หลายวันก่อนผมฟังวิทยุ แล้วเปิดเจอรายการหนึ่ง ซึ่งดีเจเห็นว่าใกล้วาเลนไทน์แล้ว เลยจัดให้ผู้ฟังทางบ้านช่วยกันระดมสมองเข้ามาว่าต้องตอบอย่างไรให้ถูกใจเธอ เมื่อถูกถามว่า ‘รักเค้าแค่ไหน?’ ฟังไปก็หัวเราะไป เพราะแทนที่จะได้คำตอบ คนส่วนใหญ่กลับโทรเข้ามาโวยวายว่านี่มันปัญหาโลกแตกชัดๆ!
ตอบว่ารักเท่าฟ้า เธอก็หาว่าไม่ตั้งใจตอบ พออธิบายว่าชอบนิสัย รอยยิ้ม โน่นนี่ เธอก็ถามกลับว่าเราจะไปชอบนังนั่นที่มีอะไรแบบนี้คล้ายกับเธอไหม พอลองตอบแบบในละครว่าเรารักที่เธอเป็นเธอ รักแบบไม่มีเงื่อนไข อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ เธอก็ไม่เข้าใจและขอคำอธิบายเพิ่ม คำหวานหรือมุกเสี่ยวอาจช่วยได้บางครั้ง แต่วันไหนมุกหมดขึ้นมา คำถามคิวต์ๆ นี้ก็กลายเป็นชนวนให้งอนกันขึ้นมาได้ง่ายๆ
การเล่นเกมตอบคำถาม ‘รักเราแค่ไหน’ จึงเป็นเกมที่ไม่มีวันชนะและไม่มีวันจบ มนุษย์แฟนระดับปรมาจารย์อาจรู้วิธีไขรหัสลับดังกล่าว แต่สำหรับเราที่เป็นแค่มนุษย์แฟนระดับทั่วไป ทางหนึ่งที่อาจช่วยให้สบายใจขึ้นท่ามกลางความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง คือการเข้าใจว่าไม่ได้มีแค่เราที่ปวดหัว แต่คำถามนี้สะท้อนถึงปัญหาเรื่องการประเมินคุณค่าคนพิเศษ ที่แม้แต่นักปรัชญาระดับโลกยังพากันกุมขมับ
ทำไมจึงกุมขมับ?
จะเข้าใจความอับจนของมนุษยชาติในเรื่องนี้ได้ ต้องเริ่มจากการเข้าใจก่อนว่ามนุษย์เรามีวิธีการประเมินและอธิบายความสำคัญของคนคนหนึ่งอยู่สองวิธี วิธีแรกคือการมองว่าคนเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่สามารถประเมินเป็นราคาหรือเอาไปเปรียบกับสิ่งอื่นหรือคนอื่นได้ หรือที่ฝรั่งเรียกว่าการเคารพในคุณค่า (respecting value) ตัวอย่างมุมมองแบบนี้คือระบบจริยศาสตร์แบบ Kantian ที่ให้เริ่มคิดจากการถือว่ามนุษย์แต่ละคนเป็นเป้าหมายสูงสุดในตัวเอง (human as an end in itself)
วิธีให้เหตุผลแบบที่สองคือการประเมินมูลค่าหรือราคา (evaluating price) วิธีคิดนี้ตั้งต้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าตัวเราเองต้องการอะไรบางอย่าง แล้วก็ดูว่าคนคนั้นตอบโจทย์หรือมีมูลค่าแค่ไหนจากมุมมองความต้องการดังกล่าว คล้ายๆ กับการรับสมัครงานแล้วหาคนถูกใจ
ปกติคำตอบของเราต่อคำถามที่ว่ารักเธอแค่ไหนก็มักสะท้อนการให้เหตุผลเหล่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คำตอบประเภทที่ว่ารักเธอเพราะเธอเป็นเธอ รักเพราะรัก รักแบบอธิบายไม่ถูก ล้วนสะท้อนวิธิคิดแบบแรกที่มองว่าเธอเป็นสิ่งสมบูรณ์ในตัวเอง และรักอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือเรียกแบบภาษาทั่วไปก็คือ ‘รักบริสุทธิ์’ ในขณะที่การสาธยายส่วนที่เราชอบอย่างสีผม หน้าตา นิสัยนั้น เป็นการอธิบายเชิงมูลค่าหรือราคา (price) ซึ่งเป็นการอธิบายว่าคนคนหนึ่งมีอะไรบางอย่างที่เราต้องการและหาจากคนอื่นไม่ได้ อารมณ์ประมาณเจอคนที่ตรงเช็กลิสต์คู่ครองในฝันยังไงอย่างงั้น
ปัญหาก็คือไม่ว่าจะให้เหตุผลทางใด เราก็ล้วนเจอข้อจำกัดทางตรรกะบางอย่าง ซึ่งข้อจำกัดนี้คุณเธอเองก็รู้สึกอยู่ลึกๆ ในใจ และนำไปสู่ชุดคำถามชวนปวดหัวอย่างต่อเนื่อง
David Velleman อาจารย์วิชาปรัชญา แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (น่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานกับลุง Nelson) อธิบายประเด็นนี้ผ่านกรณีจิตวิทยาเรื่องการบอกรักลูกของพ่อแม่ ซึ่งผมขอเอามาดัดแปลงนิดหน่อย เรื่องก็คือแกบอกว่าทั้งหมดนี้มันเหมือนกับในวัยเด็กที่เราชอบถามพ่อแม่ว่ารักเราแค่ไหนและเพราะอะไร พอเจอคำถามแบบนี้ พ่อแม่ก็จะตอบว่ารักที่สุดในชีวิต เพราะลูกคือสิ่งพิเศษที่หาอะไรมาทดแทนไม่ได้ (special and irreplaceable) คำตอบแบบนี้สะท้อนรักบริสุทธิ์ที่มีต่อความสมบูรณ์ในตัวเองของลูก
แต่ปัญหาของการให้เหตุผลแบบนี้ก็คือจริงๆ แล้วมันไม่ได้ตอบอะไรเลย! เหมือนบอกว่า ‘ไม่รู้สิ’ ‘รักเพราะรัก’ พอไม่รู้เงื่อนไขหรือเหตุผลเช่นนี้ ลูกก็เลยไม่แน่ใจว่าต้องทำตัวแบบไหนถึงจะรักษาความรักไว้ได้ต่อไป
นอกจากนี้ พอเอาเข้าจริงมนุษย์ทุกคนแม้จะไม่เหมือนกัน แต่ก็ล้วนมีความสมบูรณ์ในตัวเองและทดแทนกันไม่ได้ พอคิดได้เช่นนี้เราก็เกิดคำถามในใจว่าถ้าพ่อแม่มีความรักบริสุทธิ์ในความสมบูรณ์ของเราได้ ก็น่าจะมีกับคนอื่นที่สมบูรณ์เหมือนกันได้ด้วย สรุปคือแม้เราจะพิเศษ แต่นั่นก็ไม่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมพ่อแม่จึงรักเราเป็นพิเศษ เพราะทุกคนล้วนพิเศษเหมือนกันหมด
เมื่อเป็นเช่นนี้ ลูกก็เริ่มรบเร้าขอคำอธิบายเพิ่ม พ่อแม่จึงเริ่มอธิบายว่ารักลูกเพราะสีผม หน้าตา ความผูกพัน อะไรก็ว่าไป ซึ่งนั่นก็คือคำอธิบายเชิงมูลค่าแบบที่สอง ว่าลูกมีอะไรบางอย่างที่ตรงใจพ่อแม่ ปัญหาของเหตุผลแบบนี้ก็คือมันเปลี่ยนจาก ‘ความรักบริสุทธิ์’ แบบแรก’ ให้เป็น ‘รักแบบมีเงื่อนไข’ กล่าวคือพ่อแม่กำลังบอกว่ารักลูกเพราะลูกมีอะไรบางอย่างที่ตรงใจพ่อแม่ พอเป็นเช่นนี้ ความไม่มั่นคงก็เกิดขึ้น เพราะเราอาจถูกเปรียบเทียบและแทนที่ได้ถ้าพ่อแม่ไปเจออะไรที่ตรงใจแบบนี้เหมือนกัน ทีนี้พอเห็นเด็กคนอื่นที่มีเงื่อนไขสีตา เส้นผม นิสัยเหล่าเหมือนเราก็เกิดความไม่ไว้ใจ อารมณ์จะคล้ายๆ กับสินค้าที่ทดแทนได้ด้วยสินค้าอื่นที่มีมูลค่าและสรรพคุณเดียวกัน
การอธิบายความรักระหว่างคนสองคนก็เป็นไปในทำนองนี้ พอเราอธิบายว่ารักของเราเป็นรักบริสุทธิ์ที่ประเมินค่าไม่ได้และไม่มีเหตุผล เธอก็รู้สึกว่ามันควบคุมไม่ได้ เลยอยากถามว่ามันจะเกิดขึ้นกับคนอื่นอย่างไม่มีที่มาที่ไป หรือเมื่อไหร่กับใครก็ได้เหมือนกันใช่มั้ย? แต่พอสาธยายส่วนที่ชอบในตัวเธอ เช่นหน้าตา นิสัย ระยะเวลาของความสัมพันธ์ ก็กลับกลายเป็นการอธิบาย ‘เงื่อนไข’ ของความรัก ซึ่งนั่นเป็นการยืนยันว่าเธอถูกเปรียบเทียบและแทนที่ได้ด้วยคนอื่นที่มีเงื่อนไขเหมือนกัน จึงมีคำถามที่ตามมาว่า ‘เธอจะไปชอบคนอื่นที่คล้ายเราหรือเปล่า’
งานทางปรัชญาหลายชิ้นพยายามหาคำตอบที่ดีให้กับ dilemma และชุดคำถามปัญหาเหล่านี้ แต่ผมยังไม่เจอที่ถูกใจเลยไม่ได้เอามาเล่าต่อ สุดท้ายคำตอบที่ถูกต้องอาจไม่มีอยู่จริง หรืออาจต้องการทั้งการแสดงออกถึงความเคารพในคุณค่า (value) การให้ราคา (price) มาปนๆ กัน หรือสุดท้ายความรักเองก็อาจเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติและเกินความสามารถในการให้เหตุผลของมนุษย์ ซึ่งจนถึงตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์แฟนหรือนักปรัชญา ก็ยังไม่มีใครแก้ตก
แต่ไม่ว่าทางไหน ทั้งหมดนี้ก็เพียงพอที่จะย้ำเตือนมนุษย์แฟนว่าความรักไม่ใช่เรื่องง่าย และการตอบคำถามว่า ‘รักเค้าแค่ไหน’ ได้ไม่ดี ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้รักเธออีกต่อไป แต่นั่นเป็นเพราะข้อจำกัดเรื่องการอธิบายและให้เหตุผลของมนุษย์ที่ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ตอบได้เท่านี้ เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ก็ขอให้เลิกกังวลและมีความสุขในวันวาเลนไทน์นะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart