ในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยธนาคารต่ำเตี้ยเรี่ยดิน คนจำนวนไม่น้อยต่างมองหาช่องทางที่จะทำให้เงินงอกเงยในแบบที่ไม่ต้องเสี่ยงมาก ตัวผมเองได้มาเจอกับการ ‘ฝากเหรียญ’ (staking) ผ่านสารพัดแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคริปโตเคอร์เรนซีที่สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนในอัตราคงที่ ถ้าเป็นเหรียญยอดนิยมอย่างบิตคอยน์หรืออีเธอเรียม ผลตอบแทนดังกล่าวอาจอยู่ที่ 3-5% ส่วนเหรียญเล็กเหรียญน้อยที่ไม่ได้เป็นที่นิยมนักอาจได้ผลตอบแทนมากกว่า 20% เลยทีเดียว
ผลตอบแทนดังกล่าวทำให้ผมตาลุกวาวเพราะแม้แต่การลงทุนในหุ้นไทยซึ่งถือว่าเสี่ยงมากก็ยังได้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวที่ราว 7% เท่านั้น เมื่อเห็นโอกาสผมก็ไม่คิดมาก กดซื้อเหรียญเสถียรที่มูลค่าผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วฝากกินดอกเบี้ยสบายๆ รอรับอีเมล์แจ้งแต่ละสัปดาห์ว่าเงินก้อนนั้นผลิดอกออกผลมากี่บาท
แต่เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์ชวนอกสั่นขวัญหาย เมื่อ Zipmex แพลตฟอร์มอันดับสองของไทยประกาศยุติการถอนเงินอย่างไม่มีกำหนด ก่อนจะกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งในเวลา 20:00 น. แต่เหล่าเหรียญที่ฝากไว้ในระบบ ZipUp+ ของแพลตฟอร์มยังไม่สามารถถอนออกมาได้และไม่มีคำตอบว่าจะถอนได้เมื่อไหร่ โดยบริษัทชี้แจงว่าเกิดจากปัญหาขาดสภาพคล่องของบริษัทคู่ค้าที่ทำหน้าที่ดูแลเหรียญเหล่านั้น
ในฐานะบัณฑิตด้านการเงินที่ท่องจนขึ้นใจว่า ‘การลงทุนมีความเสี่ยง’ และ ‘ยิ่งเสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็ยิ่งสูง’ เหตุการณ์นี้ทำให้ผมตาสว่างว่าความเสี่ยงจากแพลตฟอร์มคือของจริง พร้อมกับตระหนักว่าที่ผ่านมาเราประเมินความเสี่ยงดังกล่าวไว้ต่ำเกินไปมาก
ผมไม่ได้เขียนบทความนี้โดยมีเจตนาเพื่อมาสั่งสอนหรือซ้ำเติม แต่ขอชวนทุกคนมาพูดถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ในฐานะหนึ่งในผู้ประสบภัย
ทำไมการฝากเหรียญไว้ในแพลตฟอร์มจึงเสี่ยงสูง?
ภาพลักษณ์ที่ดูน่าเชื่อถือ ระบบบริการที่เป็นมืออาชีพ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ง่ายและละม้ายคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินความเสี่ยงต่ำอย่างเงินฝาก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะคิดว่าการฝากเงินไว้ในแพลตฟอร์มเพื่อเก็บเกี่ยวดอกเบี้ยนั้นปลอดภัยพอๆ กับฝากไว้ในการดูแลของธนาคารพาณิชย์
แต่ความเข้าใจนั้นผิดถนัด เพราะในหน้าประวัติศาสตร์สกุลเงินเข้ารหัส เราต่างเคยผ่านเหตุการณ์ ‘แพลตฟอร์มแตก’ มาแล้วหลายครั้งหลายครา ตัวอย่างหนึ่งที่หลายคนคุ้นเคยกันดีคือกรณีของ Mt. Gox แพลตฟอร์มซื้อ-ขายคริปโตเคอร์เรนซียักษ์ใหญ่ที่เคยเป็นเจ้าตลาดแต่กลับต้องล่มสลายเพราะถูกมือดีค่อยๆ ขโมยเหรียญของลูกค้าที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท กว่าจะรู้ตัวอีกทีบิตคอยน์ก็สูญหายไปแล้วกว่า 200,000 เหรียญ
แต่ในกรณีของ Zipmex นั้นต่างออกไป เพราะสาเหตุที่ทำให้บริษัทประสบปัญหานั้นเกิดจากบริการรับฝากเหรียญแล้วจ่ายผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จูงใจคนจำนวนมากให้เข้าสู่โลกของคริปโตเคอร์เรนซี
หากมองอย่างผิวเผิน การฝากเหรียญเพื่อเก็บเกี่ยวดอกเบี้ยก็ดูไม่น่ามีความเสี่ยงอะไร เว้นแต่ว่าจะเจอกับภาวะตลาดที่ผันผวนจนราคาเหรียญร่วงซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่พอรับได้เพราะก่อนเข้ามาในตลาดเราก็คงพอทราบอยู่แล้วว่าคริปโตเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงมาก (มาก แบบ ก.ไก่ หนึ่งพันตัว) แต่ความเสี่ยงที่หลายคนมองข้ามคือความเสี่ยงที่แพลตฟอร์มจะไม่มีเงินมาจ่ายคืนเรา หรือก็คือความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้นั่นเอง
อ่านตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มเกาหัวว่า ‘หนี้’ ที่ว่าหมายถึงอะไร ผมขอให้เรามาตั้งหลักกันใหม่ว่าการฝากเงินไว้บนแพลตฟอร์ม A ก็คือธุรกรรมการ ‘ปล่อยกู้’ ให้กับแพลตฟอร์มโดยที่เรามีฐานะเป็น ‘เจ้าหนี้’ แน่นอนว่าเงินก้อนโตซึ่งจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้เราย่อมไม่ได้มาจากกระเป๋าสตางค์ผู้บริหาร แต่มาจากการที่แพลตฟอร์ม A หาช่องทางนำเงินดังกล่าวไปปล่อยกู้ต่อให้กับแพลตฟอร์ม B ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า โดยที่แพลตฟอร์ม B ก็ต้องหาทางสร้างผลตอบแทนให้สมน้ำสมเนื้อกับอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายไปเช่นกัน โดยอาจมองหาโครงการลงทุนความเสี่ยงสูงหรือปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ไล่เรียงกันไปเป็นทอดๆ
แต่ ‘สูงกว่า’ ที่ว่านั้นสูงแค่ไหน?
ผมขอหยิบตัวอย่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยในวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนจะอยู่ที่ราว 0.6% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีจะอยู่ที่ราว 6% หรือมากกว่าประมาณ 10 เท่าตัว ส่วนต่างของดอกเบี้ยดังกล่าวจะเป็นต้นทุนที่ธนาคารต้องแบกรับความเสี่ยงหากผิดนัดชำระหนี้ ค่าบริหารจัดการ เงินเดือนพนักงานและผู้บริหาร รวมถึงกำไรเข้ากระเป๋าผู้ถือหุ้น
ดังนั้น หากเหล่าแพลตฟอร์มใดสัญญาจะจ่ายดอกเบี้ยให้เรา 5% ต่อปี แพลตฟอร์มเหล่านั้นก็จะต้องหาช่องทางนำเงินที่รับฝากไว้ไปลงทุนต่อให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว โดยที่นักลงทุนซึ่งฝากเหรียญไว้กับแพลตฟอร์มต้องแบกรับความเสี่ยงดังกล่าวไว้โดยไม่รู้ตัว
ในกรณีของ Zipmex แพลตฟอร์มรับฝากเหรียญจากนักลงทุนทั่วไปแล้วนำไปลงทุนต่อผ่าน Zipmex Global ในแพลตฟอร์มที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่าง Babel Finance และ Celsius Network สองแพลตฟอร์มปล่อยสินเชื่อคริปโตเคอร์เรนซีที่กำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก โดยล่าสุด Celsius ได้ยื่นขอล้มละลายโดยสมัครใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เมื่อเงินนักลงทุนที่ฝากฝังไว้ถูกนำไปลงทุนจนสูญสลายเป็นอากาศธาตุ แพลตฟอร์มก็ย่อมจนปัญญาที่จะหาเงินมาชดใช้คืน ซ้ำร้ายเงินเหล่านั้นยังไม่ได้รับการประกันโดยรัฐเหมือนกับเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ต่อให้บริษัท Zipmex จะพยายามฟ้องร้องเพื่อติดตามสินทรัพย์กลับมาจากแพลตฟอร์มเจ้าปัญหา แต่ผมอยากให้ทำใจว่าการต่อสู้ทางกฎหมายอาจใช้เวลายาวนาน และมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เงินคืนกลับมาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
การขาดสภาพคล่องของแพลตฟอร์ม Zipmex สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงปัญหาความไม่โปร่งใสของแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคริปโตเคอร์เรนซีที่ออกแบบหน้าตาผลิตภัณฑ์ราวกับเป็นเงินฝาก อีกทั้งยังไม่ระบุอย่างชัดเจนว่าแพลตฟอร์มจะนำเงินก้อนดังกล่าวไปทำอะไร ความเสี่ยงจึงถูกซุกอยู่ใต้พรมจนกระทั่งวันที่ ‘แพลตฟอร์มแตก’
เรื่องน่าผิดหวังของหน่วยงานกำกับดูแลของไทย
ที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลในไทยพยายามกีดกันทุกวิถีทางไม่ให้คนไทยลงทุนในแพลตฟอร์มซื้อ-ขายต่างประเทศ ส่วนหนึ่งอาจอ้างว่ากลัวผู้บริโภคจะถูกหลอก แต่อีกส่วนหนึ่งก็คงหวังเก็บภาษีจากการซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยแพลตฟอร์มที่ดำเนินการในไทยก็จะอยู่ภายใต้กฎหมายการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ควบคุมดูแล
หากเปิดเว็บไซต์ ก.ล.ต. จะพบว่า Zipmex เป็นทั้งผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ใช่แพลตฟอร์มเถื่อนนอกกฎหมาย จึงน่าผิดหวังที่หน่วยงานกำกับดูแลไทยปล่อยปละละเลยจนปัญหาลุกลามใหญ่โตจนเกิดผลกระทบต่อนักลงทุนเป็นวงกว้าง ทั้งที่ปัญหานั้นเกิดขึ้นใกล้แค่ปลายจมูก
สิ่งที่ชวนฉงนสงสัยที่สุดคือการที่ ก.ล.ต. มีการกำหนดหลักเกณฑ์การเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลว่าห้ามนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปหาดอกผล รวมถึงนำไปฝากและให้บุคคลอื่นยืม เว้นแต่นำไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยผู้ที่มีใบอนุญาตเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล จึงน่าสนใจว่า Zipmex ใช้วิธีการใดจึงสามารถ ‘ลอดช่อง’ หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้แล้วนำเงินของนักลงทุนไปอยู่ที่ Zipmex Global ก่อนจะส่งต่อไปยังแพลตฟอร์มความเสี่ยงสูงลิ่วอย่าง Babel Finance และ Celsius Network
ผมขอปิดท้ายด้วยการชวนอ่าน ‘ข้อตกลงและเงื่อนไข’ ของผลิตภัณฑ์เจ้าปัญหา ZipUp+ ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า
- ‘ยอมรับความเสี่ยงที่จะสูญเสียสินทรัพย์ทั้งหมดจากการโอน ถือครอง จัดเก็บ หรือนำไปใช้โดย Zipmex ผ่านระบบ ZipUp+’
- ‘ยอมรับความเสี่ยงที่จะสูญเสียสินทรัพย์ใน ZipUp+ ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถทำตามข้อตกลงที่กำหนดไว้’
- ‘สินทรัพย์ดิจิทัลที่ท่านฝากไว้ในระบบ ZipUp+ จะไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลใดๆ การคุ้มครองผู้บริโภค หรือการคุ้มครองใดๆ เมื่อเกิดความเสียหาย’
- ‘Zipmex ไม่ใช่ผู้ดูแลสินทรัพย์ ผู้แนะนำการลงทุน และไม่มีความรับผิดชอบในการคุ้มครองผลประโยชน์สูงสุด (fiduciary duty) ของท่าน’
ข้อความดังกล่าวสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าผลิตภัณฑ์นี้มีความเสี่ยงสูงลิ่วและบริษัทไม่พร้อมรับผิดชอบใดๆ หากเกิดความเสียหาย แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือแพลตฟอร์มที่เสนอขายผลิตภัณฑ์ด้วยเงื่อนไขที่แสนจะเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคเช่นนี้คือบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
เหตุการณ์ ‘แพลตฟอร์มแตก’ ครั้งนี้ นอกจากจะสะท้อนความเสี่ยงของแพลตฟอร์มที่หลายคนอาจมองข้าม ยังอาจกลายเป็นวิกฤติศรัทธาต่อหน่วยงานกำกับดูแลในไทยที่มีกฎหมายอยู่ในมือ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยได้อยู่ดี
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan