Vatanika เป็นชื่อแบรนด์แฟชั่นหรูของดีไซเนอร์ไทยอย่าง แพร-วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา
แบรนด์นี้โด่งดังมาหลายปีแล้วในแวดวงแฟชั่น แต่เพิ่งโด่งดังขึ้นไปอีกขั้น เมื่อเกิดคลิปไวรัลในโลกออนไลน์ชื่อ Vatanika บอกเล่าถึง ‘ชีวิต’ ของดีไซเนอร์ดังผู้นี้ โดยฉายให้เห็นแทบทุกมิติของชีวิต ตั้งแต่ Vatanika Residence หรือที่อยู่อาศัยของเธอ ไล่ไปจนถึงยานพาหนะหรู แม่บ้านที่คอยรับใช้ใกล้ชิด บัตเลอร์ การพักผ่อน เพื่อนฝูง บางเสี้ยวของความรักและชายหนุ่มในชีวิต แต่ที่สำคัญที่สุด-ก็คือเรื่องของงาน
มีคนนำ Vatanika ไปเปรียบเทียบกับอีกหลายคน แต่ที่น่าจะถูกจับมาเปรียบเทียบกันมากที่สุด ก็คือผู้มาก่อนในโลกสื่ออย่างคิม คาร์ดาเชียน ผู้โด่งดังมากเสียจนได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้าง ‘วัฒนธรรม’ ใหม่ขึ้นมา วัฒนธรรมที่ว่า ไม่ได้สะกดด้วยตัว C เป็น Culture นะครับ แต่คือวัฒนธรรมที่สะกดด้วยตัว K เป็น Kulture ซึ่งมีนัยหมายถึงทั้งชื่อ Kim และนามสกุล Kardashian
Kulture หมายถึงวัฒนธรรมและโลกที่หมุนรอบตัวคิม (และต่อมาก็หมายถึงผู้ที่มีนามสกุลคาร์ดาเชียนทั้งหลายด้วย) ซึ่งก็ทำให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า Kulture คือสิ่งที่สร้าง ‘ความเป็นเจ้าหญิง’ ในแบบฉบับยุคใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีลักษณะหลายอย่างไม่เหมือนกับเจ้าหญิงยุคก่อน
ก็แล้ว ‘เจ้าหญิง’ ในยุคก่อนกับยุคนี้คืออะไร แตกต่างกันอย่างไรเล่า?
คำว่า ‘เจ้าหญิง’ หรือ Princess นั้น ความหมายดั้งเดิมมีอยู่สองแบบใหญ่ๆ แบบแรกคือเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กับราชวงศ์ พูดรวมๆ ก็คือ เป็นผู้สืบเชื้อสายจากราชวงศ์ หรือเป็น Descendants of Monarchs หรือมี ‘กำเนิด’ ที่ไม่ใช่คนธรรมดาสามัญ ในขณะที่เจ้าหญิงอีกแบบหนึ่งอาจมีกำเนิดเป็นคนทั่วไปมาก่อน แต่ได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์หรือราชวงศ์ด้วยเงื่อนไขบางอย่าง เช่น แต่งงานกับเจ้าชาย ทำให้ตัวเองเปลี่ยนสถานะจากคนธรรมดา กลายเป็นเจ้าหญิงขึ้นมา
จะเป็นเจ้าหญิงก็ต้องมี ‘ความเป็นเจ้าหญิง’ (Princessness) แฝงฝังอยู่ในตัวด้วย สำหรับเจ้าหญิงสองแบบที่ว่านี้ ‘ความเป็นเจ้าหญิง’ ที่ว่า ไม่ได้เกิดจากการ ‘สร้าง’ ขึ้นด้วยตัวเอง ทว่าเกิดขึ้นเพราะมีการ ‘อนุมัติ’ (Approve) จากอำนาจขนาดใหญ่ (คืออำนาจของ Monarchs) ในอันที่จะสถาปนา ‘ความเป็นเจ้าหญิง’ ให้เกิดข้ึนในตัว ไม่ว่าจะเพราะกำเนิด การแต่งงาน หรือการแต่งตั้งก็ตามที
