“การแสวงหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ไม่มีหน้าที่ทำให้คนรักชาติมากขึ้น แต่สอนให้คนรู้จักคิด แถมคิดไม่หยุดด้วย”
คือถ้อยคำของ ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์คณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซินของสหรัฐอเมริกา ที่เดินทางมาพูดถึงความสำคัญของ ‘วิชาประวัติศาสตร์’ ให้ผู้เข้าร่วมงานเสวนากว่า 200 คนได้รับฟัง
เดิมสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลป์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งใจให้งานที่จัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ผ่านมา (5 กรกฎาคม 2562) เป็นงานปิด มีผู้เข้าฟังเฉพาะนักศึกษาสาขาวิชาประวัติศาสตร์ 20-30 คนได้รับฟัง แต่เมื่อเห็นว่ามีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก จึงเปิดงานเสวนาทีมีชื่อว่า ‘จะหาเรื่องกับประวัติศาสตร์อย่างไร?’ ให้บุคคลทั่วไปเข้าฟังด้วย
อาจารย์ธงชัยพูดถึงวิชาประวัติศาสตร์ไว้อย่างไร และเหตุใดบางช่วงบางตอนจึงกล่าวถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนปัจจุบัน แถมกล่าวย้ำๆ อยู่หลายครั้ง
ความหมายของการศึกษาประวัติศาสตร์
ธงชัย นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ผู้เขียนหนังสือ Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation และตำราทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ถูกอ้างถึงในวงกว้าง เริ่มต้นปูพื้นความเข้าใจกับ ‘วิชาประวัติศาสตร์’ ว่า เวลาพูดถึงประวัติศาสตร์ คนทั่วไปคงคิดว่าหมายถึงอดีต นักศึกษาประวัติศาสตร์คงคิดว่าหมายถึงอดีต-งานศึกษาเกี่ยวกับอดีต แต่ตนอยากเพิ่มอีกหมายความเข้าไปว่า หมายถึงแง่มุมทางอุดมการณ์ (ideology) ด้วย
“นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์กระบี่มือหนึ่งจะพูดเสมอว่า ประวัติศาสตร์ไม่ได้หมายถึงอดีต แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลง เวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราไม่ได้ศึกษาอดีตที่หยุดนิ่ง แต่เราศึกษาการเปลี่ยนแปลง เวลาที่นักประวัติศาสตร์อธิบายสังคม ณ จุดๆ หนึ่ง ก็ต้องอธิบายให้ได้ว่า มันเปลี่ยนมาอย่างไรกว่าจะถึงจุดๆ นั้น”
ธงชัยพูดต่อว่า วิชาประวัติศาสตร์สอนให้ตนคิดไม่หยุด เพราะเป็นวิชาที่คุ้นเคยกับการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองมาก มันเป็น built-in อยู่ในตัวเอง ต้องเกิดการสงสัยการวิพากษ์อยู่ตลอดเวลา ถ้า ผบ.ทบ.หรือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะบอกให้ไปเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เพราะมันสอนให้คิดมากขึ้น อันนี้ ตนจะขอบคุณ แต่ถ้าบอกว่าไปเรียนแล้ว จะทำให้รักชาติมากขึ้น อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของวิชาประวัติศาสตร์
พลังของเรื่องเล่า อะไรคือ good story ?
