หลังๆ เห็นคนหยิบยกเรื่องราวของโสเครตีสขึ้นมาบอกเล่ากันมาก ทำนองที่ว่า โสเครตีสไม่ชอบประชาธิปไตย โดยมักยกเรื่อง ‘เรือ’ มาเล่า
ที่จริงแล้ว โสเครตีสไม่ได้เขียนบันทึกอะไรไว้นะครับ ความคิดของโสเครตีสทั้งหมดที่เรารู้กัน มาจากบันทึกของเพลโต ผู้เป็นศิษย์ของโสเครตีสทั้งนั้น เรื่อง ‘เรือ’ ที่ว่านี้ก็เหมือนกัน
เพลโตบอกว่า โสเครตีสเล่าว่า (อย่าเพิ่งงงนะครับ) เอเธนส์ก็เหมือนเรือที่แล่นอยู่ท่ามกลางพายุ (ฝรั่งเรียกอุปมานี้ว่า Ship of State) จะต้องนำเรือฝ่าพายุฝนไปให้ได้ คำถามก็คือ ถ้าใช้ประชาธิปไตยแบบให้คนเลือกผู้นำกันเอง ก็มีโอกาสจะได้ใครก็ไม่รู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องการบังคับเรือมาเป็นกัปตัน จึงเป็นไปได้ที่เรือจะล่มฉิบหายกันไปทั้งลำ
ข้อเสนอของโสเครตีสก็คือ กัปตันจะต้องเป็น ‘ผู้รู้’ เรื่องการเดินเรือ
ซึ่งต่อมาเพลโตก็เอามาขยายเป็นคำว่า ‘ราชาปราชญ์’ หรือ Phliosopher King คือคนที่เรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งได้รับการบ่มเพาะให้เป็น ‘คนดี’ ด้วย โดยคำว่า ‘คนดี’ ในที่นี้ก็คือการมีศีลธรรมและมีเหตุมีผล เท่ากับว่ากว่าจะสามารถมารับตำแหน่งเป็น ‘ราชาปราชญ์’ ได้ ก็ต้องอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบปี ดังนั้น คนที่ควรจะได้เป็นกัปตันเรือ จึงไม่ใช่ ‘ใครก็ได้’ ที่ ‘ถูกเลือก’ มาโดย ‘ใครก็ไม่รู้’ (ตามระบอบประชาธิปไตยแบบหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง) แต่ต้องเป็นคนที่ ‘ถึงพร้อม’ แล้วซึ่งความดีงามและความรู้
เรื่องเรือที่ยกมาข้างต้น ปรากฏอยู่ใน The Republic ตอนที่เพลโตเล่าว่า โสเครตีสถกเรื่องประชาธิปไตยกับ อดีมานตุส (Adeimantus) และพยายามทำให้เขาเห็นข้อบกพร่องของประชาธิปไตย แต่สิ่งที่อดีมานตุสถามกลับก็คือ—ทำไมเราถึงคิดว่าต้องให้ ‘คนสูงวัย’ (อย่าลืมว่าราชาปราชญ์ต้องอายุห้าสิบปีเป็นอย่างน้อย) มาเป็นผู้ปกครองเสมอ
ฟังดูเหมือนโสเครตีสไม่ชอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่บกพร่อง แต่ต้องบอกคุณว่า โสเครตีสไม่ได้แค่ ‘ไม่ชอบ’ ประชาธิปไตยเท่านั้นนะครับ เป็นไปได้อย่างยิ่งที่โสเครตีสจะ ‘เกลียด’ ประชาธิปไตยกันเลยทีเดียว เพราะที่จริงแล้ว อาจพูดได้ว่าโสเครตีสนั้น ‘ตาย’ เพราะประชาธิปไตยด้วยซ้ำ
***
ก่อนเล่าต่อไป ต้องขอตั้งข้อสังเกตนะครับ ว่าคนไม่น้อย (โดยเฉพาะคนในสังคมไทยจำนวนหนึ่งที่ติดวิธีคิดแบบอาวุโสนิยม อำนาจนิยม และชนชั้นนิยม) มักมองว่าโสเครตีสแทบจะเป็นเสมือน ‘เทพ’ ไปแล้ว บางคนมองว่าโสเครตีสเป็นนักปราชญ์ เป็นนักปรัชญา เป็นผู้ให้กำเนิดวิธีถกเถียงแบบที่เรียกว่า Socratic Method (หรือ Dialectic) คือการตั้งคำถามต่างๆ เพื่อถกเถียงกันไปจนบรรลุถึง ‘ความจริง’ แต่ ‘ความจริง’ เกี่ยวกับโสเครตีสก็คือ โสเครตีสไม่ใช่เทพ เขาเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง และที่สุดแล้วอาจเป็นแค่ ‘เรื่องเล่าของเพลโต’ ด้วยซ้ำไป
ที่สำคัญ เรื่องราวและวิธีคิดของโสเครตีส รวมถึงสังคมเอเธนส์ยุคที่โสเครตีสอยู่นั้น ‘ซับซ้อน’ มากนะครับ อย่างแรกสุด ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า แม้เอเธนส์และกรีกโบราณจะเป็นแหล่งกำเนิดประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยในเอเธนส์ไม่เหมือนประชาธิปไตยแบบปัจจุบันอันเป็นประชาธิปไตยที่ผ่าน ‘วิวัฒนาการ’ มาแล้วมากมาย
ประชาธิปไตยในเอเธนส์เป็นอย่างไร?
พูดได้เลยว่า ประชาธิปไตยในเอเธนส์ คือ ‘ประชาธิปไตยของเสียงส่วนน้อย’
ชาวเอเธนส์ยุคนั้นทั้งหมดมีอยู่ราวๆ 250,000 ถึง 300,000 คน แต่คนที่มีสิทธิออกเสียงโหวตต่างๆ มีอยู่ราวๆ 30,000 ถึง 50,000 คน เท่านั้น เรียกว่าถ้าคนเอเธนส์เดินมาห้าคน จะมีคนที่สามารถโหวตได้แค่คนเดียวเท่านั้นเอง เพราะผู้หญิง ทาส (หรือคนที่ไม่เป็นอิสระ) นั้นโหวตไม่ได้ ดังนั้น ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์จึงเป็นประชาธิปไตยของเสียงส่วนน้อย คนทั้งเมืองต้องมีชีวิตไปตามการโหวตของคนแค่หนึ่งในห้า ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบ ‘หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง’ เหมือนในปัจจุบัน
แต่ในปรัชญาการเมืองแบบโสเครตีส การโหวตแบบนั้นยังไม่พอ โสเครตีสไม่ได้เห็นว่า ‘ความเสมอภาค’ หรือ ‘ความเท่าเทียม’ เป็นเรื่องสำคัญ สิ่งสำคัญกว่าก็คือ rationality หรือการใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล (ตรงนี้จึงไม่เหมือนประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส ที่เห็นว่า égalité หรือความเท่าเทียม เป็นหนึ่งเสาหลักของประชาธิปไตย) เขาเห็นว่า คนที่มีสิทธิออกเสียงควรเป็นคนที่ ‘มีความคิด’ อย่าง ‘เป็นเหตุเป็นผล’ หรือเป็น rational being เท่านั้น
โสเครตีส (และเพลโต) มองว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่เกิดขึ้นโดย ‘คนจน’ และ ‘คนชั้นต่ำ’ (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือคนที่ไม่มี rationality) ซึ่งคนเหล่านี้ก็คือสามัญชนที่ทำมาหากินไปวันๆ ไม่ได้มาครุ่นคิดอะไรนักหนากับเรื่องปรัชญาหรือการเมือง เช่น พ่อค้า ช่างฝีมือ ผู้ใช้แรงงาน (ที่ไม่ได้เป็นทาส) แต่พอคนเหล่านี้ไม่ได้ใช้ rationality ในการเลือกแล้ว เมื่อมีการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ในที่สุดระบอบการปกครองก็จะเสื่อมลง จนเกิดระบอบที่เรียกว่า Demagoguery หรือการปกครองโดยคนที่เป็น demagogue ขึ้นมา คนเหล่านี้คือคนที่ดูมีบุคลิกบารมี ไม่ว่าจะเป็นคนที่พูดเก่ง เช่นพวกโซฟิสต์ (sophist) ที่ใช้วาจาหลอกลวงมวลมหาประชาชนจนหลงเชื่อแล้วก็ไปเทคะแนนให้ รวมไปถึงการปกครองโดยคนร่ำรวยที่เรียกว่า Plutocracy แล้วบ้านเมืองก็จะวุ่นวาย ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีอะไรนักหนาในสายตาของโสเครตีสและเพลโต
แต่เรื่องของโสเครตีสกับประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่นี้ ความ ‘ซับซ้อน’ ในชีวิตของโสเครตีสยังมีอีกหลายชั้นหลายมิติ โดยเรื่องหนึ่งที่ต้องหยิบมาพิจารณาด้วย ก็คือบริบทของ ‘บ้านเมือง’ กรีกในยุคนั้น
โสเครตีสมีชีวิตอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของเอเธนส์ช่วงหนึ่ง ยุคนั้นเป็นยุคที่เอเธนส์พ่ายให้แก่ชาวสปาร์ตาในสงครามที่เรียกว่า เพโลพอนีเซียน (Peloponnesian war) ราว 404 ปีก่อนคริสตกาล นั่นทำให้ชาวเอเธนส์แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มเดิมที่สมาทานประชาธิปไตย (เสียงส่วนน้อย) กับอีกกลุ่มหนึ่งที่หันไปหาสปาร์ตา
ชาวสปาร์ตามีลักษณะการปกครองเฉพาะตัว สังคมสปาร์ตาเป็นสังคมที่ ‘ทุ่มทรัพยากร’ แทบทั้งหมดที่มีอยู่ ไปให้กับการฝึกรบและความเป็นเลิศทางการทหาร ชาวสปาร์ตาจึงได้ชื่อว่าเป็น ‘ชนเผ่าทหาร’ ที่รบเก่งเหลือเกิน เพราะใช้งบทั้งหมดไปกับการซื้อยุทโธปกรณ์และฝึกสรรพกำลังนั่นเอง ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ต้องบอกว่ามีครบพร้อมหมด ไม่ว่าจะรถถังหรือเรือดำน้ำ
ทีนี้พอชาวเอเธนส์แพ้สปาร์ตา ก็แน่นอนว่าคณะผู้ปกครองเอเธนส์จะต้องเป็นคนที่สปาร์ตาเห็นชอบ ทำให้เกิดคณะปกครองที่ ‘โปรสปาร์ตา’ (หรือพูดง่ายๆ ได้ว่า ‘โปรทหาร’) ขึ้นมา คณะปกครองคณะนี้มีชื่อว่า Thirty Tyrants
ถ้าแปลตรงๆ ตัว Thirty Tyrants แปลได้ว่า ‘สามสิบทรราชย์’ ซึ่งฟังดูมีความหมายลบอย่างยิ่ง แต่ต้องบอกกันก่อนนะครับ ว่าคำว่า Tyrant ในกรีกโบราณแต่ดั้งเดิม ไม่ได้หมายถึงคนชั่วช้าเลวทราม ทว่าหมายถึงผู้ปกครองที่มีอำนาจเต็มที่ มีสิทธิขาด ชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้เหมือนมีมาตรา 44 อยู่ในมือ จะเป็นผู้ปกครองที่ดีหรือชั่วนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนหลัง Tyrant เริ่มกลายความหมายมาเป็นทรราชย์แบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน ก็เพราะพอใครได้เป็น Tyrant แล้ว เป็น ‘ชั่ว’ ทุกรายไป อริสโตเติลถึงกับบอกเลยว่า Tyrant คือผู้ปกครองที่ทำทุกอย่างตามอำเภอใจโดยไม่ใช้กฎหมาย
ทีนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นและเกี่ยวพันมาถึงโสเครตีสด้วยก็คือ หนึ่งในสามสิบทรราชย์ที่ว่า มีอยู่คนหนึ่งที่มีอำนาจที่สุด ชื่อว่า ครีเทียส (Critias) ซึ่งคงไม่มีประเด็นอะไรนักหนา ถ้าหากว่าครีเทียสจะไม่ได้เป็น ‘ศิษย์’ คนสำคัญของโสเครตีส รวมทั้งเป็นญาติ (คือเป็นลูกพี่ลูกน้องระดับสองหรือ second cousin) ของเพลโตด้วย
เมื่อครีเทียสผู้เป็นทั้งศิษย์ของโสเครตีส และญาติกับเพลโตเข้าไปเป็นหนึ่งใน ‘คณะปกครองสูงสุด’ ของเอเธนส์ เราก็ควรจะคาดหมายได้ใช่ไหมครับ ว่าครีเทียสจะต้องได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็น ‘ราชาปราชญ์’ หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นคนที่มี rationality สูงพอสมควร จึงจะเป็น ‘กัปตัน’ ตามอุปมาเรื่อง Ship of State ของโสเครตีสได้
แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า พอมีอำนาจแล้ว สามสิบทรราชย์ก็ได้นำพาเอเธนส์เข้าสู่ยุคแห่งความหวาดกลัวแบบเดียวกับยุคหลังปฏิวัติฝรั่งเศส คือมีการฆ่าตรงๆ ลอบฆ่า และเนรเทศคนเอเธนส์ที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเองไปเป็นจำนวนมาก อริสโตเติลเขียนไว้ใน Athenian Constitution ในภายหลังว่า คณะสามสิบทรราชย์ฆ่าคนไปราว 1,500 คน โดยไม่มีการไต่สวนเลย ซึ่งก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ความหมายของคำว่า Tyrant เปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตาม ครีเทียสอายุไม่ยืนนะครับ เขาตายในสนามรบ เป็นการรบระหว่างชาวเอเธนส์ที่ ‘นิยมประชาธิปไตย’ (เสียงส่วนน้อย—แบบที่โสเครตีสไม่ชอบนั่นแหละ) กับฝั่งสามสิบทรราชย์ที่โปรทหารสปาร์ตา เมื่อครีเทียสแพ้ ฝั่งสามสิบทรราชย์ก็เป็นอันสิ้นอำนาจสิ้นยุคไปด้วย ทำให้ฝั่งเอเธนส์เดิมกลับมามีอำนาจใหม่
เมื่อมองในแง่นี้ ‘ความซวย’ จึงมาตกอยู่กับโสเครตีส เพราะครีเทียสนั้นเป็นคนที่ชาวเอเธนส์ไม่ชอบขี้หน้า แต่ครีเทียสดันเป็นศิษย์ของโสเครตีส แล้วโสเครตีสยังมีแนวคิดแบบ ‘คนไม่เท่ากัน’ อีกต่างหาก
พูดแบบนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่าโสเครตีสกลายเป็นคนเลวไปในบัดดล แต่ได้โปรดอย่ามองมนุษย์ขาวดำขนาดนั้นเลยครับ เพราะต้องบอกด้วยว่า ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง โสเครตีสได้พาพวกเรา—มวลมนุษยชาติ, ให้เข้าสู่อาณาแห่งการใช้เหตุใช้ผลและการถกเถียงทางปรัชญา อันเป็นสิ่งที่มีค่ามาก และมีคุณูปการต่อมนุษยชาติมาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม ความฉลาดและความรักในการถกเถียงของโสเครตีสก็พาเขามาถึงจุดจบอย่างที่เรารู้ๆ กัน เพลโตเล่าว่า ‘เทพธิดาพยากรณ์’ อย่างเทพีเดลฟี บอกว่าในเอเธนส์นั้นไม่มีใครฉลาดเกินโสเครตีส แต่โสเครตีสบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เขาไม่คิดว่าตัวเองมีความฉลาดอะไรเลย ดังนั้น เขาต้องพิสูจน์คำพยากรณ์นั้นด้วยการทดสอบปริศนาต่างๆ กับคนที่ได้ชื่อว่าฉลาดทั้งหลายในกรุงเอเธนส์ เพื่อหาคนที่ฉลาดกว่าเขา จะได้ไปหักล้างคำพยากรณ์นั้น แต่ปรากฏว่าเขาหาไม่ได้
สุดท้าย โสเครตีสเลยได้ข้อสรุปที่น่าหมั่นไส้ว่า—คนที่รู้เรื่องมากมายและคิดว่าตัวเองฉลาดนั้น แท้จริงแล้วกลับรู้เรื่องน้อยนิดและไม่ได้ฉลาดเลย ในขณะที่คนที่ตระหนักว่าตัวเองโง่ (คือตัวเขาเอง) กลับฉลาดกว่าคนเหล่านั้นอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นก็คือเขาเป็นคนเพียงคนเดียวที่ ‘ตระหนัก’ ถึง ‘ความโง่’ ของตัวเอง และนั่นแหละที่คือความฉลาด สุดท้ายเขาจึงต้องยอมรับคำพยากรณ์ของเทพีเดลฟี
แน่นอน ข้อสรุปแบบนี้ย่อมทำให้ ‘คนฉลาด’ ของเอเธนส์ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกโปรประชาธิปไตยไม่โปรทหารสปาร์ตาถูกมองว่าเป็นพวกโซฟิสต์ดีแต่พูด) ไม่ชอบโสเครตีส ดังนั้น เมื่อโสเครตีสถูกกล่าวหาว่าไปยุยงคนหนุ่มในเอเธนส์และไม่เชื่อถือในเทพเจ้า เขาจึงถูกตัดสินประหาร โดยกระบวนการตัดสินเกิดขึ้นด้วยการ ‘โหวต’ แบบประชาธิปไตยที่มาจากคนกลุ่มนี้—ที่ก็เป็นคนเสียงข้างน้อยในเอเธนส์, นั่นเอง
จึงไม่แปลก—ที่เพลโตจะเล่าว่าโสเครตีสเกลียดประชาธิปไตย
เพียงแต่ว่า—เรื่องราวทั้งหมดมันซับซ้อนซ่อนเงื่อนไปมาเกินกว่าที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังแบบง่ายๆ สั้นๆ ทื่อๆ ได้
***
ประชาธิปไตยในโลกนี้ไม่ได้ถือกำเนิดในเอเธนส์แล้วสำเร็จเสร็จสิ้นเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คือกดน้ำร้อนแล้วก็สุกเลย แต่ประชาธิปไตยค่อยๆ คลี่คลาย ค่อยๆ พัฒนาต่อมาอีกหลายพันปี อย่างเรื่อง ‘ไม่หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง’ นี่ แม้แต่ จอห์น สจ๊วร์ต มิลล์ บิดาแห่ง Utilitarianism ก็คิดแบบเดียวกับโสเครตีสนะครับ เขาเคยเสนอว่าคนมีการศึกษาควรมีสองเสียง คนการศึกษาต่ำควรมีแค่เสียงเดียว (เรียกว่า Weighted Voting) มาก่อน
นอกจากนี้ ยังมี จอห์น ล็อก ที่เสนอเรื่องเสรีนิยม (แต่ไม่ได้เสนอว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีที่สุด) กับ ฌอง-ฌาคส์ รุสโซ ที่เสนอเรื่องประชาธิปไตยแต่ไม่ได้เสนอเรื่องเสรีนิยมอีก โดยที่เสรีนิยมกับประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องเดียวกัน มันขัดกันด้วยซ้ำ แต่จำต้องอยู่ด้วยกันเพื่อให้ความ ‘ขัดกัน’ นั้น ช่วยพยุงค้ำจุนกันและกัน กว่าจะกลายมาเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ประกอบสร้างขึ้นมาจาก ‘ธาตุตั้งต้น’ ที่แตกต่างกันได้ ก็ตั้งปลายศตวรรษที่ 19 หลังสังคมมีการเปลี่ยนแปลงในมิติอื่นๆ มารองรับ (เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรม) ซึ่งต่อมา ก็ทำให้อุปมาเรื่อง Ship of State ของโสเครตีส เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก เช่น จากคาร์ล พอปเปอร์ (Karl Popper) ที่บอกว่าแนวคิดแบบโสเครตีสและเพลโตนั้นเป็น Totalitarianism หรือระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ แม้จะรวบไปไว้ใต้การปกครองของราชาปราชญ์ก็ตามที
ยิ่งมาถึงยุคปัจจุบัน ยุคที่ความรู้ว่อนอยู่ในก้อนเมฆและโลกออนไลน์ อุปมาเรื่อง Ship of State ที่เคยฟังดู ‘เป็นเหตุเป็นผล’ ในยุคของโสเครติสและเพลโต ก็ยิ่งคลอนแคลน เพราะในโลกปัจจุบัน เรือในความเปรียบของเพลโตและโสเครตีสไม่ได้ลำเล็กเหมือนเดิม ทั้งยังไม่ได้แล่นแค่ในแม่น้ำเท่านั้น แต่เรือลำใหม่นี้ มนุษย์เพิ่งเห็นว่ามันใหญ่กว่ายานเอนเตอร์ไพรส์ในสตาร์เทร็ค แล้วก็แล่นไปได้ทุกหนแห่งเกินจินตนาการด้วย
ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีใครคนใดคนหนึ่ง (หรือคณะใดคณะหนึ่ง) ที่จะมาปกครองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น ‘ราชาปราชญ์’ หรือองค์คณะสามสิบทรราชย์ (ในความหมายแบบกรีกโบราณดั้งเดิมน่ะนะครับ) ก็ตามที
ปัจจุบันนี้ เราขับเคลื่อนไปอย่างซับซ้อน เรือลำนี้จึงต้องการคนที่รู้เรื่องการขับเรือ รวมไปถึงคนที่มี ‘ความรู้’ ใหม่ๆ อื่นๆ อีกมหาศาล เช่นคนที่รู้เรื่องโลกร้อน รู้ว่าพายุจะก่อตัวตรงไหน รู้ธรณีวิทยาว่าตรงไหนเป็นรอยแยกของเปลือกทวีป รู้เรื่องสัตว์ทะเล เรื่องพลาสติกในทะเล เรื่องดาราศาสตร์ เรื่องวัฒนธรรมของดินแดนต่างๆ ที่เรือจะผ่านเข้าไป เรื่องอัลกอริทึมในระบบคอมพิวเตอร์ของเรือ เรื่องการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก เรื่องการบริหารจัดการคนที่มีเป็นสิบๆ ล้านคนบนเรือ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอุดมการณ์และความคิดตแตกต่างกันไป และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
ต่อให้เป็นราชาปราชญ์ที่ไปร่ำเรียนตามวิธีคิดของเพลโต (คือเรียนจนอายุห้าสิบ) ก็ไม่อาจรู้ได้ทุกเรื่อง แต่เป็นผู้โดยสาร ‘บ้านๆ’ ที่นั่งอยู่ในเรือ ดูไม่มี ‘ความรู้’ ตามระบบราชาปราชญ์แบบเพลโตนี่แหละ ที่อาจรู้เรื่องการดูคลื่น รู้จักสาหร่ายที่กินได้ รู้จัก ‘ความรู้’ แบบอื่นๆ ที่ราชาปราชญ์อาจไม่เคยรู้จัก แม้กระทั่งผู้โดยสารเด็กวัยรุ่นในเรือก็อาจรู้วิธีใช้ระบบนำทางที่มีอัลกอริทึมซับซ้อนกว่ากัปตัน และมองเห็นโลกใหม่อนาคตใหม่ได้ไกลกว่ากัปตันก็ได้
ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงได้รับการออกแบบให้แตกต่างไปจากแนวคิดของโสเครตีสและเพลโต นั่นคือทุกคนมีส่วนร่วมในการขับเรือด้วยการส่ง ‘ตัวแทน’ เข้าไปตัดสินใจร่วมกัน รวมถึงต้อง ‘ตรวจสอบ’ กันและกันอยู่เสมอด้วย นั่นจึงจะทำให้เรือลำนั้นเดินทางต่อไปได้อย่างปลอดภัยมากกว่ายกให้เรืออยู่ในการดูแลของใครคนใดคนหนึ่ง—ไม่ว่าคนคนนั้นจะ ‘ปราชญ์’ มาจากไหนก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ ฐานคิดแบบ ‘หนึ่งคนหนึ่งเสียง’ จึงเกิดขึ้น เพราะมนุษย์เรียนรู้ที่จะ ‘เคารพ’ ในความรู้ที่ตัวเองไม่รู้—ซึ่งความรู้นั้นอาจมีอยู่ในตัวคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในระบบความรู้แบบเดียวกับเราก็ได้
ความรู้ว่าตัวเองไม่รู้ ก็คือความรู้แบบเดียวกับที่ทำให้โสเครตีสเป็นคนฉลาดที่สุดในเอเธนส์นั่นแหละครับ เขาสอนเราเรื่องนี้ และเรื่องการถกเถียงตั้งคำถามเพื่อบรรลุถึง ‘ความจริง’ เอาไว้หลายพันปีแล้ว—ถึงเวลาที่เราควรนำมาใช้เสียที ไม่ใช่มองว่าโสเครตีสเป็น ‘เทพ’ ที่อยู่บนฟากฟ้า แตะต้องไม่ได้ หรือถ้าจะแตะต้อง ก็แตะต้องเพื่อนำมาใช้เป็นอาวุธทิ่มแทงคนที่เห็นไม่เหมือนตัวเอง
นั่นไม่ใช่วิถีของ ‘ปราชญ์’ ที่มี rationality เลย
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ยิ่งมี ‘ความรู้’ ที่ ‘หลากหลาย’ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เราสามารถนำความรู้ที่หลากหลายนั้น มาใช้เพื่อ ‘ตรวจสอบ’ องค์ความรู้ต่างๆ ระหว่างกันอยู่เสมอด้วย เพราะยิ่งสังคมซับซ้อนเท่าไหร่ ‘ความจริง’ ก็ยิ่งซับซ้อนมากเท่านั้น การหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
และก็เป็นโสเครตีสเองนี่แหละครับ—ที่เตือนเรามาตั้งแต่เบื้องบรรพ์โน้นแล้วว่า, ชีวิตที่ไม่มีการตรวจสอบ ไม่ควรค่าแก่การมีชีวิตอยู่