เป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้แล้ว ผมขี้เกียจจะตามย้อนไปนับจำนวนครั้งที่ช่อง Voice TV ถูกสั่งปิดช่องกลายเป็นจอดำ และก็คงจะเป็นอีกครั้งที่หลังจากอ่านเสร็จ (หรือไม่อ่านเลย) จะมีคนมาคอมเม้นต์ผมว่า ‘ประชาธิปไตยอีกแล้ว’ ราวกับมันเป็นของปฏิกูล หรือสารต้องห้าม…แต่เพราะมันยังเกิดเหตุการณ์แบบที่เพิ่งเกิดขึ้นกับ Voice TV ล่าสุดนี่แหละครับ เราถึงต้องมาคุยกันเรื่อง ‘ประชาธิปไตย’ อีกแล้ว
และการที่เราต้องพูดกันเรื่อยๆ จนบางครั้งมีการกล่าวหยามๆ เหยียดๆ ว่า “เอะอะๆ ก็ประชาธิปไตย” หรืออะไรเทือกๆ นี้นั้น นอกจากมันจะบ่งชี้ถึงการมองประชาธิปไตยในฐานะของผิดสำแดงเหลือเกินแล้ว มันยังบ่งบอกถึงสภาวะความจำเจ เดิมๆ ที่เราต้องพบเจอ หรือเคยชินอีก
แต่ความเคยชินไม่ใช่ความถูกต้อง การเคยชินกับความฟอนเฟะและการกัดกร่อน ไม่ได้ทำให้สิ่งสามานย์เหล่านั้นกลายเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องอยู่กับมัน รักมัน หรือมองมันอย่างเชิดชูบูชา ในสังคมที่การจมอยู่ในโคลนตมจนเนื้อตัวเปรอะเปื้อนและหายใจยากลำบากจนเป็นปกติ ไม่ได้แปลว่าเราจะคาดหวังถึงการมีชีวิตอยู่บนผิวดินและอากาศที่ปลอดโปร่งอีกครั้งไม่ได้…การดูแคลน การปฏิเสธและรังเกียจประชาธิปไตย อย่างในสังคมไทยก็เช่นกัน
ที่ต้องเริ่มด้วยประชาธิปไตยอีกครั้ง ก็ไม่ใช่อะไรอื่น แต่นั่นเป็นเพราะสิทธิในฐานะมนุษย์ของผม หรือคุณ หรือ Voice TV มันเริ่มมาจากการเกิดขึ้นของระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ดังที่คำประกาศข้อที่ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่าไว้ : “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกรวมทั้งอิสรภาพในอันที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง แสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารตลอดจนข้อคิดผ่านสื่อใด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน”[1]
ผมคิดว่าข้อความในปฏิญญานั้นชัดเจนโดยตัวมันเอง ว่าด้วยเกณฑ์ขั้นต่ำในฐานะมนุษย์ ‘ในสังคมมนุษย์’ แล้ว ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องมีสถานะเป็น ‘สื่อสารมวลชน’ เสียด้วยซ้ำ เราทุกคนย่อมมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ข้อมูล ข้อเรียกร้องหรือความเชื่อของเราได้ คำประกาศนี้เองเป็นก้าวสำคัญและเป็นเสมือนแกนกลางหลักของแนวคิดเรื่องอิสรภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดเรื่องความเป็นอิสระของสื่อมวลชน (Freedom of the Press) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Free Press ด้วย
ลักษณะของ Free Press อันมาจาก Freedom of Expression นี้เอง ไม่ได้กำหนดข้อจำกัดว่าสื่อมวลชนต้องเป็นกลาง สื่อมวลชนต้องไม่เลือกข้าง สื่อมวลชนต้องนำเสนอแต่ข้อมูล หรือสื่อมวลชนเสนอได้เฉพาะคดีที่สรุปผลแล้ว เปล่าเลยครับ เพราะรากฐานสำคัญของแนวคิดประชาธิปไตยที่เป็นพื้นฐานของทั้งหมดที่ว่ามานี้ คือ ‘การเลือกข้าง’ และเป็นการเลือกข้างที่สามารถแสดงออกได้อย่างชัดเจนด้วยว่าตนยืนอยู่ข้างใด