มาสู่หัวข้องานเสวนาทำไมต้อง ‘หาเรื่อง’ กับประวัติศาสตร์ ธงชัยตอบสั้นๆ ว่า “เพราะประวัติศาสตร์ที่ไม่มีเรื่องมันไม่สนุก จบ คำตอบมีแค่นี้จริงๆ” ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า ประวัติศาสตร์โดยทั่วไปต้องการ story ต้องเล่าได้ แล้วแทรกเหตุปัจจัยไว้ในเรื่องเล่านั้น ข้อดีของเรื่องเล่าก็คือเปิดให้คนตีความ ทำให้โหมดการคิดของเรา ไม่ได้มีแค่สังเคราะห์ วิเคราะห์ แต่ยังรวมไปถึงการตีความ
“งานประวัติศาสตร์ที่ดีของนักเรียนประวัติศาสตร์ก็คือ ‘อยากเล่าเรื่องดีๆ สักเรื่อง’ แล้วการเล่าเรื่องดีๆ หมายถึงอะไร สำหรับผมหมายถึงเรื่องเล่าที่ชวนให้คิด ท้าทายเซลส์สมอง น่าตื่นตาตื่นใจ จนเกิดความพึงพอใจทางปัญญา”
เขาบอกว่า เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ดี จะต่างจากนิยายตรงที่ต้องมีสาระ มีการตีความที่น่าสนใจและน่าเชื่อถือ ต้องริเริ่มทฤษฎีใหม่ได้ แต่ไม่อวดแนวคิดหรือทฤษฎีจนขัดหูขัดตา แต่ปล่อยให้แนวคิดและทฤษฎีไหลไปพร้อมๆ กับเล่าที่กำลังจะเล่า บางครั้งเรื่องเล่าที่ดีอาจเป็นแค่เรื่องเล็กๆ แต่มีชีวิตชีวา และสามารถเป็นอุปมาอุปไมย (metaphor) ฉายให้เห็นเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นได้
“พลังของเรื่องเล่าที่ดีจึงมักจะช่วยให้เราจินตนาการไปสู่เรื่องที่กว้างขวางมากขึ้น นี่คือ good story สำหรับผม ไม่ใช่สักแต่เล่าเรื่อง” ธงชัยสรุป
นี่คือการหาเรื่องกับประวัติศาสตร์แบบที่ 1 – การเล่าเรื่อง
วิชาประหลาด น่าเบื่อ แต่มีพลังเหนือผู้คนมาก
“ประวัติศาสตร์เป็นวิชาประหลาดที่คนเห็นว่าน่าเบื่อ แต่มันกลับมีพลังเหนือผู้คนมาก แม้หลายคนไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง แต่กลับคิดว่าตัวเองรู้สิ่งนั้นเป็นอย่างดี” ธงชัยเริ่มต้นเริ่มถึงการหาเรื่องแบบที่ 2 – ต้องกวนน้ำให้ขุ่น
เขาบอกว่า ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยไม่ได้มีไว้ให้คุณคิด แต่มีไว้ตอกย้ำสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้วว่ามันถูก ความรู้ที่เล่ากี่ครั้งก็เหมือนเดิม ไม่ต่างจากคำว่า myth ในภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์แบบ myth ของไทยมีไว้ทำให้คนศรัทธา อนุญาตให้สร้างสีสันได้บ้าง แต่ห้ามเปลี่ยนโครงเรื่องและสาระสำคัญ ไม่เช่นนั้นจะกระเทือนกับบรรทัดฐานทางศีลธรรม
“ประวัติศาสตร์มีไว้เพื่อตอกย้ำความเชื่อ อุดมการณ์ และบรรทัดฐานทางศีลธรรม นี่คือประวัติศาสตร์แบบที่ ผบ.ทบ.และหลายคนบอกให้ไปเรียน แต่ถ้าจะเรียนกันแบบนั้น ผมจะเสนอให้ยุบภาควิชาประวัติศาสตร์ไปเลยดีกว่า”
อดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เสนอว่า นักเรียนประวัติศาสตร์ต้องพยายาม ‘กวนน้ำให้ขุ่น’ อย่าให้ความรู้ ความเชื่อ และอุดมการณ์ใดๆ มันหยุดนิ่ง-ตกตะกอน เพราะเมื่อใดที่มันหยุดนิ่ง-ตกตะกอน และมีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง มันจะน่ากลัว
“ผมคิดว่าเคยเจอกับตัวเอง คือประวัติศาสตร์ฆ่าคนได้ จงมาช่วยกันหาเรื่อง อย่าให้ประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นใดมีอำนาจมากเกินไป”
พลิกมุมคิด แสวงหาคำถามใหม่ๆ
