จากสถานการณ์ราคาน้ำมันพุ่งสูงต่อเนื่อง กลายเป็นอีกเรื่องที่คนต่างจับตามอง เพราะช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันได้ปรับราคาสูงมาทั้งหมด 7 รอบ ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2564 ในขณะที่ประเทศต่างๆ ก็ประสบภาวะวิกฤติน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ที่แห่ไปต่อแถวเติมน้ำมันเมื่อช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาความต้องการล้นตลาด และอังกฤษที่ปรากฏภาพขบวนรถยาวเหยียดแห่ไปปั๊มน้ำมันเพื่อเร่งเติมน้ำมันหวังกักตุน เพราะกลัวน้ำมันขาดแคลน และล่าสุดราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวลดลงหลังจากที่มีการประชุม OPEC+ ในวันนี้ (4 ตุลาคม พ.ศ.2564) ที่อาจจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน
ทั้งหมดนี้ล้วนมีที่มาที่ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงราคาน้ำมันโลก รวมถึงราคาน้ำมันบ้านเราที่พุ่งสูงในขณะนี้ The MATTER ได้เรียบเรียงที่มาที่ไปของวิกฤติราคาน้ำมันดิบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก มาดูกันว่าอะไรที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นสูงในครั้งนี้
- หากว่ากันถึงสาเหตุของราคาน้ำมันในไทยที่พุ่งสูงนั้น ก็ต้องย้อนกลับไปดูสถานการณ์ของราคาน้ำมันโลกที่พุ่งขึ้นสูงก่อน ซึ่งล้วนมีปัจจัยเกี่ยวเนื่องกันหลายอย่าง เริ่มแรกมาดูที่ฝั่งอังกฤษ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนในอังกฤษต่างขับรถออกมาต่อแถวยาวเหยียดเติมน้ำมันที่ปั๊ม ถึงอย่างนั้น ปั๊มน้ำมันหลายแห่งก็ต้องปิดให้บริการไปมากถึง 2 ใน 3 จากจำนวนปั๊มน้ำมันทั้งหมด 5,500 สถานี เพราะจำหน่ายน้ำมันจนหมด ทำให้มีน้ำมันให้บริการไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ล้นหลาม
- จริงๆ แล้ว โรงกลั่นน้ำมันในอังกฤษยังคงผลิตน้ำมันออกมาเพียงพอต่อความต้องการ หากแต่สาเหตุจริงๆ ที่ทำให้ปั๊มน้ำมันมีเชื้อเพลิงไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้านั้น ก็เพราะขาดแคลนแรงงานคนขับรถขนส่งเชื้อเพลิง ยิ่งคนแห่ออกมาเติมน้ำมันด้วยกลัวว่าน้ำมันจะขาดตลาดก็ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม
- เมื่อว่ากันถึงการขาดแคลนคนขับรถขนส่งน้ำมัน ก็เกี่ยวเนื่องกับวิกฤติซัพพลายเชนในอังกฤษที่ภาคขนส่งขาดแคลนแรงงาน อันเป็นผลจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ในขณะเดียวกัน Brexit ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ปัญหานี้ลุกลาม เพราะส่งผลให้ประชาชนในสหภาพยุโรปหลายหมื่นคนต้องเลิกอาชีพขับรถบรรทุกและไปทำอาชีพอื่นแทน อีกทั้งยังมีเรื่องของระบบการอพยพย้ายถิ่นฐานหลัง Brexit และการออกใบอนุญาตที่ล่าช้า ซึ่งทำให้เรื่องยุ่งยากจนส่งผลยาวมาถึงสถานการณ์ล่าสุด รวมทั้งราคาน้ำมันในประเทศที่พุ่งขึ้นสูง จนประชาชนตื่นตระหนกและแห่กันรีบมาเติมน้ำมันกักตุนตามที่เห็นในข่าวต่างๆ นั่นเอง
- นอกจากนี้ ราคาน้ำมันโลกที่พุ่งขึ้นสูงก็เป็นผลมาจากความต้องการและปริมาณน้ำมันในตลาดที่ไม่สอดคล้องกัน คำถามต่อมาก็คือ อะไรที่ส่งผลให้คนต้องการซื้อน้ำมันมากจนทำให้ราคาพุ่ง? แน่นอนว่าคำตอบจะกลับมาที่สองประการ นั่นก็คือ การฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังวิกฤติ COVID-19 ในประเทศต่างๆ และสภาพอากาศที่เริ่มเปลี่ยนเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว หากมาดูฝั่งสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่าความต้องการน้ำมันเริ่มมีมากขึ้นเมื่อเข้าหน้าหนาว หรือแม้แต่เดือนก่อนนั้นก็ประสบภัยทางธรรมชาติอย่างพายุเฮอริเคนไอดา ส่งผลให้ต้องหยุดผลิตน้ำมันชั่วคราว เมื่อการผลิตน้ำมันไม่แน่นอนก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นสูงตามไปด้วย
- ถึงอย่างนั้น สิ่งที่น่าจับตามองมากที่สุดในตอนนี้ก็คือ การประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2564 ถึงการกำหนดนโยบายการผลิต ซึ่งเหล่านักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่ากลุ่ม OPEC+ จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 0.4 ล้านบาร์เรล/วัน และแน่นอนว่าช่วงที่หลายฝ่ายต่างดูท่าที หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ. ไทยออยล์ ได้ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบได้ปรับเพิ่มขึ้น
- ทั้งนี้ ในไทยเองก็ได้มีการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันบ้านเราเช่นกัน โดยราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้นส่งผลให้กระทรวงพลังงานเร่งประชุม กบง. เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซล B10 ไม่ให้ทะลุเกิน 30 บาท
- มติในการประชุมโดยสรุปนั้น ประกอบด้วย 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
– ปรับลดค่าการตลาดดีเซลลง จากประมาณ 1.80 บาท เหลือ 1.40 บาท
– ลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของดีเซล B7 จาก 1 บาท เหลือ 1 สตางค์
– ปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลลงในน้ำมันดีเซล ซึ่งหมายความว่าจะเหลือเพียงน้ำมันดีเซล B6 เริ่มตั้งแต่ 11–31 ตุลาคม พ.ศ.2564 โดยต้องตรึงราคาน้ำมันดีเซลนี้ให้อยู่ที่ 28.29 บาท จนสิ้นสุดเดือนนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก