ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่สร้างกระแสความสนใจในสังคมไม่น้อย หากไม่นับกรณีของลุงพลที่ไม่ควรสนใจอะไรมากไปกว่าการเป็นคดีฆาตกรรมทั่วไป หรือติดตามมันจากมุมมองทางมานุษยวิทยาสังคมว่าอะไรที่ทำให้สังคมเราเฮโลไปกับเรื่องนี้ได้ขนาดแล้ว ผมคิดว่าเรื่องที่จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญคือเรื่องการจัดสรรงบประมาณของประเทศ ซึ่งถึงที่สุดแล้วมันกลับมาสัมพันธ์กับเรื่องในความสนใจอีกอย่างหนึ่งได้ด้วยแม้จะไม่ได้โดยตรงนัก นั่นคือวิธีการคิดและประเมินคุณค่าของนักกิจกรรมทางสังคมที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความหิวแสงท่านหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องงบประมาณนั้นได้ถูกพูดถึงอย่างมากมายแล้ว และหากกล่าวตามตรง ผมเองไม่ได้มีความถนัดและชำนาญการใดๆ เลยในเรื่องของการประเมิน ‘ตัวเลข’ การจัดสรรงบประมาณ เพราะฉะนั้นในบทความชิ้นนี้ผมจึงอยากจะพูดถึงงบประมาณผ่าน ‘กรอบวิธีคิดเบื้องหลังการประเมินมูลค่าของตัวประชากร’ มากกว่าครับ ว่ามันทำงานบนฐานกลไกทางความคิดแบบใด
และพร้อมๆ กันไป ฐานวิธีคิดนี้กับกรอบวิธีคิดที่นักกิจกรรมหิวแสงท่านหนึ่งได้ออกมานำเสนอเรื่อยๆ นั้นแม้จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ผมคิดว่ามีความสอดคล้องกันอย่างน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ไม่ต้องนับว่าประเด็นที่เธอออกมาพูด โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเรื่องวัคซีน การรับการช่วยเหลือ และมูลค่าค่าใช้จ่ายจากการฉีดวัคซีนต่างๆ นั้น ย่อมสัมพันธ์โดยตัวมันเองกับการจัดการงบประมาณอยู่แล้ว
ผมคิดว่ากรอบความคิดในการประเมินคุณค่าของชีวิตคนในกรณีที่เกิดขึ้นนี้มีฐานอย่างสำคัญ (แม้อาจจะไม่ทั้งหมด) มาจากกรอบวิธีการคิดแบบทุนนิยมแต่ความต่างที่อาจจะมีนัยสำคัญขึ้นมาบ้างก็คือ กรณีของตัวงบประมาณไทยโดยรัฐบาลนี้อาจจะถึงขั้นต้องเรียกว่าเป็นฐานการประเมินคุณค่าแบบทุนนิยมไม่เสรี (nonliberal capitalism)
ในขณะที่ของนักกิจกรรมหิวแสงท่านนั้นยังคงพอจะถือได้ว่าวางอยู่บนกรอบของทุนนิยมเสรี (liberal capitalism) อยู่ อย่างไรก็ดีด้วยการประเมินค่าชีวิตบนกรอบของ ‘ทุน’ ทั้งคู่ ท้ายที่สุดแล้วมันจึงนำมาสู่บทสรุปปลายทางที่ใกล้เคียงกันด้วยนั่นเองครับ ซึ่งผมจะค่อยๆ อธิบายต่อไป
หากพูดแบบสั้นที่สุด เวลาเราเห็นวิธีคิดอย่างการจัดสรรงบประมาณของรัฐ หรือกระทั่งคำอธิบายเรื่องวัคซีนของนักกิจกรรมหิวแสงท่านนั้นแล้ว เราอาจจะพูดออกมาได้ว่า “ช่างมองคนแบบไม่มีค่าเลย” ซึ่งแน่นอนครับว่ามันถูกต้องและผมเองก็เห็นด้วย แต่คำถามคือ ‘ความไม่มีค่านั้น’ มาจากฐานคิดแบบใด อะไรเป็นตัวกำหนดกรอบหรือนิยาม ‘ความมีค่า’ ที่ว่านี้ เพราะถึงที่สุดแล้ว พวกเขาเหล่านี้เอง (ทั้งรัฐบาลและนักกิจกรรมท่านนี้) ก็มักจะอ้างว่าพวกเขามองประชาชนทุกคนมีค่าเช่นกัน ไม่ได้เป็นอย่างที่เราพยายามท้วงติง
จุดนี้เองนำมาสู่การอภิปรายในบทความนี้ว่า ‘ค่า’ (value) นี้มาจากทัศนะที่ต่างกัน ในขณะที่ ‘ค่า’ ในสายตาของเราๆ (ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลและนักกิจกรรมท่านนี้) คือมอง ‘คุณค่าในฐานะคุณค่า’ (value as value)
พวกเขานั้นดูจะมีฐานการมองว่า ‘คุณค่า คือ ราคา’ (value as price) นั่นเอง แต่ที่ทั้งสองฝั่ง (รัฐบาลกับนักกิจกรรมคนนี้) แตกต่างกันก็คือ ‘การให้ราคากับสิ่งที่เรียกว่าราคา’ (How the price was priced?) นั่นเองครับ อ่านเท่านี้อาจจะยังงงๆ เดี๋ยวผมจะค่อยๆ อธิบายไปต่อนะครับ
หากกล่าวแบบหลวมๆ แล้ว เรานิยามลักษณะพื้นฐานของทุนนิยมตามความหมายระดับพื้นฐานที่สุด คงจะมีดังนี้ (1) การมีตลาดหรือระบบเศรษฐกิจที่วางฐานอยู่บนการผลิตของเอกชน (privately owned means of production) เป็นหลัก, (2) มีการจ้างแรงงานที่เป็นอิสรชน (free labour) คือ ไม่ใช่แรงงานทาสในความหมายอย่างแคบ, และ (3) พยายามลดการรวมศูนย์ของกลไกทางการตลาด (ซึ่งในที่นี้ไม่ได้แปลว่า ‘การลดการรวมศูนย์ของอำนาจที่มีต่อกลไกการตลาด’ นะครับ)
ซึ่งมูลฐานของระบบเศรษฐกิจและความคิดของสังคมไทยนั้น ไม่ว่าจะฝั่งรัฐบาล หรือฝั่งนักกิจกรรมหิวแสงก็ตามวางอยู่บนฐานนี้อยู่ แต่สิ่งที่แตกต่างกันออกไปบ้างก็คือ แนวทางในการมองหรือคิดจะบริหารจัดการมูลฐานสามอย่างนี้นั่นเอง
nonliberal capitalism หรือทุนนิยมไม่เสรีนั้นเป็นคำเรียกหลวมๆ ของระบบทุนนิยมที่มีฐานการทำงานหลักในโครงสร้างที่ไม่เป็นเสรีนิยม เช่น ไม่ได้มุ่งให้เกิดตลาดแข่งขันเสรี (free market—ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการลดการรวมศูนย์กลไกตลาด) การออกแบบกติกาที่เป็นธรรมกับผู้เล่นในตลาดทุกคน หรือระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
งานสำคัญที่อธิบายถึงระบบทุนนิยมไม่เสรีนี้ก็เช่น The Origin of Nonliberal Capitalism (2001) โดย Wolfgand Streeck และ Kozo Yamamura (บ.ก.) กับ Capitalism, Alone (2019) โดย Branko Milanovic โดยงานชิ้นแรกนั้นจะเน้นการศึกษาเปรียบเทียบระบบเศรษฐกิจของเยอรมนีและญี่ปุ่น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของระบบตลาดแบบทุนนิยมในช่วงจักรวรรดินิยมและสงครามและยังคงเหลือร่องรอยอยู่ ในขณะที่มิลาโนวิคนั้นดูจะเน้นไปที่ทุนนิยมไม่เสรีที่เขาเรียกว่า political capitalism หรือทุนนิยมที่วางฐานอยู่บนอำนาจและทิศทางของระบบการเมืองเป็นหลัก มิลาโนวิคเน้นการนำเสนอกลุ่มตัวอย่างไปที่จีนและอดีตประเทศสหภาพโซเวียตเป็นพิเศษ ซึ่งผมคิดว่าฐานโครงสร้างของรัฐบาลไทยเองใกล้เคียงกับลักษณะที่มิลาโนวิคนำเสนอนี้ด้วย (แม้อาจจะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งมันยังผลมาสู่กระบวนการคิดและประเมินคุณค่าต่อไปอีกคำรบหนึ่ง
สำหรับมิลาโนวิคแล้ว political capitalism ไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดอุดมการณ์ (ideology) แต่เป็นแนวปฏิบัติ (approach) ด้วย
มิลาโนวิคได้ขมวดลักษณะของระบบนี้ออกมาเป็นสามก้อนด้วยกันคือ (1) กิจกรรมและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน, (2) มีระบบราชการที่ปกครองการดำเนินการต่างๆ ในรัฐอย่างทรงอำนาจและทรงประสิทธิภาพ, และ (3) มีระบบพรรคเดี่ยว หรืออำนาจการตัดสินใจในฐานะผู้บริหารจัดการรัฐรวมศูนย์ (consolidate) อยู่ที่คนกลุ่มเดียวหรือพรรคเดียว ซึ่งจีนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากของระบบ political capitalism
แน่นอนว่าในเบื้องต้นที่สุด กรณีของไทยนั้นไม่ได้ต้องตรงกับลักษณะที่ว่ามาแบบ ‘ลงร่องพอดิบพอดี’ เพราะแม้เราจะมีระบบราชการที่แข็งแกร่ง ทรงพลังเหลือเกิน แต่มันก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพอะไรนัก แต่ความทรงอำนาจของมันมากเสียจนระบบตลาดของเรา ‘ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำงานร่วมกับหรือภายใต้ตัวระบบราชการนี้’ ฉะนั้นความได้ประสิทธิผลของมันจึงไม่ได้มีผลในทางปฏิบัตินัก เพราะเราไร้ทางเลือกกลายๆ จากความมีอำนาจตเหลือล้นของระบบนี้
อีกส่วนหนึ่งที่ดูแล้วอาจจะไม่ลงร่องลงรอยนักก็คือ การมีพรรคเดี่ยวหรือเสียงอันเป็นก้อนเดียวกันในการตัดสินใจทิศทางและนโยยายของรัฐ เพราะถึงเราจะมีรัฐบาลทหารมาก่อน แต่รัฐบาลพลังประชารัฐในปัจจุบันนี้ก็ประกอบด้วยพรรคร่วมรัฐบาลมากมายและยังมีภาพการทะเลาะเบาะแว้งตีรวนเพิ่มราคาค่างวดให้ตนเองตลอดเวลา (ไม่ว่ามันจะเป็นละครปาหี่หรือไม่ก็ตาม หรือเป็นทั้งละครและความจริงไปพร้อมๆ กันก็ยังไม่แปลกอะไร)
อย่างไรก็ดีความมั่นคงทางการเมืองของพลังประชารัฐจาก ‘อำนาจ ของ ส.ว.’ นั้นทำให้สถานะของพวกเขาในทางปฏิบัติแทบจะไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลทหารเลย ไม่ต้องนับว่าถึงที่สุดแล้ว นอกเหนือไปจากรัฐบาลเอง ประเทศไทยยังมี ‘เสียงเบื้องหลัง’ ที่เป็นเสียงเดียวอันทรงพลังทางการเมืองพอที่จะรวบ (consolidate) ความไม่ลงร่องลงรอยทั้งหลายให้เป็นก้อนเดียวกันได้อยู่
เช่นนี้เองผมจึงคิดว่าเราพอจะพูดได้ว่า ‘ฐานทางวิธีคิดของรัฐบาลไทยวางอยู่บนวิธีการให้คุณค่าที่มาจากโครงสร้างแบบ political capitalism นี้’
อะไรคือคุณสมบัติสำคัญของระบบแบบ political capitalism นี้ในสายตาของมิลาโนวิค? มันก็คือ ความสามารถของรัฐในการชี้นำและแทรกแซงภาคเอกชน (คนละเรื่องกับการแทรกแซงกลไกตลาดที่เกิดขึ้นได้ในระบบวิธีคิดอีกหลายแบบนะครับ อย่างเคนส์เซียน เป็นต้น) ทั้งยังออกกฎหมายหรือกติกาที่จงใจเลือกเข้าข้างใครหรือกระทำต่อใครเป็นพิเศษในนามของ ‘ผลประโยชน์ของชาติ’
ซึ่งจากสิ่งเหล่านี้เองมันนำมาซึ่งคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของระบบทุนนิยมแบบนี้นั่นก็คือการไม่มีหลักนิติรัฐ (rule of law) อย่างแท้จริง และยังทำให้เกิด ‘การคอร์รัปชั่นอย่างเป็นโครงสร้าง เป็นระบบ (แทบจะเรียกได้ว่าโจ่งแจ้ง)’ ขึ้นมา เพราะมันสามารถทำผ่านความไม่เป็นธรรมทางกฎหมายได้เลย ทั้งการตรวจสอบหรือเอาผิดความไม่เป็นธรรมและการคอร์รัปชั่นที่ว่านี้ก็ยังทำไม่ได้ด้วย เพราะอำนาจในการตอบโต้เหล่านี้ล้วนถูกควบคุมไว้ในมือของอำนาจสูงสุดหนึ่งเดียวในการบริหารจัดการรัฐที่ว่าไปนั่นเอง
คุณลักษณะทั้งมวลที่ว่ามานี้เอง ผมคิดว่าช่างลงล็อกเหมาะเหม็งกับ ‘งบประมาณแผ่นดินไทย’ ที่จัดสรรโดยรัฐบาลนี้จริงๆ ความบิดเบี้ยวของตัวสัดส่วนงบประมาณที่เกิดขึ้นนั้นผมคงไม่ต้องกล่าวเพิ่มเติมเพื่อถมพื้นที่อะไรในนี้แล้ว มีการเขียนถึงกันอย่างมหาศาลทั่วไปหมด
แต่ส่วนนี้เอง หากจะบอกว่ารัฐบาลมองว่าประชาชน ‘ไม่มีค่า’ นั้นอาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่ผมคิดว่าภายใต้โครงสร้างของ political capitalism ซึ่งทำให้เกิด ‘โครงสร้างทางกลไกและอำนาจ’ ที่รัฐจะทำตามใจอยากได้ดังลักษณะร่วมที่ว่ามาแล้ว กรอบคิดแบบวัฒนธรรมพุทธๆ ทรงศีลไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตที่เป็นตัวชี้นำสังคมไทย โดยเฉพาะชนชั้นนำแบบรัฐบาล ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดทิศทางรัฐอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ต้องฟังใครนี้ ที่สามารถจะสวมครอบวิธีคิดแบบนี้ลงมาในกลไกตลาดและการจัดสรรงบประมาณได้
ซึ่งมันก็นำมาสู่คำอธิบายประสาผู้ดีแดนสยามอย่างที่ได้ยินผ่านหูเรื่อยๆ ทำนองว่าสังคมเรารักและเจือจุนกันอยู่แล้ว ความเอื้ออาทรณ์ต่อกันนี้ทำให้เราสามารถดำรงตนอยู่ได้โดยไม่ต้องวิ่งตามวิถีทางวัตถุแบบตะวันตก ว่าง่ายๆ ก็คือ คุณค่าในฐานะมนุษย์ของเรานั้นสูงส่งเหลือเกิน ‘ประเมินค่า ประเมินราคาเป็นวัตถุ’ แบบพวกที่ฝรั่งมังค่ามักทำไม่ได้