เขายังเสนอให้เปลี่ยนมุมคิด นักเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยเน้นกับการหาหลักฐานใหม่ๆ มากเกินไป ทั้งที่หากเปลี่ยนมุมคิดบางทีอาจทำให้ได้เรื่องเล่าใหม่ๆ ที่น่าสนใจ (ธงชัยยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง ‘พี่มากพระโขนง’ ที่แค่เปลี่ยนมาเล่าในมุมของพี่มาก แทนที่จะเป็นนางนาก ก็ทำให้เห็นมุมมองอื่นๆ ที่น่าสนใจแล้ว) และต้องกล้าที่จะตอบรับคำถามใหม่ๆ เพราะปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้ “แม้จะเป็นหลักฐานชุดเดิม แต่ก็อาจมีคำถามชุดใหม่เกิดขึ้น”
ทั้งนี้ การหาเรื่องกับประวัติศาสตร์ก็คือต้องหาเรื่องเล่าที่ดี และต้องมาช่วยกันกวนน้ำให้ขุ่นอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่สักแต่ว่ากวน ตนเป็นคนหนึ่งที่เอาประวัติศาสตร์มาเรียนรู้ปัจจุบัน แม้เหตุการณ์จะไม่ถึงขนาดซ้ำรอย แต่อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้จักคิด
ช่วงท้าย ธงชัยยังแอบเล่าโปรเจ็กต์ที่กำลังทำอยู่ให้ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาฟังว่า กำลังเขียนหนังสือเรื่องกำเนิด rule of law ของสยาม โดยมีสมมุติฐานว่า ‘หรือประเทศไทยจะไม่เคยมีนิติรัฐ’ คือถ้าเรามีประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้ เราก็น่าจะมีนิติรัฐแบบไทยๆ สิ่งที่ผมพยายามทำก็คืออธิบายคุณสมบัติของมัน ที่เป็น pattern แบบที่ไม่ตรงกับนิติรัฐที่โลกเข้าใจ – นี่คือตัวอย่างของการหาเรื่องกับประวัติศาสตร์
หลังจากนั้นจะเป็นช่วงถามตอบ เราขอหยิบมารายงานบางคำถามที่น่าสนใจ
ผู้ถาม: แล้วการหาเรื่องกับประวัติศาสตร์มีอันตรายไหม
ธงชัย: คำถามนี้ดีมาก คำตอบคือมีครับ โดยเฉพาะกับประเทศที่ถือว่าประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าละเมิดก็เป็น blasphemy คำนี้คนที่รู้ภาษาอังกฤษน่าจะเข้าใจ อยู่ที่คนที่จะหาเรื่องว่าจะกวนน้ำให้ขุ่นมากน้อยแค่ไหน เราอาจจะทำเล็กๆ ก็ได้ หรือจะทำให้ลึกไปเลย อยู่ที่ความพึงพอใจของคุณ ต้องประเมินความเสี่ยงกันเอง ขอสารภาพว่า งานเขียนหลายชิ้นของผมในภาษาอังกฤษก็ไม่ตรงกับภาษาไทยซะทีเดียว ตราบใดที่ผมยังอยากกลับมาประเทศนี้อยู่ แต่ผมจะบอกให้ว่า การศึกษาที่เข้มข้นจริงจังมันช่วย protect เราได้ เพราะจะทำให้เราไม่พูดจาแรงๆ หรือด่าใครสาดเสียเทเสียโดยไม่มีเหตุผล
ผู้ถาม: อาจารย์เรียกร้องให้มีประวัติศาสตร์หลายๆ เวอร์ชั่น แล้วประวัติศาสตร์ที่บรรจุไว้ในหนังสือเรียนควรจะเป็นอย่างไร
ธงชัย: ผมไม่เคยสอนเด็กระดับประถมหรือมัธยม แต่สำหรับการเรียนประวัติศาสตร์สิ่งที่จำเป็นคือ reading comprehension คืออ่านแล้วเห็นทั้งป่าและต้นไม้ ที่มีคนเคยเรียกร้องให้บรรจุเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้ เช่น 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ ไว้ในหนังสือเรียน ผมอยากจะบอกว่าวัฒนธรรมมันไม่เคยถูกเปลี่ยนด้วยการล้างสมอง แต่ต้องเปิดเสรีภาพให้เรื่องเหล่านี้อยู๋ในสังคมไทยโดยไม่ต้องบังคับให้มีในแบบเรียน แต่ถ้าหนังสือเรียนยัง conservative อยู่ ก็ต้องสู้กันไป
นี่คือสรุปสาระสำคัญจากงานเสวนาหาเรื่องกับประวัติศาสตร์ โดยอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล
– ดูคลิปงานเสวนาดังกล่าวฉบับเต็มได้ที่เพจฟ้าเดียวกัน