เจ้าหญิงทำนองนี้พบได้ทั่วไปในฝั่งยุโรป รวมทั้งประเทศอย่างอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่มีราชวงศ์เป็นของตัวเอง แต่เมื่อเกิดประเทศใหม่ขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาขึ้น เราจะพบว่า แม้อเมริกาไม่มีราชวงศ์ แต่อเมริกาก็มี ‘สิ่งคล้ายราชวงศ์’ ปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ ในรูปของตระกูลดังๆ ใหญ่ๆ ทั้งหลาย ตัวอย่างเช่น ตระกูลเคนเนดี้ ตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์ หรือตระกูลอื่นๆ โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือ ‘อำนาจ’ ที่มักจะเกิดประกอบกันทั้งอำนาจทางการเงินและอำนาจทางการเมือง โดยตระกูลเคนเนดี้นั้นเห็นได้ชัดเจนมาก
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ‘ทุกคน’ ที่อยู่ในตระกูลทรงอำนาจเหล่านั้นจะมี ‘ความเป็นเจ้าหญิง’ อยู่ในตัวเสมอไป
ถ้าเจ้าหญิงในแบบแรก คือเจ้าหญิงที่ได้รับสถาปนาความเป็นเจ้าหญิงจากอำนาจของ Monarchs เจ้าหญิงแบบนี้ย่อมเป็นเจ้าหญิงได้โดยปราศจากผู้โต้แย้ง แต่พอเป็นเจ้าหญิงยุคใหม่ที่มาจากตระกูลเหล่านี้ เราจะพบว่าแค่มีอำนาจกับเงินยังไม่สามารถทำให้พวกเธอเป็นเจ้าหญิงได้ แต่จะเป็นเจ้าหญิงหรือมีความเป็นเจ้าหญิงอยู่ในตัวได้ ต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง เช่น รูปลักษณ์ภายนอกที่สวยสง่าประดุจเจ้าหญิง วัตรปฏิบัติที่งดงาม ได้รับการขัดเกลามาเป็นอย่างดี หรือมีการศึกษาสูง (นั่นทำให้หลายคนไม่ค่อยรู้สึกว่าตระกูลทรัมป์เข้าข่ายนี้) แต่แค่นั้นยังไม่พอ เพราะต่อให้มีทุกอย่างเพียบพร้อม แต่ถ้าไม่มีผู้อนุมัติหรือรับรอง (Approve) ก็ไม่อาจเป็นเจ้าหญิงที่มีความเป็นเจ้าหญิงอยู่ในตัวได้
แล้วใครล่ะ – คือผู้อนุมัติที่ว่า?
องค์ประกอบสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการเป็นเจ้าหญิงแบบที่สอง ก็คือต้องมี ‘การเผยตัว’ (Exposure) ต่อสาธารณชนด้วย ‘ความเป็นเจ้าหญิง’ ถึงจะเกิดขึ้นได้ เพราะจะมีความเป็นเจ้าหญิงได้ คนต้องเห็น โลกต้องรู้ เมื่อรู้แล้วจึงจะเกิดขั้นตอนการยอมรับหรือ ‘อนุญาต’ ให้เป็นเจ้าหญิงขึ้น การเผยตัวให้สาธารณชนเห็นจึงคือการเรียกร้องสถานะเจ้าหญิง เรียกร้องการเซ็นรับรองและมอบประกาศนียบัตรความเป็นเจ้าหญิงจากสาธารณะ
ที่สำคัญก็คือ ยิ่งโลกเคลื่อนผ่านมามากเท่าไหร่ สิ่งที่เรียกว่า Exposure ก็ยิ่งสำคัญมากขึ้นเท่านั้น
เจ้าหญิงในความหมายนี้จึงไม่ใช่เจ้าหญิงที่ผ่านการ Approve จากชาติกำเนิดหรือการแต่งงาน (ซึ่งเป็นอำนาจภายนอกที่แทบไปกำหนดเงื่อนไขตั้งต้นอะไรไม่ได้เลย) ทว่าเป็นเจ้าหญิงที่ผ่านการ Approve จาก ‘คะแนนโหวต’ อย่างไม่เป็นทางการของสาธารณชนเสียก่อน ซึ่งแม้จะเป็นอำนาจจากภายนอกเหมือนกัน แต่ก็เข้าถึงได้ง่ายกว่า มีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า ยืดหยุ่นกว่า ไม่จำเป็นต้องเกิดมาเป็นเจ้าหญิงหรือแต่งงานกับเจ้าชายก็พอจะมีความเป็นเจ้าหญิงในตัวได้
