หนึ่งในเรื่องการใช้ชีวิตที่คนเมืองคิดไม่ตกคงหนีไม่พ้นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเฉพาะเมื่อเราต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) อยู่ทุกวัน จึงไม่แปลกที่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะอยู่ในลิสต์รายจ่ายที่หลายคนต้องวางแผนอย่างเคร่งครัด
และเราต้องกลับมาทบทวนรายจ่ายของค่ารถไฟฟ้าบีทีเอสอีกครั้ง เพราะล่าสุดบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด ได้ออกประกาศว่ารถไฟฟ้าบีทีเอสเตรียมยกเลิกการจำหน่ายบัตรโดยสารแบบโปรฯ เดินทาง 30 วัน ในวันที่ 30 กันยายน นี้ คงเหลือไว้แต่บัตรโดยสารประเภทเติมเงิน ซึ่งมีอัตราค่าโดยสารมากกว่าเดิมเมื่อเทียบกับกับราคาเฉลี่ยต่อเที่ยวของโปรฯ เที่ยวเดินทาง 30 วัน อีกทั้งค่าโดยสารในเส้นสัมปทานและส่วนต่อขยายยังคงเดิม
หากเป็นการเดินทางไม่กี่สถานี บัตรโดยสารแบบเติมเงินอาจตอบโจทย์กว่า แต่ในความเป็นจริงเราโดยสารรถไฟฟ้าฯ หลายสถานีทั้งในการไปเรียนและทำงาน และยังต้องเดินทางทุกวัน จึงต้องกลับมาทบทวนว่า จริงๆ แล้ว ระหว่างบัตรโดยสารแบบเที่ยวเดินทาง 30 วัน กับบัตรโดยสารเติมเงินนั้น แบบไหนตอบโจทย์กว่ากัน
The MATTER ได้ลองสรุปเปรียบเทียบอัตราค่าโดยสารระหว่างบัตรโดยสารทั้งสองประเภท โดยเปรียบเทียบเส้นทางสุดสายของทั้งเส้นสัมปทาน (25 สถานนีเดิม) และส่วนต่อขยาย เพื่อเทียบกันว่าเราต้องเตรียมเสียเงินค่าเดินทางเพิ่มเท่าไหร่เมื่อไม่มีบัตรโดยสารแบบเหมาเที่ยว 30 วัน ให้ใช้กันแล้ว
ทั้งนี้ บัตรโดยสารแบบเติมเงินจะมีอัตราค่าโดยสารต่อเที่ยวในเส้นทางสัมปทาน 23.5 กิโลเมตร (หมอชิต–อ่อนนุช และ สนามกีฬาแห่งชาติ–สะพานตากสิน) แต่ละสถานีแตกต่างกันไป โดยบุคคลทั่วไปและนักเรียนนักศึกษาจ่ายราคาเดียวกัน ดังนี้
หมอชิต–อ่อนนุช
– สะพานควาย 16 บาท
– อารีย์ 26 บาท
– สนามเป้า 30 บาท
– อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 33 บาท
– พญาไท 37 บาท
– ราชเทวี 40 บาท
– สยาม (เส้นสุขุมวิท ชิดลม–อ่อนนุช) 44 บาท
สนามกีฬาแห่งชาติ–สะพานตากสิน
– ราชดำริ 23 บาท
– ศาลาแดง 26 บาท
– ช่องนนทรี 30 บาท
– เซนต์หลุยส์ 33 บาท
– สุรศักดิ์ 37 บาท
– สะพานตากสิน 40 บาท
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan