะมากกว่า แต่ก็ต้องยอมรับล่ะครับว่าแม้แต่เจ้าของภาษาเอง เจอบางคำก็ออกเสียงไม่เป็นเหมือนกัน หรือแต่ละชาติออกเสียงต่างกันก็มี (อย่างภาษาไทยเอง คำว่า ‘ผอบ’ นี่ บางคนยังอ่านว่า ‘ผอบ’ อยู่เลย พจนานุกรมบางเล่มให้อ่านว่า ‘ผะ-อบ’ แต่บางเล่มกระทั่งให้อ่านว่า “ผะ” เฉยๆ ก็มี เป็นต้น) หรือกระทั่งเรื่องไวยากรณ์ที่อาจจะเรียกได้ว่ามีกฎตายตัวที่สุดทางภาษาแล้ว เอาเข้าจริงๆ ก็เลื่อนไหลเสียเหลือเกิน การสอนให้ถูกต้องนั้นดี แต่การผิดพลาดมันเกิดขึ้นได้ และฝั่งที่พยายามไปแก้ให้เองก็ไม่ใช่ว่าจะถูกเสมอไปด้วย พล่ามมานี้เพื่อจะบอกว่า ผมคิดว่าการประณาม การลงโทษอะไรนั้นมันก็ควรจะมี ‘สัดส่วนต่อความผิด’ ด้วยนั่นเอง
ประเด็นที่ 2 – การอนุรักษ์ความจริง (แต่เพียงหนึ่งเดียว)
ปัญหาที่ตามต่อกันมาจากเรื่องการไม่รู้จักความรับผิดชอบคือ สังคมนี้ดูจะยึดมั่นในความถูกผิดฉบับเดียวเสียเหลือเกิน ทั้งตัวคนสอนอย่างครูและสังคมเอง คือสิ่งหนึ่งที่เราอาจจะต้องยอมรับก็คือ ทุกวันนี้คนเป็นครูนั้น ‘ถูกจับผิดได้บ่อยขึ้น’ ส่วนหนึ่งอาจจะบอกได้ว่าระบบการศึกษาและสังคมเปิดขึ้น แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่าปัจจัยหลักเลยคือ ระดับการศึกษาของสังคมองค์รวมนั้นมันสูงขึ้น ว่าง่ายๆ ก็คือ ระดับความต่างของความรู้ที่ผู้ปกครองบ้าง นักเรียนบ้าง กับที่ครูมีนั้น มันมีความเหลื่อมกันน้อยลงเรื่อยๆ ในหลายๆ ครั้ง ผู้ปกครองที่เป็นวิศวกร อาจจะมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์มากกว่าครูคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ที่สอนลูกอยู่ได้ ผู้ปกครองที่เคยเรียนต่างประเทศมาอาจจะมีภาษาอังกฤษดีกว่าครูที่สอนภาษาอังกฤษลูกได้ หรือลูกที่ดูหนัง Netflix มาตั้งแต่แบเบาะก็อาจจะมีสำเนียงและความพริ้วไหว (fluency) ทางภาษาอังกฤษดีกว่าครูที่สอนๆ อยู่จำนวนมากได้ เป็นต้น ความห่างชั้นนี้เองที่นำมาซึ่งการตรวจสอบ การจับผิดความผิดพลาดของคนสอนได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องพูดถึงการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ง่ายและเร็วขึ้นมากๆ จากการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตและ search engine อย่างกูเกิล หรือสารานุกรมออนไลน์อย่างวิกิพีเดีย
จุดนี้เองที่ฝั่งผู้สอนก็ต้องปรับตัวและสำนึกตัวเสมอว่าตนนั้นไม่ใช่คนที่มีความรู้สูงสุดในเรื่องที่กำลังสอนแล้ว ว่าง่ายๆ ก็คือ เปลี่ยนจากการ ‘สอนหน้าชั้น’ มาเป็นการ ‘แนะนำและจัดการการแลกเปลี่ยนความรู้ในชั้นเรียนแทน’ เป็นต้น รวมไปถึงการต้องพัฒนาองค์ความรู้ตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้ขยับมากขึ้นตามการไหลของโลก ไม่ใช่แน่นิ่งอยู่กับที่ตลอดเวลา อย่างไรก็ดี มันก็มีข้อจำกัดด้วยกับการสอนลักษณะทางเดียวอย่างการสอนทางไกล หรือการสอนออนไลน์ต่างๆ และอย่างที่ว่าไป ‘ความผิดพลาดมันเกิดขึ้นได้’ ทีนี้พอการตรวจสอบมันเกิดขึ้นได้มากขึ้น จากหลายวโรกาสมากขึ้น แน่นอนหากมันจบแค่การแลกเปลี่ยนความรู้อย่างเป็นมิตรกันได้ และฝั่งไหนผิดก็รับผิดและปรับตัวก็คงดีไป แต่สิ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอก็คือ ดราม่าระดับชาติ ไปจนกระทั่งบางครั้งเกิดเป็นการแทรกแซงทางสังคม เป็นศาลเตี้ยขององค์ความรู้อย่างเกินพอดี กลายเป็นว่าไม่ได้มีแต่ฝั่งผู้สอนแล้วที่ทำตัวอนุรักษ์ความรู้ที่ถูกต้องแต่เพียงหนึ่งเดียว แต่ฝั่งที่ไปแก้ ไปจับผิดเขานั้น ก็อนุรักษ์ความจริงเพียงหนึ่งเดียวในหัวของตนด้วย
แต่ผมก็อยากถามตรงๆ สักนิดเถอะครับ
มันมีความรู้อะไรบ้างหรือที่มันเป๊ะ 100% ไม่มีทางจะเป็นอื่นได้?
ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษหรือ? ผมว่าไกลเลยแหละ
การพูดว่า Have you breakfast? อาจจะไม่ถูกแน่ๆ แต่พร้อมๆ กันไป การแก้ว่า “Have you had breakfast?” ก็อาจจะไม่ใช่ความถูกต้องด้วยแม้ไวยากรณ์จะถูก เพราะสุดท้ายแล้วภาษามันคือเรื่องของการสื่อสารซึ่งสัมพันธ์กับเวลาและสถานการณ์นั้นๆ
ถ้าเป็นสถานการณ์ทั่วๆ ไป อาจจะพูดคำว่า “Have you had breakfast?” ได้ แต่ในสถานการณ์ที่คนส่งสารเห็นคนรับสารสภาพผ่ายผอมโทรม ไร้เรี่ยวแรงราวกับไม่ได้กินข้าวมา การถามว่า ‘Did you EAT breakfast?’ (เน้นที่คำว่า eat ด้วย) ก็อาจจะถูกต้องกว่า หรือ ในกรณีที่เห็นผู้รับสารที่งดอาหารอยู่กำลังกินอาหาร ก็อาจถามว่า “Have you broken your fast? / Did you break your fast?” อะไรแทนไปได้ เป็นต้น
ทำนองเดียวกัน หากว่ากันตามไวยากรณ์ภาษาอังกฤษเป๊ะๆ เราจะทราบดีว่าอย่างน้อยที่สุด ประโยคในภาษาอังกฤษนั้นจะต้องประกอบด้วย ประธาน + กิริยา (subject + verb) เช่น It rains. จะมา Rains. เฉยๆ นั้นผิดไวยากรณ์พื้นฐาน แต่เอาเข้าจริงๆ ในโลกของการสื่อสาร เราก็จะได้ยินการพูดว่า “Good Morning.” ที่ย่อมาเป็น “G’ Morning.” และย่อต่อมาเป็น Morning.” เฉยๆ เลยได้บ่อยๆ หรือประโยคคำถามข้างต้นเอง แทนที่จะพูดว่า “Have you had breakfast?” หรือ “Did you eat breakfast?” แล้ว จะถามแบบผิดไวยากรณ์ไปเลยว่า Breakfast? (โดยออกเสียงคำว่า fast เป็นเสียงสูง ประมาณ เบร่กฺ-ฟ๊าสตฺ) ก็จะกลายเป็นประโยคคำถามในการสนทนาสื่อสารจริงได้เช่นกันว่า “กินมื้อเช้ามั้ย?” ซึ่งผิดไวยากรณ์ไหม? คำตอบคือ ‘ผิด’ แต่ใช้กันโดยทั่วไปไหม? คำตอบคือ ‘ใช้’
ในทางตรงกันข้าม การสอนท่องจำแบบผลิตแบบจำลองของบทเรียนที่ผ่านมาโดยตลอดนั้น ถูกไวยากรณ์แน่ๆ แต่แทบจะไม่มีใครเค้าพูดกันแล้ว อย่างเวลาถูกถามว่า “How are you?” แล้วต้องตอบว่า “I’m fine, thank you. And you?” นั้น บอกตรงๆ นะครับ โปรแกรมประดิษฐ์เดี๋ยวนี้อย่างพวก siri หรือโปรแกรมดิจิทัลอื่นๆ ยังมีรูปแบบตอบโต้มากกว่าที่ได้รับการสอน และถูกต้องทางไวยากรณ์นี้เลย อย่างผมเอง เวลาเจอคำถามนี้ ก็จะตอบไปว่า Surviving, thanks. (ยังไม่ทันตายครับ) หรือ Suffering like most PhDs. (รันทดเหมือนๆ กับเด็ก ป.เอกทั่วๆ ไปนั่นแหละ) หรือ Dying in the hand of the dissertation. (กำลังจะตายด้วยน้ำมือของวิทยานิพนธ์) เป็นต้น โดยส่วนตัวผมแล้ว การสอนแบบถูกไวยากรณ์เป๊ะๆ แต่ไร้ความลื่นไหลนี้ มีปัญหาพอๆ กัน หรืออาจจะมากกว่าการมีไวยากรณ์ตกๆ หล่นๆ บ้างแต่พอสื่อสารได้เสียอีก ผมจึงไม่แน่ใจนักเวลาที่ดราม่าจะเป็นจะตายเพื่อถือครองความเป็นฝั่งที่ถูกต้องให้ได้นั้น มันจะทำไปเพื่ออะไร? พร้อมๆ กันไป ฝั่งที่ผิดพลาดแล้วจะดื้อดึงไม่รับผิดให้ได้ ก็จะทำไปเพื่ออะไร?
ผมไม่ได้พูดถึงเฉพาะวิชาที่ความเลื่อนไหลสูงอย่างภาษา หรือสังคมศาสตร์นะครับ แม้แต่วิชาสายวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์เอง ที่แทบจะพูดหรือเคลมได้ว่ามี ‘ความจริงที่ไม่สั่นคลอน ไม่เลื่อนไหล’ ที่สุดแล้ว ก็ยังเถียงได้อยู่ดี ไม่ได้พูดถึง ‘วิธีการในการหาคำตอบ’ ด้วย ที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าโจทย์คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์แบบหนึ่งๆ มีหลายวิธีการที่ถูกต้องและทำได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับวิธีที่คนสอนคิด แต่ผมพูดถึงข้อเท็จจริงพื้นฐานมากๆ เลยนี่แหละครับ อย่างการบอกว่า “1 = 1” เอาเข้าจริงๆ แล้วยังมีวิธีพิสูจน์มากมายเลยว่าไม่จริง เช่น ผมจะบอกว่า “1 ≠ 1” แทนนะครับ ผมก็ทำได้
พิสูจน์ 1 ≠ 1
เพราะ 1 ≠ 3/3
1 ≠ 1/3 + 1/3 + 1/3
1 ≠ 0.333… + 0.333… + 0.333…
ฉะนั้น 1 ≠ 0.999… เป็นต้น
ผมพิสูจน์ในทางคณิตศาสตร์ได้แล้วครับว่า 1 ≠ 1 แล้วทีนี้อะไรเล่าคือ ‘ความจริงหนึ่งเดียว’ ที่ฟาดฟันกันให้ได้ว่าฝั่งหนึ่งผิดแน่ๆ และอีกฝั่งหนึ่งถูกร้อยเปอร์เซ็นต์?
ผมพล่ามมาทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่า การตรวจสอบน่ะทำไปเถอะดีแล้ว และฝั่งที่ผิดพลาดก็หัดยอมรับความผิดพลาดเสียเถิด หากพิสูจน์ไม่ได้ว่ามันเป็นความจริงอีกชุดเช่นกัน พร้อมๆ กันไปฝั่งที่ตรวจสอบและถามหาความรับผิดชอบก็ควรพิจารณาเรื่องความได้สัดส่วนด้วย รวมถึงทบทวนดูด้วยว่าตนเองนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหานี้เช่นกันไหม ท้ายที่สุดเลยก็คือ อย่าขยันสร้างและอนุรักษ์ความจริงที่คิดว่าถูกต้องและมีเพียงหนึ่งเดียวเลย มันไม่มีหรอกครับอะไรที่ว่า 1 มันยังไม่เท่ากับ 1 ได้เลย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และความจริงที่หลากหลายกันแทนไปเรื่อยๆ ดีกว่า และหากจะให้ดียิ่งขึ้น ก็พิจารณาถึงการปรับรูปแบบวิธีการการศึกษาของไทยได้แล้ว รวมไปถึงระบบวิธีคิดของสังคมองค์รวมซึ่งเป็นรากเหง้าของระบบการศึกษาอีกทีด้วย