เมื่อวิธีการ ‘กลายเป็นเจ้าหญิง’ ต้องหันมาพึ่ง Exposure มากขึ้น ในที่สุด สังคมของประเทศเกิดใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาก็เลยสร้าง ‘เจ้าหญิง’ อีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา เป็นเจ้าหญิงที่มี Exposure สูงด้วยเทคโนโลยีภาพยนตร์ นั่นคือกลุ่มดารานักแสดงฮอลลีวู้ด คนแรกที่น่าจะสถาปนาสภาวะเจ้าหญิงขึ้นมาอย่างมั่นคง น่าจะหนีไม่พ้นดาราฮอลลีวู้ดอย่าง เกรซ เคลลี่ ซึ่งโดยตัวของเธอเองก็มีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่สาธารณชนจะมอบ ‘ความเป็นเจ้าหญิง’ ให้อยู่แล้ว แต่เธอก็ยังไปแต่งงานกับเจ้าชายเรนเนียร์ที่สามแห่งโมนาโคอีก จึงเท่ากับตอกย้ำทำให้สถานะ ‘เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโค’ ของเธอ คือสถานะที่ ‘ควบรวม’ ความเป็นเจ้าหญิงทั้งสองแบบเข้าไว้ในตัวของเธอคนเดียว
เกรซ เคลลี่ ทำให้โลกตระหนักว่า ‘ความเป็นเจ้าหญิง’ ไม่จำเป็นต้องเกิดแต่กับชาติกำเนิดหรือการแต่งงานเท่านั้น แต่เจ้าหญิงเกิดขึ้นได้เพราะการยอมรับของสาธารณชนด้วย ดาราฮอลลีวู้ดอีกหลายคนที่ ‘ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน’ จึงได้ฉายาว่าเป็น ‘เจ้าหญิง’ ไปด้วยเหมือนกัน แม้ว่าจะไม่ได้แต่งงานกับเจ้าชาย (หรือไม่ก็แต่งงานปลอมๆ ตามฉากในภาพยนตร์) เช่น ออเดรย์ เฮปเบิร์น (ซึ่งเกิดปีเดียวกับเกรซ เคลลี่) หรือจูเลีย โรเบิร์ตส รวมถึงอีกหลายคน
‘ความเป็นเจ้าหญิง’ จึงเป็นสภาวะที่เปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลไปเรื่อยๆ ที่น่าสนใจก็คือ สภาวะนี้เปลี่ยนไปพร้อมกับเทคโนโลยีด้วย
เกรซ เคลลี่ จนถึงจูเลีย โรเบิร์ตส์ ได้รับสถานะเจ้าหญิงผ่านเทคโนโลยีภาพยนตร์ ส่วน คิม คาร์ดาเชียน ได้รับสถานะ ‘เจ้าหญิง’ เพราะเทคโนโลยีโทรทัศน์ที่เปลี่ยนไป ทำให้สามารถถ่ายทอดสดเกิดรายการประเภทเรียลลิตี้โชว์ขึ้นมาได้ แต่คิมทำมากกว่านั้นไปอีกขั้น ด้วยการสร้าง Kulture ขึ้นมาล้อมรอบตัวเธอ เธอค่อยๆ ถ่ายโอน ‘อำนาจ’ ในการสถาปนาความเป็นเจ้าหญิงจากปัจจัยภายนอกเข้าสู่ภายในตัวมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งแผ่ขยายอำนาจจากตัวเองออกไปหาคนรอบข้างในเรียลิตี้โชว์ด้วย จนในที่สุด ตระกูลคาร์ดาเชียนก็แทบกลายเป็นอีกราชวงศ์หนึ่งของอเมริกา (และของโลก) ไปเลย
‘เจ้าหญิง’ ในความหมายใหม่นี้ จึงดีดตัวออกห่างจากเจ้าหญิงในโลกเก่ามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสภาวะความเป็นเจ้าหญิงที่เงื่อนไขการก่อกำเนิดค่อยๆ ขยับเลื่อนจากอำนาจใหญ่ๆ ภายนอก มาเป็นการคิดสร้างเงื่อนไขทางการสื่อสารและการตลาดมากขึ้น เจ้าหญิงในความหมายใหม่นี้จึงเคลื่อนเข้าซ้อนทับกับความเป็นไอดอลมากขึ้น แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ไอดอลทุกคนจะสามารถเป็นเจ้าหญิง (หรือเจ้าชาย) ได้เสมอ แต่ต้องมีคุณสมบัติบางอย่างมากกว่านั้น
