1.
สำหรับคนไทยนั้น เดือนเมษายนแทบจะเป็นเดือนที่หลายคนรอคอย เรากำลังจะได้หยุดในเทศกาลสงกรานต์ได้พักผ่อนหย่อนใจเล่นน้ำปะแป้งกลับบ้านภูมิลำเนา อากาศที่ร้อนก็เอื้อต่อการรวมตัวพูดคุยพักผ่อน ช่างเป็นเดือนที่น่าใฝ่หายิ่งนัก โดยปีนี้น่าจะคึกคักเพราะเรางดเทศกาลสงกรานต์ไป 1 ปีเพราะวิกฤต COVID-19 แม้ปีนี้โรคระบาดจะยังไม่หาย แต่ดูเหมือนสังคมไทยพร้อมจะโรมรันกับสงกรานต์แล้ว
อย่างไรก็ดีในต่างประเทศนั้น นักวิจัยด้านการก่อเหตุสังหารหมู่ ผู้ชำนาญเรื่องการก่อการร้าย สื่อมวลชน นักวิชาการต่างลงความเห็นว่าเมษายนนั้นเป็นเดือนที่น่ากลัวมาก หากไม่นับประวัติของเดือนนี้ที่มากล้นด้วยเหตุการณ์สำคัญมากมายที่นำไปสู่การสังหารผู้คน
ไม่ว่าจะเป็นกรณีของทิโมธี แมคเวห์ (Timothy Mcveigh) ชายหนุ่มอดีตทหารผ่านศึกสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกได้ขับรถบรรทุกซึ่งบรรจุระเบิดไปทำลายอาคารสำนักงานของรัฐบาลกลางในเมืองโอกลาโฮมาเมื่อปี ค.ศ.1995 เหตุการณ์ครั้งนั้นสังหารคนไป 168 คน โดยเป็นเด็กถึง 19 คน บาดเจ็บไปกว่า 500 ราย ซึ่งต่อมาทิโมธีจะถูกจับและมีคำตัดสินให้ประหารชีวิตเขา ซึ่งวันที่เขาก่อเหตุนั้นก็คือวันที 19 เมษายนนั่นเอง เรื่องราวของทิโมธีถูกยกให้เป็นการก่อการร้ายของคนอเมริกันต่อประเทศเป็นครั้งแรกๆ ทำให้ทางการต้องหันมาจับตามองคนอเมริกันที่มีแนวคิดชอบความรุนแรงอย่างละเอียดมากขึ้นด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.1999 ยังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในโรงเรียนโคลัมไบน์ เมื่อเอริก แฮร์ริส (Eric Harris) และดีแลน คลีโบค์ (Dylan Klebold) ใช้ปืนไล่ยิงเพื่อนนักเรียนม.ปลายในโรงเรียน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย แบ่งเป็นนักเรียน 12 คน ครู 1 คน บาดเจ็บกว่า 24 คน โดยผู้ก่อเหตุทั้งสองคนตัดสินใจฆ่าตัวตายหลังก่อเหตุเสร็จ นับเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ในโรงเรียนที่สะเทือนขวัญไปทั่วอเมริกา และมันไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นก็มีการก่อเหตุสังหารหมู่ในโรงเรียนเกิดขึ้นถี่ๆ ซ้ำๆ นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่โรงเรียนโคลัมไบน์เป็นต้นมา
โดยเฉพาะในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ.2007 นักศึกษาเกาหลีใต้ชื่อว่า โจ ซึงฮวี (Cho Seung-hui) ใช้ปืนพกสังหารคนไปกว่า 32 คนบาดเจ็บ 17 รายในวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เทค ก่อนที่เจ้าตัวจะฆ่าตัวตาย นับเป็นการสังหารโหดในสถานศึกษาที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในอเมริกาจนถึงขณะนี้ (หากนับการสังหารหมู่ด้วยอาวุธปืนทั้งหมดเหตุการณ์นี้จะอยู่ในอันดับ 3 โดยอันดับ1 คือการสังหารโหดที่ลาสเวกัสเมื่อปี ค.ศ.2017 มีคนตายกว่า 59 รวมถึงมือปืนด้วย)
ความเลวร้ายของเดือนเมษายนยังไม่จบ เพราะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เดือนเมษายนยังจารึกความเลวร้ายคือเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในงานวิ่งมาราธอนที่เมืองบอสตันในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.2013 ยิ่งทำให้เมษายนเป็นเดือนที่น่ากลัวอย่างยิ่ง แม้จะมีการก่อเหตุสะเทือนขวัญในเดือนอื่นๆ แต่นักวิชาการต่างสงสัยว่าอะไรทำให้เมษายน เป็นเดือนที่มีเหตุการณ์ฆ่ากันอย่างโหดร้ายรุนแรงแบบนี้
“มันเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดมาก พวกเราบางคนถึงกับอ้างอิงว่าเมษายนเป็นจุดเริ่มต้นแห่งฤดูการฆ่าเลยด้วยซ้ำไป”
2.
ความสงสัยของนักวิชาการนั้นเริ่มจากการสังหารหมู่ที่โรงเรียนโคลัมไบน์ โดยจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเมษายนเป็นเดือนแห่งการสังหารโหดอย่างแท้จริง เพราะมีบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกาโดนฆ่า เช่น ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ที่ชนะสงครามกลางเมืองเลิกทาส ก็โดนฆ่าในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1865 สาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) ก็โดนลอบยิงในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ.1968 แม้กระทั่งเรือตำนานอย่างไททานิคนั้นก็จมลงในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1912
แม้จะมีคนแย้งว่าเอาเข้าจริงเดือนอื่นๆ มันก็มีการสังหารโหดที่น่ากลัวสะเทือนขวัญ และถ้าเอาสถิติมาไล่เรียงดูกันจริงๆ ก็จะพบว่าบางเดือนอาจจะมีเหตุการณ์สำคัญในการฆาตกรรมสูงกว่าเดือนเมษายนได้ แต่นักวิชาการมองว่าในเดือนอื่นๆ นั้น จริงอยู่ที่อาจมีการฆ่าโหดๆ เกิดขึ้น แต่พอมาถึงเดือนเมษายน ความคุกรุ่นความรุนแรงดูเหมือนจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยไม่ใช่ในอเมริกาประเทศเดียวเท่านั้นที่เดือนเมษายนเป็นเดือนสุดโหด เพราะเยอรมัน บราซิลและออสเตรเลียก็มีข้อมูลว่าเมษายนเป็นเดือนแห่งการฆ่าอย่างแท้จริง
นักวิจัยลงเก็บข้อมูลแล้วมองว่า บางทีอาจเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศที่ร้อนมาก ทำให้คนเดือดตาม ซึ่งคนที่ชอบความรุนแรงอยู่แล้วก็มีโอกาสจะก่อเหตุอาชญากรรมสังหารโหดได้มากกว่าเดิม นักวิจัยถึงขั้นดูว่า พออากาศร้อนนั้น แน่นอนว่ามันมีผลต่อร่างกายมนุษย์ เหงื่อเราออกมา ใจเต้นแรง ถึงขั้นที่ร่างกายจะปล่อยสารเทสโทสเตอโรน ยิ่งทำให้คนเดือดมีอะไรนิดๆ หน่อยก็พร้อมจะทุบหัวกันแล้ว
ในบางที่ซึ่งคนต้องเผชิญฤดูหนาวอันยาวนาน พอถึงเมษายนแดดมา คนก็ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกกัน พวกหัวขโมยก็จะได้มีงานทำมากขึ้น ส่วนคนที่มีปัญหาชอบความรุนแรงต่อต้านสังคม ฤดูหนาวเป็นช่วงที่พวกเขาถูกเก็บตัวอยู่อย่างเดียวดาย มีผลต่อสภาพจิตใจและห้วงคิด เมื่อฤดูร้อนมาถึงมันก็คล้ายการระเบิดของพลานุภาพความรุนแรงในตัวที่ได้ถูกปลุกออกมานั่นเอง
ทั้งๆ ที่คนปกติทั่วไปเขายินดีที่จะได้พบหน้าคนอื่นๆ สังสรรค์เฮฮา แต่สุดท้ายแล้วในอีกมุมหนึ่งมันก็ปลดปล่อยอสูรร้ายในร่างมนุษย์ที่ถูกกดทับให้ปลดปล่อยความรุนแรงออกมาในเดือนเมษายนพอดิบพอดี
อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าสนใจคือ ในเดือนเมษายนนั้น หลายครั้งที่การก่อเหตุถูกดำเนินการโดยคนผิวขาวที่มีความคิดคลั่งสีผิว หรือพวกขวาจัดคลั่งขาว ในเดือนเมษายนนี้มันยังเป็นเดือนสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในอเมริกา ซึ่งก็คือวันที่ 9 เมษายน ค.ศ.1865 และวันรำลึกทหารกล้า ซึ่งเป็นการระลึกถึงสมรภูมิแรกในสงครามปฏิวัติอเมริกาในวันที่ 19 เมษายน และหากคนที่สนใจประวัติศาสตร์จะรู้ว่าเดือนนี้มีวันครบรอบวันเกิดของชายคนหนึ่งที่เป็นขวัญใจตำนานสดุดีของพวกขวาจัดคลั่งขวาเป็นอย่างมาก
นั่นก็คือวันที่ 20 เมษายน ในปี ค.ศ.1889 ชายที่ชื่อว่าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำพรรคนาซีได้ถือกำเนิดขึ้นมา
3.
เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงขึ้นในสังคมอเมริกัน เจ้าหน้าที่เอฟบีไอจะลงไปสอบสวนยันผู้ก่อเหตุ พวกเขาค้นพบว่าผู้ต้องหาผิวขาวหลายคนมีแผนการจะก่อเหตุก่อการร้ายนานแล้ว มีการเตรียมตัววางแผนหาทางเอาตัวรอด (ซึ่งก็ไม่เคยรอดสักราย)
โดยพวกเขามีความตั้งใจเหมือนกันคือจะเลือกวันก่อเหตุคือในเดือนเมษายน เพราะสำหรับขวาคลั่งขาวแล้ว จะมีอะไรได้ฤกษ์ไปกว่าเดือนที่สงครามกลางเมืองสิ้นสุด วันครบรอบวันเกิดฮิตเลอร์ วันรำลึกทหารกล้า ทั้งหมดนี้ปลุกเร้าและเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจให้ผู้ก่อเหตุลงมือในเดือนนี้
มีข้อมูลว่าการสังหารหมู่ที่โรงเรียนโคลัมไบน์นั้น ทางตัวแฮร์ริสหัวโจกก่อเหตุนั้นหมกมุ่นคลั่งไคล้ฮิตเลอร์เอามากๆ ถึงขนาดเขียนในไดอารี่ส่วนตัวว่า รักในความเชื่อของฮิตเลอร์ ทั้งตัวตน สิ่งที่เขาเป็นและสิ่งที่เขาต้องการ ดังนั้นเขาจึงเลือกก่อเหตุในวันที่ 20 เมษายน ซึ่งก็เป็นวันครบรอบวันเกิดของฮิตเลอร์
โดยเหตุการณ์ที่โรงเรียนโคลัมไบน์นี้ยังทำให้กลุ่มขวาจัดบางคนพยายามจะจัดงานที่จุดเกิดเหตุเพื่อรำลึกมือปืน เพราะสมาทานแนวความเชื่อเหมือนกัน ดีที่ทางการไม่ให้จัด แต่ก็มีบางคนไปไล่ก่อเหตุแทงคนด้วยโดยได้แรงบันดาลใจจากการสังหารหมู่ที่โรงเรียนแห่งนี้
ไม่เพียงเท่านั้นในโรงเรียนอื่นๆ พอใกล้วันครบรอบเหตุสังหารโหดที่โคลัมไบน์จะมาถึง ก็ได้เตรียมมาตรการป้องกันเหตุร้ายทั้งเหตุกราดยิงไล่ฆ่าในโรงเรียน ซึ่งหลังเหตุโคลัมไบน์นั้น สถานศึกษาเป็นสถานที่ของการสังหารโหดเพิ่มมากขึ้น นั่นจึงทำให้เจ้าหน้าที่โรงเรียนต่างยกระดับเฝ้าระวังในช่วงเดือนเมษายนเป็นพิเศษ แต่สุดท้ายก็ยังมีการก่อเหตุกราดยิงในช่วงเดือนนี้อย่างต่อเนื่อง
ไม่ใช่เพียงโรงเรียนเท่านั้น เพราะทางการเองก็ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังแบบสูงสุดในเดือนนี้เป็นพิเศษเช่นกัน โดยเฉพาะในวันเกิดฮิตเลอร์ แถมเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ในอเมริกาเท่านั้น แต่ฮิตเลอร์คือสัญลักษณ์ที่คนขาวคลั่งผิวยกย่องมาก ดังนั้นในประเทศตะวันตกจึงสอดส่องวางกำลังวันนี้เป็นพิเศษ เพราะเกรงว่ามันจะเป็นวันที่พวกต่อต้านรัฐพวกคลั่งทั้งหลายจะลุกฮือกระทำการเลวร้ายต่อสังคม เจ้าหน้าที่ด้านจิตวิทยาที่เห็นการเตรียมการป้องกันในเดือนนี้ถึงกับพูดออกมาว่า
“มันเป็นช่วงเวลาที่วุ่นมากที่สุดของปีเลย”
4.