การเลือกข้างที่ชัดเจนและสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ใช่อะไรอื่น มันคือ ‘การเลือกตั้ง’ นั่นเอง การเลือกตั้งคือกระบวนการอย่างเป็นระบบเพื่อให้เราได้แสดงออกถึง ‘ข้าง’ ที่เราเลือกอย่างเป็นทางการและเป็นรูปธรรมนั่นเอง
ว่ากันง่ายๆ ก็คือ ระบอบประชาธิปไตยในฐานะจุดเริ่มต้นของสถานะสื่อมวลชนในปัจจุบันไม่ได้รังเกียจการเลือกข้าง ไม่ได้รังเกียจในความแตกต่างหลากหลายมากขั้วหลากมุ้ง ตรงกันข้าม มันคือ ระบอบที่สนับสนุนให้คนสามารถเลือกข้างของตนได้โดยอิสระ สามารถประกาศข้างที่ตนเลือก ข้างที่ตนเชื่อออกมาได้ โดยไม่ต้องโดนใครเอามือไปอุดปาก จับขังคุก หรือเผาทั้งเป็นแบบในยุโรปยุคกลางราวศตวรรษที่ 11 ที่การเห็นต่าง คิดต่าง พูดต่างจากคริสตจักร แปลว่าคุณเป็นแม่มดหมอผี ที่จะต้องถูกจับเผาทั้งเป็นกลางเมือง
การอ้างเรื่องความเป็นกลาง การอ้างเรื่องห้ามเรียกร้อง ห้ามเสนอความคิดเห็นแบบลอยๆ ต่างหากที่กลายมาเป็นเครื่องมือในการอุดปากเสรีภาพขออำนาจแบบซ่อนแอบที่รู้ตัวดีว่าไม่สามารถปิดปากการแสดงความคิดเห็นด้วยอำนาจอุกอาจได้อีกต่อไป การซ่อนรูปภายใต้ความเป็นกลาง ห้ามคิดเห็น ห้ามเรียกร้องแบบกลวงเปล่า เสมือนสิ่งเหล่านี้สามารถลอยตัวเท้งเต้งได้โดยตัวมันเอง เปล่าเลย ไม่มีความเป็นกลางใดที่เป็นอัตวิสัย ไม่มีการวางตัวแบบใดที่เป็นภววิสัยโดยตัวเอง ความเป็นกลางและการวางตัวอันเหมาะสมนั้นไม่เคยมี “ค่ากลาง หรือค่ามาตรฐานอันสัมบูรณ์” ในตัวมัน ความเป็นกลางเกาะอยู่บนบางสิ่งบางอย่าง และมาตรวัดเฉพาะของแต่ละสังคม ตั้งแต่เป็นกลางสำหรับใคร เป็นกลางระหว่างอะไรกับอะไร หรือเป็นกลางสัมพัทธ์หรือไม่ อย่างคนที่ถูกเรียกว่า เป็นกลางทางการเมืองในสังคมไทย อาจจะเป็นเพียงฝ่ายขวาฟาสซิสต์ได้ในสายตายุโรปตะวันตก หรือคนที่ถูกมองเป็นลิเบอรัลในไทยจำนวนมาก อาจจะเพียงโชคดีที่เกิดมาในสังคมที่มีเสรีภาพเชิงสัมพัทธ์ต่ำ ฉะนั้นแค่เพียงพวกเขาอนุรักษ์นิยมน้อยกว่าประชากรหมู่มากสักหน่อย ก็นับว่าก้าวหน้าในไทยได้แล้ว แต่เมื่อไปอยู่ที่ชาติอื่น อาจจะเป็นขวาสุดขอบก็ได้
เราจะเห็นได้ว่าความเป็นกลาง หรือการวางตัวที่เหมาะสมของฝ่ายที่พยายามจะปิดกั้นการทำงานของเสรีภาพนั้น เป็นเพียงการปิดปากที่เลื่อนลอย โดยไม่สนใจว่าแท้จริงแล้วความเป็นกลางและความเหมาะสมนั้นล้วนต้องผูกติดตัวเองอยู่กับเงื่อนไข ข้อจำกัด หรือแนวคิดแบบใดแบบหนึ่งทั้งสิ้น ฉะนั้นความไม่เป็นกลางและการวางตัวที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะสำหรับสื่อหรือประชากรจึงเพียงการหมายถึง การกระทำนอกกรอบความคุ้นชินของรัฐหรือสังคมนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ความเคยชินต่อการกดขี่ และการหุบปากเมื่อต้องเผชิญกับอำนาจของรัฐอำนาจนิยม ได้กลายเป็นมาตราฐานอันคุ้นชินในการดำเนินชีวิต ทั้งผ่านระบบการศึกษา การกดขี่ทางสังคม และการบังคับในทางกฎหมายอย่างผิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ในสังคมที่มีค่าความเคยชินอย่างนี้เป็นค่ากลาง การเป็นสื่อแบบ Voice TV ที่แหกคติความคุ้นชิน ถามถึงความชอบธรรมของอำนาจรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงข้อมูลที่น่าสงสัยต่างๆ รวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของรัฐในทางที่ไม่พึงปฏิบัติ จึงกลายเป็นการไม่เป็นกลางและเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไป
การปิด Voice TV ให้อยู่ในสถานะจอดำด้วยเหตุผลเช่นนี้ มันจึงเป็นการสถาปนารัฐที่ Press-Free (การไม่มีสื่อมวลชน) is the new free press. ไป เพราะมันคือการประกาศชัดด้วยการใช้อำนาจบังคับว่า “เสียงที่เปล่งข้อความที่ไม่ตรงตามใจรัฐบาล ย่อมไม่นับเป็นเสียง” และนั่นก็ทำให้ เสียงของ Voice TV ดับมืดลง พร้อมๆ กับไฟที่แสนจะริบหรี่อยู่แล้ว ของ Free Press ในไทย…สิ่งที่เหลืออยู่ จึงเป็นเพียงกระบอกเสียงที่อ่านคำประกาศของรัฐ ที่อยู่ในร่างทรงของสถานีวิทยุ โทรทัศน์ หรืออื่นๆ เท่านั้น มันเป็นเพียงสังคม Press-free
แม้ในตอนนี้ช่องทางการสื่อสารอื่นๆ จะก้าวหน้า และทาง Voice TV เองก็อาศัยช่องทางเหล่านั้น เช่น Facebook Live, เนื้อหาออนไลน์, ฯลฯ ในการสื่อสารกับผู้รับสื่อของเขาเอง แต่ผมคิดว่านั่นไม่ได้ทำให้ปัญหาของวิกฤติเสรีภาพที่เราเผชิญเบาลงเลย เพราะผมคิดว่าแม้รัฐบาลทหารนี้จะคิดอ่านไม่ทะลุปรุโปร่งปานใดในความเห็นส่วนตัวของผม แต่อย่างน้อยที่สุด พวกเขาย่อมรู้ดีว่าในยุคนี้แล้ว มันมีช่องทางอื่นๆ ในการเผยแพร่ข่าวสารได้ และอยู่นอกเหนือการควบคุมของเขา แต่การสามารถประกาศการใช้อำนาจแบบไม่ต้องสนใจหลักการสากลใดๆ เลยต่างหากที่เป็นการบอกอย่างเป็นทางการว่า ‘พวกเขาคือสื่อมวลชน’ หรือสิ่งที่เรียกว่าสื่อมวลชน ก็คือ สิ่งที่ยืนอยู่ข้างพวกเขาเท่านั้น
สังคม Press-free นี่ส่งเสียงกระหึ่มดังขึ้นไป มันคือเสียงจากความเงียบงัน เสียงจากการไม่ส่งเสียงของสื่ออื่นๆ ด้วยกันเลยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Voice TV การทำเช่นนี้ ยิ่งเป็นการทำให้อำนาจของรัฐบาลทหารเข้มแข็งยิ่งขึ้น และไม่ใช่เฉพาะ Voice TV ผมคิดว่าสื่อใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการ, ทีนิวส์, โลกวันนี้, บลูกาย หรือเซมสกาย หากต้องมาถูกสั่งปิดจอดำ หรือยุติการทำงานด้วยเหตุผลว่าเลือกข้าง ไม่เป็นกลางนั้น ย่อมควรได้รับการปกป้อง และออกมาส่งเสียงเรียกร้องเฉกเช่นกันทั้งนั้น ไม่ใช่แค่กับสื่อ แต่กับประชาชนทุกคนก็เช่นเดียวกัน
ผมขอจบบทความของโลก Press-free อันดำมืด ด้วยคำพูดของ Leonardo da Vinci ว่า “Nothing strengthens authority so much as silence.” (ไม่มีสิ่งใดที่เพิ่มอำนาจให้กับผู้ปกครองมากไปกว่าความเงียบงัน)
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ดูใน www.amnesty.or.th