เปราะบาง อ่อนไหว ไม่ทนทาน ชุดคำเหล่านี้อยู่กับเด็กรุ่นใหม่มาอย่างเนิ่นนาน ตั้งแต่สมัยมิลเลนเนียนยังอยู่ในวัยกระเตาะ จนถูกส่งต่อมาที่ Gen-Z แม้จะผลัดเปลี่ยนเจเนอเรชั่นไปแล้ว แต่คนรุ่นก่อนก็ยังคงแปะป้ายคนรุ่นใหม่ด้วยอะไรเดิมๆ อยู่เสมอ จนเกิดเป็นนิยามใหม่ ใช้เรียกเหล่าคนอ่อนไหวว่า ‘Snowflake Generation’
Collins English Dictionary ได้นิยามคำว่า Snowflake Generation ไว้ว่า กลุ่มคนที่เป็นผู้ใหญ่ภายในหรือหลังปี 2010 ผู้ถูกมองว่ามีความยืดหยุ่นน้อยและมีแนวโน้มที่จะขุ่นเคืองได้ง่ายกว่าคนรุ่นก่อนๆ เหมือนบอกเป็นนัยว่าคนรุ่นนี้มองว่าตัวเองนั้นสวยงามและมีความพิเศษเหมือนเกล็ดหิมะ ที่แต่ละชิ้นจะมีลวดลายไม่เหมือนกัน แต่พวกเขากลับเปราะบางราวเกล็ดหิมะด้วยเช่นกัน
เหล่าเกล็ดหิมะทั้งหลาย ต่างต้องละลายหายไปกับคำเสียดสี ดูแคลน เพียงเพราะไม่ได้ปฏิบัติตัวให้เป็นดั่งใจคนรุ่นก่อน แล้วจริงๆ แล้วสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่นั้น มันทำให้พวกเขากลายเป็นคนเปราะบางต่อสิ่งเร้ารอบข้างหรือเปล่า
ด้วยความมั่นใจต่อความคิดและตัวตนของตัวเอง ทำให้คนรุ่นใหม่มักกล้าที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ของตนเองเมื่อเห็นว่าสิ่งไหนไม่ถูกต้อง พฤติกรรมเหล่านี้ ทำให้คนรุ่นใหม่ถูกมองว่าสำคัญตัวเกินไป เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ อาจจะเข้าเค้าที่เราเคยได้ยินเสียงบ่นอุบอิบของรุ่นเก๋าในที่ทำงาน ที่มักบ่นเหล่าคนทำงานรุ่นใหม่ว่าช่างเป็นคนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ หนักไม่เอาเบาไม่สู้ นั่นเพราะคนรุ่นใหม่เป็นแบบนั้นจริง หรือเพราะพวกเขาถูกมองว่าเป็นแบบนั้นตั้งแต่ได้ชื่อว่าเป็นคนรุ่นใหม่แล้วกันแน่
ข้อมูลที่น่าสนใจจาก Pew Research Center บอกว่าชาวมิลเลนเนียนมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนรุ่นอื่น ด้วยปัญหารอบด้านในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน ความเหงา และภาวะหมดไฟในการทำงาน มิลเลนเนียลยังรู้สึกว่างานส่งผลกับชีวิตของพวกเขามากเกินไป เนื่องจากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้นและค่าจ้างที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ เลยทำให้พวกเขาต้องทุกข์ทรมานจากอัตราความเหนื่อยหน่ายที่สูงกว่าคนรุ่นอื่นๆ หลายคนถึงกับลาออกจากงานด้วยเหตุผลด้านสุขภาพจิต
นอกจากนั้นมิลเลนเนียลยังต้องต่อสู้กับปัญหาที่เกิดในยุคของพวกเขา ตั้งแต่ตลาดงานมีความไม่มั่นคง ราคาที่อยู่อาศัย เงินเฟ้อ ปัญหาด้านวิ่งแวดล้อม ที่สะสมมาจากรุ่นก่อนๆ แถมยังต้องต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ รวมถึงประเด็นทางสังคมอื่นๆ
สอดคล้องกับ Blue Cross Blue Shield Report พบว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลอาจมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 40% รวมถึงรู้สึกว่าสุขภาพกายและจิตใจถดถอย เมื่อเทียบกับชาว Gen-X ที่อายุเท่ากัน โดยวิเคราะห์ข้อมูลของมิลเลนเนียลในอเมริกา ที่มีประกันสุขภาพจำนวน 55 ล้านคน ในปี 2560 พบว่า เกิดภาวะซึมเศร้าครั้งใหญ่ในกลุ่มรุ่นมิลเลนเนียล
ปัญหาและความกดดันที่ต้องเผชิญ ไม่ได้คิดไปเอง และไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันสองวัน แน่นอนว่ามันเป็นปัญหาที่สะสมและส่งผลมาจากคนรุ่นก่อน มิลเลนเนียนเองก็เป็นผลผลิตจากการเลี้ยงดูของคนรุ่นก่อนเช่นกัน ทางเดินในวันนี้ก็เป็นเหมือนถนนที่คนรุ่นก่อนปูไว้ให้
แม้ความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชั่นจะสร้างความไม่เข้าใจกันมานักต่อนัก แต่จริงๆ แล้วคนทุกรุ่นสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกัน งัดเอาข้อดีของแต่ละวัยมาสร้างอนาคตที่ดีกว่าได้ เพื่อตัวเราเองและลูกหลานเราในอนาคต พวกเขาจะเดินบนทางแบบไหน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เราสร้างในวันนี้
หากจะต้องมีชาวเกล็ดหิมะโปรยปรายต่อไปอีกหลายรุ่น อย่าลืมว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในสิ่งที่สร้างความเปราะบางให้พวกเขาเช่นกัน
อ้างอิงจาก