1
เรารู้ว่า โสเครติสตายอย่างไร แต่ถ้าถามว่า แล้วเพลโต—ลูกศิษย์คนที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ ของโสเครติสเอาไว้อย่างละเอียดเล่า, เขามีบั้นปลายของชีวิตอย่างไร หลายคนอาจพบว่ายากที่จะตอบ
ที่จริงแล้ว ชีวิตของเพลโตไม่ได้เรียบง่ายเลย โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ ที่เขาต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมือง และการปลูกฝังความเป็น ‘ราชาปราชญ์’ อันเป็นคำสอนลือเลื่องของเขา,
รวมไปถึงดินแดนแสนสวยแห่งเกาะซิซิลีในอิตาลีด้วย
2
368 ปีก่อนคริสตกาล เพลโตในวัยหกสิบปีนั่งเรือไปยังเมืองซีราคิวส์ (Syracuse) หรือที่ชาวอิตาเลียนเรียกว่า ‘ซีราคูซา’ (Siracusa) ด้วยความรู้สึกหลากใจ เขาเคยมาที่นี่แล้วครั้งหนึ่ง ในยุคที่ปกครองโดยจักรพรรดิ ไดโอนิซิอุสผู้พ่อ (Dionysius the Elder) ผู้เอาแต่ใจตัวเอง
ซีราคิวส์เป็นเมืองใหญ่อยู่บนเกาะซิซิลีของอิตาลีในปัจจุบัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 734 ปีก่อนคริสตกาล โดยในยุคนั้นอยู่่ใต้อิทธิพลของกรีกโบราณ ทว่าอยู่ในสถานะของรัฐอิสระ
ในราวสี่ร้อยปีก่อนคริสตกาล ไดโอนิสซิอุสเป็นผู้ปกครองเซราคิวส์ เขาสู้รบกับชาวคาร์ธาจ (Carthage) และชนชาติอื่นๆ โดยได้สร้างป้อมปราการมหึมาอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของซีราคิวส์มาจนถึงปัจจุบันนี้ เรียกว่า ออร์ไทเกีย (Ortygia) และมีกำแพงยาวถึง 22 กิโลเมตร ล้อมรอบเมืองซีราคิวส์
ไดโอนิสซิอุสไม่ได้สนใจแต่การสู้รบอย่างเดียว แต่เขาสนใจศิลปะและปรัชญาด้วย เขามีชื่อเสียงเรื่องเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปิน นักเขียน และกวี เป็นยุคนี้เอง ที่เพลโตได้รับการเชื้อเชิญมายังซีราคิวส์เป็นครั้งแรกผ่านดิออน—ที่ปรึกษาของเขา ร่วมไปกับคนสำคัญๆ อื่นๆ เช่น นักบันทึกปูมประวัติศาสตร์อย่างฟิลิสตุส (Philistus) หรือกวีอย่างฟิโลซีนุส (Philoxenus) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไดโอนิสซิอุสสนใจเรื่องราวทางปัญญาอย่างแท้จริง
แต่ปัญหาก็คือ ไดโอนิสซิอุสนั้นเป็นจักรพรรดิที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย เขาปฏิบัติต่อคนอื่นในแบบที่คาดเดาไม่ได้และเป็นไปตามใจตัวเองทุกประการ คนที่เผชิญหน้ากับเรื่องนี้มีหลายคน เช่น กวีอย่างฟิโลซีนุส อยู่ๆ ก็ถูกสั่งจับแล้วส่งตัวไปทำงานในเหมืองหิน ทั้งนี้ก็เพราะไดโอนิสซิอุสเขียนบทกวีแล้วถามความเห็นของฟิโลซีนุส แต่ฟิโลซีนุสบอกว่าเป็นบทกวีที่ยังไม่ดีพอ
เพื่อนของฟิโลซีนุสต้องไปอ้อนวอนขอร้องกับไดโอนิสซิอุส ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวออกมา แต่ในวันรุ่งขึ้น ฟิโลซีนุสก็ต้องเข้าไปฟังการอ่านบทกวีของไดโอนิสซิอุสอีกรอบ เมื่อจักรพรรดิอ่านบทกวีของตนแล้ว ผู้คนรอบข้างปรบมือสนั่น จากนั้นจักรพรรดิก็หันไปถามกวีว่า บทกวีของตัวเองเป็นอย่างไร
มีบันทึกเล่าว่า ฟิโลซีนุสไม่ตอบ แต่หันหน้าไปหาทหารรักษาการณ์ แล้วบอกทหารว่า—จงพาข้ากลับไปเหมืองหินเถิด
ชะตากรรมของเพลโต—นักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก ผู้เป็นรากฐานให้กับปรัชญาตะวันตกทั้งปวง, ก็ไม่ผิดไปจากนี้เท่าไหร่นัก
3
ครั้งแรกที่เพลโตมายังซีราคิวส์ เขาได้พบกับที่ปรึกษาคนหนึ่งของไดโอนิสซีอุส คนคนนั้นคือ ดิออน (Dion) แห่งซีราคิวส์
ครอบครัวของดิออนรับใช้จักรพรรดิไดโอนิสซิอุสมาตั้งแต่ต้น และตัวดิออนก็เป็นที่ปรึกษาผู้ได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากไดโอนิสซิอุส เขามักจะได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะการจัดการทางการทูตกับชาวคาร์ธาจที่เคยรบกัน ไดโอนิสซิอุสพึงพอใจในการทำงานของดิออนมากจนอนุญาตให้ดิออนเบิกถอนเงินออกจากท้องพระคลังของซีราคิวส์ได้เลยโดยตรง
เมื่อเพลโตมาถึงซีราคิวส์ ดิออนศรัทธาในตัวเพลโตมาก เขาจึงขอเป็นศิษย์ ทำให้เพลโตและดิออนสนิทสนมกัน ซึ่งตรงนี้เองที่สร้างปัญหาในเวลาต่อมา
ว่ากันว่า ด้วยความที่ดิออนเข้าถึงท้องพระคลังได้ เขาจึงมีฐานะร่ำรวยอย่างมาก ที่พักของเขาหรูหราล้ำเลิศ และบางครั้ง ดิออนก็ถึงขั้นวิพากษ์วิจารณ์จักรพรรดิอย่างไดโอนิสซิอุสด้วย
เมื่อเป็นศิษย์ของเพลโตแล้ว ดิออนเชื่อในหลักการ ‘ราชาปราชญ์’ หรือ Philosopher King ของเพลโตอย่างมาก
เขาจึงพยายามจะปลูกฝังแนวคิดนี้ให้กับไดโอนิสซิอุส
ครั้งหนึ่ง ดิออนพาเพลโตไปเข้าเฝ้า แต่เพลโตเป็นคนตรงไปตรงมา มีบันทึกอยู่ในงานเขียนชื่อ Lives and Opinions of Eminent Philosophers ของ Diogenes Laërtius ว่า เพลโตบอกไดโอนิสซิอุสไปว่า “ผลประโยชน์ของผู้ปกครองเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดสำหรับรัฐ” นั่นคือการบอกว่า จะให้ทั้งรัฐยกประโยชน์ทั้งปวงให้จักรพรรดิ ไม่ใช่เรื่องที่ดีงาม เพราะยังมีประชาชนอีกมากมายที่รอการเกลี่ยประโยชน์สุขเหล่านั้นด้วย
นั่นทำให้ไดโอนิสซิอุสโกรธมาก จักรพรรดิจึงสั่งประหารนักปรัชญา เพลโตเกือบต้องเผชิญหน้ากับความตายแล้ว แต่ดิออนร้องขอไว้ สุดท้าย เพลโตจึงถูกขายไปเป็นทาสแทน
การไปเยือนซีราคิวส์ครั้งแรกของเพลโตจึงจบลงด้วยการกลายสถานะจากนักปราชญ์ไปเป็นทาสที่ระเหเร่ร่อนไปตามการซื้อขาย กระทั่งไปถึงเกาะเอจินา (Aegina) ที่นั่นเอง มีคนจดจำเขาได้ แล้วไถ่ตัวเพลโตด้วยเงินยี่สิบไมนาส อันเป็นราคาซื้อขายทาสปกติในยุคนั้น ถ้าเป็นค่าเงินปัจจุบัน 1 ไมนาสคิดเป็นราว 470 เหรียญ ดังนั้น 20 ไมนาส ก็เท่ากับเกือบๆ สามแสนบาท
เงินสามแสนบาท—สามารถซื้ออิสรภาพให้เพลโตได้
3
เมื่อเพลโตต้องกลับมาซีราคิวส์อีกครั้งเมื่อ 368 ปีก่อนคริสตกาล เขาย่อมมีความรู้สึกหลายหลากปะปนกัน ทั้งอยากมา ไม่อยากมา ทั้งหวั่นเกรง ทั้งดีใจ
ในตอนนั้น ไดโอนิสซิอุสสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ผู้ที่ขึ้นครองราชย์ต่อคือลูกชายของเขา ไดโอนิสซิอุสที่สอง โดยมารดาของไดโอนิสซิอุสที่สองก็คือน้องสาวของดิออนนั่นเอง
เมื่อหลานของตัวเองกลายเป็นจักรพรรดิ ดิออนผู้ยังศรัทธาในตัวเพลโตไม่เสื่อมคลาย ก็ได้เชิญเพลโตมายังซีราคิวส์อีกครั้ง เพื่อให้เขามาช่วย ‘ติว’ ไดโอนิสซิอุสที่สองให้กลายเป็น ‘ราชาปราชญ์’ ให้ได้
อย่างไรก็ตาม ไดโอนิสซิอุสที่สองไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่กับดิออน เพราะแม้ดิออนจะหรูหราเหลือหลาย แต่เขากลับพยายามทำให้จักรพรรดิองค์ใหม่ติดดินมากขึ้น เขาไม่เห็นด้วยกับการที่ไดโอนิสซิอุสที่สองจะใช้ชีวิตแบบหรูหรา เพราะเพื่อจะเป็นราชาปราชญ์ เขาจะต้องห่างจากความหรูหราเข้าหาความรู้ ทำให้ไดโอนิสซิอุสไม่พอใจเท่าไหร่
แต่เมื่อได้พบกับเพลโต ไดโอนิสซิอุสประทับใจเพลโตมาก บทสนทนาของเพลโตกับไดโอนิสซิอุสเป็นไปด้วยดี และเปลี่ยนมุมมองกับพฤติกรรมของไดโอนิสซิอุสไปมากทีเดียว มากถึงขั้นที่ไดโอนิสซิอุสคิดว่า ตัวเองจะไม่ปกครองบ้านเมืองอีกต่อไปแล้ว แต่อยากสละตำแหน่งไปเลย นั่นทำให้นักปราชญ์อีกคนหนึ่ง คือนักประวัติศาสตร์ที่ชื่อ ฟิลิสตุส เกิดความแตกตื่นตกใจ เขากับพรรคพวกจึงรวมกลุ่มกันต่อต้านดิออน (ซึ่งเป็นผู้นำเพลโตเข้ามาชักจูงไดโอนิสซิอุส) ฟิลิสตุสเกรงว่า ถ้าไดโอนิสซิอุสสละตำแหน่งจักรพรรดิ คนที่จะขึ้นมาแทนก็จะคือดิออนผู้อาจเอื้อมนั่นเอง
เรื่องมาถึงจุดแตกหักเมื่อไดโอนิสซิอุสและฟิลิสตุสเกิดไปพบจดหมายติดต่อระหว่างดิออนกับชาวคาร์ธาจ ซึ่งดิออนสั่งว่าให้ชาวคาร์ธาจปรึกษาเขาในเรื่องต่างๆ เพราะซีราคิวส์ทั้งเมืองต้องเชื่อฟังดิออน ก็เลยทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าดิออนจะลุกขึ้นมาล้มบัลลังก์จริงๆ ไดโอนิสซิอุสจึงสั่งเนรเทศดิออน และขึ้นครองอำนาจเต็มอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ถึงตรงนี้ เพลโตถูกนำตัวไปขังไว้ แต่เขาได้รับการปฏิบัติอย่างดีเพราะเป็นแขกสำคัญ แน่นอน ถึงคราวที่เพลโตจะต้องช่วยเหลือดิออนบ้างแล้ว เขาจึงร้องอุทธรณ์ต่อจักรพรรดิขอให้ดิออนกลับมา ไดโอนิสซิอุสบอกเพลโตว่าจะให้ดิออนกลับมาในฤดูร้อนหน้า แล้วเขาก็อนุญาตให้เพลโตออกจากซีราคิวส์ได้ แต่ในที่สุด ไดโอนิสซิอุสกลับเรียกตรวจสอบทรัพย์สินของดิออน โดยยึดคืนบ้าน ที่ดิน เงินทอง รวมทั้งยกภรรยาของดิออนให้กับชายอื่นด้วย
แต่ดิออนก็ไม่ใช่จะสิ้นไร้ไม้ตอกอะไร เขาก่อตั้งกองกำลังของตัวเอง แล้วหวนกลับมาบุกซิซิลีเมื่อ 357 ปีก่อนคริสตกาล ท่ามกลางความเห็นชอบของชาวซีราคิวส์ที่ไม่พอใจไดโอนิสซิอุส ดิออนจึงยึดซีราคิวส์ได้อย่างง่ายดาย และปกครองซีราคิวส์อยู่เป็นเวลาสั้นๆ
แต่แล้ว ไดโอนิสซิอุสก็ติดสินบนทหารคนหนึ่งของดิออน ซึ่งมีชื่อว่า คาลิปปุส (Callippus) ให้ลอบสังหารดิออนเสีย คาลิปปุสใช้เงินติดสินบนผู้คนตามรายทางเพื่อใกล้ชิดดิออน และแม้มีผู้จับได้ว่าเขาไม่ซื่อสัตย์ แต่คาลิปปุสก็ยอมเข้าพิธีถวายสัตย์สาบานกับดิออนในวิหารเพอร์ซีโฟเน เรียกว่าพิธี Great Oath
แล้วพอกล่าวคำสัตย์สาบานเสร็จ หลังพิธีนั่นเอง—คาลิปปุสก็แทงดิออนตาย และขึ้นครองอำนาจแทนดิออนในที่สุด
ที่น่าประหลาดใจเอามากๆ ก็คือ—คาลิปปุสก็เป็นศิษย์อีกคนหนึ่งของเพลโตด้วย
แน่นอน—เขาเชื่อเรื่องราชาปราชญ์
และเชื่อว่าตัวเองเป็นสิ่งนั้น
4
ประชาธิปไตยในเอเธนส์นั้นลุ่มๆ ดอนๆ มันไม่ได้เป็นประชาธิปไตยแบบถาวรสูงส่ง ทว่ามีการต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด
ตอนที่ครูของเพลโต—คือโสเครติส, พยายามรื้อฟื้นปลูกฝังสติปัญญาและความเป็นประชาธิปไตยให้กับชาวเอเธนส์ เพลโตโอบรับและมีหวัง แต่ไม่กี่ปีต่อมา เมื่อสุดท้ายโสเครติสถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ และถูกตัดสินลงโทษให้ต้องดื่มเฮ็มล็อคพิษฆ่าตัวตาย เพลโตก็เริ่มไม่ไว้วางใจระบอบนี้ เขาคิดว่า ราชาปราชญ์หรือผู้ปกครองที่รอบรู้และเป็นคนดีต่างหาก ที่คือกลไกสำคัญที่จะทำให้รัฐสามารถดำเนินไปได้จนถึงอุดมคติ
เมื่อโสเครติสเสียชีวิตได้ไม่นานนัก เพลโตก็ออกจากเอเธนส์ เขาเดินทางไปทั้งอิตาลี ซิซิลี อียิปต์ และลิเบีย (ในปัจจุบัน) ว่ากันว่า เขากลับมาเอเธนส์ในช่วงอายุสี่สิบปี และได้ก่อตั้ง ‘โรงเรียน’ (หรือที่จริงอาจคือมหาวิทยาลัยก็เป็นได้) ที่เก่าแก่ที่สุดในอารยธรรมตะวันตก เรียกว่า The Academy
ที่นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดทางปรัชญาอย่างเป็นระบบ และเป็นฐานรากให้กับอารยธรรมตะวันตกทั้งปวง
เพลโตอาจเสียชีวิตในัย 81, 82 หรือ 84 ปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเชื่อในนักบันทึกคนไหน โดยบันทึกส่วนใหญ่บอกว่า—เขาเพียงแต่หลับไปแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเมื่อราว 348 หรือ 347 ปีก่อนคริสตกาล
ส่วน The Academy ยังคงอยู่ยั้งยืนยงมาอีกหลายร้อยปี จนเผด็จการโรมันอย่างซุลลา (Sulla) ได้ทำลายมันลงเมื่อ 86 ปีก่อนคริสตกาล เป็นการปิดฉากสถาบันทางปัญญาของโลกตะวันตกลง และหลายคนเชื่อว่า นั่นทำให้ความคิดทางปรัชญาหล่นหายจากโลกของยุโรปไปนับพันปี—จนเกิดยุคมืดขึ้นมา
เป็นตอนนั้นนั่นเอง ที่คำสอนเรื่องราชาปราชญ์ได้หายลับไปโดยที่เราไม่อาจยืนยันได้ด้วยซ้ำ ว่ามีหรือเคยมีสิ่งนั้นอยู่จริงตามคำสอนของเพลโตหรือเปล่า
ไม่รู้เลย