อย่างไรก็ดีการเชิดชูความมีคุณค่าว่าประเมินเป็นราคาไม่ได้ หรือพูดบนฐานของราคาอันเป็นเม็ดเงินไม่ได้ (priced as priceless) นี้เป็นคนละเซนส์กันกับฐานคิดแบบมนุษยชนสากลเลยนะครับ ในทางสากลที่มองว่ามนุษย์ประเมินค่าไม่ได้แบบ progressive liberalism (เสรีนิยมก้าวหน้านั้น) เป็นคนละแบบกัน ซึ่งผมจะกล่าวถึงในตอนท้าย
ด้วยเงื่อนไขแบบนี้เอง ผมคิดว่ามันนำมาซึ่งสถานะของการ ‘มีคุณค่าแบบไม่มีราคา’ ที่มีราคาค่างวดในตัวของมันเองไม่น้อย
ราคาของการไม่มีราคาในเซนส์นึงมันจึงหมายถึงพื้นที่ที่รัฐจะลดต้นทุนในการใช้จ่ายเพื่อดูแลประชากรของตนได้ เพราะคุณค่าในตัวพวกเขานั้นชี้วัดหรือแสดงออกผ่าน ‘ตัวเงินหรือสิ่งของใดๆ ไม่ได้อยู่แล้ว’ เผลอๆ ยิ่งจะสะท้อนความไม่จริงใจอีกต่างหาก พึงมอบน้ำจิตน้ำใจ การเลี้ยงดูเยี่ยงลูกเยี่ยงหลาน ประหนึ่งทำทานให้เป็นครั้งคราวดีกว่า แบบบัตรคนจนนั่นไงเล่า
กล่าวคือ การจัดสรรงบประมาณให้กับประชาชนที่ ‘ประเมินราคาไม่ได้’ เหล่านี้นั้น ต้องไม่ถูกทำออกมาในฐานะ ‘หน้าที่’ ที่จะต้องมีความเป็นระบบ มีโครงสร้างที่ชัดเจน ถาวร และต่อเนื่อง แต่มันถูกทำออกมาในลักษณะของ ‘ความพึงใจของรัฐ’ ประหนึ่งการทำทาน รับบุญแบบคติพุทธไปแทนนั่นเอง เพราะนั่นคือตัวสะท้อน ‘คุณค่า’ แบบที่คนเหล่านี้เห็นชอบเห็นควรมากกว่า
แน่นอนว่า เมื่อมันไม่ต้องดูแลอย่างเป็นระบบ เป็นโครงสร้าง แต่เป็นการให้อย่างมีรัฐเป็นผู้ให้ทาน (state as benefactor) แล้วนั้น มันย่อมเหลือส่วนแบ่งก้อนใหญ่มหาศาลที่ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบถาวรในการดูแลประชากรนี้แต่แรกที่จะสามารถนำมาเป็นสัดส่วนของ ‘การคอร์รัปชั่นเชิงโครงสร้าง’ ผ่านตัวกฎหมายและนโยบายอย่างโจ่งแจ่งที่พวกเขาจะผลักดันออกมาเองได้ ‘ในนามเพื่อชาติ’ นั้น ดังคุณลักษณะของโครงสร้าง political capitalism ที่มิลาโนวิคว่าไว้
กรณีถัดมา คืออย่างของนักกิจกรรมหิวแสงท่านหนึ่งท่านนั้น กรณีนี้บอกได้เลยครับว่ามองว่าคนเรามีราคา เพราะฐานคำอธิบายของเธอวางฐานอย่างแรงอยู่บนระบบทุนนิยมเสรี และเป็นทุนนิยมเสรีที่ไม่ได้ก้าวหน้าอะไรด้วย ทุนนิยมเสรuแบบคลาสสิกเลยนี่แหละ ที่ให้ค่าของระบบตลาดและความอยู่รอดของระบบตลาดนำตัวความเป็นคน และเพราะมันคิดกันบนฐานนี้นี่เองการประเมินมูลค่าของคนบนฐานของราคานั้น จึงยิ่งจำเป็นและทำอย่างถี่ถ้วนด้วย
ผมขอเล่านอกเรื่องนิดนึงก่อน แต่มันเกี่ยวพันธ์กับเรื่องนี้ในทางโครงสร้างโดยตรง คือ หลายปีมาแล้ว (เกินกว่าสิบปี) Ford บริษัทที่ผลิตรถยนต์ออกมาขายนั้น พบว่ารถที่ตนเองผลิตมีปัญหา ซึ่งผู้ใช้งานเองบางส่วนก็ทราบ และมันเป็นอันตรายถึงชีวิตของผู้ใช้งานเองด้วย นำมาซึ่งปัญหาการฟ้องร้องต่างๆ มากมาย ซึ่งทางออกโดยทั่วไปที่เราน่าจะพอจินตนาการกันออกก็คงจะเป็นการเรียกคืนสินค้า และก็จ่ายค่าชดเชยหรือมอบสินค้าตัวใหม่ทดแทนไปให้ตามแต่ตกลงใช่ไหมครับ
แต่สิ่งที่ Ford ทำตอนนั้นกลับไม่ใช่เลย เขาใช้วิธีตีมึน เพราะประเมินราคาออกมาดูแล้วว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำวิธีอันพึงจะเป็นในแบบแรกนั้น สูงกว่าการปล่อยให้เป็นไป หากเกิดมีผู้บาดเจ็บเสียหายก็ยอมจ่ายค่าประกันและค่าชดเชยตามกฎหมายให้ไป ว่าอีกแบบก็คือ เขาคำนวณแล้วว่า ‘ราคาของชีวิต’ นั้นต่ำกว่าคุณค่าทางการตลาดและนโยบายที่จะ ‘ยุติการสูญเสียชีวิตไป’ บางครั้งเราเรียกการประเมินแบบนี้กึ่งๆ เป็นแสลงว่า cold dollar คือ การคิดถึงตัวเม็ดเงินเป็นหลักอย่างไม่เห็นคุณค่าอื่นใดในสายตา เงินคือเงิน
ทีนี้กลับมาที่ตัวของนิกกิจกรรมหิวแสงท่านนั้นบ้าง ข้อเสนอของเธอที่ต่อเนื่องมาโดยตลอด ว่า เราไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนทุกคนบ้าง (เพราะฉีดได้ถึงจุดนึงก็จะเกิด herd immunity เอง) หรือไม่ต้องรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาก็ได้เพราะประเทศเรามีศักยภาพในการจัดการและดูแลประชาชนในเรื่องวัคซีนอยู่ (เอาวัคซีนตามข้อตกลงเดิมที่เรามีนี่แหละ) อย่าไปสูญเสียงบประมาณเพิ่มโดยไม่จำเป็นเลย ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้เองที่สำหรับผมแล้วแม้จะไม่ได้แสดงออกมาอย่างโฉ่งฉ่างโจ่งแจ้งแบบกรณีของ Ford แต่มันวางอยู่บนฐานคิดเดียวกัน คือ มองว่าคุณค่าของชีวิตคนนั้นมีอยู่จริง แต่มันคือคุณค่าที่ประเมินออกมาเป็น ‘ราคาอันเป็นเม็ดเงิน’ นั่นเอง
งานของ Frank Ackerman และ Lisa Heinzerling (2004) ที่ชื่อ Priceless: On Knowing the Price of Everything and the Value of Nothing ได้นำเสนอและวิพากษ์กระบวนการประเมินคุณค่าความเป็นคนแบบ cold dollar แบบเป็น ‘ก้อนราคา’ นี้อย่างถึงพริกถึงขิง ซึ่งผมคงไม่มีเวลาในการลงรายละเอียดมากนัก แต่หลักๆ แล้วโดยข้อสรุปก็คือ กรอบคิดของทุนนิยมเสรีที่พยายามรักษาและอุ้มชูความอยู่รอดอย่างหนักหน่วงนั้น มันนำมาซึ่งการหาคำอธิบายสารพัดที่จะมาร้อยรัดกันแล้วบอกว่า ‘ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสูญเสียเงินขนาดนั้นขนาดนี้เพื่อตัวมนุษย์(ร่วมสังคม)’
โดยคำอธิบายที่นำมาร้อยรัดต่างๆ นั้นมักจะถูกสร้างขึ้นมาอย่างให้ดูเป็นภววิสัย (objective) และบ่อยๆ ครั้งเป็นวิทยาศาสตร์ การที่มันวางอยู่บนผลวิจัยหรือชุดตรรกะอย่างแข็งทื่อนี้เอง ซึ่งในตัวงานเรียกมันว่า solid science ที่แน่นอนว่ามันย่อมมีเหตุผล แต่มันก็ไร้ซึ่งหัวจิตหัวใจด้วย เพราะ logic is always heartless. (ตรรกะมันไร้ซึ่งหัวจิตหัวใจ)
กล่าวอย่างรวบรัดที่สุดก็คือ โลกแบบทุนนิยมเสรีนั้นประเมินคนบนฐานของ cost-benefit analysis หรือการประเมินความคุ้มค่าและผลตอบแทน (แบบจับต้องได้) เป็นสำคัญ
แต่แอ็กเคอร์แมนและไฮน์เซอร์ลิงอธิบายต่อไปว่า ระบบการประเมินคุณค่าของมนุษย์บนฐานของสิทธิมนุษยชนนั้นมันไม่เคยเป็นแค่เรื่องของ cold dollar หรือก้อนข้อมูลเหตุผลล้วนๆ มนุษย์ขับเคลื่อนด้วยหลายสิ่งหลายอย่างเกินกว่าเหตุผลและความคุ้มค่าของเม็ดเงิน แน่นอนว่ามันย่อมหมายความว่า ‘คุณค่าของมนุษย์นั้นมันประเมินไม่ได้’ ที่ไม่ใช่ในความหมายว่าประเมินเป็นราคาไม่ได้ด้วย แต่มันไม่ควรจะเข้าไปอยู่ในสารบบของ ‘ราคา’ เลยแต่แรก จงอย่าคิดเรื่องความคุ้มทุนในการดูแลมนุษย์และพัฒนามนุษย์
หากเราคิดถึงเรื่องความคุ้มทุนล้วนๆ สาธารณูปโภคของรัฐหลายอย่างนั้น บอกได้เลยว่าไม่ได้สร้างความคุ้มทุนได้ในทางเศรษฐกิจเลย อย่างการตัดถนนไปบนหมู่บ้านห่างไกลในภูเขา การบุกป่าฝ่าดงขนหีบบัตรเลือกตั้งกลางป่าดงดิบออกมานับคะแนนเสียง การบุกแหล่งกบดานของผู้ก่อการร้ายเพื่อช่วยตัวประกันหนึ่งชีวิตออกมา แม้จะต้องเสียเงินงบประมาณมหาศาลและมีความเสี่ยงในการจะสูญเสียชีวิตทหารในปฏิบัติการณ์ก็ตาม อารมณ์ความรู้สึก หรือ sentiment ของประชากรนั้นมันวัดกันไม่ได้ง่ายๆ
นี่เองจึงเป็นฐานคิดที่นับกันว่าเป็นมาตรฐานอันพึงเป็นในสากลโลกตอนนี้ครับ เป็นมาตรฐานแบบ progressive liberalism (เสรีนิยมก้าวหน้า) ไม่ใช่มาประเมินแบบ cold dollar อย่างนักกิจกรรมหิวแสงว่าไว้
ลองคิดดูเถิด ต่อให้ที่เธอคนนั้นว่ามาแล้วจริงเลยตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าจะเกิด herd immunity ขึ้นได้ แต่ความรู้สึกของคนที่ไม่ได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีน (เมื่อเทียบกับคนที่ได้ฉีด) เพียงเพราะความเชื่อในการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่นี้ขึ้นเล่าจะไปอยู่ตรงไหนในสมการเม็ดเงินและความคุ้มค่าของเธอ มุมมองของสังคมจากกลุ่มที่ได้ฉีดต่อไม่ได้ฉีดเล่าจะเป็นอย่างไร ความไม่แน่นอนต่างๆ ของข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์เล่าประเมินอยู่ขนาดไหน?
ทั้งนี้ผมไม่ได้บอกให้เลิกเชื่อวิทยาศาสตร์ ไม่ได้บอกให้ยุติการคิดแบบมีเหตุผล มันต้องทำและมันจำเป็นมาก แม้บ่อยครั้งมันอาจจะวิ่งตามหลังขบวนแบบที่ WHO เพิ่งออกมาประกาศรับรองว่าการใส่หน้ากากช่วยลดการติดเชื้อได้จริงๆ จ้าเมื่อไม่กี่วันก่อนนี้เอง หรือในบางครั้งมันจะถลำไปหน้าเสียมากก็ตาม
ผมเองในฐานะที่จัดกลุ่มตัวเองเป็นมนุษย์บนหอคอยเองนั้น ก็ทราบดีว่าการใช้เหตุผลหรือตรรกะแบบเพียวๆ หรือมองแบบภววิสัยสุดติ่งนั้น หลายๆ ครั้งก็นำมาซึ่งความคิดเห็นที่สวนทางกับ ‘ความคิดเห็นยอดนิยมในสังคม’ (popular opinion) ได้ แต่มันไม่ใช่ว่าจะยุติการเสนอสิ่งเหล่านี้ออกมา หรือไม่ได้แปลว่าความเห็นแบบภววิสัยมันผิด บ่อยครั้งเสียด้วยซ้ำที่มันถูก แต่มันต้องทำอย่าง ‘ครบถ้วนและรู้ตัวชัดว่ามันทำงานอยู่ในบริบทแบบใด’
ข้อเสนอแบบภววิสัยจัดๆ แบบหอคอยมากๆ นั้น บ่อยครั้งไม่ได้เสนอออกมาเพื่อ ‘ให้สังคมปฏิบัติตามตัวข้อเสนอ’ แต่ทำเพื่อทำให้เกิดความ ‘เอ๊ะ’ ขึ้นมา แล้วได้ลองหยุดสำรวจในสิ่งที่กำลังเฮโลทำกันอยู่ หรือเห็นดีเห็นชอบกัน กล่าวคือ ไม่ได้พูดเพื่อให้หยุดหรือล้มเลิกวิถีปฏิบัติที่คุ้นชินในบัดดล แต่เป็นการให้ฉุกคิดและตรึกตรองในระยะยาวดู ได้ตั้งคำถามกับความเคยชินที่ปกติไม่ค่อยจะถูกตั้งคำถาม
ผมคิดว่าสิ่งที่นักกิจกรรมหิวแสงท่านนั้นพยายามเสนอ คือ การพยายามจะเสนอแบบหอคอย แต่หารู้ตัวไม่ว่าสิ่งที่เธอเสนอมานั้น นอกจากจะวางอยู่บนฐานความคิดที่ล้าหลังกว่ากระแสความคิดหลักในสังคม (คือไม่ได้กระทั่งผลักดันให้สังคมขยับภูมิทัศน์ทางความคิดไปข้างหน้า) แล้ว ยังทำแบบไม่ทั่วถ้วนอีกด้วย ส่วนฝั่งรัฐบาลนั้นไม่ต้องพูดถึง ล้าหลังและหน้าด้าน ใช้อำนาจอย่างไร้ยางอายชนิดที่ไม่ต้องแงะออกมาก็เห็นได้อยู่ชัดๆ คาตา สมชื่อการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบจริงๆ ครับ คอร์รัปชั่นแบบเปิดเผย เป็นกฎหมาย และประกาศลงราชกิจจานุเบกษากันโครมๆ นับรอบไม่ถ้วนกันเลยทีเดียว
นี่แหละหนาราคาของชีวิตที่ไม่มีราคา…
Illustration by Waragorn Keeranan