แน่นอนว่าข้อมูลที่ว่าเดือนเมษายนเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการฆ่านั้นได้ถูกโจมตีว่ามันถูกกล่อมเกลาหล่อหลอมผลักดันจากงานวิจัยจนนำไปสู่การเตรียมการรับมือของรัฐนั้น แต่แท้จริงแล้วอาจมีฐานจากอคติ (Bias) ส่วนตัวที่ทำให้เชื่อว่ามันน่าจะต้องระมัดระวังมากกว่าเดือนอื่นๆ หรือไม่ ทั้งที่จริงแล้วมันมีทางแก้ปัญหามากมาย ทั้งการสอดส่องของเจ้าหน้าที่ การดูแลสภาพจิตใจ การเข้าทลายกลุ่มขวาจัดเพื่อไม่ให้ก่อเหตุอะไรรุนแรงได้
แต่เพราะวันเกิดของฮิตเลอร์นี่เอง ที่ทำให้เดือนเมษายนเป็นเดือนที่ระอุน่ากลัวอยู่ดี เพราะสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คืออุดมคติของฮิตเลอร์ ที่เชื่อว่าชาติพันธุ์หนึ่งย่อมเป็นเลิศกว่าชาติพันธ์สีผิวอื่น ซึ่งไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย ทั้งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่มี แต่ใช้วิทยาศาสตร์ปลอม ใช้การดึงทฤษฎีมาผสมจับนู่นจับนี่ จนกลายเป็นทฤษฎีสมคบคิดเอื้อให้คนขาวเชื่อว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น แล้วความคิดนี้มันดันแพร่หลายไปในสหรัฐอเมริกาเสียด้วย ทั้งที่เป็นชาติซึ่งเอาชนะเยอรมันยุติระบอบนาซีของฮิตเลอร์ที่ก่อเหตุสังหารคนนับล้านจนเป็นบาดแผลด่างพร้อยในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์เสียได้
ทั้งนี้แม้ฮิตเลอร์นั้นจะยิงตัวตายในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1945 (ซึ่งก็ยังไม่พ้นเดือนเมษายนอยู่ดี) แต่ตัวเขาเองก็ยังเป็นต้นแบบอุดมการณ์อุดมคติในหมู่คนเลื่อมใสว่าผิวขาวตัวเองดีกว่าผิวคนอื่น ซึ่งนับเป็นกระแสความเชื่อหลักของพวกขวาจัดที่พุ่งสูงขึ้นในโลกใบนี้อย่างน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากว่าเมษายนจะเป็นเดือนที่น่ากลัว เพราะมากด้วยสัญลักษณ์ของผู้นำนาซี (เกิดและตายในเดือนเดียวกัน) ยิ่งมาเจอสภาพอากาศที่ร้อน ความอัดอั้นและการครบรอบการสังหารโหดที่รุนแรงหลายที่ มันจึงเอื้อให้เดือนเมษายนกลายเป็นเดือนสุดสยองที่หลายประเทศต่างจับตาเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก