ถ้า ‘หนู’ เจอกับกัญชาจะเป็นยังไง?
หนูเป็นสัตว์ที่มักตกเป็นผู้โชคร้ายเพื่อการทดลองมากมายของมนุษย์ หนึ่งในนั้นคือการศึกษาหาผลลัพธ์ของสิ่งมีชีวิตที่รับกัญชาเข้าสู่ร่างกาย การทดลองและงานวิจัยในประเด็นดังกล่าวจึงมีความสำคัญ เนื่องจากกระแสการเปิดเสรีกัญชากำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน
ถ้าใครกำลังสงสัยว่า แล้วผลการทดลองของกัญชากับหนูออกมาเป็นยังไงบ้าง? วันนี้เราจะพาไปดู 4 การทดลองที่นำหนูไปเมากัญชาด้วยวิธีการต่างๆ กัน
กัญชาทำให้หนูมีพฤติกรรมเข้าสังคม
งานวิจัย Effects of cannabis resin on social behaviour in the laboratory mouse นำโดยมากาเร็ต คัตเลอร์ (Magaret Cutler) นักวิจัยจากคณะพฤติกรรมวิทยา มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม พยายามศึกษาความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมเข้าสังคมของหนู เมื่อได้รับการฉีดสารสกัดกัญชาเข้าสู่ร่างกาย การทดลองเริ่มจากการนำหนูที่เคยอยู่ในกรงรวมจำนวน 25-30 ตัว แยกไปใส่ในกรงเล็กเป็นคู่ๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย และหลังจากผ่านไปราว 4-7 วัน จึงจะฉีดสารสกัดกัญชาในหนูแต่ละคู่
ผลการทดลองพบว่า หนูที่ได้รับกัญชาจะมีพฤติกรรมเข้าสังคมในสภาพแวดล้อมไม่คุ้นเคยได้ดีขึ้น
กัญชาทำให้หนูคลายเครียด และลดความย้ำคิดย้ำทำ (OCD)
หนูเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมวิตกกังวลสูง ทั้งการค่อยๆ วิ่งจนตัวชิดกำแพง การนำสิ่งของไปซ่อน การหลบมุม ฯลฯ ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ฝังอยู่ในตัวของหนู เนื่องจากมันมักจะตกเป็นเป้าหมายของสัตว์ปีก แต่จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อกัญชาที่พาให้มนุษย์รู้สึกล่องลอยและผ่อนคลายได้ถูกใช้กับหนู? นั่นอาจขึ้นอยู่กับวิธีต่างๆ ที่หนูได้รับสารเหล่านั้น หากกัญชาถูกทำให้เป็นควัน หนูจะเกิดอาการวิตกกังวลเฉียบพลัน ก่อนจะผ่อนคลายลงในระยะยาว ทว่าวิธีการฉีดเข้าสู่ร่างกายถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
การทดลอง Antidepressant-like effect of Δ9-tetrahydrocannabinol and other cannabinoids isolated from Cannabis sativa L นำโดยอาเบียร์ เอล-อัลฟี (Abir El-Alfy) เป็นการทดลองที่ศึกษากิจกรรมชี้วัดระดับความวิตกกังวลในหนู เช่น Forced Swim Test และ Elevated Maze พบว่าหนูที่ได้รับการฉีดสาร Tetrahydrocannabinol (THC), Cannabichromene (CBC) และ Cannabidiol (CBD) จะมีความเครียดลดลง ซึ่งวัดจากพฤติกรรมการไม่เคลื่อนไหวที่ลดน้อยลงของมัน
ในอีกงานวิจัยชื่อ Facilitation of CB1 receptor-mediated neurotransmission decreases marble burying behavior in mice นำโดยฟิลลิเป โกเมส (Filipe Gomes) นักเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยเซาเปาลู พบว่าหลังจากการฉีดสาร Cannabinoid receptor 1 (CB1) จะทำให้พฤติกรรมฝังลูกแก้วลงใต้ที่นอนในสถานการณ์ตึงเครียดของหนูลดลง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ชี้วัดระดับความย้ำคิดย้ำทำ (OCD) และนำไปสู่บทสรุปว่ากัญชามีโอกาสจะช่วยลดอาการของโรค OCD ได้
กัญชาทำให้หนูเสพติดและหาโดสที่สูงกว่าเดิม เมื่อรับกัญชาผ่านการกิน
เป็นที่รู้กันดีว่าการกินดุกับกัญชาถือเป็นสิ่งที่มาคู่กัน ซึ่งในกรณีของหนูก็ไม่ต่าง
งานวิจัย Self-administration of edible Δ9-tetrahydrocannabinol and associated behavioral effects in mice นำโดยนักวิจัยชื่อสมกับประเด็น ไมเคิล สโมกเกอร์ (Michael Smoker) เป็นการทดลองที่เริ่มจากการศึกษาขนมผสมกัญชา และพบว่าเมื่อหนูได้รับแป้งผสมกัญชามากพอ หนูจะเสาะหาแป้งที่มีกัญชาในโดสสูงขึ้นเพื่อบริโภค ส่อให้เห็นถึงอาการเสพติด ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าการศึกษาเรื่องนี้มีความสำคัญ เนื่องจากในโลกที่กัญชาถูกใช้เพื่อความบันเทิงแพร่หลายขึ้น มนุษย์จึงจำเป็นต้องรู้ถึงผลกระทบของการบริโภคกัญชาด้วยวิธีต่างๆ ที่มากขึ้น
ทำให้ส่งผลเสียต่อภูมิคุ้มกันในสมอง เมื่อกินกัญชาอย่างต่อเนื่อง
แล้วกัญชามีผลต่อสมองหรือเปล่า? งานวิจัยหลากหลายชิ้นชี้ไปยังคำตอบว่า มีผลต่อสมอง ตัวอย่างเช่น Frequent Low-Dose Δ9-Tetrahydrocannabinol in Adolescence Disrupts Microglia Homeostasis and Disables Responses to Microbial Infection and Social Stress in Young Adulthood นำโดยอี ฮเย-ลิม (Lee Hye-Lim) นักวิจัยจากคณะกายวิภาควิทยาและประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
งานวิจัยศึกษาการให้สาร CB1 เป็นโดสเล็กๆ แก่หนูวัยเจริญพันธุ์ เพื่อศึกษาผลกระทบของกัญชาต่อสมองของหนูที่กำลังเติบโต เนื่องจากนักวิจัยเชื่อว่า มนุษย์ช่วงวัยรุ่นคือช่วงเวลาที่เรามีโอกาสทดลองใช้กัญชามากที่สุด โดยพบว่าการใช้กัญชาในรูปแบบดังกล่าว นำไปสู่การตอบสนองต่อเชื้อโรคในสมองแย่ลง ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง และทำให้สุขภาพของสมองแย่ลง
อ้างอิงจาก
biologicalpsychiatryjournal.com