ในทางจิตวิทยา มีคนเรียกสภาพจิตหรือสำนึกแห่งความเป็นเจ้าหญิงว่า Princess Mentality ซึ่งก็มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ถ้าเป็นแง่บวก จะเรียกว่า Healthy Princess Mentality ซึ่งเจ้าหญิงที่ Healthy ก็จะมีลักษณะต่างๆ เช่น ไม่เห็นแก่ตัว ทำตัวมีคุณค่า เป็นผู้นำ ชาญฉลาด หยิ่งในเกียรติและศักดิ์ศรี ฯลฯ แต่ถ้าเป็นแง่ลบ บางคนก็ถึงขั้นเรียกว่าป่วยเป็น ‘โรคเจ้าหญิง’ หรือ Princess Sickness (หรือ Princess Syndrome) โดย ‘โรคเจ้าหญิง’ ที่ว่า จะมีอาการต่างๆ เช่น เป็นคนชอบออกคำสั่ง เป็นคนตื้นเขิน ชินกับอำนาจ โกรธง่าย ก้าวร้าว ไม่ให้อภัย ฯลฯ
ในอดีต โลกอาจชอบเจ้าหญิงประเภทที่ Healthy ทางจิตมากๆ คือเป็นเจ้าหญิงที่เพียบพร้อม บริสุทธิ์ เป็นคนดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในปัจจุบัน เราจะพบว่าโลกหันมานิยมเจ้าหญิงที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างเจ้าหญิงที่ Healthy ทางจิตกับเจ้าหญิงที่ป่วยเป็นโรคเจ้าหญิง คือต้องมีลักษณะที่ดีอยู่ในตัว แต่กระนั้นก็ต้องมีความ ‘ร้าย’ เพื่อใช้จัดการกับสิ่งรอบข้างที่ไม่เป็นไปดังที่ควรด้วย
ไม่น่ามีใครปฏิเสธ หากจะบอกว่า – Vatanika มีคุณสมบัติแห่งความเป็นเจ้าหญิงแบบนั้นค่อนข้างครบถ้วน
เธอมีเงิน มีเพื่อนฝูง มีไลฟ์สไตล์ มีรสนิยม เป็นผู้กำหนดรสนิยมทางแฟชั่น จึงมีอำนาจ ทั้งยังมีความงามในรูปแบบของตัวเอง ที่สำคัญ เธอยังเป็นคนทำงานและเป็นเจ้าของธุรกิจ เธอจึงไม่เหมือนเจ้าหญิงยุคโบราณที่แทบจะพูดได้ว่าชีวิตของตัวเอง ‘ถูกกำหนด’ โดยอำนาจนอกตัว
Vatanika จึงเป็นคล้ายเจ้าหญิงแห่งยุคมิลเลนเนียลส์ที่ ‘ถึงพร้อม’ ในความเป็นมิลเลนเนียลส์ในแทบทุกด้าน
ที่เหนือไปกว่าเจ้าหญิงแบบฮอลลีวู้ดที่มักจะ ‘ถูกสร้าง’ โดยอุตสาหกรรมภาพยนตร์ Vatanika พาตัวเองไปทาบเทียบกับวัฒนธรรม Kulture ของคาร์ดาเชียน ด้วยการไม่รอคอยให้ใครมา ‘อนุมัติ’ หรือ Approve ความเป็นเจ้าหญิงของเธอ แต่เธอเลือกจะ ‘สร้าง’ ความเป็นเจ้าหญิงขึ้นมาด้วยมือของตัวเองผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เธอเลือกใช้ ‘อำนาจ’ เดิมที่มีอยู่ในมือ ผ่านต้นทุนของชีวิตต่างๆ ที่ว่ามา แล้วใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อ ‘ขยาย’ ต้นทุนเหล่านั้นให้กลายเป็นอำนาจทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นจาก Exposure พร้อมทั้งใช้คอนเน็คชั่นจากการทำงานยาวนาน โดยให้แขกรับเชิญที่เป็นคนดังๆ ในวงการแฟชั่น มาทำหน้าที่ (หรือมี Function) ในการ Approve การงานหรือ Career ของเธอ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องในทางธุรกิจได้อย่างกลมกลืน
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ คลิป Vatanika ไม่ได้ทำตัวเป็นเจ้าหญิงที่สนใจแต่ตัวเองแบบ แม้ Vatanika จะไม่ได้ไปสนใจปัญหาสันติภาพของโลกหรือสภาวะโลกร้อนอะไรทำนองนั้น แต่ Vatanika ก็เล่นล้อกับคอนเซ็ปต์ทางสังคมอื่นๆ เช่นแนวคิดเรื่อง Class หรือชนชั้นในสังคม ซึ่งทำออกมาได้แยบยลผ่านตัวละครอย่างแม่บ้าน (สาจ๋า) โดยให้แม่บ้านของเธอมีพื้นที่สื่อ (ซึ่งเท่ากับที่ยืนในสังคม อย่างน้อยก็สังคมรายรอบตัวเธอ) มากพอสมควร รวมทั้งเปิดโอกาสให้ตัวละครอย่างสา ได้ ‘ต่อสู้ต่อรอง’ เพื่อเรียกร้องสิ่งที่ตัวเองพึงได้รับ (เช่นชุดแม่บ้านที่มีผ้าเนื้อละเอียดใส่สบาย) ด้วย นอกจากนี้ Vatanika ยังเลือก ‘ทำการแสดง’ เพื่อเปิดเปลือยทั้งร่างกาย ชีวิต และความรักของเธอ (แม้เพียงเสี้ยวเดียว) ให้คนอื่นได้เห็น (ไม่ว่าจะเป็นการ ‘สร้าง’ ขึ้นหรือไม่ก็ตาม) แบบใกล้ชิด ผ่านการนวด ผ่านความสัมพันธ์ และผ่านการเจาะทะลุทะลวงเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวต่างๆ
Vatanika อาจไม่ได้จงใจสร้างความเป็นเจ้าหญิงขึ้นมาให้ตัวเองถึงขนาดนั้น แต่ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เธอก็ได้สร้าง (หรืออย่างน้อยก็ฉายภาพ) Kulture หรือ ‘ระบบนิเวศ’ แบบเจ้าหญิง (Princess Ecosystem) ขึ้นมาให้คนดูได้เสพและติดตาม โดยมีผลพลอยได้เป็นการประชาสัมพันธ์ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงลิ่ว
การสร้างความเป็นเจ้าหญิงในสังคมไทยนั้น ที่จริงแล้วเป็นดาบสองคม อาจให้ผลในแง่บวกสุดๆ หรือลบสุดๆ ก็ได้ เราจะเห็นว่าถ้าเป็น ‘เจ้าหญิง’ โดยบังเอิญ เช่นได้รับการขนานนามหรือได้ฉายาว่าเป็นเจ้าหญิงแห่งวงการโน่นนั่นนี่โดยไม่ได้มีการ ‘ออกแบบ’ มาตั้งแต่ต้น ถ้าตัวคนคนนั้นเกิดทำอะไรพลาดขึ้นมา หลายครั้งก็อาจไม่เหลือที่ยืนในสังคมด้วยซ้ำ เช่น เราเคยขนานนามนางเอกสาวบางคนว่าเป็นเจ้าหญิง เช่น เจ้าหญิงแห่งวงการบันเทิง เจ้าหญิงแห่งจอแก้ว ฯลฯ แต่ ‘เจ้าหญิง’ บางคนก็ต้อง ‘หลุด’ จากความเป็นเจ้าหญิงไป เมื่อทำตามความคาดหมายบางอย่างของสังคมไม่ได้ เช่น ท้องก่อนแต่ง ฯลฯ และเมื่อหลุดจากสถานภาพความเป็นเจ้าหญิงไปแล้วก็หลุดยาว ไม่สามารถหวนกลับมาสู่ความเป็นเจ้าหญิงได้อีก
แต่ Vatanika สร้างสภาวะเหมือนเจ้าหญิง (Princess Alike) ขึ้นมาโดยผ่านการออกแบบมาแล้วอย่างดี มีทั้งสูตรสำเร็จและการทดลองใหม่ๆ ที่ผสมผสานคละเคล้ากันไป และแม้ยังพูดไม่ได้ว่าประสบความสำเร็จถึงขีดสุดเหมือน คิม คาร์ดาเชียน แต่ Vatanika ก็ทำให้เราเห็นว่า ‘ความเป็นเจ้าหญิง’ เป็นเรื่องที่เลื่อนไหล และสามารถสร้างขึ้นมาได้ หากมีการออกแบบที่ละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบมากพอ
การผุดกำเนิดขึ้นของ Vatanika ในสังคมไทย – จึงบอกอะไรกับเราได้หลายอย่างเหลือเกิน